เพ็ญสุภา สุขคตะ : พระพันตนในวิหาร นิวาสสถานแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้า

วัดหลายแห่งในดินแดนล้านนา นอกเหนือไปจากพระวิหารหลวง ซึ่งถือเป็นวิหารหลักแล้ว ยังอาจมีวิหารชื่อค่อนข้างประหลาดอีกหลังหนึ่งว่า “วิหารพระพันตน” (พระเจ้าพันตน/พระพันองค์/พระเจ้าพันองค์)

ชื่อนี้มีความหมายอย่างไร

ทำไมจึงต้องสร้างพระพุทธรูปจำนวนมากมายมหาศาลนับร้อยนับพันองค์?

 

คนตัวเล็กๆ ขอพื้นที่
สร้าง “พระเจ้าไม้” องค์น้อย

เมื่อเราเข้าไปด้านในยังวิหารพระพันตน ไม่ว่าที่วัดปงสนุกเหนือ จังหวัดลำปางก็ดี วัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูนก็ดี หรือบางวัดอาจแทรกความเป็น “พระพันตน” อยู่ในพระวิหารหลวง เช่น วัดพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน

สิ่งที่เราพบเห็นก็คือ “พระพุทธรูปไม้” หรือที่ชาวล้านนาเรียกว่า “พระเจ้าไม้” ประดิษฐานเรียงรายอยู่ตามสองฟากผนัง ตลอดจนถึงขื่อเพดานเต็มไปหมด

บางแห่งมีทั้งนั่งทั้งยืน ความประณีตงดงามสีสันรูปทรงไม่ต่างกันมากนัก

อันที่จริงพระเจ้าไม้เหล่านี้ทำจากเนื้อไม้หลากชนิด ผู้สร้างก็ต่างคนต่างสร้าง ต่างคนต่างถวาย ต่างกาลต่างวาระ ไม่ได้นัดแนะกันมาก่อน

แต่เมื่อได้เห็นภาพรวมขององค์อื่นๆ สร้างขนาดประมาณหนึ่ง ตนจึงสร้างในสัดส่วนที่ไล่เลี่ยกัน

ในขณะที่ชนชั้นปกครอง เจ้าขุนมูลนายมีศักยภาพมากพอที่จะสร้างพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริดหรือพระปูนปั้นองค์ใหญ่ ถวายเป็นพระประธานในพระวิหาร อุโบสถได้ไม่ยากนัก

ข้างฝ่ายชาวบ้านนั้นเล่า ราษฎรผู้หาเช้ากินค่ำ จะเอาทุนทรัพย์จากไหนมาจัดสร้างพระพุทธรูปขนาดมหึมานั้นได้ แน่นอนว่าพอรู้ข่าวว่าวัดไหนมีการจัดสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ก็มักจะร่วมบุญเล็กๆ น้อยๆ แบบ “ฮอมเงิน” ให้อยู่แล้ว

สำหรับในกรณีที่แต่ละคนต่างก็ปรารถนาอยากเป็นเจ้าภาพสร้างพระพุทธรูปด้วยตัวเองสักองค์หนึ่งในชีวิต แม้จะยากจนเข็ญใจเพียงใดก็ตาม แต่ก็ขอให้ได้มีโอกาสสร้างพระปฏิมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตน แยกส่วนบุญออกมาต่างหากจากกองบุญรวม

ทางออกที่มีความเป็นไปได้ก็คือการสร้าง “พระเจ้าไม้องค์น้อย” นั่นเอง เพราะไม่ต้องลงทุนอะไรมากนัก

ไม้ที่ใช้สร้างส่วนใหญ่ใช้ไม้มงคลที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ อาทิ ไม้โพธิ์ ไม้แก่นจันทน์แดง ไม้มะเดื่อ ไม้รัง ไม้มะม่วง ไม้ไผ่ ไม้ขนุน ฯลฯ ล้วนเป็นไม้พื้นถิ่นที่พอหาได้อยู่ในชุมชน

ส่วนพุทธศิลป์ของพระเจ้าไม้ก็เป็นการออกแบบที่เรียบง่าย ให้พอเห็นแค่เค้าโครงโดยรวมว่าเป็นพระพุทธรูปเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องพิถีพิถันตกแต่งในส่วนรายละเอียดให้วิจิตรประณีต หลังจากถากไม้ขึ้นโครงแล้ว นิยมทายางรักทับเพื่อปิดทองคำเปลวหรือระบายสีนิดหน่อยให้ดูงดงามและมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้นนิดหน่อยเท่านั้น

