ฉัตรสุมาลย์ : ชื่นชม ม.พะเยา และ นายกสภามหาวิทยาลัย

ขึ้นมาจังหวัดพะเยา 2-3 ครั้ง เมื่อท่านธัมมนันทาได้รับนิมนต์มาให้การบรรพชาสามเณรีจังหวัดพะเยา ใกล้ๆ วัดลี ในตัวเมือง ได้ไปชมกว๊านพะเยา แอ่งน้ำใหญ่ของจังหวัด มีวัดอยู่กลางน้ำ ที่มีคนชวนนั่งเรือไปชมก็ไม่ตื่นเต้น เพราะว่ายน้ำไม่เป็น

โดยประวัติการเกิดขึ้นของจังหวัดพะเยานั้น เดิมเป็นอำเภอของจังหวัดเชียงราย เพิ่งแยกออกมาเป็นจังหวัดได้ไม่นานนัก เวลาพูดคุยกับคนท้องถิ่นก็ได้ความรู้สึกว่า อะไรที่พะเยาก็ยังเล็กๆ เพราะยังเป็นจังหวัดใหม่

ได้ไปกราบพระประธานที่วัดศรีโคมคำ ซึ่งเป็นพระอารามหลวง ได้กราบท่านเจ้าอาวาส และได้รับนิมนต์ไปบรรยายที่วิทยาลัยสงฆ์ที่พะเยา

จำได้ว่า พระผู้ใหญ่ที่จังหวัดพะเยาสอนว่า แม้ทางการสงฆ์ไทยไม่ยอมรับภิกษุณี แต่ให้ระลึกว่าเราเป็นภิกษุณีไทยในพระพุทธศาสนา

รู้สึกขอบคุณในคำชี้แนะที่สร้างความมั่นใจอย่างยิ่ง

แต่ทั้งหมดที่ผ่านมา พะเยาก็ยังเป็นเมืองเล็กๆ ในความรู้สึกของผู้เขียน

จนกระทั่ง วันที่ 25 พฤศจิกายน 2559

ท่านธัมมนันทาได้รับนิมนต์ไปบรรยายในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2559 ASEAN : Siam-Thailand+China+Japan และ + INDIA

งานนี้ จัดโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิโตโยต้า โดย ม.พะเยา เป็นเจ้าของบ้าน

 

เรานั่งเครื่องไปลงเชียงราย แล้วมีรถของมหาวิทยาลัยมารับต่อไปอีก 2 ชั่วโมง นอนโรงแรมเล็กๆ ที่ไม่ต้องเล่ารายละเอียดก็ไม่เสียหาย

วันรุ่งขึ้น เราจึงเข้ามหาวิทยาลัย พอรถตู้ที่มารับพวกเราเลี้ยวเข้ามหาวิทยาลัย ตอนนี้แหละผู้เขียนเริ่มตื่นตาตื่นใจ ประตูทางเข้าอลังการงานสร้าง

ต้องปรับโหมดความคิดแล้ว นึกว่าจะมามหาวิทยาลัยเล็กๆ ก็พะเยาเป็นเมืองเล็กๆ มหาวิทยาลัยพะเยาก็คงจะประมาณ อาคาร 3 ชั้น สัก 2-3 หลังก็เก่งแล้ว ผู้เขียนมาจากคณะศิลปะศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ก็นึกได้ประมาณนั้น

เอ้า ตีว่า จะมีอาคารประมาณคณะบัญชีของธรรมศาสตร์ สัก 3 หลัง ก็หรูมากล่ะนะ สำหรับ ม.พะเยา ที่อยู่ในจังหวัดเล็กๆ

ต้องบอกว่า ผู้น้อยขอขมาในความเข้าใจอันต่ำต้อย ม.พะเยา ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 6,000 ไร่ แม่เจ้า!

