เศรษฐกิจคือปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ เหมือน “เกม” ที่ผู้คนหรือสถาบันต่างๆ เล่นกัน

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

ฮาริ เซลดอน : นักเศรษฐศาสตร์ (จบ)

พอล ครุกแมน บอกว่า เคยรู้สึกว่าความก้าวหน้าเดินเป็นเส้นตรงและมีทิศทางเช่นนั้น แต่ตอนนี้คิดว่ายากที่ให้นักเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจเพียงอัตราดอกเบี้ยและภาวะเงินเฟ้อสามารถทำนายอารยธรรมได้ล่วงหน้าหลายศตวรรษ

เขากำลังพูดถึงทัศนะที่ว่า เศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับความโลภของมนุษย์ ตลาดเป็นสถาบันที่ยั่งยืน และนโยบายของรัฐ (ที่มีนักเศรษฐศาสตร์เป็นผู้ร่าง) กระตุ้นหรือนำพาความโลภของมนุษย์ไปทางใดก็ได้

ในขณะเดียวกัน เขาก็เห็นว่าศาสตร์อื่นหรือจิตวิทยาด้านสังคมจะเกี่ยวกับอารมณ์ที่ลึกซึ้งกว่า เพราะฉะนั้น เราจึงควรศึกษาวิชานี้ควบไปกับสังคมศาสตร์ ซึ่งยากกว่าวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์

ย้อนไปถึงสมัยอาดัม สมิธ ซึ่งถูกยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์และผู้ทำให้วิชานี้สำคัญขึ้นมา ก็ต้องบอกว่าแม้แต่สำหรับสมิธ วิชานี้ไม่ได้เป็นวิทยาศาสตร์ เพราะมีอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์หรือความโลภเข้ามาเกี่ยวข้อง

แต่เขาเรียกมันว่า “มือที่มองไม่เห็น”

การที่ตลาดเสรีเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่ผลักดันวัฒนธรรม การเมือง และรวมถึงศักยภาพด้านปัจเจกภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็gป็นตัวแทนของความโลภหรือความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ด้วย ฝ่ายทุนนิยมจึงสนใจในตลาด เช่น ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แม้จะใช้ทฤษฎีของเคนส์ หรือเน้นการวางแผนโดยศูนย์กลาง (Planned Economy) มากขึ้น ตลาดเสรีก็ยังสำคัญอยู่

หลังจากที่อ่านนิยายของอาซิมอฟอีกครั้ง ครุกแมนบอกว่าเศรษฐศาสตร์ควรจะเรียนควบคู่ไปกับวิชาอื่นๆ เช่น สังคมศาสตร์และสังคมวิทยา ซึ่งจะทำให้มีทัศนะที่เป็นระบบ ไม่เป็นเส้นตรง และเข้าใจอารมณ์มนุษย์ และแม้จะวุ่นวายกว่า แต่ก็ใช้ทำนายอนาคตได้

 

ปัจจุบันมีการยอมรับอารมณ์ความรู้สึกที่ว่ากันมากขึ้น เช่นยอมรับว่าเศรษฐกิจคือปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ที่นำไปสู่ความร่วมมือหรือความขัดแย้งกัน และมีฐานะเหมือน “เกม” ที่ผู้คนหรือสถาบันต่างๆ เล่นกัน

ตัวอย่างเด่นคือทฤษฎีเกม (Game Theory) ซึ่งศึกษาเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น ตั้งแต่การแข่งเทนนิส, แย่งแฟน, ขับรถสวนกัน, เล่นหวย, แทงบอล ไปจนถึงวางกลยุทธ์ธุรกิจ หรือทำสงคราม

ทฤษฎีเกมบอกว่า เราอาจจะทำความเข้าใจพฤติกรรมด้วยการศึกษากลยุทธ์ต่างๆ ของผู้เล่นในเกมอย่างเป็นระบบและมีเหตุมีผล ซึ่งจะช่วยให้เราพยากรณ์พฤติกรรมของผู้คนและสังคมได้อย่างแม่นยำ แต่ที่สำคัญคือ การเล่นเกมจะต้องใช้ความรู้หลายอย่าง เช่น รัฐศาสตร์ สถิติ สังคมศาสตร์ จิตวิทยา ปรัชญา ไปจนถึงชีววิทยา เพราะการทำความเข้าใจปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์และสถาบันทางสังคมที่นำไปสู่ความร่วมมือหรือความขัดแย้งนั้นล้วนเป็นเป้าหมายของศาสตร์แทบทุกแขนง

จอห์น ฟอร์บส์ แนช ใช้ทฤษฎีนี้เพื่อเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ โดยมองว่าสมการต่างๆ ล้วนเป็นการเล่นทั้งสิ้น สำคัญที่ว่า กติกาการเล่นนั้นจะแลดูมีความชอบธรรมและทำให้คนอยากเล่นด้วยไหม?

