รักในวรรณคดี รักที่เป็นไปไม่ได้ ไขปริศนาและการใช้ภาษาที่สุดยอดของ “สุนทรภู่”

ญาดา อารัมภีร

รักต้องตื๊อ

เรื่องของความรัก ใช่ว่าชายจะต้องเป็นฝ่าย “เสนอ” แล้วหญิงเป็นฝ่าย “สนอง” เสมอไป สลับบทบาทกันก็มี

อย่างกรณีรักข้ามสายพันธุ์ระหว่างนางผีเสื้อสมุทรกับพระอภัยมณี ในนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี

สุนทรภู่ท่านกำหนดให้พระเอกเป็นโอรสกษัตริย์ แทนที่จะเป็นนักรบผู้เจนจบการต่อสู้ เรียนรู้วิชาปกครองบ้านเมือง ก็ให้เป็นนักดนตรีเชี่ยวชาญการเป่าปี่ ทดลองเป่าปี่ครั้งแรกให้น้องชายและสามพราหมณ์ฟังเพื่อแสดงคุณอันวิเศษของดนตรีก็เป็นเรื่องเลย นอกจากจะทำให้คนฟังทั้งสี่สู่นิทราด้วยความซาบซึ้ง ดังที่บรรยายว่า

“เจ้าพราหมณ์ฟังวังเวงวะแว่วเสียง สำเนียงเพียงการเวกกังวานหวาน

หวาดประหวัดสตรีฤดีดาล ให้ซาบซ่านเสียวสดับจนหลับไป

ศรีสุวรรณนั้นนั่งอยู่ข้างพี่ ฟังเสียงปี่วาบวับก็หลับใหล”

เสียงปี่พระอภัยมณียังทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่คาดคิด ไปสะกิดหัวใจเหงาๆ ของนางผีเสื้อสมุทรให้ระริกระรี้ขึ้นมาทันที

“วิเวกแว่ววังเวงด้วยเพลงปี่ ป่วนฤดีดาลดิ้นถวิลหวัง

เสน่หาอาวรณ์อ่อนกำลัง เข้าเกยฝั่งหาดทรายสบายใจ”

ไม่เพียงเสียงปี่จะจับใจเสียจนหัวอกหัวใจหวั่นไหวแล้ว หน้าตาเจ้าของเสียงปี่ที่ “ทรวดทรงองค์เอวก็อ้อนแอ้น เป็นหนุ่มแน่นน่าชมประสมสอง” ยิ่งทำให้รู้สึกวาบหวามหวิวไหว อารมณ์นางยักษ์กระเจิดกระเจิงเพ้อไปไกลถึงขนาดว่า

“ถ้าแม้นได้กันกับกูเป็นคู่ครอง จะประคองกอดแอบไว้แนบเนื้อ”

นางยักษ์ชักอาการหนักขึ้นทุกที หลงเสียงปี่ หลงรูปเจ้าของเสียงจนอยากจะสัมผัสเนื้อตัวพระอภัยมณี คราวนี้ถึงกับเพ้อรำพันว่า

“น้อยหรือแก้มซ้ายขวาก็น่าจูบ ช่างสมรูปนี่กระไรวิไลเหลือ

ทั้งลมปากเป่าปี่ไม่มีเครือ นางผีเสื้อตาดูทั้งหูฟัง

ยิ่งปั่นป่วนรวนเรเสน่ห์รัก สุดจะหักวิญญาณ์เหมือนบ้าหลัง”

รักแรกพบทำให้นางผีเสื้อสมุทรรับมือกับอารมณ์คลั่งไคล้ไม่ไหว จึงสนองเสียงเรียกร้องของหัวใจในฉับพลัน ความที่นางเป็นยักษ์ร่างใหญ่โตมโหฬารที่จู่ๆ ก็โผล่พรวดขึ้นมาจากน้ำ จึงเกิดเสียงอึกทึกครึกโครมเอาการอยู่

“อุตลุดผุดทะลึ่งขึ้นตึงตัง โดยกำลังโลดโผนโจนกระโจม

ชุลมุนหมุนกลมดังลมพัด กอดกระหวัดอุ้มองค์พระทรงโฉม

กลับกระโดดลงน้ำเสียงต้ำโครม กระทุ่มโถมถีบดำไปถ้ำทอง”

นางยักษ์แสนจะปลื้มปริ่มยินดีที่ “ฉกตัว” ชายในดวงใจมาได้ดังหวัง นางจึง “ค่อยวางองค์ลงบนเตียงเคียงประคอง ทำกระหยิ่มยิ้มย่องด้วยยินดี” ซึ่งสวนทางกับพระอภัยมณี ความที่ “กลัวนางยักขินีศรี” ก็เลย

“สลบล้มมิได้สมประฤๅดี อยู่บนที่แผ่นผาศิลาลาย”

 

นางผีเสื้อสมุทรคิดตามประสานางว่า “พ่อทูนหัวกลัวน้องนี้มั่นคง ด้วยรูปทรงอัปลักษณ์เป็นยักษ์มาร” นางจึงแปลงร่างเป็นสาวสะคราญคอยปรนนิบัติพระอภัยมณี ด้วยการที่

“เอาธารามาชโลมพระโฉมยง เข้าแอบองค์นวดฟั้นคั้นประคอง”

พระอภัยมณีฟื้นขึ้นมาเห็นสาวสวยนั่งกระแซะอยู่ข้างๆ ก็เอะใจว่าน่าจะเป็นยักษ์

“ด้วยแววจักษุหายทั้งซ้ายขวา

ยิ่งชิงชังคั่งแค้นแน่นอุรา จะใคร่ด่าให้ระยำด้วยคำพาล”

พระอภัยมณีพยายามข่มใจชี้แจงว่า รักระหว่างเราเป็นไปไม่ได้ “มนุษย์ยักษ์รักกันด้วยอันใด ผิดวิสัยที่จะอยู่เป็นคู่ควร” รักล้นใจอย่างนี้ นางผีเสื้อมีหรือจะฟัง นางเว้าซื่อๆ เลยว่าหัวใจยังว่าง “อันน้องนี้ไร้คู่ที่สู่สม เป็นสาวพรหมจารีไม่มีผัว” และนางทิ้งท้ายท้าทายพระอภัยมณีว่า “พระมากลัวผู้หญิงด้วยสิ่งใด”

พระอภัยมณีพูดไม่ออก นางผีเสื้อสมุทรเลยเหมาเอาว่า นิ่งเงียบอย่างนี้แสดงว่ากลัวจริง นางจึงปฏิบัติการ “รักต้องรุก” พี่ไม่ต้อง น้องเอง

“แล้วแกล้งทำสำออยพูดอ้อยอิ่ง เข้าแอบอิงเอนทับลงกับตัก

ยิ่งถอยหนีก็ยิ่งตามด้วยความรัก ยิ่งพลิกผลักก็ยิ่งแอบแนบอุรา”

นางผีเสื้อสมุทรถือคติ “รักต้องตื๊อ” ตื๊อเท่านั้นที่ครองโลก แต่พระอภัยมณี “มองต่างมุม” ทั้งยังเล่นแรงด้วยการ “ถีบ(นาง)จนพลัดจากแท่นแผ่นศิลา” ต่อด้วยการสรรหาสารพัดคำด่าเจ็บๆ แสบๆ มาเป็นชุด

“แล้วเดือดดาลด่าว่าอีกาลีลาม

เขาเบือนเบื่อเหลือเกลียดขี้เกียจตอบ ยังขืนปลอบปลุกปล้ำอีส่ำสาม

ทำแสนแง่แสนงอนชะอ้อนความ แพศยาบ้ากามกวนอารมณ์”

“อีกาลี” ในที่นี้เป็นคำด่า หมายถึง ชั่วร้าย เสนียดจัญไร “อีส่ำสาม” คือ อีสำส่อน มีผัวไม่เลือก ความหมายเดียวกับ “แพศยา” ส่วน “บ้ากาม” หมายความว่า หื่นกระหายทางกามรมณ์มากมายผิดปกติ พระอภัยมณีนี่หวงตัวเอาเรื่อง นางยักษ์แค่แตะนิดแตะหน่อยให้ชุ่มชื่นใจ พระอภัยมณีก็ออกอาการรับไม่ได้ ถึงกับลั่นวาจาสะบั้นไมตรีของสาวเจ้า

“ถึงมาตรแม้นม้วยมุดสุดชีวาตม์ อย่าหมายมาดว่ากูจะสู่สม

สัญชาติยักษ์ไม่สมัครสมาคม แล้วทุดถ่มน้ำลายไม่ไยดี”

การถุยน้ำลายใส่แสดงถึงการหยามหยันดูถูกดูแคลนอย่างไม่ไว้หน้า นางผีเสื้อสมุทรคงต้องตัดสินใจแล้วละว่า ระหว่าง “ปล้ำ” กับ “หม่ำ” อยากทำอย่างไหน?