เป็นภูเขา ถนนเข้าสู่มหาวิทยาลัยได้มาตรฐาน มีรถเมล์สีม่วงของมหาวิทยาลัยรับส่ง นักศึกษาที่มาด้วยรถมอเตอร์ไซค์จอดไว้ด้านหน้า เดินทางในมหาวิทยาลัยทั้งหมด ไม่มีมอเตอร์ไซค์ อันนี้น่าจะเพื่อความปลอดภัยเป็นหลัก เพราะถนนบนไหล่เขานั้น ขึ้นๆ ลงๆ ตลอด

เราผ่านมาหลายคณะมาก แต่ละคณะเป็นตึกใหญ่ มีเนื้อที่โดยรอบ พร้อมที่จะขยายได้อีกมาก ผ่านคณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะทันตกรรม ฯลฯ

ห้องประชุมของเราอยู่ที่ห้องภูกามยาว ในตึกนั้นมีทั้งห้องอาหาร ร้านหนังสือ ร้านขายของที่ระลึกของนักศึกษา ทันสมัย ดูดี อยากเข้าทุกห้องเลยค่ะ

ร้านหนังสือของมหาวิทยาลัย จัดวางเนื้อที่ให้ได้กำแพงสองด้านเป็นกระจก โชว์หนังสือในร้านได้อย่างเต็มภาคภูมิ

เจ้าหน้าที่ในร้าน พอรู้ว่าท่านธัมมนันทา ผู้เขียนหนังสือที่มีขายในร้านมาเยี่ยม ก็ออกมาให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก สนุกสนานทีเดียว

 

ตอนเปิดงาน พิธีการเปิดงานก็ดำเนินไปอย่างงานสัมมนาทางวิชาการทุกครั้ง แต่ที่ประทับใจมากคือ นายกสภามหาวิทยาลัย ของ ม.พะเยา เอง ท่านขึ้นกล่าวต้อนรับในฐานะเจ้าของบ้าน เจ้าหน้าที่นำคำกล่าวที่ร่างอย่างเป็นทางการมาส่งให้ท่าน ท่านโบกมือ (ไม่รับ) คือท่านจะพูดเอง

โดนใจผู้เขียนอย่างจัง นายกสภามหาวิทยาลัย ของ ม.พะเยา แนะนำมหาวิทยาลัยของตัวเองให้แขกที่มาจากที่อื่น โดยพูดจากประสบการณ์ตรง พูดจากใจ เป็นอะไรที่ผู้เขียนชื่นชมมากเป็นพิเศษ

รู้สึกว่าตัวเองนั่งตัวตรง ตั้งใจฟังท่านพูดอย่างจริงจัง ลืมเล่าไป ท่านนายกสภามหาวิทยาลัย ท่านเป็นผู้หญิง น่าจะอายุมากกว่า 73 แล้ว แต่ท่านยังกระฉับกระเฉง ความคิดชัดเจน ท่านเล่าว่า ม.พะเยา เกิดจากความคิดของชาวจังหวัดพะเยาเอง ที่อยากมีมหาวิทยาลัยในจังหวัด

เดิมเป็นวิทยาเขตของ ม.นเรศวร ตั้งแต่ 2538 ได้รับการจัดสรรงบประมาณในฐานะเป็นวิทยาเขตที่ขึ้นอยู่กับ ม.นเรศวร พอครบ 15 ปี พ.ศ.2553 วิทยาเขตพะเยามีความพร้อม ก็ขอเป็นมหาวิทยาลัยพะเยา

ตอนนี้เป็นมหาวิทยาลัยดำเนินการของตัวเองมา 6 ปีแล้ว มีคณะต่างๆ 15 คณะ เฉพาะปริญญาตรีมี 68 สาขา อาจารย์ผู้บริหารทำงานวันละ 24 ชั่วโมง เห็นพัฒนาการของมหาวิทยาลัยต้องเชื่อว่าเป็นการทำงานประสานงานกันอย่างยิ่งของบรรดาคณาจารย์ที่มีอยู่

นักศึกษา 21,000 คน ที่เรียนที่ ม.พะเยา มาจาก 8 จังหวัดในภาคเหนือ เช่น พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน ฯลฯ และบางส่วนจากอีสานด้วย

สำหรับโลโก้ของมหาวิทยาลัย เป็นเทียน 7 เล่ม หมายถึงภูเขาสัตตบรรณ อักษร มพ. ที่ปรากฏในโลโก้นั้น ใช้อักษรล้านนา

ม.พะเยา เคารพในวัฒนธรรมพื้นบ้าน ด้วยความตระหนักว่า ประชาชนในพะเยานั้น ส่วนใหญ่เป็นไทลื้อ เครื่องแบบที่นักศึกษาใช้นั้น สามารถใส่เสื้อสีขาวแบบไทลื้อ ทั้งนักศึกษาหญิงและชาย ขลิบด้วยสีม่วง สะดุดตาทีเดียว