นิยายและหนังชื่อ Beautiful Mind (2001) ซึ่งเกี่ยวกับชีวิตและทฤษฎีของเขา ทำให้ผู้อ่านและผู้ดูเข้าใจว่าอารมณ์ความรู้สึกเป็นปัจจัยสำคัญของวิชานี้

แนชไม่ได้คิดทฤษฎีเกมขึ้นมา แต่ได้พัฒนาจนกลายเป็นเครื่องมือที่วิเคราะห์ปัญหาของโลก

ตอนแรกนั้นแนวคิดของเขาถูกมองว่าไม่ลึกพอ ช่วงสงครามเย็น ทฤษฎีเกมเป็นที่นิยมในหมู่นักวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะเห็นความเหมือนกันระหว่างการบุกประเทศอื่นกับการทำกำไร

แต่สำหรับวิชาเศรษฐศาสตร์ ทฤษฎีเกมต้องเป็นที่ยอมรับในวงการอื่น เช่น เมื่อนักชีววิทยาเอามาใช้เสียก่อน นักเศรษฐศาสตร์จึงใช้บ้าง และอีกหลายปีต่อมา จึงเป็นที่ยอมรับและนำไปสู่การมอบรางวัลโนเบลสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ให้แนชในปี พ.ศ.2537

ตอนนี้มีการใช้ทฤษฎีเกมหลายแบบ เช่น นักเศรษฐศาสตร์ใช้เพื่อวิเคราะห์การใช้เงินของคน นักชีววิทยาใช้อธิบายชีวิตของสัตว์และพืช นักมานุษยวิทยาใช้อธิบายความหลากหลายของมนุษย์ และนักนิวโรไซนซ์ใช้ในการสแกนสมองเพื่ออธิบายว่าสมองของคนชอบเล่นการพนันมีการทำงานต่างกับของคนธรรมดาอย่างไร พูดอีกอย่าง ทฤษฎีเกมกลายเป็นอาวุธหรือภาษาสากลสำหรับนักวิทยาศาสตร์

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่วิชานี้ให้แรงบันดาลใจแก่อาซิมอฟ และทำให้เซลดอนสร้างไซโคฮิสทรีขึ้นมา ในปัจจุบันการทำนายแบบนี้อาจจะล้าสมัย แต่ความเป็นวิทยาศาสตร์และความน่าเชื่อถือของวิชาเศรษฐศาสตร์ก็ยังอยู่กับเรา

ตัวละครมีความ “บูชัวส์” และคล้ายเรื่องของอัศวินและนักดาบมากไปหน่อย แต่การต่อสู้ไม่จำเป็นต้องให้ฝ่ายดีชนะฝ่ายชั่ว การที่ประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของแผนการเซลดอน ชัยชนะแบบพระเอกขี่ม้าขาวจึงไม่สำคัญ ผู้ร้ายก็ไม่ร้ายนัก เช่น เบล ริโอเซ โดยเฉพาะเดอะมิวล์ ซึ่งเป็นมนุษย์กลายพันธุ์ที่สามารถควบคุมอารมณ์ของคนอื่น เดอะมิวล์ก่อให้เกิดวิกฤตในเล่มสองและสาม แต่เป็นตัวละครที่มีความน่าเห็นอกเห็นใจ

อาจจะฟังดูเหมือนดีชนะชั่ว แต่นี่ไม่ใช่นิยายแบบนั้น ปัญหาไม่ใช่การทำลายเดอะมิวล์ หรือให้อีกฝ่ายชนะ แต่คือพลิกแผนการของเซลดอนให้กลับมาเหมือนเดิมและทำให้คนไม่เข้าใจแผนการอีกต่อไป

ในตอนท้าย ถ้าถามว่ามีข้อบกพร่องหรือไม่? ครุกแมนตอบว่า ตัวละครขาดมิติหรือไม่มีความลึกเท่าที่ควร แต่ก็บอกว่านี่ไม่ใช่งานแบบตอลสตอย เขาบอกว่าในฐานะผู้อ่าน ผู้เขียนมีปัญหากับขนาดของอารยธรรมที่ใหญ่ระดับกาแล็กซี่ และไม่เชื่อว่าเซลดอนจะปรากฏตัวได้ตรงเวลาเป๊ะ แต่ก็แก้แทนว่านี่เป็นรายละเอียดสำหรับผู้อ่านแบบฮาร์ดคอร์ แต่ความไม่น่าเชื่อแบบนี้ก็เหมือนการมีตัวละครที่แบนๆ คือไม่สำคัญเท่าไร

แม้เอามาอ่านอีกที เดอะฟาวน์เดชั่น ทรีโลจียังคงเป็นนิยายที่ทำให้เราเข้าใจตนเองและสังคม รวมทั้งเปลี่ยนแปลงมันได้ และให้แรงบันดาลใจแก่พอล ครุกแมน เหมือนตอนอ่านครั้งแรกเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว