ในประเทศ / HELLO GOODBYE

ในประเทศ

 

HELLO

GOODBYE

 

โค้งสุดท้ายจริงๆ ของการเลือกตั้ง 24 มีนาคม มาถึงแล้ว

เวทีปราศรัยใหญ่หาเสียงสุดท้ายของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งจะมีขึ้นที่ กทม. ในวันที่ 22 มีนาคม ที่สนามเทพหัสดินนั้น

มีรายงานข่าวระบุว่า มีโอกาสสูงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

จะขึ้นเวทีด้วยตนเอง ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค พปชร.

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ จะเป็นเพียงการนำคลิปไปเปิดบนเวทีปราศรัย

แต่เวทีปราศรัยครั้งสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์อาจตัดสินใจจะเดินทางไปร่วม แต่ยังจะขอชั่งน้ำหนักครั้งสุดท้ายว่า จะขึ้นปราศรัยเองหรือไม่ หรือโชว์ตัวเฉยๆ

มีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์อาจจะเดินทางไปร่วมเวทีปราศรัยใหญ่ของพรรค พปชร.นั้น

ก็เพื่อหวังจะสามารถชิงพื้นที่ในหน้าสื่อได้มากกว่าอีกหลายพรรคที่เตรียมจัดปราศรัยใหญ่ในวันที่ 22 มีนาคมนี้เช่นเดียวกัน

อย่าลืมว่า ทุกนาทีล้วนมีความหมายต่อคะแนนนิยมทั้งสิ้น

 

พล.อ.ประยุทธ์จึงเดินหน้าลุยเต็มที่

และพยายาม “เปิดใจ” ให้ชาวบ้านสัมผัส

อย่างเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ไปร่วมพิธีฉลองความเสร็จสิ้นการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน แห่งที่ 2 อ.แม่สอด จ.ตาก โดยมีนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เข้าร่วมในพิธีฉลองด้วย

หลังเสร็จสิ้นพิธี พล.อ.ประยุทธ์ได้พบปะประชาชนประมาณ 1 หมื่นคน

โดยระบุว่า “รู้หรือไม่ว่า 5 ปีที่ผ่านมา ผมเป็นนายกฯ แบบไหน

เป็นนายกฯ ที่ทำทุกหน้าที่ หนักสุดคือเป็นพนักงานเก็บขยะ

เก็บสิ่งของที่ทิ้งเรี่ยราดไว้ทั้งหมด ทั้งปัญหาหมักหมม ความเดือดร้อนต่างๆ

ทุกอย่างต้องทำต่อ

5 ปีที่ผ่านมา ผมแก้ไขปัญหาหลายอย่างเป็นรูปธรรมทั้งหมด กลับไปดูได้ ถ้าเป็นทหาร ต้องเรียกว่า ถูกวางกับระเบิดไว้มาก ผมจึงต้องรื้อสร้างใหม่

ทำบ้านเมืองให้สะอาด ลดการคอร์รัปชั่นจนเหลือศูนย์

วันนี้ทุกคนจึงต้องร่วมมือกับผม แต่ก็เป็นเรื่องของท่าน ที่จะไปเลือกตั้ง เลือกตั้งก็ว่ากันมา ผมไม่ว่าอะไร ดีบ้างไม่ดีบ้าง ก็ต้องหากันมา

แต่เราต้องหารัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ที่จะทำให้ทุกจังหวัดเดินไปพร้อมกัน เพราะทุกคนคือคนไทย เลือดสีเดียวกัน

ผมทำทุกอย่างให้เดินหน้าอย่างสงบมาแล้ว 5 ปี เพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ที่ทุกคนต้องการ” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

และว่า “ใครที่บอกว่าจะรื้อทำใหม่ทั้งหมด นั่นหมายถึงเราต้องกลับมาเริ่มต้นทำใหม่

ดังนั้น ไม่ใช่ใครพูดจะให้ ก็ยิ้มหวานไปหมด

อย่าไปฟังคนที่ออกมาพูดเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจไม่ดี

คนพวกนี้ตกเลข เลอะเทอะ บัญญัติไตรยางค์ผิด ขอให้ทุกคนจับมือกัน เพื่อเดินไปข้างหน้า นำพาประเทศ นำนายกฯ ผ่านสนามทุ่นระเบิด กองขยะ

วันนี้พูดในฐานะนายกฯ ยังขนาดนี้ ถ้าพูดในฐานะอื่นคงอันตรายไปอีก เพราะมีคนจ้องจะด่าทั้งวัน คนจะเกลียดก็เกลียดไป ไม่ว่าอะไร