เห็นพระพุทธรูปขนาดเล็กๆ อย่างนี้ แต่เมื่อพลิกก้นฐาน มักพบคำจารึกชื่อของผู้สร้างที่ต่างก็ตั้งแรงอธิษฐานไว้ในรูปแบบเดียวกันทั้งหมด กล่าวคือ

“วัตถุประสงค์ของการสร้างพระเจ้าไม้ ก็เพื่อต้องการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวถึง 5,000 พระวัสสา” หรือไม่ก็

“ขอบุญกุศลนี้ส่งผลให้ชาติหน้าได้พบพระศรีอาริยเมตไตรย” นานๆ ทีจึงจักพบคำอธิษฐานว่า

“ขอให้ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง” หรือ “ขอให้ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นอนาคตพุทธเจ้า”

นอกจากนี้แล้ว ส่วนใหญ่มักตบท้ายด้วยรายชื่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วให้ได้รับส่วนบุญส่วนกุศลครั้งนี้ด้วย

เมื่อรายหนึ่งสร้างเสร็จก็นำมาถวายยังวัดที่ตนเป็น “ข้าพระธาตุ” หรือเป็นศรัทธาของวัดนั้นๆ แต่ละรายๆ ถวายแค่คนละองค์ 2 องค์ (ส่วนมากจะสร้างถวายในช่วงครบรอบวันเกิดสำคัญเพื่อสืบชาตา เช่น ครบรอบวัยเบญจเพส อายุ 25 ปี, ครบ 3 รอบหรือ 36 ปี, ฉลองแซยิดครบ 60 ปี) คนนู้นนิดคนนี้หน่อย เมื่อนำมารวมกันแล้วถือว่ามีจำนวนมาก ซึ่งชาวล้านนาจะเรียกปริมาณโดยรวมว่า “พัน-หมื่น-แสน-ล้าน” สุดแท้แต่ความเหมาะสม

ในที่นี้เรียกว่า “พระเจ้าพันตน” หรือ “พระพันตน” ไม่เรียกพระเจ้าแสนตน พระเจ้าล้านตน แม้ว่าในความเป็นจริงนั้น วิหารบางแห่ง เช่น วิหารพระพันตนของวัดพระธาตุหริภุญชัย มีพระไม้จำนวนมากเกินกว่าพันองค์ก็ตามที

นอกจากนี้แล้ว วิหารพระพันตนยังเป็นแหล่งรวมพระพุทธรูปที่ศรัทธาต่างถิ่นนำมาถวายวัดต่างกาลต่างวาระอีกด้วย คือมีทั้งพระพุทธรูปสำริดที่หล่อจากโรงงาน หรือพระแก้วมรกตจำลอง ทำให้ทางวัดต้องจัดระบบใหม่ด้วยการหาตู้กระจกมาจัดแสดงพระพุทธรูปแบบต่างๆ เพื่อความปลอดภัย

ในทางกลับกัน บางวัดที่ต้องการทำให้เกิดความสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย ก็ออกแบบให้พระพันตนตามผนังจัดวางเรียงอย่างมีจังหวะจะโคน ด้วยพุทธศิลป์รูปแบบเดียวกันทั้งหมด แล้วให้ผู้มีจิตศรัทธาปั๊มพิมพ์พระโลหะด้วยมือตนเอง เพียงจารึกชื่อของตนด้านหลังองค์พระนั้น

ดังเช่นที่วิหารพระพันตนวัดปงสนุกเหนือ ตกแต่งผนังจัตุรมุขภายในทั้ง 4 ด้านเป็นพระพิมพ์ปางมารวิชัยใต้ปรกโพธิ์แบบเดียวกันทั้งหมด

แต่ที่นี่ก็มีพระเจ้าไม้ที่เป็นแบบธรรมชาติคือสร้างโดยชาวบ้านในลักษณะต่างคนต่างสร้าง ต่างคนอยากมาร่วมบุญนำมาถวายด้วยเช่นกัน

 

เกี่ยวข้องอะไรกับพระปัจเจกพุทธเจ้า?

