สุรชาติ บำรุงสุข | ระบอบอำนาจนิยม! กำเนิดและการคงอยู่

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ถ้าชนชั้นนำกลัวกระบวนการสร้างประชาธิปไตย พวกเขาจะพยายามสร้างและดำรงสถาบันการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไว้ และแสวงหาพันธมิตรที่จะสนับสนุนสถาบันเช่นนั้นด้วย”

J. Tyler Dickovick and Jonathan Eastwood, Comparative Politics (2016)

พัฒนาการการเมืองในหลายประเทศมีปัญหาประการหนึ่งคือ การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่เกิดขึ้นมีลักษณะของการ “เปลี่ยนไม่ผ่าน”

และทำลายโอกาสของการสร้างความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย

จนการฟื้นตัวของระบอบประชาธิปไตยหลังการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไม่เกิดได้จริง

การเมืองในลักษณะเช่นนี้อาจทำให้เราต้องหันกลับมาทำความเข้าใจกับเรื่องพื้นฐานของระบอบอำนาจนิยม

ทั้งในส่วนของปัจจัยสนับสนุนของการกำเนิด

และการดำรงอยู่ของระบอบนี้

ระบอบอำนาจนิยมทางทฤษฎี

โดยนิยามแล้ว ระบอบอำนาจนิยมมีความหมายโดยตรงหมายถึง ระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย (a non-democratic regime)

แน่นอนว่าในระบอบการปกครองเช่นนี้อาจมีนัยหมายถึงการมีอุดมการณ์ที่หลากหลาย แต่อุดมการณ์ที่เป็นรากฐานของระบอบเช่นนี้เป็นฝ่ายตรงข้ามกับประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นลัทธิฟาสซิสต์ ลัทธินาซี ลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิทหาร

หรือในอีกด้านมีนัยหมายถึงระบอบการปกครองที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีสิทธิทางการเมือง

เช่น ในรูปแบบการปกครองของรัฐบาลทหาร รัฐบาลอภิชนาธิปไตยของชนชั้นสูง หรือรัฐบาลของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ปฏิเสธสิทธิทางการเมืองของชนกลุ่มอื่น เป็นต้น

อีกด้านของระบอบอำนาจนิยมอาจเป็นในแบบการปกครองของผู้นำที่เข้มแข็ง (strongman leaders) หรือเป็นระบอบการปกครองที่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล (personalistic regime)

ผู้นำเผด็จการคนสำคัญของโลกไม่ว่าจะเป็นฮิตเลอร์ (เยอรมนี) สตาลิน (รัสเซีย) มุสโสลินี (อิตาลี) ฟรังโก (สเปน) เหมา (จีน) อามีน (อูกานดา) ก็จัดอยู่ในคุณลักษณะเช่นนี้

หรือบรรดาผู้นำทหารที่มาจากการรัฐประหารในหลายประเทศ ที่ใช้รูปแบบของการสร้างความเป็นผู้นำเชิงบารมี เป็นต้น

ผู้นำทั้งหลายที่แม้จะเป็นเผด็จการ แต่พวกเขายังคงจำเป็นต้องพึ่งกลไกทั้งในระบบเปิดและระบบปิด

กล่าวคือ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเผด็จการเท่าใดก็ตาม แต่พวกเขายังจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองเป็นฐานสนับสนุน

เช่น ฮิตเลอร์มีพรรคนาซี มุสโสลินีมีพรรคฟาสซิสต์

สตาลินมีพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นต้น

แต่ในอีกด้านที่เป็นระบบปิด ผู้นำเผด็จการมีกลไกสำคัญไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ตำรวจลับ ศาล กลไกโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนในการทำให้ระบอบอำนาจนิยมดำรงอยู่ได้

ระบอบเผด็จการอาจจะมีสาระในรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่ความเหมือนที่สำคัญคือ ระบอบเหล่านี้มีทิศทางของการไม่ยอมรับสิทธิทางการเมือง และเห็นได้ชัดในการละเมิดสามเรื่องสำคัญ ได้แก่ ละเมิดสิทธิเสรีภาพ สิทธิพลเมือง และสิทธิมนุษยชน

ในบางกรณีมีลักษณะของการคุกคามต่อชีวิต เช่น การใช้กลไกความมั่นคงในการอุ้มฆ่า ดังกรณีสงครามสกปรก (Dirty War) ที่รัฐบาลทหารในอาร์เจนตินากระทำกับฝ่ายตรงข้าม

หรือการใช้หน่วยตำรวจลับ ไม่ว่าจะเป็นแบบของเกสตาโปของฮิตเลอร์ หรือตำรวจลับในระบอบคอมมิวนิสต์ เป็นต้น

การดำเนินการในการคุกคามสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของผู้คนนั้น เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ประการเดียวคือ การทำให้ระบอบอำนาจนิยมสามารถอยู่ได้อย่างมั่นคงต่อไป

ขณะเดียวกันก็ทำให้การต่อต้านไม่มีพลัง เพราะเกิดความกลัว

จนอาจกล่าวได้ว่าระบอบอำนาจนิยมทั่วโลกจำเป็นต้องอาศัยการสร้าง “บรรยากาศแห่งความกลัว” เพื่อทำให้การต่อต้านที่จะเกิดขึ้นไม่สามารถระดมความสนับสนุนได้ หรือเป็นการสร้างให้เกิดอุปสรรคของการมี “พฤติกรรมร่วม” (collective action) จนไม่อาจรวมคนเข้าร่วมการต่อสู้กับระบอบนี้ได้ เพราะเกิดความกลัวถึงการคุกคามของอำนาจรัฐเผด็จการที่สามารถกระทำการโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความถูกต้องทางกฎหมาย

ดังจะเห็นลักษณะร่วมที่สำคัญอีกประการของระบอบเผด็จการคือ การปฏิเสธหลักการ “นิติรัฐ” (rule of law) อันเป็นหลักการพื้นฐานของรัฐในระบอบประชาธิปไตย เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน

แต่ในอีกด้านหนึ่ง รัฐเหล่านี้พยายามสร้างภาพของการเป็นรัฐบาลที่เคารพกฎหมาย หรือเป็นรัฐที่ปกครองด้วยกฎหมาย (rule by law)

การอ้างถึงการใช้กฎหมายในการจัดการกับฝ่ายตรงข้าม ด้วยข้ออ้างว่าฝ่ายต่อต้านทำผิดกฎหมายที่ออกโดยรัฐเผด็จการ ประหนึ่งว่ากฎหมายที่บังคับใช้นั้นเป็นมาตรฐานสากล

รัฐเผด็จการมักใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือไม่แตกต่างกัน

ทำไมระบอบอำนาจนิยมเข้มแข็ง?

ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะดำรงอยู่อย่างเข้มแข็งได้นั้น จำเป็นต้องสร้างฐานรองรับทางการเมืองในลักษณะของการมี “พันธมิตร” ที่ปรากฏในลักษณะที่สำคัญ 3 ส่วนคือ

– ตัวบุคคลและ/หรือองค์กรของกลุ่มบุคคลที่มี “สถานะพิเศษ” และมักจะได้รับอภิสิทธิ์ในสังคมภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองที่เป็นระบอบเผด็จการ ตัวอย่างเช่น ชนชั้นนำในสังคม ผู้นำกองทัพ ตลอดรวมถึงผู้นำทางศาสนา เป็นต้น ผลประโยชน์ในสถานะพิเศษที่พวกเขาได้รับเป็นปัจจัยสำคัญของการสนับสนุนต่อการคงอยู่ของระบอบอำนาจนิยม คนกลุ่มนี้ไม่อาจใช้สถานะพิเศษได้มากในระบอบประชาธิปไตย เพราะหลักการสำคัญของประชาธิปไตยคือความเท่าเทียมกันของบุคคล ประชาธิปไตยในทัศนะเช่นนี้เป็นปัจจัยลดทอนสถานะพิเศษทางสังคม แต่อำนาจนิยมกลับช่วยค้ำจุนสถานะดังกล่าว

– กลุ่มธุรกิจเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรงต่อการคงอยู่ของระบอบอำนาจนิยม เพราะพวกเขาสามารถที่จะใช้การควบคุมรัฐโดยผ่านปัจจัยทุนเป็นเครื่องมือของการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มตนในระบอบเผด็จการ และขณะเดียวกันก็ใช้อิทธิพลของความเป็นกลุ่มทุนในการจัดการกับฝ่ายที่เรียกร้องให้มีการกระจายความมั่งคั่ง ตลอดรวมถึงการเรียกร้องสิทธิทางเศรษฐกิจต่างๆ กลุ่มทุนมีบทบาทและอิทธิพลได้มากในการเมืองแบบอำนาจนิยม และมักมีทัศนะต่อต้านประชาธิปไตย

