อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ยุคมืด

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

คงไม่ใช่รายการโทรทัศน์ช่องหนึ่ง คงไม่ใช่บรรดานักศึกษาและคงไม่ใช่การหาเสียงเลือกตั้ง แต่รายการคนรุ่นใหม่กับการเมืองใหม่ สะท้อนกรอบคิดและความจริงของผู้มีอำนาจสมัยนี้หลายประการ

การที่นักศึกษา 100 คนจาก 16 สถาบันทั้งในกรุงเทพฯ ภาคเหนือ กลางและอีสาน ซึ่งพวกเขาไม่ทราบคำถามล่วงหน้า มีเพียงข้าวกล่องและรถรับส่งในการเข้าร่วมรายการเพื่อตอบคำถาม 4 ข้อคือ

1. เห็นด้วยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ตัดสินใจไปดีเบต?

2. เห็นด้วยกับบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ ส.ว.ออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วง 5 ปีแรก

3. เห็นด้วยว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมีความจำเป็นต่อประเทศไทย

4. เห็นด้วยว่าประเทศไทยจะมีการปกครองแบบประชาธิปไตยเต็มใบหรือครึ่งใบก็ได้ ถ้าทำให้ปากท้องประชาชนดีขึ้น

ท่านผู้อ่านคงทราบผลที่นักศึกษาเขาตอบมาแล้วว่าเป็นเช่นไร

อีกทั้งคงทราบการตัดสินใจ ปลดรายการนี้ออกจากสถานีโทรทัศน์ช่องนั้น

ความจริงแล้วนี่เป็นเพียงความเห็นของคนเพียง 100 คนที่ไม่มีทางเป็นตัวแทนของใครอีกตั้งมากมาย

ความเห็นของพวกเขาอาจผิดก็ได้

คงไม่ต้องย้ำว่า ไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไป แต่ผู้มีอำนาจก็ทำในสิ่งตรงกันข้ามหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือ จัดการกับความคิดที่เห็นต่าง จึงตัดสินใจใช้วิธีแบบในช่วง “ยุคมืด” ทำต่อสื่อมวลชน

นั่นคือ ปิดหนังสือพิมพ์ ปิดรายการโทรทัศน์ ปิดหู ปิดตา ปิดปาก โดยหน่วยงานของรัฐ

มาตรการโบราณกลับมาใช้อีกครั้ง พร้อมด้วยเครื่องมือและมาตรการสมัยใหม่ เช่น พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ซึ่งเร่งรัดออกมาโดยสภาผู้ทรงเกียรติ

สิ่งนี้ย่อมแสดงให้เห็นวิธีคิดแบบเก่าในยุคมืด สื่อสารทางเดียว การผูกขาดการรักชาติ ผูกขาดการตีความความมั่นคงแห่งชาติเสียเอง

แต่ในอีกด้านหนึ่ง แม้ใช้ทุกกลไกทางการเมืองและสังคมสร้างความมั่นคงให้กับผู้มีอำนาจแล้ว แต่ความคิดเห็นจากรายการดังกล่าวและปฏิกิริยาของรัฐได้แสดงให้เห็นว่า เฟิร์สต์โหวตเตอร์เหล่านี้กำลังขย่มขวัญไปถึงผู้มีอำนาจ

ผู้มีอำนาจแก้ไขสิ่งที่เขาเรียกว่า “ชี้นำ” โดยให้นายกรัฐมนตรีไปร่วมแสดงความคิดเห็นกับพรรคพลังประชารัฐได้ แล้วเขาบอกว่า นี่จะทำให้คะแนนนิยมพรรคพุ่งขึ้นมา

เราลองติดตามดู

 

เนติบริกร

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สังคมไทยได้เห็นอะไรที่น่าสนใจหลายอย่าง เนติบริกรอธิบายว่า คสช.ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นองค์กรชั่วคราว ไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน แต่สั่งราชการได้ ควบคุมนโยบายรัฐได้ ดำรงตำแหน่งในกระทรวงได้และหลายกระทรวงด้วย อีกทั้งยังรับเงินเดือนจากภาษีของประชาชน

ในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่รัฐก็เปลี่ยนสถานะเป็นบุคคลสาธารณะ โดยเปลี่ยนจากป้ายตำแหน่งของตัวเองในเพจของเว็บไซต์ อันเป็นช่วงเวลาที่ตีความว่า เป็นผู้สมัครเป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ บุคคลสาธารณะไม่ได้เป็นอะไรเลยกับพรรคพลังประชารัฐ ไม่รู้จักใครเลยที่เป็นผู้ก่อตั้งและแกนนำของพรรค ทั้งๆ ที่ร่วมงานกันมาในคณะรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีทำงานด้วยกันหลายเรื่อง ยังได้รับคำชมว่า พวกเขาทำงานหนัก

