ขอแสดงความนับถือ/ประจำวันที่ 22-28 มีนาคม 2562

ขอแสดงความนับถือ

 

มีอีเมล์ 2 ฉบับ

มาถึง “มติชนสุดสัปดาห์”

 

ตามที่นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15-21 มีนาคม 2562

คอลัมน์ มองบ้านมองเมือง โดยคุณปริญญา ตรีน้อยใส หัวข้อ : โรงงานกระดาษไทยในฝรั่งเศส

เขียนถึงโรงงานกระดาษอลิเซ่ (Alizay) ของบริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน)

บริษัทขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งในการช่วยเผยแพร่ข้อมูล เรื่องราวของโรงงานกระดาษอลิเซ่

ในเนื้อหาข่าวได้ระบุชื่อผู้บริหาร บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) และชี่อโรงงานกระดาษ

โดยสะกดผิดไป

จึงขอเรียนแจ้งการสะกดที่ถูกต้องมาให้

ที่สะกดคำผิด

1) โรงงานกระดาษ อาลิเซ่

2) นายยอธิน ดำเนินชาญวนิชย์

การสะกดคำที่ถูกต้อง คือ

1) โรงงานกระดาษ อลิเซ่

2) นายโยธิน ดำเนินชาญวนิชย์

จึงเรียนมาเพื่อทราบ

นางสาวเวณิกา สมบูรณ์วงศ์

ที่ปรึกษางานสื่อสารภาพลักษณ์นโยบายองค์กร

บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน)

 

ป.ล. บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน)

รบกวนมีไม้ตรีด้วยนะคะ ส่วนใหญ่จะเขียนเป็น ดับ แต่ที่ถูกต้องคือ ดั๊บ ค่ะ

 

ผมต้องขอโทษอย่างมาก

เนื่องจากในยุทธบทความประจำฉบับที่ 2011 ได้เกิดความผิดพลาดทางเทคนิค

คำว่า “lame-duck government” นั้น

ตัวสะกดที่ถูกต้องเป็น “lame”

ไม่ใช่ “lamb” เช่นที่ปรากฏในบทความ

คำคำนี้แปลตรงตัวว่า “รัฐบาลเป็ดง่อย”

คำในทางภาษาหมายถึง เป็ดที่ไม่สามารถบินไปกับฝูงของตนเองได้ และมักจะตกเป็นเหยื่อของนักล่า

คำเปรียบเทียบนี้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในตลาดหุ้นลอนดอนในศตวรรษที่ 18

มีความหมายถึงนักลงทุนที่ไม่สามารถจ่ายหนี้ของตนได้

และนำมาใช้ทางการเมืองครั้งแรกในเอกสารของรัฐสภาอเมริกันในศตวรรษที่ 19

มีความหมายถึงนักการเมืองที่ล้มเหลว เช่น แพ้การเลือกตั้ง

ในการเมืองสมัยใหม่คำนี้อาจหมายถึง ผู้นำทางการเมืองที่ประกาศลาออก

และช่วงระยะเวลาที่เหลือหลังการประกาศนั้น จะกลายเป็น “เป็ดง่อย” ทันที

เพราะรอเวลาการหมดตำแหน่ง หรือหมายถึงภาวะที่รัฐบาลใหม่ได้รับเลือกตั้งแล้ว แต่ยังไม่เข้ารับตำแหน่ง

ช่วงเวลาเช่นนี้จะทำให้รัฐบาลเก่ามีภาวะเป็น “เป็ดง่อย”

เพราะมีระยะเวลาเหลือไม่มาก ทำให้ไม่มีอิทธิพลทางการเมืองเท่าใดนัก

ในทางกีฬาใช้กับนักกีฬาหรือโค้ชที่มีระยะเวลาเหลือเป็นปีสุดท้ายและไม่มีแนวโน้มว่าจะมีการต่อสัญญา

ก็ใช้เรียกคนเหล่านี้ว่า “เป็ดง่อย” เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ความหมายปัจจุบันอย่างสั้นๆ ของคำนี้ก็คือ

รัฐบาล/นักการเมืองที่ไม่มีอำนาจที่แท้จริง

มีระยะเวลาอยู่ในตำแหน่งไม่นาน

จึงมีอิทธิพลทางการเมืองอย่างจำกัด

ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ใครเล่าจะเป็น “เป็ดง่อย” หลังวันที่ 24 มีนาคม?

สุรชาติ บำรุงสุข

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

 

ก่อนอื่น ต้องขออภัยทั้งผู้อ่าน, บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) และอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข

ที่ “มติชนสุดสัปดาห์” ผิดพลาด (อีกแล้ว)

ไม่สามารถเป็นเครื่อง “กรอง” สุดท้าย ช่วย “นักเขียน”

จึงผิดแล้วผิดเลย

แถมบางที ทำให้ผิดเพิ่มขึ้นไปอีก

ก้มหน้าก้มตา ขออภัยกันต่อไป

กระนั้น มองในแง่โลกสวย

ผิดแล้วรับผิด และพร้อมแก้ไขให้ถูกต้อง

เป็นแนวทางที่ดี และนำไปสู่การให้อภัย

 

แต่ในวันที่ 24 มีนาคมนี้

โปรดอย่าถือหลัก “มติชนสุดสัปดาห์” เด็ดขาด

เพราะ “ผิด” แล้วมาแก้ไขทีหลังไม่ได้

อย่างที่ทราบ เลือกตั้งครั้งนี้

เขาดีไซน์ให้ยุ่งยากซับซ้อน

เพื่อ “ประโยชน์” ของใครก็แล้วแต่

คาดว่าจะทำให้บัตรเลือกตั้งครั้งนี้มีโอกาส “เสีย” สูงมาก

จึงขอพิจารณาให้ดี

นอกจากออกไปใช้สิทธิให้ถล่มทลายแล้ว

ระวังอย่าให้คะแนนตกน้ำ

มิเช่นนั้นประชาชนจะกลายเป็น “เป็ดง่อย” ต่อไปอีกหลายปี!