– บุคคลและ/หรือกลุ่มบุคคลที่ชื่นชมเผด็จการ และเกลียดชังประชาธิปไตย ทัศนะเช่นนี้เกิดจากความกลัวโดยพื้นฐาน เช่น ความกลัวในเรื่องการกระจายความมั่งคั่ง กลัวการกระจายอำนาจ หรือเป็นอีกด้านของสองข้อแรก เช่น กลุ่มเจ้าที่ดิน กลุ่มทุนใหญ่ หรือกลุ่มขุนนางกลัวการขยายอำนาจของชนชั้นอื่น โดยเฉพาะอำนาจของชนชั้นล่าง และมองว่าประชาธิปไตยเป็นปัจจัยที่ทำให้ชนชั้นล่างมีบทบาทมากขึ้น

หรือเป็นสิ่งที่ทำให้ชนชั้นอื่นใช้เป็นข้อเรียกร้องในการมีความเท่าเทียมในสังคม แต่ระบอบอำนาจนิยมกลับเป็นเครื่องมือที่ดำรงสถานะและผลประโยชน์พวกเขาได้มากกว่า

เงื่อนไขของระบอบอำนาจนิยม

ในประเทศที่กระบวนการสร้างประชาธิปไตยไม่ประสบความสำเร็จ หรือระยะเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นไม่นำไปสู่การจัดตั้งระบอบประชาธิปไตย แต่กลับกลายเป็นการเปลี่ยนผ่านจากระบอบอำนาจนิยมแบบหนึ่งไปสู่อีกแบบหนึ่งนั้น มักจะพบปัจจัยร่วมที่สำคัญ ได้แก่

– รัฐเผด็จการที่แม้จะมีการเปลี่ยนผ่าน แต่รากฐานทางประวัติศาสตร์ของความเป็นอำนาจนิยมมีความเข้มแข็งมาก จนการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นกลับไม่สามารถทำลายพลังของอำนาจนิยมเดิมได้ การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยจึงไม่ประสบความสำเร็จ

– ชนชั้นนำและกลุ่มทหารที่มีอำนาจในสังคมหวาดกลัวต่อการ “ปฏิวัติ” ไม่ว่าจะมีอาการ “โรคหลอน” จากการปฏิวัติฝรั่งเศสในอดีต การปฏิวัติจีน และการปฏิวัติคิวบาในยุคสงครามเย็น ความกลัวการปฏิวัติเช่นนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มคนเหล่านั้น สนับสนุนระบอบอำนาจนิยมเพื่อเป็นเครื่องมือของการต่อสู้กับฝ่ายต่อต้าน

– กลุ่มธุรกิจ/อุตสาหกรรม/เจ้าที่ดินที่มั่นคั่ง แต่มีจำนวนน้อย ยังต้องการคงการเอารัดเปรียบทางเศรษฐกิจด้วยการอาศัยกลไกของระบอบเผด็จการเป็นเครื่องมือในการปราบปรามฝ่ายต่อต้าน

– ผู้นำศาสนาในบางประเทศได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการคงอยู่ของระบอบอำนาจนิยม หรือในอีกทางพวกเขาได้รับการสนับสนุนจากอำนาจรัฐเผด็จการ

เงื่อนไขทั้งสี่ประการนี้เป็นพื้นฐานของความเป็น “รัฐเก่า” (the old state) ที่เห็นได้จากการสร้างรัฐเผด็จการในยุโรป ซึ่งเมื่อต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงแล้ว พวกเขาสร้าง “จตุรมิตร” ในทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษนิยม ได้แก่ ชนชั้นเจ้าที่ดิน กองทัพ ศาสนาจักร และกลุ่มอุตสาหกรรม

สี่ส่วนนี้คือพลังหลักของฝ่ายขวาในการเมืองโลก

ดังนั้น แม้ผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มอาจจะไม่ตรงกันทั้งหมด แต่หากการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นกระทบต่อผลประโยชน์ของพวกเขาแล้ว กลุ่มเหล่านี้ก็พร้อมที่จะต่อต้าน และกลายเป็นพลังที่ขัดขวางต่อความสำเร็จของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยโดยตรง

และพวกเขาก็พร้อมที่จะสร้างสถาบันทางการเมืองที่เอื้อต่อการคงอยู่ของระบอบอำนาจนิยม

ระบอบอำนาจนิยมสมัยใหม่

นอกจากอาศัยพลังของจตุรมิตรในการต่อต้านระบอบเสรีนิยมแล้ว ระบอบอำนาจนิยมสมัยใหม่อาศัยกลไกอำนาจรัฐในการสร้าง “บรรยากาศแห่งความกลัว”

เพราะบรรยากาศเช่นนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของปัจเจกบุคคลที่เข้าร่วมการต่อสู้กับระบอบเผด็จการ หรือกล่าวในทางทฤษฎีว่า คนจะไม่เข้าร่วมการต่อสู้ในลักษณะของการมี “พฤติกรรมร่วม” ถ้าพวกเขาไม่มีเหตุผลเพียงพอสนับสนุนการตัดสินใจของตนเอง