ถึงพระอภัยมณีจะแสดงอาการชิงชังรังเกียจดูหมิ่นจนนอกหน้า วาจาและท่าทีก็หนักข้อขึ้นทุกทีเช่นนี้ นางผีเสื้อสมุทรผู้ตกหลุมรักมนุษย์รูปงามจนถอนตัวไม่ขึ้นกลับไม่ถือสา แม้ความสัมพันธ์ยังไม่คืบหน้า อีกทั้งพระเอกชักจะออกลายผู้ร้าย นางยักษ์ก็ถือเสียว่า “ด้านได้อายอด” พระอภัยมณีมีแรงด่าได้ด่าไป ด่าทีก็กอดทีจูบที ดีจะตายไป ดังที่นางยักษ์ก็ “กลมเกลียวกอดรัดกษัตรา” เป็นพัลวัน

พระอภัยมณีดูจะ “ดีดดิ้น” เหลือหลายตามที่สุนทรภู่บรรยายว่า “พระเหวี่ยงวัดขัดใจมิให้ต้อง จนเหน็ดเหนื่อยเมื่อยสองพระหัตถา” แรงคนหรือจะสู้แรงยักษ์ พระอภัยมณีจึงขอเวลาพัก “ทำใจ” ดังที่กล่าวแก่นางว่า

“อะไรเจ้าเฝ้ากวนกันจู้จี้ ข้าจะหนีหน่ายนางไปข้างไหน

ขอพักนอนเสียสักหน่อยถอยออกไป สบายใจจึงค่อยมาพูดจากัน”

นางผีเสื้อสมุทรให้เวลาพระอภัยมณีรำพันร่ำไห้ถึงน้องชายและสามพราหมณ์อยู่ชั่วอึดใจ ก็เริ่มปฏิบัติการจองเวรอันสุนทรกับพระอภัยมณีอย่างไม่ยอมให้เสียเวลา

“คิดว่าหลับกลับปลุกขึ้นโลมลูบ ประจงจูบปรางซ้ายแล้วย้ายขวา

ค่อยยกหัตถ์ภูวนาถพาดอุรา ในกามาปั่นป่วนให้ยวนยี

เห็นทรงศักดิ์ผลักพลิกทำหยิกเย้า มาลูบคลำทำเขาแล้วเบือนหนี

จะกอดไว้ไม่วางเหมือนอย่างนี้ แค้นหนักหนาฟ้าผี่เถอะดื้อดึง”

พระอภัยมณีทั้งรำคาญทั้งเดือดดาลยิ่งนัก เมื่อทำอะไรนางยักษ์ไม่ได้ ก็ใช้วาจาเป็นอาวุธ ขึ้น “กู-มึง” เลยทีนี้

“พระแค้นคำซ้ำด่าอีหน้าด้าน ใครจะร่านเหมือนเช่นนี้ไม่มีถึง

น่าอดสูกูได้ทำไมมึง มาเคล้าคลึงโลมลูบจูบผู้ชาย

ทั้งเหม็นสาบเหม็นสางเหมือนอย่างศพ ไม่น่าคบน่ารักยักษ์ฉิบหาย

มายั่วเย้าเฝ้าเบียดเกลียดจะตาย ไม่มีอายมีเจ็บเท่าเล็บมือ”

คำก็ “อีหน้าด้าน” สองคำก็ “ร่าน” แต่นางยักษ์ทั้งรักทั้งหลงพระอภัยมณีจนมองข้ามทุกสิ่งทุกอย่าง นางสารภาพความในใจไปพลางก็อิงแอบแต๊ะอั๋งพระอภัยเอากำไรไปเรื่อยๆ

