เกษียร เตชะพีระ | สถานการณ์โลกจากมุมอเมริกา : เศรษฐกิจและสมรรถภาพล้นเกิน

เกษียร เตชะพีระ

จากการเปรียบเทียบสภาพเศรษฐกิจโลกระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสองกับปัจจุบัน ศาสตราจารย์ Dylan John Riley แห่งคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ เบิร์กเลย์ สหรัฐ ชี้ว่าปัญหาเหมือนกันตรงที่มีสมรรถภาพการผลิตทางหัตถอุตสาหกรรมล้นเกิน (excess manufacturing capacity) ในระดับโลก

อันเป็นเหตุมูลฐานรองรับให้เกิดการเปลี่ยนย้ายไปสู่ทุนนิยมการเงินและการเติบโตที่ขับดันด้วยเงินกู้ (financialization and debt-fuelled growth) ซึ่งประกอบส่วนเป็นเหตุแห่งวิกฤตซับไพรม์ ค.ศ.2008 และภาวะเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ทั่วโลกต่อมา

ที่มาของสภาพดังกล่าวย้อนรอยถอยหลังไปได้ถึงคริสต์ทศวรรษที่ 1970 ซึ่งไม่มีการรื้อล้างธุรกิจด้อยประสิทธิภาพและทำลายพลังการผลิตลงส่วนหนึ่งอย่างเด็ดขาด (creative destruction ตามศัพท์แสงของโจเซฟ ชุมปีเตอร์ นักเศรษฐศาสตร์ออสเตรีย) เพื่อเปิดทางให้ธุรกิจใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าสร้างพลังการผลิตใหม่ขึ้นทดแทนในภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลกทุนนิยมตะวันตกตอนนั้น

การเลี้ยงไข้ดังกล่าวกลายเป็นพื้นฐานให้เกิดภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจอย่างยาวนานเรื้อรังที่ยังคงถ่วงลากประเทศทุนนิยมก้าวหน้าไว้ ทำให้การเพิ่มอัตรากำไรทำได้ทางเดียวคือไปตัดแบ่งเอามาจากค่าจ้างแรงงาน

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างเด่นชัดก็คือมาตรฐานการครองชีพของอเมริกาในปัจจุบันสูงกว่าในยุโรประหว่างสงครามโลกสองครั้งนั้นมหาศาล

ข้อแตกต่างอีกอย่างคือมาตรการรับมือวิกฤตซับไพรม์ที่รัฐบาลประธานาธิบดีบุชผู้ลูกแห่งพรรครีพับลิกัน (ในช่วงปี ค.ศ.2008-2009) กับโอบามาแห่งพรรคเดโมแครต (ค.ศ.2009-2017) เห็นพ้องกันทั้งสองพรรคและดำเนินต่อเนื่องไปได้ผลสำเร็จบางส่วน

กล่าวคือ ถึงเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลงอย่างน่าตื่นตกใจ ทว่าระบบธนาคารก็หาได้ล่มสลายลงไม่ ค่าที่รัฐบาลอเมริกันปล่อยเงินหลวงดอกเบี้ยต่ำทะลักล้นเข้าโอบอุ้มสถาบันการเงินทั้งหลายไว้ เปิดช่องให้สถาบันเหล่านี้ฉวยใช้เงินดังกล่าวไปปล่อยกู้ต่อในอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่ตนต้องจ่ายตอบแทนให้รัฐมาก สามารถเก็บกำไรเหนาะๆ ไปชดเชยการขาดทุนของตัว

อัตราคนว่างงานในสหรัฐแม้จะเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่เกิน 10% เทียบกับที่เคยสูงถึง 25% ในสมัยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำใหญ่ตอนคริสต์ทศวรรษที่ 1930

นอกจากนี้ระบบสวัสดิการสังคมหลังสงครามโลกที่ยังหลงเหลืออยู่บ้างจากการรื้อถอนทิ้งตามแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่นับแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1980 ก็ช่วยผ่อนเบาผลกระทบจากวิกฤตต่อประชากรส่วนใหญ่ลงบ้าง และทำให้หลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจนลงตัวตั้งมั่นซ้ำวงจร (pro-cyclical consolidations) อย่างที่เคยเกิดขึ้นสมัยทศวรรษที่ 1930 มาได้

แนวนโยบายการเงินใหม่ต่างๆ ที่ธนาคารกลางนำมาทดลองใช้ เช่น quantitative easing หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ พูดง่ายๆ ก็คือพิมพ์เงินเพิ่มแล้วใส่เข้าไปในระบบ เป็นต้น ก็ช่วยดึงราคาสินทรัพย์ให้สูงขึ้น แม้ว่าไม่พอเพียงจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนรอบใหม่ขนานใหญ่ก็ตาม

