การเลือกตั้งที่ยุ่งยาก กับ ‘อิทธิพล’ ที่มีผลต่อความเป็นไปของประเทศ

โค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง ความสนใจของผู้ติดตามการเมืองมุ่งที่คะแนนนิยมของพรรคการเมือง การประเมินว่าใครจะมีอำนาจบริหารประเทศนี้มุ่งไปที่ผลการเลือกตั้ง

ความคิดยึดอยู่ที่ “พรรคไหนชนะเลือกตั้ง พรรคนั้นจะมีอำนาจบริหารจัดการประเทศ”

นั่นเป็นภาพที่เกิดจากความคิด

องค์ประกอบของความเป็นจริงไม่ใช่เป็นอย่างนั้น

“ผลการเลือกตั้ง” มีผลแค่ต่อ “รัฐสภา” หรืออาจจะเลยไปถึงโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล จนคล้ายกับว่าอำนาจในการบริหารจัดการประเทศอยู่กับนักการเมืองที่ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง

แต่แท้ที่อำนาจในการบริหารประเทศมีมากกว่านั้น

โครงสร้างอำนาจรัฐยังมีส่วนอื่นๆ และมีไม่น้อยที่อิทธิพลต่อความเป็นไปของประเทศ

อำนาจอธิปไตยที่แบ่งเป็น 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล รัฐสภา และศาล

ทุกส่วนในยุคสมัยแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ล้วนมีเงื่อนไข

“อํานาจบริหาร” แทบไม่ต้องพูดถึง

การกำหนด “นโยบาย” ที่ถูกบังคับไว้ด้วย “ยุทธศาสตร์ 20 ปี”

กลไกอำนาจรัฐมีข้าราชการซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองมีอิทธิอพลมากมาย ด้วยกติกาที่ตีกรอบไม่ให้นักการเมืองเข้าไปแทรกแซงได้ง่าย

แต่เป็น “ผู้นำรัฐบาล” แต่นักการเมืองจะมีบทบาทอะไรได้มาก

“รัฐสภา” ไม่เพียงถูกแบ่งไปด้วย 250 วุฒิสมาชิกที่คนกลุ่มหนึ่งชิงอำนาจแต่งตั้งมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน กระทั่งสภาผู้แทนราษฎรทั้งที่ถูกทำให้อ่อนแอ เพราะระบบเลือกตั้งที่ทำให้ไม่มีพรรคใดมีโอกาสได้รับเสียงข้างมาก ยังถูกแทรกแซงจากพรรคที่ใช้อำนาจรัฐเป็นความได้เปรียบจากการเลือกตั้ง

ส่วน “ตุลาการ” ผ่านไปในฐานะเข้าใจได้

ทั้งหมดทั้งสิ้นชี้ให้เห็นว่า “การเลือกตั้ง” ที่เป็นความหวังเดียวของประชาชนที่มีสิทธิในส่วนร่วมกำหนดความเป็นไปของประเทศ

เอาเข้าจริงแล้ว ในยุคสมัยเช่นนี้มีผลน้อยมาก

แต่ทั้งที่จริงสิทธิประชาชนถูกลิดรอนขนาดนั้น การเลือกตั้งยังถูกออกแบบให้เกิดความยากลำบากในการกาบัตรให้เป็นไปอย่างที่ใจคิด

อย่าไปพูดถึงระบบการคิดคะแนนที่เจตนาป้องกันไม่ให้เกิดพรรคการเมืองขนาดใหญ่ โดยออกแบบให้ต้องตั้ง “รัฐบาลผสมหลายพรรค” เท่านั้นเลย

กระทั่งจะกาบัตรกันอย่างไร ยังเป็นเรื่องปวดเศียรเวียนเกล้าของประชาชน

เหลือเวลาอีกไม่กี่วันจะต้องเข้าคูหากาบัตร

“นิดาโพล” สำรวจเรื่อง “การลงคะแนนเลือกตั้ง 2562” แม้ร้อยละ 92.77 จะรู้ว่า ต้องกาบัตรใบเดียว แต่มีร้อยละ 51.80 เท่านั้นที่ทราบว่าหมายเลขของผู้สมัครพรรคเดียวกันแต่ต่างเขตเป็นคนละเบอร์ อีกเกือบครึ่งคือร้อยละ 48.20 ไม่ทราบ ร้อยละ 55.96 คิดว่าจะไปดูที่หน่วยเลือกตั้ง

เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นความหวังว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลง และห่างมานาน ทำให้เชื่อกันว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิกันมากกว่าครั้งใด แต่ร้อยละ 37.97 ไม่รู้ว่าผู้สมัครที่ตัวเองตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกนั้นหมายเลขอะไร ร้อยละ 55.96 คิดว่าจะไปดูที่หน่วยเลือกตั้ง

การเลือกตั้งที่ประชาชนทั้งประเทศเห็นว่ามีความสำคัญยิ่ง

แต่มีผลต่อโครงสร้างอำนาจการบริหารประเทศไม่มากนัก

ยังถูกทำให้เข้าใจได้ยากถึงวิธีลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

การใช้สิทธิของประชาชนทั้งถูกลิดรอนค่า และยุ่งยาก