เทศมองไทย : หลังเลือกตั้งทั่วไป ไทยไม่พ้นวิกฤตการเมือง?

การเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา กลายเป็นการ “โหมโรง” สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคมนี้ได้อย่างวิเศษ

เพราะปรากฏการณ์ที่มีผู้มีสิทธิมหาศาลถึง 2.6 ล้านคนเดินทางมาหย่อนบัตร รอคิวกันยาวเหยียด ไม่เพียงสร้างความฮือฮาภายในประเทศเท่านั้น

ยังทำให้สื่อต่างชาติหันมาจับตามองเลือกตั้งไทยเป็นตาเดียวกันอีกคำรบ

แม้แต่ดอยชต์เวลล์ สื่อมัลติมีเดียของเยอรมนี ยังรายงานเรื่องนี้ไว้ยาวเหยียดเลยทีเดียว

ไม่เพียงแต่มีรายงานข่าวความคึกคักของการเลือกตั้งล่วงหน้าเท่านั้นนะครับ ยังมีหลายๆ ความเห็นเกี่ยวกับเลือกตั้งหนนี้ตามมาอีกมากมาย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ รายงานเชิงวิเคราะห์ของเคต เมย์เบอร์รี แห่งอัลจาซีรา ซึ่งปรากฏออกมาในวันเลือกตั้งล่วงหน้าพอดี

มีข้อคิดเห็นหลายแง่หลายมุมที่น่าสนใจชวนให้เก็บไปคิดต่อกัน

 

เมย์เบอร์รีเขียนเอาไว้เป็นการให้ข้อเท็จจริงตอนหนึ่งว่า ถ้าพรรคไหนต้องการได้อำนาจ จำเป็นต้องได้เสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและในวุฒิสภา แล้วให้รายละเอียดต่อว่า ในสภาล่างนั้น มีเพียง 350 ที่นั่งเท่านั้นที่เปิดให้เลือกตั้งกัน อีก 150 ที่นั่ง จัดสรรไว้สำหรับ “ปาร์ตี้โหวต” ในขณะที่วุฒิสภาทั้ง 250 ที่นั่งมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด

ข้อสรุปของเมย์เบอร์รี จากข้อเท็จจริงข้างต้นก็คือ ในขณะที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ถ้าจะให้ได้อำนาจในการจัดตั้งรัฐบาล จำเป็นต้องชนะการเลือกตั้งให้ได้มากกว่า 376 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร

พรรคที่สนับสนุนทหารและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ต้องการที่นั่งในสภาเพียงแค่ 126 ที่นั่งเท่านั้นเอง

ในขณะเดียวกัน โจชัว เคอร์แลนต์ซิก นักวิชาการอาวุโสจากสภาว่าด้วยวิเทศสัมพันธ์ (ซีเอฟอาร์) องค์กรวิชาการในวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ยืนยันง่ายๆ ไว้ในข้อเขียน “อัพเดต” สถานการณ์การเลือกตั้งของไทยไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า

“ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งหนนี้ก็ตามที ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะยังคงตกอยู่ในภาวะวิกฤตทางการเมืองอยู่ต่อไป”

 

ส่วนเติมศักดิ์ เฉลิมพลานุภาพ หัวหน้าโครงการไทยศึกษา ภายใต้สถาบันไอเอสอีเอเอส-ยูซุฟ อิสฮัค สถาบันวิชาการในประเทศสิงคโปร์ บอกกับอัลจาซีราเอาไว้ว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ผ่านการรับรองจากการลงประชามติเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2016 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้อย่างเป็นทางการนั้น

“(ไทย) เรากำลังประดิษฐ์ระบบใหม่ทั้งระบบขึ้นมา”

เอม ซินเปง อาจารย์รัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ มองย้อนหลังในเชิงเปรียบเทียบไว้ว่า ในช่วงทศวรรษ 1990 ไทยได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยที่มีอนาคตที่สุดในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยระบอบการปกครองอำนาจนิยม “แต่ผลสุดท้ายก็ไม่ได้เป็นไปตามนั้น”

ในเวลาเดียวกัน การเลือกตั้งครั้งนี้เรียกความสนใจได้สูงมากในคนรุ่นใหม่ เนื่องจาก “นี่คือการเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตของคนหนุ่มสาวไทยจำนวนมาก ครั้งสุดท้ายที่เลือกตั้งกันนั้น คนเหล่านี้ยังคงเป็นเพียงเด็กไม่ประสีประสาอยู่เท่านั้น”

เมย์เบอร์รีบันทึกไว้ตอนหนึ่งน่าสนใจอย่างยิ่งว่า “บิ๊กเนม” ในการเลือกตั้งครั้งนี้ นอกเหนือจากพลังประชารัฐแล้ว มีเพียงพรรคเพื่อไทยกับอนาคตใหม่เท่านั้นที่เหลือ “ส่วนใหญ่เป็นพรรคขนาดเล็ก ที่วางสถานะตัวเองไว้เป็นกลางทางการเมือง” โดยไม่เอ่ยถึงพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์เอาไว้เลย

“ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งหลายคน เป็นกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่อัตราการขยายตัวเฉื่อยลงมาภายใต้การปกครองของทหาร และมีระดับความเหลื่อมล้ำอย่างน่าตกใจ” เมย์เบอร์รีระบุ

 

ในประเด็นทางเศรษฐกิจเดียวกันนี้ ทิม นิวตัน สื่อมวลชนชาวออสเตรเลีย เขียนบทความแสดงความคิดเห็นเอาไว้ใน thethaiger.com ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ใน 2 แง่มุมอย่างชวนคิด

เขาบอกว่า ในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ลดอันดับของไทยในดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลงมา 10 อันดับ มาอยู่ที่ 38 จาก 140 ประเทศในปี 2018 ที่ผ่านมา

แต่ในเวลาเดียวกัน การที่รัฐบาลชุดปัจจุบันลดกระบวนการ “เรดเทป” ในด้านการลงทุนลงไปมาก ทำให้ในการจัดอันดับประเทศที่เหมาะกับการทำธุรกิจโดยธนาคารโลกในปี 2018 เช่นเดียวกันเวิลด์แบงก์ยกย่องให้ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่อันดับความเหมาะสมในการทำธุรกิจปรับตัวดีขึ้นมากที่สุด

ปิดท้ายด้วยความเห็นจากชาร์ลส์ ซานติอาโก ส.ส.มาเลเซีย ประธานกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (เอพีเอชอาร์) ที่เรียกร้องผ่านอัลจาซีราให้ไทยเลิกข้อจำกัดในการแสดงออกและปล่อยผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังเพราะแสดงออกถึงทัศนะทางการเมืองเป็นอิสระทั้งหมด

เพื่อให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นครั้งนี้มี “ความน่าเชื่อถือ” หรือ “ความชอบธรรม” เต็มที่นั่นเอง