 

ท่านนายกสภามหาวิทยาลัยเล่าว่า ในด้านงานวิจัยนั้น จะเน้นงานวิจัยเชิงท้องถิ่น (area based research) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เขียนเองในฐานะที่เคยเป็นนักวิชาการมาก่อน พยายามแนะนำอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏในจังหวัดต่างๆ มาโดยตลอด

หากเราไม่สนใจเรื่องราววัตถุดิบในจังหวัดของตนเอง จะให้คนนอกมาสนใจแทนได้อย่างไร การทำงานวิจัยในพื้นที่นั้น เป็นสิ่งที่ควรสนับสนุน ทั้งในแง่ของการศึกษาติดตามข้อมูลก็สะดวกกว่า การเก็บสถิติก็สะดวกกว่า การนำนักศึกษาไปฝึกงาน ลงพื้นที่เป็นมีความเป็นไปได้สูง

ท่านนายกสภามหาวิทยาลัย ท่านยกตัวอย่างว่า ชาวเมืองพะเยามีอาชีพหลักในการปลูกกระเทียม ทางมหาวิทยาลัยก็สนับสนุนงานวิจัยการแปรรูปกระเทียมเป็นอาหาร เป็นต้น

ด้วยความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันระหว่าง ม.นเรศวร และ ม.พะเยา จึงไม่ประหลาดใจว่า อาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่านที่เกษียณจาก ม.นเรศวร ก็มาช่วยสอนต่อที่ ม.พะเยา

 

เมื่อหลายปีก่อนเมื่อ ม.นเรศวร จัดงานใหญ่ฉลอง 400 ปีแห่งการสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้เลือกสรรให้เกียรตินักวิชาการใน 8 สาขาให้เป็นภูมิปัญญาแห่งชาติ นักปราชญ์ของแผ่นดิน ผู้เขียนก็ได้รับเลือกเป็นหนึ่งใน 8 นักวิชาการนั้น ในแขนงปรัชญาศาสนา คราวนี้ไปประชุมที่พะเยา แต่ได้พบอาจารย์ที่อาวุโส และรุ่นเด็กที่มักคุ้นกันมาตั้งแต่ ม.นเรศวร ก็มีความคิดว่า เราน่าจะสานความสนใจด้วยกันได้

อาจารย์ท่านที่เป็นรองอธิการบดีท่านก็มีความเอื้อเฟื้อเนื่องจากผู้เขียนเองเคยสังกัดในสายวิชาปรัชญาศาสนามาก่อน เมื่อถามถึงวิชาปรัชญาศาสนาของ ม.พะเยา มีอาจารย์สอนอยู่ท่านเดียว โดยอิงอยู่กับพัฒนาสังคม

เห็นเลยว่า มีเนื้อที่ทางวิชาการที่ ม.พะเยา ยังเจริญเติบโตได้อีกมากในสายนี้

นอกจากพื้นที่ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยจะเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยอื่นๆ แม้มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่อย่างธรรมศาสตร์ก็ต้องอิจฉา ม.พะเยา ยังมีปัจจัยในด้านวัฒนธรรมที่อ่อนโยน อาจารย์ผู้น้อยทำงานกับอาจารย์ผู้ใหญ่ได้อย่างดี นักศึกษาก็มีความอ่อนโยน

และที่สำคัญ ที่ต้องพูดก็คือ ความสามารถของคณาจารย์และท่านนายกสภามหาวิทยาลัยที่ทุ่มเทงานให้กับความมั่นคงก้าวหน้าของ ม.พะเยา อย่างแท้จริง

ท่านชื่อ ศาสตราจารย์กิตติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ ค่ะ หลายท่านจะร้องว่า มิน่าเล่า ดีใจมากที่ได้ไปชมบารมีของท่านที่ ม.พะเยา

เดี๋ยวจะหาเหตุกลับไปอีกค่ะ ไปช่วยสอน Romanization วิธีเขียนบาลีเป็นอักษรโรมันก็ได้ค่ะ 2 ชั่วโมงก็น่าจะพอ ยังไม่เห็นที่ไหนสอนค่ะ