บทวิเคราะห์: เหตุใดญี่ปุ่นสรุปผลสภาพอากาศ ถึงออกมา “เป็นลบ”

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

แนวคิดหยุดเรียนวันศุกร์เพื่อสู้โลกร้อนของ “เกรียตา ทุนแบร์ย” (Greta Thunberg) นักเรียนสาวชาวสวีดิช วัย 16 ปี ส่งอิทธิพลอย่างกว้างขวางไปยังเด็กนักเรียนทั่วโลก

ในวันศุกร์ที่ 15 มีนาคมนี้ คาดว่าจะมีเด็กนักเรียนและนักศึกษาราว 1 ล้านคนจากโรงเรียนต่างๆ ใน 54 ประเทศทั่วโลกลุกฮือชุมนุมส่งเสียงให้นักการเมือง ภาครัฐ เร่งแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศครั้งใหญ่

แรงปรารถนาทั้ง “ทุนแบร์ย” และเด็กๆ เหล่านั้นก็คือต้องการเรียกหาความยุติธรรมในการอยู่ร่วมบนโลกใบนี้อย่างมีความสุข มีสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม สะอาด

พวกเขาไม่ต้องการอากาศพิษ ไม่ต้องการถ่านหินสกปรก

พวกเขาอยากให้ผู้ใหญ่ทั้งหลายเร่งใช้พลังงานลม พลังแสงอาทิตย์ให้มากกว่าที่เป็นอยู่

พวกเขาต้องการอยู่บนโลกปลอดจากสภาวะภูมิอากาศแปรปรวนรุนแรง

ไม่ต้องการเห็นปรากฏการณ์ภัยแล้ง พายุร้ายกระหน่ำโลกอีก

การชุมนุมเรียกร้องดังกล่าวนี้จะเป็นแรงผลักให้กลไกทั้งเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมโลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงแค่ไหน คงต้องดูกันยาวๆ

เพราะขนาด “อังเกลา แมร์เคิล” นายกฯ หญิงเหล็กแห่งเยอรมนี ยังประกาศสนับสนุนกิจกรรมหยุดเรียนวันศุกร์เพื่อต่อสู้โลกร้อนของเด็กนักเรียนเยอรมัน

 

กลับมาว่ากันต่อถึงรายงานการประเมินผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประจำปี 2562 ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นจัดรวบรวมและสังเคราะห์ข้อมูลจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง กระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภค การขนส่งและท่องเที่ยว สำนักงานอุตุนิยมวิทยา

ในรายงานว่าด้วยผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อสิ่งแวดล้อมในด้านแหล่งน้ำ ภัยพิบัติและพื้นที่ชายฝั่ง พบว่าอุณหภูมิสูงขึ้นทำให้แหล่งน้ำมีปริมาณน้ำลดลง นำไปสู่ความแห้งแล้ง

นอกจากนี้แล้ว ภาวะโลกร้อนยังทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เกิดน้ำท่วมชายฝั่ง ปริมาณน้ำฝนที่มีมากจนทำให้น้ำล้นตลิ่ง สร้างความเสียหายตามมามากมาย

จากการคาดการณ์ในอนาคตอันใกล้จนกระทั่งถึงปลายศตวรรษที่ 21 ปริมาณน้ำในแม่น้ำพื้นที่ริมทะเลญี่ปุ่นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากเนื่องจากเพิ่มสูงขึ้นหิมะละลายอย่างรวดเร็ว

ส่วนพื้นที่ลาดชันจะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักและน้ำไหลบ่าจากภูเขาสูงในปริมาณมากจนเกิดดินโคลนถล่ม

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางเหนือของเกาะคิวชู เมื่อปี 2560 ระหว่างฝนตกหนักทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำอะคาตานิ-กาวะ แม่น้ำโอโกะอูชิ-กาวะ และแม่น้ำโอโตอิชิ-กาวะ ล้นทะลักจนเกิดน้ำท่วมหนัก

การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศที่เป็นไปอย่างรุนแรงเช่นนี้ทำให้เกิดความหวาดวิตกว่าจะมีเหตุซ้ำรอยในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่น

 

รายงานยังชี้อีกว่า คลื่นซัดกระหน่ำชายฝั่ง หรือสตอร์มเซิร์จ อันเนื่องจากกระแสลมแรงจัดและความกดอากาศซึ่งเป็นอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่น “ชบา” เมื่อปี 2547 สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับเขตเซโตชิ และเขตคากาวะ เพราะเกิดน้ำท่วมใหญ่กินพื้นที่กว้าง

คาดการณ์ว่าในอนาคต สตอร์มเซิร์จบริเวณชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่นจะเกิดมากขึ้น ส่วนฝั่งตะวันตกอาจจะลดลงหรือเท่าเดิม

ด้านผลกระทบกับสุขภาพ อุตสาหกรรม วิถีชีวิตรวมถึงเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้น ในปัจจุบันเห็นได้ชัด แนวโน้มภาวะโลกร้อนจะก่อผลกระทบในทางลบมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศมีผลทำให้ชาวญี่ปุ่นเจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอากาศที่ร้อนจัดมีผลโดยตรง

ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน 2553 เมื่ออุณหภูมิในหลายพื้นที่พุ่งสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส

ชาวญี่ปุ่นเกิดอาการช็อกเพราะอากาศร้อนจัด พากันป่วยเข้าโรงพยาบาลกว่า 54,000 คน และเสียชีวิตราว 170 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ

งานวิจัยว่าด้วยการวางแผนป้องกันการเจ็บป่วยเนื่องจากคลื่นความร้อนในญี่ปุ่น ระบุว่าสังคมญี่ปุ่นกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ และสภาพแวดล้อมในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยตึกซึ่งเป็นกับดักความร้อน ทำให้อัตราเสี่ยงเป็นฮีตสโตรกเพิ่มขึ้น

จากปี 2502-2546 อัตราเสี่ยงการเสียชีวิตเพราะคลื่นความร้อนมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.10 ต่อประชากร 1 แสนคน

แต่เมื่อเจาะช่วงระหว่างปี 2542-2546 อัตราเสี่ยงอยู่ที่ 0.23 ต่อประชากร 1 แสนคน

 

สถิติการแพทย์ของญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา พบจำนวนผู้ป่วยเนื่องจากอากาศร้อนจัดในเมืองใหญ่ 17 เมืองมีมากขึ้นทุกปี

ประมาณการว่า กลางศตวรรษที่ 21 ระหว่างปี 2574-2593 ชาวญี่ปุ่นจะเจ็บป่วยเพราะอากาศร้อนจัดมากเป็น 2 เท่า โดยเฉพาะพื้นที่ทางตะวันออกและทางเหนือ

พายุไต้ฝุ่นที่มีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น ฝนที่ตกหนักและมีปริมาณมาก สร้างผลกระทบกับการผลิต การค้าและการก่อสร้าง นำไปสู่ความเสียหายรุนแรงกว่าเดิม

ชาวญี่ปุ่นใช้ชีวิตในท่ามกลางสภาวะภูมิอากาศแปรปรวน จะประสบกับความยุ่งยาก ไม่สะดวกสบายอีกต่อไป

ในรายงานระบุว่า ภาวะโลกร้อนไม่เพียงทำให้ภูมิอากาศแปรปรวนวิกฤตมีผลต่อวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่น ระบบนิเวศน์ เกษตรกรรมและการประมงเท่านั้น หากยังมีผลต่อภาคการผลิตของญี่ปุ่นในต่างประเทศอีกด้วย

รายงานยกตัวอย่าง เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคกลางของไทยเมื่อปี 2554 มีผลต่อโรงงานอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในไทย เช่น โรงงานผลิตฮาร์ดดิสก์ ได้รับความเสียหายมากถึง 315,000 ล้านเยน

“แม้ว่าน้ำท่วมใหญ่ในไทยครั้งนั้นไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าเป็นเพราะภาวะโลกร้อน แต่ถ้าสภาวะภูมิอากาศแปรปรวน เกิดถี่บ่อยขึ้น มีฝนตกหนัก ปริมาณน้ำฝนมาก ย่อมส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจทั่วโลก” รายงานระบุ

จากผลกระทบของภาวะโลกร้อนเป็นไปในทางลบเช่นนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีมาตรการรองรับ แผนแม่บทในการปรับตัวและแผนบรรเทาผลกระทบ รวมถึงมาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศทั้งในระยะปานกลางจนถึงระยะยาว

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 รัฐบาลญี่ปุ่นเห็นชอบกับแผนการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ประกอบไปด้วยหลักปฏิบัติขั้นพื้นฐาน มาตรการป้องกันบรรเทาผลกระทบในแต่ละภาคส่วน และมาตรการระดับนานาชาติ

ในภาคการเกษตร รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนรับมือกับภาวะโลกร้อนไว้แล้ว

เกษตรกรสามารถเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร รวมถึงผัก ผลไม้ ไม่ว่าจะมีอากาศแปรปรวน ร้อนจัด เย็นจัด หรือฝนตกหนัก

 

ขณะนี้เกษตรกรในเขตนันโย จังหวัดเอฮิเมะ บนเกาะชิโกกุ สามารถปลูกส้มสายพันธุ์ทารอคโคและอาโวคาโด ที่ทนทานกับสภาวะอากาศร้อนจัด

ผลผลิตของส้มและอาโวคาโดในพื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณเพิ่มขึ้น และมีรสชาติเยี่ยมเป็นที่ชื่นชอบของชาวญี่ปุ่น

ทางด้านธุรกิจของญี่ปุ่น ได้ปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน โดยหาช่องทางใหม่ๆ มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้สนับสนุนในภาคธุรกิจ ภาคการเกษตร และการผลิต เช่น การติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิที่แม่นยำ สามารถประมวลผลและส่งสัญญาณเตือนภัยให้คนงานในที่โล่งแจ้งรับมือกับอากาศร้อนจัดๆ

หรือการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในอาคารบ้านเรือนเพื่อให้ผู้คนอยู่อย่างสะดวกสบาย

แม้จะมีสภาพอากาศแปรปรวนเลวร้ายอย่างสุดๆ