เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | วาทกรรมประชาธิปไตย

มีคนถามว่า ถ้าไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะผิดไหม

ตอบว่า ไม่ผิด เพียงแต่จะเสียสิทธิบางประการไปเท่านั้น เช่น สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น

การไปเลือกตั้งจึงเป็นสิทธิและหน้าที่ของประชาชนที่มีสิทธิ โดยเฉพาะหน้าที่ในการใช้สิทธิที่มี คือสิทธิเลือกตั้ง

มีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

แต่ขณะเดียวกันเราก็มีเสรีภาพในการเลือกด้วย คือเสรีภาพที่จะเลือกหรือไม่เลือกใครก็ได้ รวมถึงเสรีภาพที่จะไม่เลือกใครเลยก็ยังได้ ดังเรียก โหวตโน (VOTE NO) นั่น

สิทธิหน้าที่และเสรีภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญของกระบวนการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

สิทธิหน้าที่และเสรีภาพของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งนี้เป็นอำนาจหนึ่งในการมี “ส่วนร่วม” ของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

เป็นส่วนหนึ่งของ “อธิปไตย” คืออำนาจของประชาชนตามที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังหมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย “มาตรา 50” บุคคลมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

“(7) ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือลงประชามติอย่างอิสระโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ”

การเลือกตั้งเป็นการเลือกตัวแทนหรือผู้ทำการแทนเจตนารมณ์ของเราเข้าไปทำหน้าที่ในสภาเพื่อ “ประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ” นั่นเอง

การใช้หน้าที่นี้จึงเป็น “อำนาจ” หรือ “อธิปไตย” ที่สำคัญของปวงชนในระบอบประชาธิปไตยประการหนึ่ง ซึ่งยังมีอีกหลายประการนัก ดังบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอันว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ และหน้าที่ของปวงชนชาวไทย

อธิปไตย แปลว่า อำนาจ “ประชาธิปไตย” จึงแปลว่า อำนาจของประชาชน เพระคำ “ประชา” คือประชาชน

จำเพาะคำอธิปไตยที่แปลว่าอำนาจนี้มีความหมายที่กินความกว้างขวาง ที่สำคัญคือ ชอบธรรมกับไม่ชอบธรรม

หมายถึงอำนาจอันชอบธรรมกับอำนาจอันไม่ชอบธรรม

การเลือกตั้งเป็นการใช้อำนาจของประชาชน อันถือว่าประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจชอบธรรมนี้ผ่านกระบวนการอันชอบธรรมตามกฎหมาย

เพราะฉะนั้น การใช้สิทธิเลือกตั้งตามหน้าที่และเสรีภาพดังกล่าวของประชาชนจักต้องเป็นไปโดยชอบธรรมด้วย อย่างน้อยๆ ความชอบธรรม ขั้นต้นก็ดังข้อความที่กำหนดในมาตรา 50(7) คือ “…อย่างอิสระโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ”

ผิดจากนี้ต้องถือเป็นการใช้อำนาจ (ในการมีส่วนร่วม) อย่างไม่ชอบธรรม

ดังเคยกล่าวไว้ว่า “ประชาธิปไตยคืออำนาจอันชอบธรรมของประชาชนในการบริหารจัดการเรื่องที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นหลักและเป็นใหญ่”

อำนาจในที่นี้ล้วนเป็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น อันจำแนกเป็นสามขั้นตอนคือ

ประชาชนมีส่วนร่วมโดยชอบธรรมในการใช้อำนาจเลือกตั้งตัวแทนอันชอบธรรม

ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจอันชอบธรรมจากประชาชน

ผู้ได้รับมอบอำนาจนั้นต้องใช้อำนาจโดยชอบธรรม

สรุปคือ

ประชาชนมีส่วนร่วมใช้อำนาจอย่างชอบธรรม

ผู้รับมอบอำนาจได้อำนาจมาอย่างชอบธรรม

ผู้มีอำนาจใช้อำนาจอย่างชอบธรรม

สามอย่างนี้เป็นความหมายโดยรวมของคำว่า “ประชาธิปไตย คืออำนาจอันชอบธรรมของประชาชน”

ส่วนอำนาจอันชอบธรรมของประชาชนนี้เพื่ออะไรก็ขยายความดังกล่าวคือ

เพื่อบริหารจัดการเรื่องที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นหลักและเป็นใหญ่

อำนาจสามขั้นตอนดังกล่าวคือ การมีส่วนร่วม การได้อำนาจ การใช้อำนาจ ต้องชอบธรรมทั้งสามขั้นตอนจึงเป็นเสมือนบรรทัดวัดมาตรฐานประชาธิปไตย

ตัวอย่างความอ่อนแอของอำนาจทางการเมืองระบอบประชาธิปไตยในบ้านเรานั้น ก็คือความไม่ชอบธรรม ทั้งสามขั้นตอนนี้เอง

หนึ่ง การซื้อสิทธิขายเสียงด้วยรูปแบบและกระบวนการอันแนบเนียนและสลับซับซ้อน เช่น การสร้างมายาภาพด้วยสื่อยุคใหม่ ทำให้ประชาชนหลงไปกับเจตจำนงลวงส่วนตน

สอง ผู้ได้รับเลือกตั้ง ถือว่าได้อำนาจมาอย่างชอบธรรม โดยไม่นำพากับกลวิธีใดก็ตามที่ทำให้ตนได้ชัยมาแล้วเท่านั้น

สาม รัฐบาลมักถือเอาอำนาจที่ตนได้มานี้อ้างเอากับการใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม โดยไม่ฟังเสียงค้าน กับคำที่มักอ้างกันเป็นประจำคือ “ประชาชนให้อำนาจมา” แล้ว โดยหาคำนึงไม่ว่า

การได้อำนาจกับการใช้อำนาจนั้นเป็นคนละขั้นตอนกัน

แม้จะได้อำนาจมาโดยชอบธรรม ก็มิได้หมายความว่าจะมีอำนาจด้วยการนำมาใช้ในเรื่องไม่เป็นธรรมได้

ดังปรากฏการณ์ความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับประชาชน และกลุ่มชนกับกลุ่มชน หลากหลายสีสันดังที่ผ่านมานั้น

ความวุ่นวายทั้งหลายในบ้านเมืองเรา แม้จนวันนี้ลืมสาวยาวโยงลงไปล้วนมาจากรากเหง้าเค้าเงื่อนของความไม่ชอบธรรมจากสามอำนาจนี้ทั้งสิ้นคือ

ประชาชนไม่มีส่วนร่วมอย่างชอบธรรม

ผู้ได้อำนาจมักได้อำนาจมาโดยไม่ชอบธรรม

ผู้มีอำนาจใช้อำนาจไม่เป็นธรรม

สามอย่างนี้ล้วนเป็นแก่น เป็นสาระสำคัญ เป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย นี้เองตามความหมายที่พึงตอกย้ำจำหลักให้มั่นคือ

ประชาธิปไตย คืออำนาจอันชอบธรรมของประชาชนในการบริหารจัดการเรื่องที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นหลักและเป็นใหญ่

ผิดจากนี้ย่อมไม่ใช่ประชาธิปไตย

ไม่ใช่ประชาธิปไตย ดังที่กำลังฉกฉวยและฉกชิงวิ่งราวเอากับวาทกรรมประชาธิปไตยกับเผด็จการในเวทีหาเสียงเลือกตั้งและหลังวันเลือกตั้งในสัปดาห์หน้านี้

ขอสาธุชนทั้งตั้งสติภาวนาดังนี้เถิด

ลืมตาอย่าลืมตัว