ฉัตรสุมาลย์ : การประชุมนานาชาติ เรื่องสตรีกับความหลุดพ้น

การประชุมนานาชาติคราวนี้สืบเนื่องกับการอุปสมบทภิกษุณีที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย ที่เล่าไปแล้วในอาทิตย์ที่ผ่านมาค่ะ

ท่านสีวลี เลขาธิการสมาคมมหาโพธิ์แห่งอินเดีย เจ้าของงาน ท่านตั้งใจจะให้มีการประชุมนานาชาติเรื่องภิกษุณี แล้วตามด้วยการอุปสมบท คือพูดทางทฤษฎีแล้วก็มีภาคปฏิบัติให้ดู

แต่เนื่องจากความขัดข้องทางฝ่ายเวียดนาม ซึ่งต้องรีบกลับไปฉลองงานตรุษจีน ก็เลยสลับกัน เป็นการจัดงานอุปสมบทก่อน แล้วมาถึงการประชุม

หัวข้อใหญ่ในการประชุมครั้งนี้คือ พุทธศาสนา : ผู้หญิงกับการบรรลุธรรม

 

คราวนี้ ท่านธัมมนันทาเป็นกรรมการหลักในการจัดงานอุปสมบท และบวกกับงานที่ท่านได้ทำมากว่า 30 ปี ในเรื่องการให้องค์ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการอุปสมบทภิกษุณีในพุทธศาสนา ก็เลยได้รับรางวัลของมหาโพธิ์แห่งอินเดีย เป็นรางวัลในปีแรกของสมาคมมหาโพธิ์ที่ให้แก่ผู้ที่มีผลงานทางพุทธศาสนาดีเด่น โดยเฉพาะในการรื้อฟื้นภิกษุณีบริษัทในสายเถรวาท

ผู้มอบรางวัลคือ ท่านภิกขุโพธิ พระภิกษุสายเถรวาทชาวอเมริกันซึ่งบังเอิญรับนิมนต์มาที่บังกลอร์รัฐทางภาคใต้ของอินเดีย

เมื่อสมาคมมหาโพธิ์ที่โกลกัตตาทราบก็อยากจะนิมนต์ท่านให้เดินทางมาต่อที่พุทธคยาด้วย

ท่านธัมมนันทาก็ส่งที่อยู่ไปให้ ทำให้ทางพุทธคยาสามารถนิมนต์ท่าน และท่านเมตตารับนิมนต์มาเป็นองค์ปาฐกในงานครั้งนี้

อาจารย์อุชชวาล กุมาร หัวหน้าแผนกบาลี จากมหาวิทยาลัยโกลกัตตา เป็นหลักในการจัดงานประชุมครั้งนี้ได้รับคำชมเชยเป็นพิเศษ

เพราะเห็นถึงความก้าวหน้าของงานอย่างยิ่ง

จากงานเล็กๆ ที่มีผู้เสนองานทางวิชาการไม่กี่คนเมื่อปีก่อน ปีนี้มีผู้ร่วมเสนองานร่วม 30 คน

เรียกว่า อาจารย์อินเดียเองเริ่มให้ความสนใจ มีอาจารย์จากหลายมหาวิทยาลัยมาร่วมเสนองานด้วย

และเพราะหัวข้อการประชุมเน้นบทบาทของผู้หญิง จึงมีอาจารย์ผู้หญิงมาร่วมเสนองานมากกว่าครั้งก่อนอย่างเป็นสัดส่วนที่เห็นได้ชัดเจน

 

งานประชุมในอินเดียนั้น เป็นประเพณีของเขาที่จะเน้น งานเปิด และงานปิดประชุม จัดเป็นงานใหญ่ ต้องเชิญเจ้าบ้านผ่านเมืองมาด้วย

ในงานนี้ นอกจากแขกผู้มีเกียรติและแขกผู้ใหญ่ในงานแล้ว ก็ได้เชิญ commissioner ของเมืองมคธ เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ดัดผมหยิกยาว เป็นภาพพจน์ของผู้หญิงแขกสมัยใหม่จริงๆ

ทราบว่าท่านเป็นภรรยาของอธิบดีกรมตำรวจด้วย ท่านมาทั้งงานเปิดและงานปิดของการประชุม มีตำรวจอารักขาเป็นขบวน

นานๆ จะเห็นผู้หญิงที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานในด้านบริหารสูงเช่นนี้

และที่ผู้จัดเน้นเชิญในส่วนของรัฐที่เป็นผู้หญิงก็สมควรอย่างยิ่ง เพราะธีมของงานประชุมเป็นเรื่องสตรีกับความหลุดพ้น

