จรัญ มะลูลีม : ชะตาอิหร่านในยุคสงครามโลก-สงครามเย็น

จรัญ มะลูลีม

มุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ ปาห์ลาวี (ต่อ)

เป็นเวลานานก่อนสงครามจะสิ้นสุดลง โซเวียตรัสเซียได้พยายามอย่างเต็มที่ที่จะจัดตั้งเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นในอิหร่าน เพื่อว่าอิหร่านจะได้เป็นรัฐดาวเทียมของโซเวียตรัสเซียหลังจากโซเวียตรัสเซียถอนกำลังทหารออกไปแล้ว

ส่วนอังกฤษก็ใช้วิธีการต่างๆ นานาเพื่อถ่วงดุลอำนาจของโซเวียตรัสเซียไว้ เผ่าบางเผ่าก็พยายามเอาอำนาจของตนกลับคืนไป และพวกผู้นำทางศาสนาก็มุ่งที่จะพยายามทำลายโครงการสร้างประเทศให้เป็นแบบตะวันตกของเรซา ชาฮ์

จากเหตุการณ์ที่ได้กล่าวมาข้างต้น ประกอบกับการขาดแคลนอาหาร และมีสภาพเงินเฟ้ออย่างมากมาย ประเทศจึงตกอยู่ในภาวะเกือบล่มจม ประชาชนได้รับความลำบากยากแค้นเป็นอย่างยิ่ง

รัฐบาลต้องเอาใจกองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรก่อนสิ่งใด

 

ในสัญญาสามประเทศของฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อเดือนมกราคม ปี 1942 บ่งบอกว่ากองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรจะถอนกำลังออกจากอิหร่านในไม่ช้า เป็นเวลา 2 เดือนหลังจากที่ฝ่ายอักษะประกาศหยุดรบแล้ว ได้มีความพยายามที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจว่ากองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ใช่กองทัพที่จะมายึดครองประเทศ แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นมิตรกับรัฐบาลอิหร่านในการโค่นล้มนาซี

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ย่อมจะคาดหมายว่าจะให้มีความปกติในด้านการเมืองการปกครองไม่ได้

แต่กระนั้นสภาพอันไม่เป็นปกติอันเป็นผลของการก้าวก่ายแทรกแซงของต่างชาติก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตด้านการเมืองมาแล้วไม่มากก็น้อย

นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ยกเว้นแต่สมัยของเรซา ชาฮ์ คือประมาณ ปี 1924-1941 สภาพผิดปกติที่เกิดจากการก้าวก่ายของต่างชาตินี้จะมีลักษณะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับว่ามีต่างชาติชาติเดียวหรือสองชาติกำลังมีอิทธิพลอยู่ในอิหร่าน

ในระหว่างที่มีสองอิทธิพล ระบบการเมืองของอิหร่านจะมีลักษณะแข่งขันชิงดี การเมืองก็เกือบจะเป็นแบบเปิด โดยมีประชากรในเมืองจำนวนมากมีส่วนร่วมอยู่ในขบวนการทางการเมืองและในกิจกรรมของพรรคการเมือง มีการแข่งขันชิงที่นั่งในรัฐสภาและหนังสือพิมพ์ก็จะวิจารณ์อย่างขวานผ่าซาก แต่ถ้ามีอิทธิพลของต่างชาติอยู่เพียงชาติเดียว อิทธิพลนั้นก็มักจะค้ำจุนแนวโน้มของการปกครองแบบเอกาธิปไตยที่มีอยู่ในอิหร่าน

แต่การติดต่อกันระหว่างมุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ กับทูตต่างประเทศ ปรากฏว่า ทูตเหล่านั้นมักจะชักนำให้มุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ สร้างโครงการทางการเมืองที่มีลักษณะประชาธิปไตยขึ้นมาเพื่อเผชิญหน้ากับความกดดันอันไม่เป็นที่พึงปรารถนาของขบวนการต่อต้านในลักษณะต่างๆ

 

เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเข้าใจเสียก่อนว่ามุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ ขึ้นครองราชย์ภายใต้สถานการณ์ที่ยุ่งเหยิงอย่างนี้ ศักดิ์ศรีของราชวงศ์ปาห์ลาวีได้ตกต่ำลงหลังจากที่กองทัพของเรซา ชาฮ์ ไม่สามารถต่อต้านการเข้าครอบครองของต่างชาติได้

และหลังจากเรซา ชาฮ์ ยอมสละราชบัลลังก์ ก็มีบุคคลและกลุ่มคนจำนวนมากที่เคยได้รับทุกข์มาภายใต้การปกครองแบบเผด็จการอันทารุณของเรซา ชาฮ์ ซึ่งคอยมองหาโอกาสที่จะคิดบัญชีกับชาฮ์องค์ใหม่อยู่

ในบรรดาผู้ที่ถูกกดขี่อย่างหนักก็ได้แก่ผู้ที่เคยมีความสัมพันธ์กับราชวงศ์กาญาร์มาก่อน นั่นคือพวกขุนนางเก่าที่มีที่ดินอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ นักการศาสนาสำนักคิดชีอะฮ์ กลุ่มคอมมิวนิสต์ที่เพิ่งเริ่มตั้งตัวและแม้กระทั่งองค์การฟาสซิสต์เดิม

กองทัพซึ่งเรซา ชาฮ์ ตั้งขึ้นใหม่โดยไม่มีชนชั้นขุนนางศักดินาปะปนอยู่และทำหน้าที่เป็นเครื่องค้ำจุนอันสำคัญของระบอบการปกครองของพระองค์ก็แตกสลายไปหมดทั้งในเรื่องกำลังใจและอิทธิพลของมัน เพราะการเข้าครอบครองของต่างชาติ

ประการสุดท้าย สภาพบ้านเมืองในช่วงสงครามได้นำเอาผู้คนใหม่ๆ ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยมีความสัมพันธ์กันกับราชวงศ์ปาห์ลาวีเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมือง

 

การขนส่งและความต้องการของการส่งเข้าสินค้าทำให้เกิดคนกลุ่มใหม่ขึ้น คือ พวกกรรมกรและเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ผู้รับเหมาธุรกิจและเจ้าของรถบรรทุก การที่หนังสือและรูปภาพเข้ามาในประเทศได้อย่างเป็นอิสระรวมทั้งตัวอย่างวิถีชีวิตของชาวต่างชาติจำนวนมาก ซึ่งตอนนี้มาอยู่ในกรุงเตหะรานนั้นมีผลกระทบอันลึกซึ้งและต่อเนื่องต่อทัศนคติและอุดมการณ์ของคนหนุ่มสาวที่อยากเป็นข้าราชการ หรืออยากได้ตำแหน่งของชนชั้นกลางอย่างอื่นๆ นับเป็นครั้งแรกในอิหร่านที่มีความคิดว่าความทันสมัยนั้นมาจากแบบอย่างของตะวันตก

เมื่อมุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ ขึ้นครองราชย์นั้น พระองค์ไม่มีกำลังทหารที่แท้จริงคอยค้ำจุนพระองค์อยู่ และรัฐสภาก็เป็นองค์กรที่เป็นอิสระเกือบจะไม่อยู่ใต้การควบคุมของผู้ใด เพื่อจะได้มาซึ่งการสนับสนุนสถานการณ์เช่นนี้ย่อมต้องมีการประนีประนอมต่อรอง

เพราะแม้แต่กิจกรรมการปกครองประจำวันก็อาจนำไปสู่การโค่นล้มของพระองค์ได้และย่อมจะนำไปสู่จุดจบของราชวงศ์ปาห์ลาวีด้วย

 

จุดจบของราชวงศ์นี้น่าจะหมายถึงจุดจบของระบบกษัตริย์ในอิหร่านด้วย

ดังนั้น ในการแสวงหาการสนับสนุนค้ำจุน ชาฮ์จึงต้องอ่อนข้อให้กับความปรารถนาของพระองค์ที่อยากได้การบริหารประเทศที่มีเหตุผลและมีประสิทธิภาพเสีย แล้วชาฮ์ก็ค่อยๆ เอาชนะใจพวกทหารส่วนหนึ่งได้รวมทั้งพวกชนชั้นผู้ดีเก่าๆ และนักการศาสนาส่วนหนึ่งด้วย