“เมื่ออยู่สองต่อสองในห้องหับ จะบังคับมิให้ใครกลุ้มใจมั่ง

ถึงโกรธขึ้งอย่างไรก็ไม่ฟัง พลางเข้านั่งแอบข้างไม่ห่างกายฯ”

พระอภัยมณีจะคั่งแค้นแค่ไหน เอือมสุดเอือมแค่ไหน ก็หนีนางผีเสื้อสมุทรไม่พ้น จะด่าทอหนักขึ้นเท่าไร นางก็ “กอดก่ายพิรี้พิไร” ไม่วางมือมากขึ้นเท่านั้น ในที่สุดพระอภัยมณีก็แพ้ทางนางยักษ์ เลิกขัดขืนและยอมจำนนตกลงตามที่นางต้องการ แต่มีข้อแม้เพื่อความปลอดภัยของพระอภัยมณีเอง ดังนี้

“อันเชื้อชาติอสุรินทร์ย่อมกินคน มาแปดปนเป็นมิตรเราคิดกลัว

ไปข้างหน้าถ้าเคืองน้ำใจเจ้า จะกินเราเสียไม่คิดว่าเป็นผัว

แม้นให้สัตย์ปฏิญาณสาบานตัว ให้หายกลัวแล้วจะอยู่เป็นคู่ครอง”

นางผีเสื้อสมุทรดีใจเป็นที่สุด ยอมสัญญิงสัญญาอย่างไม่มีข้อแม้

“แม้นโว้เว้เนรคุณพระทูนหัว อันเป็นผัวเพื่อนรักสมัครสมาน

ขอทุกเทพเทวัญจงบันดาล ประหารผลาญชีวาตม์ให้ขาดรอน”

ทันทีที่ได้ให้คำสัตย์สาบาน นางก็ทอดสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กปูพรมพร้อมรับ “สงครามรัก” จากพระอภัยมณี ด้วยการ “ระทวยอ่อนเอนทับลงกับเพลา” ทอดตัวนอนพาดตักพระอภัยมณีเอาดื้อๆ

 

ผู้หญิงเขา “ยอม” ถึงขนาดนี้ พระอภัยมณีก็จำยอม “ทู่ซี้รัก” ดังที่สุนทรภู่บรรยายว่า

“พระฟังคำจำจิตพิศวาส ฝืนอารมณ์สมพาสทั้งโศกเศร้า

การโลกีย์ดีชั่วย่อมมัวเมา เหมือนอดข้าวกินมันกันเสบียง”

คำว่า “จำจิต” หรือ “จำใจ” และข้อความว่า “ฝืนอารมณ์สมพาส” บอกให้รู้ว่าเป็นการฝืนใจยอม “มีอะไร” ไปแกนๆ ทำทั้งๆ ที่ไม่เต็มใจ ไม่อยากทำ ทั้งยังเป็นการร่วมรักระหว่างคนกับยักษ์

บทอัศจรรย์หรือบทพิศวาสของทั้งคู่จึงโลดโผนโจนทะยานแทนด้วยภาพของการเล่นว่าวระหว่าง “ว่าวกุลา” หรือ “ว่าวจุฬา” ซึ่งแทนตัวนางยักษ์ และ “ว่าวปักเป้า” ซึ่งแทนตัวพระอภัยมณี ลองนึกถึงภาพว่าวจุฬา ว่าวขนาดใหญ่ที่รูปร่างเหมือนดาว 5 แฉก กำลังโรมรันพันตูกับว่าวปักเป้าที่มีขนาดเล็กกว่า รูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มีหางยาว เคลื่อนไหวคล่องแคล่วว่องไว คงพอนึกภาพออกว่า ลีลารักของคู่นี้ดุเด็ดเผ็ดมันขนาดไหน

“เกิดกุลาคว้าว่าวปักเป้าติด กระแซะชิดขากบกระทบเหนียง

กุลาส่ายย้ายหนีตีแก้เอียง ปักเป้าเหวี่ยงยักแผละกระแซะชิด

กุลาโคลงไม่สู้คล่องกะพล่องกะแพล่ง ปักเป้าแทงตะละทีไม่มีผิด

จะแก้ไขก็ไม่หลุดสุดความคิด ประกบติดตกผางอยู่กลางดิน”

สุดยอดจริงๆ ยกนิ้วให้ท่านสุนทรภู่เลย