แต่อย่างไรก็จะทำงานให้ โดยพร้อมจะทำหน้าที่เก็บขยะให้ทุกคนอยู่แล้ว วันนี้พร้อมนำพาทุกคนสู่ชีวิตที่ดีกว่า…”

 

นั่นคือ หนึ่งในตัวอย่างของหลายๆ เวทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ไปปรากฏตัว ภายใต้ “หมวกนายกรัฐมนตรี”

ซึ่งแม้จะทำให้พบปะประชาชนได้มาก

แต่ก็ต้องถูกจับตามมองอย่างใกล้ชิดจากฝ่ายตรงข้าม และเริ่มมีการเปิดเอกสารราชการในหลายพื้นที่ ว่ามีการเกณฑ์ประชาชนให้มารับฟัง พล.อ.ประยุทธ์

อย่างไรก็ตาม ในนาทีนี้ ไม่มีอะไรมาฉุด พล.อ.ประยุทธ์ให้หยุดได้อีกแล้ว

มีการกำหนดลงพื้นที่ตรวจราชการพื้นที่ทั้งกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดถี่ยิบ

เพื่อทำให้ช่วงโค้งสุดท้ายเป็นประโยชน์แก่ตนให้มากที่สุด

 

ทั้งนี้ ในช่วงสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ในแวดวงการเมือง โดยในปีกที่มีจุดยืน ตรงข้ามกับฝ่ายมีอำนาจในปัจจุบัน ได้มีการเปิด “คณิตศาสตร์การเมือง” ที่เกี่ยวโยงกับการ “ประเมินตัวเลข” ที่จะเกิดขึ้น

กล่าวคือ

พรรคที่ 1 มีการระบุตัวเลขที่ 180-200

พรรคที่ 2 มีการระบุตัวเลขที่ 70-80

พรรคที่ 3 มีการระบุตัวเลขที่ 50-70

พรรคที่ 4 มีการระบุตัวเลขที่ 50-60

พรรคที่ 5 มีการระบุตัวเลขที่ 40

ปรากฏว่า พรรคที่มีคณิตศาสตร์การเมืองเรียงตัว ในลำดับที่ 1 2 3 เป็นฝั่งที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นั่นจึงเป็นคำตอบว่า ไฉนพรรคการเมืองต่างๆ จึงเร่งหาเสียง

โดยเฉพาะกับพรรคพลังประชารัฐ เดินหน้าลดแลกแจมแถมทางนโยบายถี่ยิบ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในหมวกนายกรัฐมนตรี ก็เดินหน้าตรวจราชการอย่างเต็มที่

แม้ว่าในฟากที่กุมอำนาจในปัจจุบัน จะไม่เห็นด้วยกับ “คณิตศาสตร์การเมือง” ชุดนี้สักเท่าไหร่

แต่กระนั้น จะไม่เอาใจใส่เลยก็ไม่ได้

และพยายามนำสูตรคณิตศาสตร์ในฝั่งฟากของตนเองมาสู้

 

อย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ยังประกาศว่า พล.อ.ประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกฯ อีกอย่างแน่นอน

โดยอ้างว่าพูดตามข้อเท็จจริง จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้จะต้องได้คะแนนเสียงสมาชิกรัฐสภาเกินครึ่ง

สมาชิกรัฐสภาคือสมาชิกสภาประชุมร่วมกับวุฒิสภา หรือที่เรียกว่าประชุมรัฐสภา

ผู้แทนราษฎรมี 500 คน

วุฒิสภามี 250 คน

คนที่จะเป็นนายกฯ ได้ต้องมีเสียงสนับสนุน 376 เสียง

และตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างน้อยก็มีคะแนนของวุฒิสมาชิกที่แต่งตั้งแล้ว 250 เสียงอยู่ในมือ

จึงต้องการเสียงจากสภาอีก 126 คนก็เป็นนายกฯ ได้ ไม่ต้องไปหาจากที่ไหน ก็หาจากพรรค รปช. และแนวร่วมอย่างพรรคพลังประชารัฐ

“เพราะฉะนั้น ผมจึงมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ประเด็นก็คือว่า มีพรรคการเมือง 2-3 พรรคที่พยายามรวมกลุ่ม จับมือ อ้างว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย พูดอ้างประเพณีปกครอง ถ้า ส.ส.ใน 500 คน เห็นชอบให้ใครเป็นนายกฯ ก็ควรจะเป็นคนนั้น ผมคิดว่าพูดจาอย่างนี้ ไม่เคารพรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นการประชุมของรัฐสภา ไม่ใช่ประชุมสภา”

