จรัญ พงษ์จีน : ศึกวันกำหนดอนาคตประเทศและใครคือนายกฯคนต่อไป

จรัญ พงษ์จีน

ในที่สุด “ศึกเลือกตั้ง” ที่เลื่อนกำหนดมาแล้ว 5 ครั้ง ก็เป็นจริงเสียที ในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 นี่แล้ว เป็นการเลือกตั้งทั่วไป แบบ “จัดสรรปันส่วนผสม”

ย้อนไปดูความเป็นมาเล็กน้อย วันที่ 23 มกราคม 2562 ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง

วันที่ 28 มกราคม-19 กุมภาพันธ์ ลงทะเบียนขอใช้สิทธิล่วงหน้า และเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

4-8 กุมภาพันธ์ กกต.เปิดสมัคร ส.ส.พร้อมแจ้งชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง

4-16 มีนาคม ลงคะแนนนอกราชอาณาจักร

17 มีนาคม เลือกตั้งล่วงหน้า

ซึ่งปรากฏว่า เกิดปรากฏการณ์ใหม่ กระแส “คนอยากเลือกตั้ง” ร้อนแรงมาก แค่ยอดผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าพุ่งกระฉูด 2.6 ล้านคน

เชื่อกันว่า เลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม การเมืองจะเกิดปรากฏการณ์ใหม่ ประชาชนคนไทยแห่ออกมาใช้สิทธิกันอย่างท่วมท้นล้นหลาม สถิติเกิน 85 เปอร์เซ็นต์

จากจำนวนประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 51.4 ล้านคน คาดว่าจะมีผู้มาลงคะแนนใช้สิทธิเกิน 40 ล้านคน

เพื่อเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 คน และบัญชีรายชื่อ 150 คน รวม 2 ระบบ 500 คน

ผู้แทนราษฎรของแต่ละภาค ตามสัดส่วนคือ ภาคเหนือ 33 คน ภาคอีสาน 116 คน ภาคตะวันตก 19 คน ภาคตะวันออก 26 คน ภาคใต้ 50 คน และภาคกลาง 106 คน

กรณีที่ว่า คือหากประชาชนพลเมืองแห่ออกมาใช้สิทธิลงเลือกตั้งกันจำนวนมาก ยอดเกินร้อยละ 80 อัตราเฉลี่ย ส.ส.บัญชีรายชื่อต่อ 1 คน จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเกิน 80,000 คะแนน/คน

“ศึกเลือกตั้ง 62” ไม่เพียงแต่กระแสผู้ใช้สิทธิจะร้อนแรง ยอดผู้สมัครลงรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตก็คึกคัก มียอดรวมทั้งสิ้น 10,792 คน จาก 81 พรรคการเมือง “บัญชีรายชื่อ” อีก 2,810 คน จาก 77 พรรค

“ผลของศึกเลือกตั้ง หวยจะออกอย่างไร ใครจะเข้าวิน พรรคการเมืองไหนจะชนะมากหรือน้อย หิมะถล่ม ภูเขาทลาย ประชาชนจะเป็นผู้ตอบโจทย์ ค่ำวันอาทิตย์นี้ พอจะรู้แกว” กันแล้ว

 

“ประเด็น” ที่จะกล่าวคือ “ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี” คนใหม่ หลังเสร็จศึกเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม

ตามกรอบรัฐธรรมนูญ “หมวดคณะรัฐมนตรี” ซึ่ง “มาตรา 159” กำหนดไว้ว่า “ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งไม่มีลักษณะต้องห้าม และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

ตามไปดูมาตราที่ 88 เกือบทุกพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ล้วนแล้วแต่แจ้งชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกันถ้วนหน้า บางพรรคเสนอคนเดียว บางพรรคเสนอสองคน และสามคน

แต่ส่วนมากไม่เข้าข่ายว่าได้เป็นตัวชิง เนื่องจากพรรคต้นสังกัดจะได้รับเลือกตั้งสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 5 คือต่ำกว่า 50 ที่นั่ง

ลำดับถัดไป การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

“มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร”

ประเมินสถานการณ์ตามรัฐธรรมนูญจากหมวดและมาตราข้างต้น เท่ากับว่าพรรคการเมืองที่จะชนะเลือกตั้ง เข้าป้ายเป็นอันดับ 1 น่าจะได้เปรียบ สามารถหยิบชิ้นปลามัน “เก้าอี้นายกรัฐมนตรี” ได้ในทันทีทันใด

“เพราะเสียงที่ได้รับเลือกตั้ง เพดานเลยขีดกำหนด เกิน 50 ที่นั่ง ก้าวข้ามพ้นร้อยละห้า”

พรรคที่ได้รับเลือกในลำดับถัดไป ที่ไม่ใช่คู่แข่ง 4-5-6 ก็ต้องไหลมาเพื่อชิงจับขั้ว ฟอร์มรัฐบาล ไม่มีใครอยากตกขบวน ไปนั่งเหี่ยวแห้งในซีกฝ่ายค้าน

 

แต่… “การสู้รบยังไม่จบ…สงครามยังไม่สงบ” เนื่องจากการดีไซน์รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ประติมากรรมไว้ร้ายเหลือจะกล่าว ภายใต้ร่มเงา “บทเฉพาะกาล”

“มาตรา 272” กำหนดกฎเหล็กไว้ว่า ในระหว่างห้าปีแรกนับตั้งแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการตามมาตรา 159

“เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมีมติเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา”

ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา

“ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ ในกรณีเช่นนั้นให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน”

และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา ให้ยกเว้นได้ โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้หรือไม่ก็ได้”

กล่าวโดยสรุป หลังเลือกตั้ง ขั้นตอนการเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องดำเนินการตาม “บทเฉพาะกาล…แห่งมาตรา 272” หมายความว่า “วุฒิสมาชิก 250 คน” สามารถโหวตเลือกท่านผู้นำคนใหม่ได้ ไม่ได้ดำเนินการเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

“ซีก ก.” รวบรวมเสียงได้เกิน 250 เสียง โอกาสรับประทานแห้วก็สูง เนื่องจาก “ซีก ข.” เกิด “พรรค ส.ว. 250” ที่นั่งเทคะแนนให้ หาแนวร่วมมาสนับสนุนเพียงแค่ 126 คน

…แต่การบริหารจะทุลักทุเลอย่างมาก “ฝ่ายค้าน” จะยื่นญัตติเปิดอภิปราย หรือแถลงนโยบายจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ก็สามารถโป้งเดียวปิดบัญชี เนื่องจาก “ส.ว.” ไม่สามารถเข้าร่วมประชุม เพื่อทำการอุ้มสมได้

เสี่ยงทั้งขึ้นทั้งล่อง สรุปแล้วบ้านเมืองจะติดเหลี่ยมติดหล่มสารพัด โอกาสที่จะใช้บริการช่องสุดท้ายคือ “คนนอก-คนกลาง” ก็มีความเป็นไปได้สูง