ถ้าการประชุมกลายเป็น “ปาหี่” ที่มีแต่หัวโขน มานั่งๆ ไม่จบไม่สิ้น ไม่มีคนตัดสินใจ

“ห้องเย็น”

กรวิชญ์นั่งดูนาฬิกาที่ข้อมือ

“ถึงเวลาแล้ว” เขาคิด

พร้อมบอกทีมงานที่นั่งในห้องเดียวกัน

“ไปกันเถอะ”

กรวิชญ์เดินไปหยิบสูทสีดำตัวเก่งที่แขวนไว้ที่พนักเก้าอี้

ทีมงานทุกคนก็เช่นกัน

เมื่อใส่สูท ผูกไท้เรียบร้อย

“เอกสาร” พร้อมมั้ย กรวิชญ์ถามทีมงาน

สมชายที่เป็นสมาชิกอายุน้อยที่สุดก็หยิบเอกสารเป็นปึกๆ เย็บเล่มแล้วอย่างดี สี่สีหน้าหลัง

กรวิชญ์และทีมงานทั้งห้าคนเดินออกจากห้องของตัวเอง

กดลิฟต์ไปที่ชั้น 35 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของตึกแห่งนี้

ชั้นนี้มีห้องเดียว เป็นห้องขนาดใหญ่ จุคนได้หลายสิบ

แต่มักจะไม่ค่อยมีคนกล้าเข้ามาใช้

ที่นั่งที่ถูกจัดสรรมาเป็นอย่างดี รูปวงรี

พร้อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ครบครัน

สะอาด เรียบร้อย เป็นระเบียบ

จนกรวิชญ์ถึงกับ…

เมื่อวันก่อนระหว่างที่เดินในร้านหนังสือร้านเดิม

ก็หันไปสบตากับปกหนังสือเล่มหนึ่ง

โลโก้ของบริษัทมือถือที่คุ้นเคย สีออกน้ำเงิน

“โนเกีย”

หนังสือมีชื่อเต็มว่า “Transforming NOKIA”

แปลเป็นไทยว่า การแปรสภาพของโนเกีย

แปลแล้วก็ดูแปลกๆ นะครับ ภาษาอังกฤษจะเข้าใจได้มากกว่า

ก็เหมือนกับบริษัทต่างๆ ในไทย ที่ตอนนี้จะฮิตทำสิ่งที่เรียกว่า

“Digital Transformation” กันยกใหญ่

หมายถึง การเปลี่ยนแปลงองค์กรตัวเองให้เข้ากับโลกดิจิตอลนั่นเอง

ต้องบอกตามตรงครับ พอได้เห็นหนังสือเล่มนี้

ก็รู้สึก “แปลกใจ” เล็กน้อย

เพราะในห้วงคิดคำนึงของผมนั้น

บริษัท “โนเกีย” ไม่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่หรือ

จำได้ว่าบริษัทไมโครซอฟท์ได้ซื้อบริษัทโนเกียไปเมื่อหลายปีก่อน

เอ๊ะ การ Transforming NOKIA มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

แต่พอเห็นชื่อคนเขียนแล้ว ก็ต้องหยิบขึ้นมาดูสักหน่อย

เขาชื่อ “ริสโต (Risto)” เป็นประธานกรรมการบริษัทโนเกียคนปัจจุบันครับ

พอได้อ่าน “คำนำ” ก็พบกับความจริงข้อหนึ่ง ที่อยากจะบอกต่อครับ

“โนเกียยังไม่ตาย”

และที่สำคัญ

ยังเติบโตมากกว่า 20 เท่าในช่วงห้าหกปีที่ผ่านมา

เพียงแค่ไม่ใช่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือที่เราๆ รู้กันเท่านั้นเอง

น่าสนใจแล้วใช่มั้ยครับ

หนังสือเล่มนี้ที่จริงแล้วริสโตเขียนบอกเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของบริษัทโนเกีย

ที่ออกอาการตั้งแต่ “ไอโฟน” ออกมาดูโลกเมื่อปี 2007

ผ่านหุบเหวแห่งเรื่องราวที่โหดร้ายมากมาย

กลั่นมาเป็นบทเรียน การบริหารงานที่น่าสนใจ

เหมือนกับได้นั่งอยู่ตรงนั้นกับ “ริสโต” เลยก็ว่าได้

ริสโต ผู้เขียน ทำงานในฐานะ “คู่ค้า” กับบริษัทโนเกียมาเป็นเวลาหลายสิบปี

เขาถือว่าเป็น “ผู้ประกอบการหนุ่ม” ที่ประสบความสำเร็จมหาศาลในประเทศฟินแลนด์

บ้านเกิดของเขา และบริษัท “โนเกีย”

