สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง/บอน พืชพิษ กินได้แต่ต้องทำให้ถูกวิธี

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

บอน พืชพิษ

กินได้แต่ต้องทำให้ถูกวิธี

สัปดาห์ที่ผ่านมานำเสนอแม่ค้าข้าวแกงที่เข้าใจผิด นำเอาบอนซึ่งถือเป็นพืชพิษมาปรุงอาหารเพราะคิดว่าคือ อ้อดิบ หรือเรียกว่า คูน หรือ โหรา ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Colocasia gigantea (Blume) Hook. F. H.

จึงขอขยายความให้เข้าใจยิ่งขึ้น เนื่องจากการนำพืชพิษมาปรุงเป็นอาหารต้องมีความรู้หรือภูมิปัญญาการทำอาหาร

และที่สำคัญยิ่งต้องมีจรรยาบรรณในการประกอบการ ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้ คิดว่าตนเองรู้ดีแต่ใช้พืชผิดชนิดจะทำให้ผู้บริโภคเป็นอันตรายได้

บอน จัดเป็นพืชพิษชนิดหนึ่ง ในเมืองไทยมีรายงานพืชในสกุลเดียวกับบอน จำนวน 5 ชนิด คือ

1) Colocasia esculenta (L.) Schott เรียกว่า เผือกหรือบอนหรือ Cocoyam, Taro

2) Colocasia fallax Schott เรียกว่าตุนเขียว หรือ Dwarf taro, Silver leaf dwarf elephant ear

3) Colocasia gigantea (Blume) Hook. F. H. เรียกว่าคูน หรือโหรา หรือออกดิบ

4) Colocasia lihengiae C.L. Long & K. M. Liu เรียกว่าบอนยูนนาน เป็นพืชนำเข้ามาจากต่างประเทศ

และ 5) Colocasia menglaensis J.T. Yin & Z. F. Xu เรียกว่าบอนเมงลา

 

บอนที่มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Elephant ear, Cocoyam, Dasheen, Eddoe, Japanese taro, Taro มีชื่อพื้นเมืองไทยว่า ตุน (เชียงใหม่) บอนหอม (ภาคเหนือ), บอนจืด (ภาคอีสาน), บอนเขียว บอนจีนดำ (ภาคกลาง), บอนท่า บอนน้ำ (ภาคใต้), คึ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), ขื่อที้พ้อ ขือท่อซู่คึทีโบ คูชี้บ้อง คูไทย ทีพอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กลาดีไอย์ (มาเลย์-นราธิวาส) กลาดีกุบุเฮง (มาเลย์-ยะลา) เผือก บอน (ทั่วไป) เป็นต้น

ในทางพฤกษศาสตร์ บอนและเผือก เป็นพืชชนิดเดียวกัน บอนเป็นพืชล้มลุกในวงศ์ Araceae อวบน้ำ ชอบขึ้นบนดินโคลนหรือบริเวณที่มีน้ำขัง มีหัวใต้ดิน ใบรูปไข่แกมรูปหัวใจ ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบเว้าลึกรูปสามเหลี่ยม ก้านใบสีเขียวหรือออกม่วง ดอก สีครีมหรือเหลืองนวล ออกเป็นช่อ ดอกตัวผู้อยู่ตอนบน ดอก ตัวเมียอยู่ตอนล่าง ก้านช่อสั้นกว่าก้านใบ มีใบประดับสีเหลืองรองรับ ผลสด รูปขอบขนาน เมล็ด ขนาดเล็กจำนวนมาก พบได้ทุกภาคของไทย

เผือกและบอน มีชื่ออย่างเดียวกันแต่มีลักษณะภายนอกแตกต่างกันบางประการ คือ เผือกจะมีก้านใบและเส้นใบเป็นสีม่วง ลงหัวเป็นหัวเผือก ส่วนบอนมีสีเขียวทุกส่วนของลำต้น มีการลงหัวบ้าง ไม่ลงหัวบ้าง

ก้านใบของบอนและเผือกนำมาแกงกินได้ แต่ต้องกำจัดส่วนที่เป็นพิษออกก่อน โดยการนำมาต้ม ถ้าเป็นก้านเผือก ต้มประมาณ 15 นาที พิษก็จะกำจัดออกไปหมด แต่ถ้าเป็นบอนต้องต้มไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง จากนั้นนำมาใช้ทำอาหารประเภทต้ม เช่น แกงส้ม แกงกะทิ แกงบอน เป็นต้น

ส่วนของไหลและหัวใต้ดินนำมาลวกหรือต้มรับประทานเป็นอาหารได้ ส่วนใบอ่อนและก้านใบอ่อนนำมาลอกเปลือกออก ใช้จิ้มน้ำพริกกินได้แต่ต้องทำให้สุกก่อนจึงจะไม่คัน

โดยนำมาต้ม 2-3 ครั้ง แล้วคั้นเอาน้ำทิ้งหรือนำไปเผาไฟก่อนนำมาใช้ปรุงอาหาร เวลาปอกเปลือกควรสวมถุงมือและสับเป็นท่อนๆ ก่อนนำไปต้ม เพราะพิษที่ถูกผิวหนังจะทำให้คันมาก

