จิตต์สุภา ฉิน : “พอดแคสต์” โลกที่น่าหลงใหล

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ปี 2005 น่าจะเป็นปีที่ฉันได้ยินคำว่าพอดแคสต์ (Podcasts) เป็นครั้งแรก

และน่าจะเป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสประสบการณ์ฟังรายการที่มีรูปแบบคล้ายวิทยุแต่ไม่ใช่วิทยุเพราะเราสามารถเลือกฟังได้ตามเวลาที่เราสะดวก

ขยับไปฟังท่อนไหนก่อนท่อนไหนหลังก็ได้ และมีตัวเลือกให้ฟังตามใจชอบ

ตอนนั้นทำให้ได้รู้ว่าการเริ่มต้นฟังพอดแคสต์ครั้งแรกอาจจะนำมาซึ่งอีกหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน ของการไม่สามารถหยุดฟังมันได้

พอดแคสต์ คือรูปแบบไฟล์เสียงดิจิตอลที่เปิดให้ดาวน์โหลดจากอินเตอร์เน็ตมาฟังได้บนคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์โมบายล์

ส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบของตอนที่มีความถี่แตกต่างกันออกไป

บางช่องก็ทำรายการเป็นรายวัน

บางช่องก็รายสัปดาห์

หรือบางช่องก็อาจจะอินดี้อยากทำเมื่อไหร่ก็ทำก็มี

ผู้ฟังชอบช่องไหนก็กดติดตามไว้คล้ายๆ เวลาเราติดตามช่องบนยูทูบ ต่างกันแค่ตรงที่ยูทูบใช้ตาดู และหูฟัง แต่พอดแคสต์เน้นใช้หูเพื่อฟังอย่างเดียวนั่นแหละค่ะ

พอดแคสต์ถือกำเนิดขึ้นในปี 2004 โดยอดีตผู้ดำเนินรายการช่อง MTV ชื่อ Adam Curry และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ชื่อ Dave Winer ทั้งคู่เขียนโปรแกรมที่ทำให้สามารถดาวน์โหลดรายการวิทยุบนอินเตอร์เน็ตมาเก็บเอาไว้ใน iPod อุปกรณ์ฟังเพลงเอ็มพีสามจากค่าย Apple ได้โดยอัตโนมัติ

หลังจากนั้นผลงานของพวกเขาก็ถูกหยิบไปพัฒนาต่อจนกลายมาเป็นการถือกำเนิดขึ้นของพอดแคสต์ในที่สุด

 

แม้ว่าพอดแคสต์จะเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องมานานกว่าสิบห้าปีแล้ว

แต่หลายคนที่คลุกคลีอยู่กับอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ก็อาจจะไม่เคยได้ฟัง

หรืออาจจะไม่เคยแม้แต่จะได้ยินคำว่าพอดแคสต์เลยก็ได้

ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจอะไรเลยค่ะ เพราะคนจำนวนมากเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างแพร่หลายในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับการมาถึงของโซเชียลมีเดีย และการ “บูม” ของวิดีโอก็เกิดขึ้นไม่นานหลังจากนั้น

วิดีโอได้กลายเป็นรูปแบบการเสพสื่อยอดนิยมที่สุด

ดูอย่างบนยูทูบ ถึงประเทศเราจะไม่ได้มีขนาดหรือประชากรที่ใหญ่โตนักแต่เราดูวิดีโอบนยูทูบติดสิบอันดับแรกของโลก และมีคนใช้งานยูทูบมากกว่า 40 ล้านคน

