ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร | อนัตตลักขณสูตร

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (4)

3. อนัตตลักขณสูตร

พระสูตรที่แสดงถึงอนัตตา

วันนี้ขอพูดถึงอนัตตลักขณสูตร ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์เป็นสูตรที่สอง

เล่าความตามพระบาลีพระไตรปิฎกว่า หลังจากโกณฑัญญะได้ “ดวงตาเห็นธรรม” ทูลขอบวชแล้ว พระพุทธองค์ประทานโอวาทแก่สี่ท่านที่เหลือ วัปปะกับภัททิยะ ได้ดวงตาเห็นธรรมทูลขอบวช ภิกษุทั้งสาม (คือ โกณฑัญญะ วัปปะ และภัททิยะ) บิณฑบาตได้อาหารใดมา ทั้งหกท่าน (รวมพระพุทธเจ้าด้วย) ก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารนั้น จากนั้นประทานโอวาทแก่สองท่านที่เหลือจนได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วทูลขอบวช

ข้อความในพระบาลีนี้ทำนองจะให้เข้าใจว่า ในวันเพ็ญเดือน 8 นั้น หลังจากโกณฑัญญะบวชแล้ว วัปปะกับภัททิยะก็ได้บวชด้วย วันรุ่งขึ้นภิกษุทั้งสามรูปก็ออกบิณฑบาตนำอาหารมาเลี้ยงหกชีวิตที่เหลือ จากนั้นมหานามะกับอัสสชิก็บวชพร้อมกัน

สองวันเท่านั้นก็ประทานการอุปสมบทให้ครบทั้งห้าท่าน (หรือไม่ก็ไม่เกินสามวัน)

แต่คัมภีร์อรรถกถาที่อธิบายพระไตรปิฎกกล่าวข้อความคล้ายจะให้เข้าใจไปอีกนัยหนึ่ง

ดังนี้

“ในวันแรมค่ำหนึ่ง ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดขึ้นแก่พระวัปปะ ในวันแรม 2 ค่ำได้เกิดขึ้นแก่พระภัททิยะ ในวันแรม 3 ค่ำได้เกิดขึ้นแก่พระมหานามะ ในวันแรม 4 ค่ำได้เกิดขึ้นแก่พระอัสสชิ ในวันแรม 5 ค่ำแห่งปักษ์ พระองค์ให้เธอทั้งหมดประชุมพร้อมกันแล้วตรัสสอนด้วยอนัตตลักขณสูตร”

ถ้าหลังจากได้ธรรมจักษุ (ดวงตาเห็นธรรม) แล้วทูลขอบวชทันที ก็ต่างคนต่างบวชคนละวัน ความจริงจะเป็นฉันใดฝากให้ผู้ใฝ่รู้พิจารณาด้วย

วันที่ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตรเป็นวันไหน พระบาลี พระไตรปิฎกก็ไม่บอกชัด พูดเพียงว่า

“อถโข ภควา … ครั้งนั้นและพระผู้มีพระภาคตรัสกับพระปัญจวัคคีย์ว่า…”

สมมุติว่าเป็นวันแรม 5 ค่ำ ตามนัยอรรถกถาก็แล้วกัน

เนื้อหาของพระสูตรความจริงไม่ยาวเลย เนื่องจากข้อความซ้ำไปซ้ำมาจึงดูยาวประมาณ 5 หน้า เมื่อตัดข้อความซ้ำๆ ออกแล้ว มีเนื้อหาดังต่อไปนี้

พระพุทธเจ้าตรัสรู้สอนปัญจวัคคีย์ว่า

รูป (ร่างกายอันประกอบด้วยธาตุ 4 และคุณสมบัติของธาตุ 4) เวทนา (ความรู้สึก) สัญญา (ความจำได้หมายรู้) สังขาร (ความคิดดีคิดชั่ว) วิญญาณ (ความรับรู้ผ่านประสาทสัมผัส) เป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน)

เพราะถ้าสิ่งเหล่านี้เป็นอัตตา (เป็นตัวตนของเรา) แล้วมันก็จักไม่เจ็บป่วย ขอให้มันเป็นอย่างนี้ ไม่ให้เป็นอย่างนั้นได้ตามปรารถนา แต่เพราะมันเป็นอนัตตา (มิใช่ตัวตนของเรา) เราจึงขอร้องให้มันเป็นอย่างนี้ไม่ให้เป็นอย่างนั้นไม่ได้ตามปรารถนา

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า

พวกเธอคิดอย่างไร? รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต ทั้งภายนอก ภายใน ทั้งหยาบและประณีต ทั้งใกล้และไกล ทั้งหมดล้วนสักแต่ว่ารูป สักแต่ว่าเวทนา สักแต่ว่าสัญญา สักแต่ว่าสังขาร สักแต่ว่าวิญญาณ พวกเธอพึงพิจารณาด้วยปัญญาตามเป็นจริงว่านั่นมิใช่ของเรา ไม่เป็นเรา มิใช่ตัวตนของเรา

อริยสาวกผู้ใฝ่สดับเมื่อเห็นอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในรูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายยึดติด เมื่อคลายยึดติด จิตก็หลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นก็รู้ว่าได้หลุดพ้นแล้ว ชาติสิ้นแล้ว ได้ประพฤติพรหมจรรย์สมบูรณ์แล้ว กิจที่ควรทำได้ทำหมดแล้ว ไม่ต้องทำอะไรอีกต่อไป

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเทศนาจบลง พระปัญจวัคคีย์ต่างก็โสมนัสชื่นชมภาษิตของพระองค์ ขณะพระพุทธองค์ตรัสอธิบายเรื่องนี้อยู่ จิตของพระปัญจวัคคีย์ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายหมดความยึดมั่นถือมั่นแล้ว

พระอรหันต์เกิดมีในโลก 6 องค์ ณ ครานั้นแล

ใจความของพระสูตรก็จบลงเพียงเท่านี้ ผู้เคยผ่านการบวชเรียนมาคงพอฟังเข้าใจ สำหรับชาวบ้านทั่วไปที่ห่างวัดมากๆ ทั้งชีวิตนี้กะเข้าวัดครั้งเดียว คือตอนตาย คงเข้าใจยาก เอาไว้คราวหน้าผมจะลองอธิบายอีกแนวหนึ่งเผื่อจะง่ายขึ้น หรืออาจจะยากยิ่งขึ้นก็ไม่รู้สิครับ