ดังนั้น ในกรอบทฤษฎีทางเลือกที่มีเหตุผล (Rational Choice Theory) คนจะเข้าร่วมการต่อสู้เมื่อพวกเขามองว่าพวกเขาจะชนะ หรือคำนวณว่าผลที่เกิดขึ้นจะเป็นไปในทิศทางที่ตอบสนองต่อความต้องการทางการเมืองที่ตนปรารถนา

แต่คนจะไม่เข้าร่วมเมื่อพวกเขามองว่า การต่อสู้ที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่ความพ่ายแพ้ หรือคำนวณว่าการเข้าร่วมนั้นมีราคาที่ต้องจ่ายสูงเกินไป

ในสภาวะเช่นนี้ระบอบเผด็จการตระหนักดีว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการระบอบประชาธิปไตยที่ให้สิทธิเสรีภาพ แต่การจะทำให้ระบอบอำนาจนิยมดำรงอยู่ต่อได้ก็คือ การสร้างให้เกิดความรู้สึกว่า การเข้าร่วมต่อสู้กับระบอบเผด็จการมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป

กล่าวคือ สร้างให้เกิดสภาวะว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยเป็น “ทางเลือกที่ไม่มีเหตุผล” (irrational choice) อันส่งผลให้การเข้าร่วมไม่ขยายตัวจนนำไปสู่การต่อต้านรัฐบาลเผด็จการในวงกว้าง

หรืออาจกล่าวเป็นข้องสังเกตได้ว่า

กลไกสำคัญของรัฐเผด็จการสมัยใหม่คือ การสร้างอุปสรรคต่อการมี “พฤติกรรมร่วม” ด้วยการทำให้เกิดสภาวะที่ผู้คนโดยทั่วไป

แม้จะมีความรู้สึกต่อต้านเผด็จการ แต่ก็จะไม่พาตัวออกมาสู่การประท้วงบนถนน และระบอบเผด็จการสามารถอยู่ต่อไปได้ โดยมีข้ออ้างว่ามีเพียงประชาชนจำนวนน้อยที่ต่อต้าน

แต่ในอีกด้านของความเป็นสมัยใหม่ รัฐบาลเผด็จการใช้กลไกของระบบสารสนเทศในรูปแบบต่างๆ เพื่อการโฆษณาในสองส่วนคือ

โฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง

และโฆษณาโจมตีทางการเมือง หรือในทางทหารก็คือ “ปฏิบัติการจิตวิทยา” (ปจว.) ที่ทหารคุ้นเคยในยุคสงครามเย็น

ปฏิบัติการเช่นนี้ดำเนินการเพื่อให้เกิดความรู้สึกว่า ระบอบเผด็จการที่ดำรงอยู่มีความชอบธรรมในตัวเอง และประชาชนควรสนับสนุนระบอบนี้ หากการต่อต้านที่เกิดขึ้นไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ เพราะระบอบนี้มีความเข้มแข็ง ซึ่งก็คือการสร้างความรู้สึกว่า การต่อต้านมีราคาสูงเกินไป ทั้งหมดนี้ดำเนินด้วยการใช้เครื่องมือสมัยใหม่เพื่อสร้างจินตนาการและการคำนวณทางการเมืองประการเดียวคือ การต่อต้านเผด็จการจะไม่ประสบความสำเร็จ… แล้วจะไม่มีคนออกมาประท้วงบนท้องถนน

แต่สิ่งที่ระบอบเผด็จการมักจะคิดไม่ถึงก็คือ อาจมีสิ่งที่ทำให้การตัดสินใจเช่นที่กล่าวในข้างต้นเปลี่ยนไป คู่ขนานกับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ และการเปลี่ยนการตัดสินใจของผู้คนเป็นจำนวนมากในสังคมแล้ว สิ่งที่ถูกสร้างด้วยระบอบเผด็จการอาจจะไม่มีพลังมากพอที่หยุดยั้งการออกมาบนถนนของฝ่ายต่อต้าน

ไม่ว่าจะเป็นพฤษภาคม 2535 ในไทย หรือการปฏิวัติประชาธิปไตยในยุโรปตะวันออกในปี 2532

สุดท้ายแล้วระบอบเผด็จการไม่สามารถทานการเปลี่ยนแปลงได้ อันทำให้ปีกขวาในหลายประเทศปัจจุบันยอมต่อสู้ด้วยระบบรัฐสภา มากกว่าจะสู้เพื่อคงระบอบเก่าไว้ด้วยการปราบปรามและการรัฐประหาร!