ถ้าไม่ใส่ถุงมือ ภูมิปัญญาโบราณให้ทามือด้วยปูนแดงที่กินกับหมากให้ทั่วทั้งมือก่อนสัมผัส นอกจากนี้ก้านบอนยังนำมาดองเพื่อกินได้อีกด้วย

 

วิธีการเลือกบอนมาเป็นอาหาร ให้เลือกใช้ต้นอ่อนพันธุ์สีเขียวสดและไม่มีสีขาวนวลเคลือบอยู่ตามแผ่นใบและก้านใบ โดยบอนสีเขียวสดจะเรียกว่า “บอนหวาน” (ชนิดคันน้อย) ส่วนชนิดที่มีสีซีดกว่าและมีสีขาวนวลกว่าจะเรียกว่า “บอนคัน” (ชนิดคันมาก)

ส่วนที่นำมาใช้แกง คือ หลี่บอน เป็นยอดอ่อนหรือใบอ่อนของบอนที่อยู่ใกล้กับโคนต้นหรือจะนำไปปรุงกับเครื่องปรุงที่มีรสเปรี้ยว เช่น มะขามเปียก มะดัน ส้มป่อย น้ำมะกรูด เป็นต้น

หรือจะนำมาขยำกับเกลือเพื่อให้ยางบอนออกมากที่สุด เพื่อช่วยดับพิษคันหรือช่วยทำลายผลึกของแคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate) ที่มีอยู่มากในต้นบอน

บางคนใช้วิธีการนึ่งบอนแต่ต้องนึ่งให้สุก โดยลองจับดูแล้วมีลักษณะนิ่มจนเละ เพราะถ้าบอนไม่สุกเมื่อกินจะทำให้เกิดอาการระคายคอ และการปรุงแกงบอน ควรใช้น้ำมะขามเปียกหรือน้ำส้มป่อยก็ได้

หากสัมผัสลำต้นหรือยางจากบอนจะทำให้เกิดอาการคันและปวดแสบปวดร้อนได้

ต่อมาจะเกิดอาการอักเสบ บวมและพองเป็นตุ่มใส

หากนำมาเคี้ยวหรือรับประทานสดจะทำให้เกิดอาการคันคออย่างรุนแรง เนื่องจากผลึกของแคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate) ทำให้น้ำลายไหลออกมามาก ทำให้ลิ้น ปาก เพดาน และใบหน้าบวมจนทำให้พูดได้ลำบาก

หากมีอาการเป็นพิษรุนแรงจะทำให้พูดไม่ได้ ลิ้นหนัก คันปาก ลำคอบวมและอักเสบอย่างรุนแรง จึงต้องระมัดระวัง

 

ประโยชน์ด้านสมุนไพร สำหรับหมอยาไทยที่มีความรู้และลดพิษจากบอนจึงสามารถปรุงยา เช่น หัวใช้เป็นยาระบาย ห้ามเลือด น้ำคั้นจากก้านใบใช้เป็นยานวด แก้ฟกช้ำ ลำต้นบดใช้พอกแผลรวมทั้งแผลจากงูกัด ชาวเขาเผ่ามูเซอ เย้า ใช้ ราก ต้มน้ำดื่ม แก้ท้องเสีย เจ็บคอ เสียงแหบ ตำรายาไทยใช้ ไหล ตำผสมเหง้าขมิ้นอ้อย ขี้วัว กะปิ และเหล้าโรงเล็กน้อย พอกฝีมะตอย

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา มีการศึกษาในหลอดทดลองพบว่าสารสกัดจากใบบอนแห้งด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อหนอง มีเส้นใยช่วยในการดูดซับสารก่อกลายพันธุ์ สารสกัดจากรากบอนมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเนื้องอก หัวใต้ดินของต้นบอนมีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิต น้ำจากก้านใบมีฤทธิ์เป็นยากระตุ้นและทำให้เลือดมาหล่อเลี้ยงบริเวณที่ได้รับยานั้นมากขึ้น แต่การศึกษาเหล่านี้ยังอยู่ในระดับห้องทดลองยังจำเป็นต้องศึกษาวิจัยต่อไป

บางพื้นที่นำใบบอนมาต้มให้หมูกินหรือนำมาสับผสมเป็นอาหารหมู

ที่น่าติดตามข้อมูลเพิ่มเติม คือ มีกลุ่มชาวบ้านตัดก้านบอนมาลอกเปลือกตากแห้งแล้วส่งขายต่างประเทศสร้างรายได้จากพืชพิษได้ด้วย

ใบบอนให้รูปทรงความสวยงามปลูกเป็นไม้ประดับได้ และพืชพิษยังปลูกไว้ช่วยรักษาริมตลิ่งของแม่น้ำลำคลองไม่ให้ถูกกัดเซาะได้อีกด้วย บอนพืชพิษใช้ให้ถูกวิธีมีประโยชน์หลายด้านอย่ามองข้าม