ท่ามกลางเสียงอื้ออึงในคลื่นมหาสมุทรแห่งวิดีโอ ก็ทำให้พอดแคสต์ค่อยๆ ถูกกลืนหายไป

จนในความรับรู้ของคนจำนวนมากเข้าใจไปว่ามันไม่มีอยู่อีกแล้ว

จนกระทั่งไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เริ่มมีข่าวให้เห็นผ่านตาว่าพอดแคสต์กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ใครที่ฟังพอดแคสต์อยู่เรื่อยๆ ก็จะเห็นได้ชัดว่าความนิยมของพอดแคสต์ในเมืองไทยเริ่มกลับมาเด่นชัดขึ้นภายใต้การนำทัพของ The Standard ด้วยทีมงานพอดแคสต์ที่แข็งแกร่งและทุ่มเท

หลังจากนั้นก็ได้รับคลื่นสนับสนุนลูกใหญ่อีกระลอกมาจากการที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เปิดตัวพอดแคสต์ Good Monday ที่พูดถึงไอเดียและประสบการณ์เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาประเทศ อาชีพ และการศึกษา ในทุกๆ วันจันทร์

ทำให้หลายคนเริ่มตื่นตัวเรื่องการมีอยู่ของพอดแคสต์ และหันมาทดลองฟังกันมากขึ้น

ลองไปดูทางฝั่งสหรัฐอเมริกากันบ้าง Edison Research และ Triton Digital เผยแพร่รายงานผลการวิจัยที่ได้ทำการสำรวจผ่านทางโทรศัพท์กับคนอเมริกันอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไปเป็นจำนวน 1,500 คน ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์

และพบว่า 32% ของคนอเมริกันบอกว่าฟังพอดแคสต์ทุกเดือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับ 26% ของปีที่แล้ว

และยังเป็นตัวเลขการเติบโตที่สูงที่สุด

พอดแคสต์ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น (12-24 ปี) โดยที่กว่า 22% ของคนอเมริกันฟังพอดแคสต์ทุกสัปดาห์ และฟังโดยเฉลี่ย 7 ตอนต่อหนึ่งสัปดาห์

เพื่อให้เป็นการเห็นภาพรวมที่ชัดขึ้นรายงานก็ได้ระบุอีกว่า 51% ของคนอเมริกันเคยฟังพอดแคสต์แล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง

 

ทั้งหมดนี้ก็ทำให้ฉันลองมาตั้งคำถามว่า เพราะอะไรพอดแคสต์จึงกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในยุคที่วิดีโอเป็นทุกสิ่งทุกอย่างและแทบจะเป็นการสื่อสารแบบเดียวที่จะได้รับความสนใจจากคนหมู่มาก

เหตุผลแรกที่นึกออกก็น่าจะเป็นการที่ทุกวันนี้ชีวิตเรายุ่งวุ่นวายกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่ต้องเสียเวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวันไปกับการเดินทาง

การที่พอดแคสต์มาในรูปแบบเสียงให้เราสามารถใส่หูฟังเดินไปเดินมา ทำนู่นทำนี่ไปด้วยได้ ก็ทำให้เราประหยัดเวลามากขึ้น

ต่างกับการดูวิดีโอที่ตาเราจะต้องจดจ่ออยู่กับหน้าจอ และแทบจะไม่สามารถทำอย่างอื่นควบคู่กันไปด้วยได้เลย

เมื่อเรามีเวลาในแต่ละวันน้อยลง แต่เรายังอยากเสพข่าวสารและเนื้อหาที่น่าสนใจในปริมาณที่เท่าเดิมหรือมากขึ้น พอดแคสต์คือตัวช่วยที่ดีที่สุด

เราอาจจะไม่สามารถนั่งลงอ่านหนังสือเล่มหนาๆ ได้นิ่งๆ จนจบเล่ม

แต่การที่เราสามารถขับรถ เดิน หรือนั่งรถไฟฟ้าไปด้วยฟังพอดแคสต์ไปด้วยก็ทำให้เราเปลี่ยนช่วงเวลาที่ว่างเปล่าให้กลายเป็นเวลาแห่งความรู้ความบันเทิง