ทราบมาด้วยว่า ท่านเป็นชาวพุทธ และมักมาสวดมนต์ที่ต้นโพธิ์ตอนเช้าเสมอ ก็มีตำรวจมาอารักขาเพียบเช่นกัน

ในวันปิดงาน ท่านกล่าวกับผู้เขียนว่า เสียใจที่ไม่ได้อยู่ฟังตอนที่ผู้เขียนเสนองาน ท่านออกปากขอบทคัดย่อจากผู้จัดงาน และผู้จัดงานก็ได้มอบหนังสือรวมบทความจากปีก่อนให้ท่านด้วย

งานนี้ เจ้าภาพคือสมาคมมหาโพธิ์จะพิมพ์รวมเล่มเป็นประจำทุกปี ทำให้บทความไม่สูญหาย

 

จากประเทศไทย มีบทความ 3 เรื่อง ท่านธัมมนันทาเสนอเรื่องขบวนการเกิดขึ้นของภิกษุณีสงฆ์ในเอเชีย ได้ฉายสไลด์ของภิกษุณีแต่ละประเทศที่บุกเบิกงานด้านภิกษุณีสายเถรวาท สำหรับประเทศไทย ย้อนความไปถึง พ.ศ.2471 สมัยคุณสาระ จงดี มาถึง พ.ศ.2514 สมัยของภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ ทั้งสองคราว ไม่สามารถสร้างภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทได้

จนมาถึงสมัยที่ผู้เขียนออกบวช ใน พ.ศ.2544 และเป็นภิกษุณีสมัย 2546 ร่วมสมัยกับประเทศเวียดนามที่มีภิกษุณีกลุ่มแรก พ.ศ.2544 และอินโดนีเซีย พ.ศ.2543

ภิกษุณีที่พูดถึงเหล่านี้ ล้วนนั่งฟังอยู่ด้วยทั้งสิ้น แม้ท่านเองไม่ได้เตรียมบทความมาเสนอ แต่งานของท่านก็ได้รับการกล่าวถึงและครอบคลุมในการเสนองานของท่านธัมมนันทา

ในเอเชียด้วยกัน เป็นที่น่าสังเกตอีกเช่นกันว่า ใน 3 ประเทศที่กล่าวถึง แม้ประเทศไทยมาทีหลังสุด แต่ประชากรภิกษุณีในประเทศไทยกลับมีมากถึง 280 รูป ภายในเวลา 18 ปี นับแต่ปี 2544 ที่ท่านธัมมนันทาออกบวช

ประเทศเวียดนามเอง ขณะนี้มีสองอาราม และมีภิกษุณีประมาณ 20 รูป

ขณะที่อินโดนีเซียออกบวชก่อนเพื่อนตั้งแต่ พ.ศ.2543 แต่มีภิกษุณีแยกกันสองส่วน สายหนึ่งเป็นสายเถรวาทที่พระภิกษุเถรวาทไม่ยอมรับ มีกันเพียง 3 รูป

อีกสายหนึ่งเป็นนิกายสังฆะอากุงอินโดนีเซีย ซึ่งรวมทั้งสามนิกายไว้ภายใต้ร่มเดียวกัน คือมีทั้งมหายาน วัชรยาน และเถรวาท ในส่วนของเถรวาทนั้น มีภิกษุณีอยู่ 3 รูป

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในประเทศทั้งไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ตระหนักดีว่า การเป็นภิกษุณีในสายเถรวาทนั้น มีกระแสต้านอยู่มาก

ภิกษุณีเองต้องมีการศึกษา ในเวียดนามนั้น หลวงพ่อที่สนับสนุนภิกษุณีสายเถรวาทนั้น ตระหนักในเรื่องนี้ดี จึงเน้นการศึกษาอย่างยิ่ง

ภิกษุณีที่เป็นลูกศิษย์ของท่านสี่รูป ท่านจึงส่งไปเรียนต่อจนได้ปริญญาเอกและปริญญาโททั้งหมด และท่านก็ได้ลูกศิษย์ที่มาทำงานสืบสานพระศาสนาดังใจ คือท่านภิกษุณี ดร.หลิวฟับ ที่ทำงานร่วมกันกับท่านธัมมนันทาอยู่

ในประเทศไทยนั้น ท่านธัมมนันทาเป็นท่านแรกในการรื้อฟื้นภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาท เวลาที่ท่านให้สัมภาษณ์ท่านพูดเสมอว่า อาวุธที่สำคัญในการทำงานของท่านคือความรู้ทางวิชาการที่เป็นพลังขับเคลื่อน กับทั้งความตั้งใจมั่น และความมั่นคงในพระธรรมวินัย