ปี 2008 เขาได้รับเลือกเข้ามาเป็น “กรรมการ” ของโนเกีย

หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “บอร์ด” นั่นเอง

เขาเล่าให้ฟังว่า วันแรกที่เข้ามานั่งในบอร์ดก็รู้สึก “แหม่งๆ” ครับ

ทุกคนในห้องดูมีอายุ ใส่สูทสีดำ ผูกไท้ทุกคน

ที่นั่งถูกจัดสรรจากคนที่เป็นประธานนั่งหัวโต๊ะ ไล่เรียงลงมาตามลำดับสำคัญ จนถึงกรรมการที่อายุน้อยที่สุดเช่นเขา

ที่ต้องนั่งอยู่ริมสุด ติดกับหน้าจอที่ใช้ในการฉายสไลด์

การประชุมที่มีเดือนละครั้ง ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง

แต่มีวาระการประชุมไม่ต่ำกว่า 10 วาระ

สิริรวมจะมีเวลาคุยเรื่องละไม่เกิน 20 นาทีเท่านั้น

ประธานกรรมการที่มักจะออกความเห็นเยอะที่สุด

คนอื่นๆ ที่ไม่ค่อยจะโต้แย้ง เออออห่อหมก

ด้วยว่าเกรงใจท่านประธานบ้าง

หรือไม่อ่านเอกสารเตรียมตัวมาเข้าประชุมเลยบ้าง

ทำให้การประชุมที่ควรจะเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ

กลับกลายเป็น “ปาหี่” ที่มีหัวโขนจากหลายส่วน มานั่งๆ ไป ในเชิงกระบวนการว่าต้องมี

ริสโตเอะใจตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้าประชุมบอร์ดในปี 2008

เพราะมันไม่มีเรื่องราวของบริษัทเล็กๆ ที่ชื่อว่า “แอปเปิ้ล” เลยแม้แต่น้อย

แน่นอน “ไอโฟน” เพิ่งออกมา การใช้งานในช่วงแรกๆ ก็จะยังไม่เสถียรนัก

มีคนที่กลัวเทคโนโลยีบอกว่า ไอโฟนใช้ยากก็มี

ราคาที่แพงมากในขณะนั้น ทำให้ตลาดค่อนข้างจำกัด

ไม่อยู่ในวิสัยที่ยักษ์ใหญ่อย่างโนเกียจะแยแส

โนเกียเคยได้รับโหวตว่าเป็นบริษัทใหญ่ที่สตาร์ตอัพอยากจะทำงานด้วย…

น้อยที่สุด เป็นอันดับสองจากท้าย

แสดงให้เห็นถึงความว่องไวในการปฏิสัมพันธ์กับคู่ค้า ที่ดูจะไม่ค่อยราบรื่น

ประกอบกับสตาร์ตอัพก็มีวิถีการทำงาน และการสร้างธุรกิจไม่เหมือนองค์กรอย่างโนเกีย

การประสานงานต่างๆ ที่เป็นขั้นตอน ประชุมที่ไม่จบไม่สิ้น แต่ไม่มีคนตัดสินใจ

บวกกับความมั่นใจที่ว่า “แค่นี้ฉันก็ทำเองได้ (Not-invented-here problem)”

โดยถือว่าตัวเองมีเงินเยอะกว่า มีคนที่เชื่อว่าเก่งไม่แพ้ ไม่ต้องพึ่งใคร

ทำให้สตาร์ตอัพต่างท้อแท้ตามๆ กันไปที่จะทำงานกับ “โนเกีย”

ถ้ามาดูองค์กรใหญ่ๆ ในประเทศไทยก็จะพบว่า

“อาการ” นี้มีให้เห็นมากเช่นกัน

สตาร์ตอัพที่มีของน่าสนใจอยากจะเอาไปให้องค์กรใหญ่ๆ ลองใช้

ก็จะเจอกับคำถามนับร้อยแปด และประชุมที่ดูแล้วดูอีก

แต่ก็ยังไม่ตัดสินใจ ทำให้เสียเวลาสตาร์ตอัพเขาทำมาหากิน

หากแต่ว่าองค์กรใดที่สร้างกระบวนการนี้ให้ง่ายสำหรับ “คู่ค้า”

องค์กรนั้นก็จะได้มี “ของใหม่ๆ” ลองอยู่เสมอ

สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง แต่ก็ไม่ต้องทำคนเดียวไปเสียทุกอย่าง

เร็วกว่าก็คือ ชนะไปครึ่งทางแล้ว สำหรับธุรกิจในโลกดิจิตอล

หลักการที่ผู้บริหารหลายคนเข้าใจ แต่ก็ยังเปลี่ยนแปลงองค์กรไม่ได้

กรวิชญ์เข้ามาที่ห้องหรูหรา แอร์เย็น

มีเนื้อหาที่เตรียมมาหลายเดือนกับทีมงาน อยากจะได้การตัดสินใจและคำแนะนำ

มีคนนั่งรอฟังอยู่ 15 คนบนโซฟานุ่มสบาย ใส่สูท ผูกไท้เป็นทางการ

“เอ้า เรามีวาระการประชุมอีก 8 อันรออยู่

คุณมีเวลา 15 นาที มีอะไรรีบว่ามาเลย”