สุจิตต์ วงษ์เทศ : ลายขวัญ บนหน้ากลองมโหระทึก

ปุ่มนูน มีรัศมีเป็นแฉกอยู่กึ่งกลางหน้ากลองทอง (มโหระทึก) คือรูปขวัญ ใช้ตีประโคมเรียกขวัญในงานศพ ราว 2,500 ปีมาแล้ว [ภาพกลองทอง (มโหระทึก) พบที่ม่อนวัดเกษมจิตตาราม อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์]

หน้ากลองมโหระทึกมีลวดลายเป็นวงกลมมีแฉก นักโบราณคดีนานาชาติและไทย อธิบายมานานมากแล้วว่าเป็นรูปดาว

แต่น่าจะอธิบายได้อีกทางหนึ่งว่าเป็นรูปขวัญ เช่น ขวัญบนหัวของคน ทำขึ้นเป็นสัญลักษณ์ในพิธีเรียกขวัญคนตายในงานศพ แล้วใช้ในพิธีเรียกขวัญงานอื่นๆ ด้วย

ดาว

กลองมโหระทึกทรงกลม หล่อด้วยโลหะทองสำริด ใช้ตีประโคมในงานศพ ราว 2,500 ปีมาแล้ว

หน้ากลองมโหระทึกเป็นแผ่นกลม ตรงกลางสลักเป็นรูปดาว มีรัศมีเป็นแฉก

[สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ของ ชิน อยู่ดี กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2510 หน้า 60-71]

ตะวัน

รูปดาว มีรัศมีเป็นแฉก บางคนเห็นว่าเป็นตะวัน มีเส้นวงแหวนล้อมระยะห่างเท่ากัน

ตะวันบนกลองมโหระทึกของกะเหรี่ยงส่วนใหญ่มี 8 แฉก, 10 แฉก, 12 แฉก, 14 แฉก, 16 แฉก

[การเปรียบเทียบรูปแบบกลองมโหระทึกในประเทศไทย ประเทศจีน และประเทศเวียดนาม โดย พรพล ปั่นเจริญ วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2542 หน้า 40]

ขวัญ

หน้ากลองมโหระทึก บางใบมีปุ่มนูนกลมอยู่ตรงศูนย์กลาง มีรัศมีเป็นแฉก แล้วมีวงแหวนหลายชั้นแผ่ล้อมรอบรัศมีปุ่มนูนอีกทีหนึ่ง ควรเป็นขวัญมากกว่าดาวและตะวัน

ขวัญมีอยู่ในร่างกายของทุกคน แต่ที่สำคัญคือ จอมขวัญซึ่งอยู่บนกลางกระหม่อมที่มีส่วนนูน กับมีรากผมจัดเรียงเป็นวงคล้ายก้นหอย เช่นเดียวกับลายเขียนสีหม้อบ้านเชียง (ดังบอกไว้ฉบับที่แล้ว)

ลายขวัญบนหม้อบ้านเชียง ราว 2,500 ปีมาแล้ว เป็นรูปวงกลม มีแฉก ลักษณะเดียวกับหน้ากลองมโหระทึก และตั่งหินในลาว แสดงว่าหน้ากลองมโหระทึกเป็นลายขวัญเหมือนลายหม้อบ้านเชียง (แถวล่าง) ลายหม้อบ้านเชียงแบบตัว s อย่างเดียวกับลายตั่งหินในลาว [ลายเส้นจากหนังสือวัฒนธรรมบ้านเชียง โดย ชิน อยู่ดี กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2515]
ลายขวัญบนหม้อบ้านเชียง ราว 2,500 ปีมาแล้ว เป็นรูปวงกลม มีแฉก ลักษณะเดียวกับหน้ากลองมโหระทึก และตั่งหินในลาว แสดงว่าหน้ากลองมโหระทึกเป็นลายขวัญเหมือนลายหม้อบ้านเชียง
(แถวล่าง) ลายหม้อบ้านเชียงแบบตัว s อย่างเดียวกับลายตั่งหินในลาว
[ลายเส้นจากหนังสือวัฒนธรรมบ้านเชียง โดย ชิน อยู่ดี กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2515]
ลายขวัญ บนหม้อบ้านเชียง