ก็ในเมื่อชาวล้านนาเรียกพระพุทธรูปองค์จิ๋วนั้นว่า “พระเจ้าไม้” หรือหากนำมารวมกันจนมีปริมาณมหาศาลก็เรียกว่า “พระพันตน” ไม่เคยเห็นมีใครมาเรียกขานว่าเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าสักครั้งเลยนี่นา

แนวคิดเรื่อง พระพันตนคือสัญลักษณ์ของพระปัจเจกพุทธเจ้านี้เป็นทฤษฎีที่ดิฉันคิดค้นขึ้นมาเอง จึงอยากลองนำเสนอ บนพื้นฐานความเชื่อมโยงกันอยู่ 2 ประการคือ

ประการแรก พระปัจเจกพุทธมีลักษณะของบุคคลผู้ “โดดเดี่ยว” แยกตนออกมาบำเพ็ญเพียรบารมีจนบรรลุธรรมเฉกเช่นพระอรหันต์

ทว่ามีจริตนิสัยไม่ข้องแวะกับฝูงชน รวมทั้งไม่มีแนวคิดที่จะเผยแผ่ธรรมะให้แก่สาวกอีกด้วย สอดคล้องกับการสร้างพระเจ้าไม้ของสาธุชนแต่ละคน ซึ่งต่างมีความปรารถนาที่อยากสร้างพระพุทธรูปสักองค์ให้สำเร็จด้วยตัวเอง แยกออกมาจากพระพุทธรูปประธานขนาดใหญ่ซึ่งเจ้าภาพหลักมักเป็นเจ้านายหรือผู้มีฐานะดี

ประการที่สอง พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นมีจำนวนมากมายเกินคณานับ กระจายอยู่ตามสถานที่ต่างๆ เพียงแต่ท่านเหล่านี้ไม่ปรารถนาที่จะเผยตนว่าบรรลุธรรมแล้ว

พระปัจเจกพุทธในบางกัป ที่เกิดมาร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ เคยมีจำนวนมากถึง 500 รูปก็มี นำไปสู่ความนิยมในการสร้างงานพุทธศิลป์อินเดียที่แสดงออกด้วยการทำรูปพระพุทธรูปประทับนั่งเรียงรายเป็นลำดับ ซึ่งเรียกกันว่า “พระแผง” หรือ “พระอันดับ”

พระแผงหรือพระอันดับเหล่านี้ สามารถตีความได้ 2 ลักษณะ

ลักษณะแรก อาจหมายถึง “ชาติ” ที่พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน (โคตมะ) เคยเสวยพระชาติมาแล้วถึง 550 พระชาติ จึงนำพระพุทธรูปมานั่งเรียงราย 500 องค์

ลักษณะที่สอง อาจเป็นตัวแทนของพระปัจเจกพุทธเจ้าก็เป็นได้ เนื่องจากบรรลุธรรมด้วยพระองค์เองเหมือนกันจึงย่อมมีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะถูกสร้างให้เป็นรูปเคารพเหมือนกับพระพุทธรูปได้ทุกประการ

มีข้อน่าสังเกตว่าพระแผงเหล่านี้ มักสร้างบนผนังด้านหนึ่งในลักษณะตีช่องตารางแบ่งเขตแยกแต่ละองค์ไว้จำนวน 500 องค์ หากรวมผนังสองด้านก็จะเท่ากับ 1,000 องค์ ตรงกับคำเรียก “พระพันตน” ของชาวล้านนาพอดี

ทำให้เกิดศัพท์เรียกการทำพระพิมพ์แบบพระแผงว่า พระแผง 500 หรือพระกำแพง 500

อนึ่ง การเรียกชื่อพระพุทธรูปของชาวล้านนา โปรดสังเกตให้ดีว่า ไม่ได้เรียกตรงตัวตามศัพท์หรือความหมายของพระพุทธศาสนาที่คนภูมิภาคอื่นเข้าใจ (โดยเฉพาะภาคกลาง) อาทิ เรียกองค์แทนพระกกุสันโธ ว่าพระเจ้าตนหลวง เรียกพระพุทธรูปปางลีลาว่า พระเจ้าเทศน์สันตี และอาจเป็นไปได้ว่า เรียกพระปัจเจกพุทธเจ้าที่มีจำนวนมากเกินคณานับ ว่า “พระพันตน”