ดังจะเห็นได้จากที่การใช้สมรรถภาพการผลิตทางหัตถอุตสาหกรรมในสหรัฐ (manufacturing capacity utilization – MCU) ไม่เคยฟื้นตัวเต็มที่นับแต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยใหญ่หลังปี ค.ศ.2008 เป็นต้นมา

กล่าวคือ ระหว่างต้นปี ค.ศ.2005 เมื่อ MCU ฟื้นตัวเต็มที่จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐเมื่อปี ค.ศ.2001 จวบจนสิ้นปี ค.ศ.2007 MCU ค่อนข้างมีเสถียรภาพที่ราว 79% ก่อนที่มันจะตกต่ำลงอีกพร้อมกับการเริ่มภาวะเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ทั่วโลกเนื่องจากวิกฤตซับไพรม์

จะเห็นได้ว่าตลอดช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยใหญ่นั้น MCU ตกต่ำลงไปจนถึงระดับแค่ 64% แล้วค่อยฟื้นตัวกลับขึ้นมาบางส่วนเมื่อต้นปี ค.ศ.2012 นับแต่นั้นมา MCU ของสหรัฐคงที่ ณ ระดับเฉลี่ยราว 75% (ดูแผนภูมิข้างบน)

ตัวเลขดังกล่าวมีนัยสำคัญตรงที่เมื่อนำข้อมูลประวัติศาสตร์การใช้สมรรถภาพการผลิตทางหัตถอุตสาหกรรมของสหรัฐเอง (ระหว่าง ค.ศ.1967-2013) ของประเทศ ยูโรโซน 17 ประเทศ (ค.ศ.1991-2013) ของญี่ปุ่น (ค.ศ.1978-2013) ของเกาหลีใต้ (ค.ศ.1988-1998) ของบราซิล (ค.ศ.2005-2012) และของไต้หวันกับจีน (ค.ศ.1981-2007) มาเป็นเกณฑ์แล้ว มันบ่งชี้ว่าอัตรา MCU ปกติอยู่ระหว่าง 79-83%

หากระดับ MCU ขึ้นไปเหนือ 90% ก็ส่อว่าสมรรถภาพการผลิตทางหัตถ-อุตสาหกรรมขาดแคลน ขณะที่ถ้ามันต่ำกว่า 75% ลงมาก็มีนัยว่าสมรรถภาพการผลิตทางหัตถอุตสาหกรรมล้นเกิน (excess manufacturing capacity) (ดู https://development.asia/print/policy-brief/assessing-impacts-excess-capacity)

จะเห็นได้ว่าตัวเลข 75% นั้นเป็นระดับเฉลี่ยของ MCU อเมริกันนับแต่ปี ค.ศ.2012 ถึงปัจจุบันนั่นเอง

เราควรหันไปพิจารณาปัญหาสมรรถภาพการผลิตทางหัตถอุตสาหกรรมล้นเกินของจีนประกอบบ้าง ในฐานะที่จีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐ และยังเป็นประเทศส่งสินค้าออกอันดับหนึ่งของโลกตั้งแต่ปี ค.ศ.2009 เป็นต้นมาด้วย

งานศึกษาวิจัยของหูปี้เหลียง ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยครุศาสตร์ปักกิ่ง (Beijing Normal University – BNU) กับจ้วงเจียน เจ้าหน้าที่เศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่งธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank – ADB) เรื่องการประเมินผลกระทบของภาวะสมรรถภาพการผลิตทางหัตถอุตสาหกรรมล้นเกินในจีน โดยนำข้อมูล MCU ของทางการจีนมาคำนวณประกอบกับข้อมูลมูลค่าเพิ่มในภาคอุตสาหกรรม (industrial value-added) และดรรชนีราคาผู้ผลิต (producer price index – PPI) ของจีนเองด้วย ก็สรุปว่า :

ปัญหาสมรรถภาพล้นเกินของภาคหัตถอุตสาหกรรมจีนโดยรวมในช่วงปี ค.ศ.2012-2014 ไม่หนักหนาสาหัสเหมือนกับที่เคยเป็นเมื่อช่วง ค.ศ.1992-2002 และ 2008-2009 ทว่าภาคเศรษฐกิจที่สำคัญบางส่วนก็ประสบภาวะสมรรถภาพล้นเกินอย่างเด่นชัด ได้แก่ เหล็กกล้าดิบ ซีเมนต์ ปุ๋ยเคมี และรถยนต์ (ดูแผนภูมิด้านล่างประกอบ)

สงครามการค้าสหรัฐกับจีนในปัจจุบันที่สหรัฐขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรเอากับสินค้านำเข้าจากจีนขนานใหญ่ตั้งแต่ปีที่แล้วน่าจะทำให้ปัญหาสมรรถภาพการผลิตทางหัตถอุตสาหกรรมล้นเกินของจีนร้ายแรงขึ้นอีก