เคยปฏิเสธดีเบตโดยบอกแก่คนทั่วไปว่า แสดงวิสัยทัศน์มาตลอด 5 ปีแล้ว ระหว่างสัปดาห์ยังมีการแสดงผลงานของรัฐบาลโดยบอกว่า “เดินหน้าประเทศไทย” แต่จริงๆ แล้วก็คือการรายงานหรือรวบรวมการทำงานของราชการเป็นส่วนใหญ่ เปลี่ยนเฉพาะสถานที่ เพลง พิธีกร

ตอนนี้ กกต.บอกว่าไปหาเสียงกับพรรคพลังประชารัฐได้แล้ว แต่ให้ไปเฉพาะนอกเวลาราชการและไม่ให้ใช้อุปกรณ์ของรัฐ ถึงท่านไม่ได้มีรูปติดอยู่กับป้ายหาเสียงเหมือนหัวหน้าพรรคการเมืองคนอื่นๆ ใครๆ ก็รู้ว่าท่านเป็นอะไรกับพรรคพลังประชารัฐทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง ก็กลุ่มคน นโยบาย แม้แต่ชื่อประชารัฐก็เหมือนกัน

 

โครงสร้างการเมืองกับสมองก้อนนั้นๆ

มีคำพูดว่า อย่าไปดูถูก ส.ว.เขา เขามีสมอง ต้องเลือกคนที่มีสมองมาทำงาน ยังบอกอีกด้วยว่า คนพวกนี้ไม่ได้เป็นต้นทุนทางการเมืองแก่ใคร

แต่เฉพาะคณะกรรมการสรรหาก็ไม่ได้ทำตามรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะเป็นคนหน้าเดิม เป็นคนในฝ่ายอำนาจ

ดังนั้น จึงไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง

ด้วยเหตุนี้จึงพอรู้เลาๆ ว่ามีใครบ้างจะอยู่ในรายชื่อของ ส.ว.ที่จะให้ คสช.คัดอีกครั้ง ชื่อที่ปรากฏในสื่อมวลชนซึ่งเผยแพร่ออกไปมีการเตรียมการเอาไว้แล้ว ไม่ใช่ด้วยเงื่อนไขเวลาที่จำกัด แต่เป็นเพราะกลุ่มคนหน้าเดิมมีคุณสมบัติครบที่จะเป็น ส.ว.เพื่อผู้เลือกอยู่แล้ว ทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิ ไม่มีลักษณะต้องห้ามและคุ้นเคยกันดี

สมองก้อนนั้นๆ และเนติบริกรช่วยให้ภาพการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2014 เดินมาได้ระดับหนึ่ง

แต่จะเป็นการเดินสู่ประชาธิปไตยที่ไม่ใช่ครึ่งใบซึ่งเป็นการประนีประนอมระหว่างผู้นำกองทัพ กลุ่มธุรกิจและนักการเมืองเหมือนในยุคทศวรรษ 1980

แน่นอน ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบที่ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง มีตัวแทนประชาชนเป็นแกนหลักเชิงอำนาจและการจัดการบริการสาธารณะ มีภาคประชาสังคมต่างๆ ทั้งที่มีองค์กรและการรวมตัวกันเองเพื่อเรียกร้อง แสดงตัวตนและต่อรองกับรัฐในผลประโยชน์ที่พวกเขาสูญเสียหรือควรได้รับเสรีภาพในการแสดงออกได้รับการยอมรับและคุ้มครองทางกฎหมาย ตรงกันข้าม รัฐธรรมนูญปี 2560 วิธีคิดและพฤติกรรมของผู้มีอำนาจไม่ได้เปิดโอกาสให้ทำเช่นนั้นเลย

ดังนั้น ระบอบอำนาจนิยม (Authoritarianism) ในยุคศตวรรษที่ 21 จึงก่อตัวขึ้นด้วยความขัดแย้งภายในกลุ่มชนชั้นนำที่ยังดำเนินอยู่อย่างเข้มข้น โครงสร้างและกลไกระบอบอำนาจนิยมในประเทศไทยครั้งนี้อาจยังเรียกในเชิงกรอบคิดไม่ถนัดนัก

แต่ใช่ว่าการก่อรูปนี้จะราบรื่น ด้วยเหตุที่ว่า ความแตกแยกภายในชนชั้นนำและผลประโยชน์ที่มีอย่างจำกัดเป็นปัจจัยชี้ขาด

ยุคมืดด้วยการคุมสื่อเป็นเพียงวิธีการหนึ่ง โดยที่ตัวมันเองก็สะท้อนวิธีคิดของชนชั้นนำ