ภาชนะเขียนสี ที่บ้านเชียง (อ.หนองหาน จ.อุดรธานี) อายุราว 2,500 ปีมาแล้ว มีลวดลายต่างๆ กัน แต่ที่พบมากจนเป็นลักษณะเฉพาะ แล้วเป็นที่รู้จักทั่วไป เรียกลายก้นหอย (แบบลายนิ้วมือ)

นั่นคือลายดวงขวัญ ที่คนยุคนั้นทำขึ้นเพื่อทำขวัญ เรียกขวัญ สู่ขวัญคนตาย เสมือนมีขวัญของคนตายอยู่ในหม้อใบนั้น

รูปร่างขวัญเป็นเส้นวงๆ วนเวียนซ้อนกันหลายชั้นตามต้องการ โดยช่างเขียนเคยเห็นลักษณะที่เชื่อว่านั่นคือขวัญ จากบริเวณโคนเส้นผมบนกลางกระหม่อมของทุกคน แล้วยังเห็นตามโคนเส้นขนที่เป็นขวัญบนตัวสัตว์ เช่น ควาย, วัว

ตั่งหิน ราว 2,500 ปีมาแล้ว สลักลวดลายเป็นรูปขวัญอย่างเดียวกับลายหม้อบ้านเชียง และลายหน้ากลองทอง (มโหระทึก) นักโบราณคดีลาวเชื่อว่าตั่งหินเป็นต้นแบบกลองมโหระทึก พบในแขวงหลวงพระบาง บริเวณภูเขาลีบ บ้านหัวสะดิง เมืองปากแซง ฯลฯ ที่ขอบมีลายรูปตัว s บนตั่งหิน อย่างเดียวกับลายหม้อบ้านเชียง [จากประวัติศาสตร์ลาว (ดึกดำบรรพ์-ปัจจุบัน) ฉบับกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรมของลาว พิมพ์เผยแพร่ (แปลเป็นภาษาไทย โดย ผศ.ดร.ทรงคุณ จันทจร) สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2551 หน้า 8-10] [ภาพชุดนี้ทั้งหมด ได้จากหนังสือ นิทานพญาแถน วรรณคดีลาวปฐมโบราณ ของ บุนมี เทพสีเมือง (นครหลวงเวียงจัน พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.2009 พ.ศ.2552) ทองแถม นาถจำนง แปลจากต้นฉบับภาษาลาวเป็นภาษาไทย พิมพ์ในหนังสือ ดนตรีอุษาคเนย์ โดย เจนจิรา เบญจพงศ์ รวบรวม วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2555 หน้า 850-860]
ตั่งหิน ราว 2,500 ปีมาแล้ว สลักลวดลายเป็นรูปขวัญอย่างเดียวกับลายหม้อบ้านเชียง และลายหน้ากลองทอง (มโหระทึก)
นักโบราณคดีลาวเชื่อว่าตั่งหินเป็นต้นแบบกลองมโหระทึก พบในแขวงหลวงพระบาง บริเวณภูเขาลีบ บ้านหัวสะดิง เมืองปากแซง ฯลฯ ที่ขอบมีลายรูปตัว s บนตั่งหิน อย่างเดียวกับลายหม้อบ้านเชียง
[จากประวัติศาสตร์ลาว (ดึกดำบรรพ์-ปัจจุบัน) ฉบับกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรมของลาว พิมพ์เผยแพร่ (แปลเป็นภาษาไทย โดย ผศ.ดร.ทรงคุณ จันทจร) สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2551 หน้า 8-10]
[ภาพชุดนี้ทั้งหมด ได้จากหนังสือ นิทานพญาแถน วรรณคดีลาวปฐมโบราณ ของ บุนมี เทพสีเมือง (นครหลวงเวียงจัน พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.2009 พ.ศ.2552) ทองแถม นาถจำนง แปลจากต้นฉบับภาษาลาวเป็นภาษาไทย พิมพ์ในหนังสือ ดนตรีอุษาคเนย์ โดย เจนจิรา เบญจพงศ์ รวบรวม วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2555 หน้า 850-860]