นายสุเทพกล่าว

 

นั่นคือ ความมั่นใจในฝั่งฟาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่พยายามสร้างขึ้น

แต่กระนั้น ตามสูตรคณิตศาสตร์ข้างต้น

เสียงของ รปช. และพลังประชารัฐ ยังไม่อาจวางใจได้

นี่เองจึงทำให้มีการกล่าวหาจากฝ่ายตรงกันข้ามโดยเฉพาะ “สงครามข่าวสารในโซเชียลมีเดีย” ได้ระบุว่า ในฟากผู้กุมอำนาจ มีการใช้คำสั่งบังคับกำลังพลสีเขียว ให้เทเสียงให้กับพรรคการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

ซึ่งในเรื่องนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกมายืนยันว่า “ไม่มี”

พร้อมกันนั้น คสช.ยังได้ส่งตัวแทนไปแจ้งจับแอดมินเพจ ‘CSI LA’ ฐานกล่าวอ้างทหารถูกบังคับให้เลือกพรรคการเมืองสนับสนุนรัฐบาล

ทั้งนี้ เพจชื่อดัง CSI LA ที่โพสต์ภาพและข้อความกล่าวหาว่า ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ มีการบังคับทหารเกณฑ์ให้เข้ามาลงคะแนนเลือกตั้ง

โดยเป็นภาพของกลุ่มคนในลักษณะคล้ายกับทหารยืนต่อแถวเรียงกัน พร้อมทั้งมีภาพจากข้อความที่ถูกส่งเข้ามาทางเพจ

ซึ่งคณะทำงานด้านกฎหมายของ คสช.พิจารณาแล้วเห็นว่า เข้าฐานความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ จึงมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปอท.เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายดังกล่าว

พร้อมยืนยันว่า ทางกองทัพบกไม่เคยมีนโยบายบังคับให้ทหารต้องไปลงคะแนนเลือกผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคใดพรรคหนึ่ง

เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นสิทธิและเสรีภาพของส่วนบุคคล

แต่ภาพที่ปรากฏว่ามีทหารมายืนเรียงแถวเพื่อรอลงคะแนนนั้นเป็นการนำกำลังพลมาใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น ถือเป็นหน้าที่ของทหารทุกนายและต้องเป็นการปฏิบัติมีวินัย มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย

 

ขณะที่อีกฟาก นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ โพสต์ภาพเหตุการณ์ก่อนขึ้นเวทีที่ จ.เพชรบูรณ์ ระบุว่า

“เพชรบูรณ์คืนนี้ น่าจะสนุกเป็นพิเศษ นายทหารยศพันเอกนำคณะมาที่เวที ถามหาใบอนุญาต เมื่อแสดงให้ดูว่าเราทำถูกต้องก็บอกว่าจะบันทึกเสียงการปราศรัย ถ้ามีการพาดพิงใส่ร้ายใครให้เสียหายอาจถูกดำเนินคดี

แถมบอกไม่ให้พูดคำว่าเผด็จการด้วย

เรื่องบันทึกภาพและเสียงเอาเต็มที่เลยครับ เราเฟซบุ๊กไลฟ์ มีคนลงยูทูบ ยอดวิวเป็นล้านทุกเวที ไม่มีอะไรปิดบังเลย ถ้าให้ดีบันทึกไปแล้วเปิดให้กำลังพลฟังด้วย จะได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจวันที่ 24 ส่วนคำว่าเผด็จการยังไงก็ต้องพูด มันเรื่องหลักการครับ อ้อมแอ้มไม่ได้ ท่านจะคิดยังไงไม่ทราบ แต่ผมยืนยันต่อต้านเผด็จการสืบทอดอำนาจ”

เหตุการณ์เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นฝักฝ่าย และทวีความเข้มข้นขึ้นเมื่อถึงโค้งสุดท้าย

นายณัฐวุฒินั้นกลายเป็นคนนอกเรียบร้อยแล้วในฐานะผู้ที่ถูกยุบพรรค มีสิทธิเพียงแค่ยืนตะโกนเชียร์ข้างเวที

แต่สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์นั้นยังคงเป็นตัวแสดงนำในศึกชิงอำนาจนี้ ซึ่งก็คงต้องวัดใจชาวบ้านต่อไป

ว่าจะเซย์ เฮลโล ต้อนรับ

  หรือกล่าวกู๊ดบาย หลังผลการเลือกตั้งปรากฏออกมา!