ในประเทศอินโดนีเซีย ทางสังฆะอากุง หลวงพ่อที่สนับสนุนภิกษุณีก็ส่งภิกษุณีของท่านสองรูปไปเรียนที่ศรีลังกา และจบปริญญาเอกในปีนี้

เช่นนี้ เราจะเห็นว่าการก้าวย่างของภิกษุณีสงฆ์มีการศึกษาเป็นอาวุธที่สำคัญ

 

ในส่วนบทความจากประเทศไทยอีกบทความหนึ่งนำเสนอโดยภิกษุณีหมาดๆ เพราะเพิ่งอุปสมบทเมื่อวันที่ 29 และเสนอบทความวันที่ 30 มกราคม ท่านธัมมปริปุณณา เดิมคือ ดร.สิรีรัตน์ เชษฐสุมน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน

ท่านเสนอบทความ ให้รายละเอียดในขั้นตอนการก้าวเข้าสู่การเป็นภิกษุณีอย่างละเอียด ใช้เป็นบทความอ้างอิงได้อย่างดี และเหมาะสมกับสถานการณ์มาก เพราะท่านเองเพิ่งผ่านการอุปสมบทมาอย่างสดๆ ร้อนๆ ในการเสนองานของท่านนั้น ท่านมี power point แสดงทุกหน้า ทำให้ผู้ฟังที่สนใจไม่พลาดข้อมูล ผู้เขียนเองพอใจกับการนำเสนอของท่านอย่างยิ่ง

บทความจากประเทศไทยอีกบทความหนึ่งนำเสนอโดย ดร.กาญจนา สุทธิกุล เนื่องจากท่านมีความสนใจใจติดตามงานทางด้านกฎหมาย ท่านศึกษาข้อมูลความขัดแย้งของคำสั่งมหาเถรสมาคม กับความเป็นจริงทางกฎหมาย ได้รับความสนใจจากผู้ฟัง จนแม้ออกจากห้องประชุมไปแล้วก็ยังมีผู้ที่สนใจติดตามพูดคุยต่อ ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการคลี่คลายความขัดแย้งทั้งสิ้น

เรียกว่า การนำเสนอบทความทางวิชาการ 3 บทความจากประเทศไทยได้รับการตอบรับอย่างดี

 

การเสนอบทความของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างในประเทศอินเดียนั้น ยังอยู่กับตำราเก่าๆ และการนำเสนอไม่ค่อยน่าสนใจ เพราะเป็นการตั้งหน้าตั้งตาอ่านบทความที่เขียนมาทั้งสิ้น

บทความหนึ่งเสนอเรื่องการบวชภิกษุณีในบังกลาเทศ เป็นการเก็บข้อมูลอย่างฉาบฉวย บังเอิญผู้ที่เป็นผู้รู้ตัวจริงนั่งฟังอยู่ด้วย ท่าน ดร.วรสัมโพธิ พระภิกษุชาวบังกลาเทศเองที่ให้การบรรพชาสามเณรีจนตนเองต้องถูกลงพรหมฑัณฑ์ เวลานี้ออกมาอยู่ที่สมาคมมหาโพธิ์พุทธคยานั้นเอง อาจารย์ผู้นำเสนอบทความก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงท่านเลย งานของท่านได้พิมพ์เผยแพร่แล้วเป็นภาษาอังกฤษด้วย

อีกทั้งท่านธัมมนันทาเป็นผู้อุปถัมภ์การอุปสมบทของภิกษุณีทั้ง 5 รูปแรกของบังกลาเทศที่จัดการให้ไปบวชที่ศรีลังกาก็ไม่ได้มีการกล่าวถึง ทั้งสองท่านจึงลุกขึ้นกล่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้บทความนั้นสมบูรณ์ขึ้น อาจารย์ผู้หญิงเจ้าของบทความเป็นชาวเบงกอลีก็ขอบคุณ และออกมาติดต่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้บทความของเธอเองเป็นวิชาการมากขึ้น เพราะข้อมูลที่เธอใช้ได้จากการสัมภาษณ์เบื้องต้นเท่านั้น

ในการประชุมครั้งนี้ บทความที่นำเสนอในส่วนของอาจารย์ชาวอินเดียเอง แสดงให้เห็นว่า ยังไม่มีความตื่นตัวนักในการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของสตรีในบริบททางศาสนา และโดยเฉพาะในพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหัวข้อหลักของงานประชุม

อย่างไรก็ตาม ในบริบทของงานประชุมเช่นนี้ ครั้งนี้เป็นการจัดครั้งที่สอง ได้เห็นทั้งการพัฒนาทั้งรูปแบบและเนื้อหา

การจัดงานคงจะค่อยๆ ดีขึ้น มีคุณภาพขึ้นแน่นอน