แต่สำหรับคนรุ่นใหม่นั้นพระองค์ไม่อาจจะเรียกความจงรักภักดีกลับคืนมาได้ ในฐานะที่เป็นข้าราชการหรือทหารชั้นผู้น้อย คนรุ่นใหม่นี้จะทำงานตามหน้าที่ของตนไป แต่ในทางส่วนตัวแล้ว ต่างก็ต่อต้านระบบการปกครองของมุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ และมั่นใจเพิ่มขึ้นว่าจะไม่มีทางที่จะปรับปรุงสภาพต่างๆ ให้ดีขึ้นได้ในอิหร่านถ้าหากว่าไม่กำจัดระบบการปกครองนั้นเสีย

แต่ในสภาพที่อยู่ใต้อำนาจชาวต่างชาติเช่นนี้ พวกที่ต่อต้านกษัตริย์ก็ยังไม่สามารถที่จะทำการปฏิวัติขึ้นได้ แต่ถึงกระนั้นก็ได้มีการวางรากฐานเอาไว้แล้ว

ในขณะเดียวกันความพยายามของมุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ ก็เกิดผลบ้างในข้อที่ว่าระบบการเมืองของอิหร่านสมัยหลังสงครามถูกปลุกปั้นขึ้น โดยความพยายามดิ้นรนของพระองค์ในอันที่จะรักษาและปรับปรุงสถานภาพของพระองค์เองให้คงอยู่ได้และดีขึ้น

 

นับตั้งแต่ ปี 1941 ไปจนถึงการโค่นล้มนายกรัฐมนตรีมุศ็อดดีก (Muzoddeq) (อยู่ในอำนาจระหว่างปี 1951-1953) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญอยู่ในกระบวนการตัดสินใจด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกิจการน้ำมันของอิหร่านกับต่างประเทศในสมัยของมุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ (ปี 1941-1979)

ในปี 1953 มุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ มีฐานะเป็นแต่เพียงผู้แข่งขันคนสำคัญคนหนึ่งที่กำลังชิงชัยอยู่ในเวทีแข่งขันที่เปิดฟรีให้แก่ทุกคนเท่านั้น ความสำคัญของพระองค์ขึ้นอยู่กับความถาวรของตำแหน่งของพระองค์ซึ่งดูท่าจะไม่แข็งแกร่งนัก เป็นความถาวรที่ขึ้นอยู่กับการยอมรับจากฝ่ายสัมพันธมิตรและรัฐธรรมนูญเท่านั้น

พระองค์ไม่สามารถจะพึ่งพาผู้ที่เคยสนิทสนมใกล้ชิดกับพระราชบิดาได้เพราะคนเหล่านั้นหมดอำนาจวาสนาไปแล้วส่วนหนึ่งพร้อมกับการสละราชสมบัติของเรซา ชาฮ์

อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์กับหัวหน้าเผ่าบัคเตียรีก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ ได้มีการให้สิทธิพิเศษแก่พวกนักการศาสนาเพื่อเอาใจคนเหล่านั้น และมุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ ก็สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายทางการทหารได้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีสิทธิกำหนดขนาดของงบประมาณทางการทหารได้ก็ตาม

ในตอนปลายสงคราม ความสนใจในทางการเมืองได้มารวมอยู่ที่เรื่องสามเรื่องคือ สถานภาพของมุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ ปัญหาอันเรื้อรังในเรื่องที่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี และจะทำอย่างไรให้กองทัพรัสเซียออกจากแคว้นอาเซอร์ไบจานไปได้

เพื่อที่จะแก้ปัญหาข้อที่สาม จึงต้องแก้ข้อที่สองเสียก่อนด้วยการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่มีความชำนาญและกล้าหาญที่สุดในศตวรรษที่ 20 ซึ่งก็ได้แก่กวาม อัล-สุลตาเนห์ (Qwam al-Sultaneh)