ในขณะที่สายตาของเราก็ว่างที่จะให้เราใช้เพื่อสอดส่ายไปรอบๆ ซึมซับความสวยงามของสิ่งแวดล้อมและผู้คน ในขณะเดียวกันก็ระแวดระวังภัยได้ ไม่เหมือนการก้มหน้าดูมือถือแล้วเดินตกท่อหรืออะไรแบบนั้น

เหตุผลข้อต่อมาก็คือ ความใกล้ชิด ค่ะ

การที่เราจุกหูฟังเข้าไปในรูหูและเปิดฟังพอดแคสต์ มันให้ความรู้สึกเหมือนเสียงของนักจัดรายการนั้นอยู่ใกล้กับเรานิดเดียว

สร้างความรู้สึกสนิทสนมชิดเชื้อราวกับว่าเราเป็นเพื่อนกันมานานแสนนาน

ลองสังเกตดูสิคะ ว่าเวลาเราดูวิดีโอ เราอาจจะสนุกและเห็นภาพชัดก็จริง แต่เราจะไม่ได้ความรู้สึกใกล้ชิดเหมือนมีเสียงมากระซิบอยู่ข้างหู

การที่เราไม่เห็นภาพก็ยิ่งไปกระตุ้นจินตนาการให้เรานึกไปว่าตอนที่เขาหรือเธอพูดประโยค ประโยคนี้ น่าจะแสดงสีหน้ายังไง และยังได้ความรู้สึกเหมือนคนจัดรายการเป็นของเราแต่เพียงผู้เดียวในห้วงเวลานั้น ถึงแม้ว่าผู้ฟังจะไม่ได้ตอบโต้อะไรกลับไปก็ตาม

นอกจากนี้ ความนิยมพอดแคสต์น่าจะกลับมาเพราะความรู้สึกของการเป็นชุมชนที่รวมคนมีความสนใจตรงกันเข้าไว้ด้วยกัน

พอดแคสต์มีให้เลือกฟังทุกประเภท ทุกหัวข้อ ทุกหมวดหมู่ อะไรก็ตามที่เราสนใจ

รับประกันว่าสามารถค้นหาพอดแคสต์ที่ตอบโจทย์ความสนใจนั้นได้หมด

ซึ่งเสน่ห์อีกอย่างสำหรับการทำพอดแคสต์คือ นักจัดรายการจะสามารถ “จัดเต็ม” เรื่องข้อมูลในหมวดหมู่ที่เราอยากรู้ได้ เพราะไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะหาภาพอะไรมาประกอบ จะต้องถ่ายทำด้วยวิธีสลับซับซ้อนแค่ไหน จะต้องแต่งหน้า ทำผม แต่งชุดสวยงามหรือเปล่า เพราะนี่เป็นการถ่ายทอดด้วยเสียงล้วนๆ ข้อมูลที่เราจะได้ก็จะเป็นแบบจัดเต็มพร้อมผสมความบันเทิงให้ฟังได้แบบไม่เบื่อ

พอดแคสต์คงจะไม่มีวันเป็นสื่อกระแสหลักหรือแมสได้ง่ายๆ ความนิยมของมันจะไม่เทียบเท่ากับวิดีโอที่กระตุ้นประสาทสัมผัสของเราได้มากกว่า

แต่เสน่ห์ของมันก็ไม่สามารถถูกแทนที่ได้ง่ายๆ เหมือนกัน

ใครที่ยังไม่เคยลองฟังพอดแคสต์ อาจจะเริ่มต้นจากการฟังผ่าน iTunes แอพพลิเคชั่น Podcasts หรือบริการสตรีมมิ่ง Spotify ซึ่งอันหลังสุดนี่แหละค่ะที่เป็นหนึ่งในปัจจัยช่วยผลักให้พอดแคสต์กลับมาฮิตได้อีกครั้ง

บางทีพอได้ฟังสักครั้ง คุณอาจจะได้พบโลกใหม่ที่มันอุ่นสบายจนไม่อยากกลับมาวุ่นวายกับสื่อรูปแบบอื่นอีกเลยก็ได้นะ