ต่างประเทศอินโดจีน : แล้งนี้…กัมพูชาลำเค็ญ

ข้อมูล-ภาพ-Sun Narin/VOAKhmer

เมื่อหน้าแล้งมาเยือน ความยากลำบากย่อมเกิดขึ้นติดตามมา ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งผู้คนที่อาศัยอยู่แวดล้อมตระเปง ทมาร์ อ่างเก็บน้ำใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ในพื้นที่อำเภอพนมซรก จังหวัดบันเตียเมียนเจย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศก็ตามที

ตระเปง ทมาร์ ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 75,000 ไร่ เก็บน้ำได้ถึง 180 ล้านคิวบิกเมตร เคยเป็นแหล่งน้ำที่ผู้คนนับหมื่นใช้ทำมาหากินหล่อเลี้ยงชีวิต

บัดนี้หลงเหลือเพียงแอ่งเล็กแอ่งน้อย กระจายกันอยู่ทั่วพื้นอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ รวมปริมาตรไม่ถึง 1 ล้านคิวบิกเมตร

นั่นเป็นเพราะแล้งนี้หนักหนาสาหัสกว่ายามแล้งทุกคราวที่เคยพบเห็นกันมา

 

ปิง จันเทรีย ชาวนาจากปอนเลย คอมมูน หมู่บ้านปอระบัน ยืนยันว่าแล้งอย่างนี้เพิ่งเคยพบเห็นเป็นครั้งแรกในชีวิต แล้งหนักและยาวนานจนนาข้าวที่ทำได้ผลผลิตไม่มากพอที่จะนำออกขายด้วยซ้ำไป

ปิง วัยสามสิบ ตั้งท้องได้ 8 เดือนแล้วบอกว่า ตั้งแต่หน้าฝนเรื่อยมา เพิ่งมีฝนกระหน่ำลงมาให้เห็นเพียง 2 ครั้ง จากนั้นตั้งแต่ต้นปีมานี้ ไม่มีวี่แววของฝนมาให้เห็นอีกเลย

เธอมองท้องที่กำลังขยายตัวมากขึ้นทุกวัน แล้วบอกว่า เงินสินสอดที่อดออมเอาไว้ตั้งแต่แต่งงาน หายไปกับนาข้าวและแล้งเข็ญครั้งนี้ทั้งหมด

หน้าฝนในกัมพูชา เริ่มต้นในราวเดือนพฤษภาคม สิ้นสุดราวๆ เดือนตุลาคม พอถึงพฤศจิกายน หน้าแล้งก็เริ่มมาเยือน ยาวนานไปจนถึงเมษายน

ชาวนาในแถบพนมซรกมักทำนากันปีละสองครั้ง ทำข้าวนาปีในหน้าน้ำหนึ่งครั้ง นาปรังในหน้าแล้งอีกครั้ง ถึงตอนนี้ผลผลิตไม่ว่านาปีหรือนาปรังล้วนหดหายอย่างน่าใจหาย

 

เลง ทม เชื่อว่าอากาศในยามนี้วิปริตผิดธรรมชาติไปหมด ไม่เพียงฝนฟ้าไม่มาตามฤดูกาล อุณหภูมิยังร้อนจัดขึ้นทุกวันอีกต่างหาก

“ตอนนี้แค่ 8 โมงเช้า แต่ร้อนระเบิดแล้ว” เลงบอก พร้อมกันนั้นก็เปิดเผยว่าผลผลิตในรอบปีที่ผ่านมา อย่าว่าแต่ทำกำรี้กำไร แค่ให้ครอบคลุมค่าปุ๋ยยังไม่พอ

ข้าวที่เคยขายได้กิโลกรัมละ 5-6 บาท กลับได้ราคาต่ำกว่าที่คาด ด้วยปัญหาของคุณภาพ

เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี เรียกร้องต่อชาวนาทั่วประเทศ ขอให้ลดการทำนาลงเหลือเพียงครั้งเดียว เพราะน้ำมีไม่เพียงพอ และย้ำว่า แล้งนี้จะหนักหนาจนเป็นปัญหาขาดแคลนน้ำกันทั่วประเทศ

ลิม เคียนฮอ รัฐมนตรีแหล่งน้ำ มาเยือนพนมซรกในอีก 3 วันต่อมา ตอกย้ำกับชาวนาที่นี่ว่า การทำนาปรังคือการขัดคำสั่งของท่านนายกฯ

หน้าแล้งปีนี้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทำนาของชาวกัมพูชาไปรวมแล้วมากกว่า 250,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 13 จังหวัด ตามตัวเลขของคณะกรรมการจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ

ที่หวั่นเกรงกันมากก็คือ สถานการณ์อาจซ้ำรอยหรือเกินหน้าภาวะแล้งจัดที่สุดที่กัมพูชาเคยเผชิญมาเมื่อปี 2015 ซึ่งถือกันว่าเป็นภาวะแล้งรุนแรงที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษ

ตอนนั้นเกือบทั้ง 25 จังหวัดของกัมพูชาประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเหมือนๆ กันหมด ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชาวบ้านมากถึง 2.5 ล้านคน

 

เมียน เซือม ผู้ใหญ่บ้านปอระบัน ประมาณการว่า ปีนี้คาดว่าชาวนาแถบนี้คงได้ผลผลิตข้าวเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณผลผลิตที่เคยทำได้ตามปกติ

ปัญหาก็คือ ชาวนาทั้งหลายถ้าไม่เป็นหนี้สถาบันสินเชื่อรายย่อย ก็กู้หนี้ยืมสินมาจากคนอื่นๆ อัตราดอกเบี้ยแม้จะลดลงตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี แต่ก็ยังสูงถึงร้อยละ 18

ถ้าในอนาคตอันใกล้ สถานการณ์ย่ำแย่อย่างนั้นจริงๆ บรรดาพ่อ-แม่ก็คงต้องอพยพมารับงานก่อสร้าง หรือทำสวนทำนาในประเทศไทย

ไม่เช่นนั้น “ดอก” กินหมดตัวแน่นอน