การ์ตูนที่รัก : LET’S ฉบับครบรอบ 9 ปี : แท็กซี่นักเขียน(การ์ตูน)

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

นักศึกษาสี่คนโบกรถแท็กซี่ “ไปส่งรถ” “ไปส่งรถ” “ไปส่งรถ” แท็กซี่มิเตอร์คันแล้วคันเล่าขับผ่านเลยไป

“ไป” “ส่ง” “รถ” สะอาดแบ่งเป็นสามช่อง แท็กซี่สามคน คนละหนึ่งคำ

แค่เริ่มเรื่องก็หงุดหงิดผสมขำขื่น

หนึ่งชั่วโมงผ่านไป “ตกลงแท็กซี่นี่แม่งมีไว้ส่งคนหรือรถวะครับ!!” นักศึกษาคนหนึ่งเดือดดาล

“ส่งการ์ตูน” แท็กซี่หนุ่มหน้าตาดีจอดรับ “ขึ้นมา”

แท็กซี่เปิดเพลงอิ๊กคิวซัง หลังเบาะนั่งคนขับและคนนั่งข้างเสียบหนังสือการ์ตูนฉบับร่างของตัวเองเอาไว้ให้ผู้โดยสารอ่านพร้อมหน้าให้ความเห็น

“แท็กซี่ที่เขียนการ์ตูน” ไม่ธรรมดาแล้ว

เขาคือ พงษ์เทพ พุ่งทะยาน จากพนักงานอู่ซ่อมรถที่ชอบอ่านการ์ตูนผันตัวเป็นคนขับแท็กซี่นักเขียนการ์ตูน “เพื่อสั่นสะเทือนวงการการ์ตูนของประเทศนี้”

%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%8c%e0%b8%95%e0%b8%b9%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%81-2

ตอนที่หนึ่งเป็นผลงานของ “สะอาด” ขำเหมือนเดิม ฝีมือไว้ใจได้ ไม่มีลายเซ็นแต่เห็นลายเส้นอย่างไรก็ใช่

ตอนที่สองเป็นผลงานของ “ภัค” ชื่อประกันผลงานอีกคนหนึ่ง เปิดเรื่องด้วยการแนะนำนิตยสารเทพเจ้าการ์ตูนไทยรายสามเดือน ก๊อดไลน์คอมิกส์ ที่ยึดครองใจคนอ่านมานาน 9 ปีด้วยฝีมือจตุรเทพน้ำหมึก ได้แก่ สายลมแห่งมิตร โลหิตเริงระบำ ซาตานกำสรวล กระบี่จีเพ็น และตอนนี้พวกเขากำลังเปิดรับเทพคนที่ห้า

พงษ์เทพ พุ่งทะยานไม่รอช้า ขับแท็กซี่ไปเขียนการ์ตูนไปแบบไม่เกรงใจผู้โดยสารด้านหลังพุ่งทะยานจะไปเป็นเทพคนที่ห้า โดยไม่รู้ว่าครั้งนี้ผู้โดยสารคือด๊อกเตอร์เอกภพ จบทุกปัญหา นักพูดนักเขียนแนวธุรกิจพิชิตชีวิตชื่อดัง

“หากทำสิ่งที่รักแล้วเลี้ยงตนเองไม่ได้ ก็จงทำสิ่งอื่นเพื่อจุนเจือไปก่อน” พงษ์เทพมาขับแท็กซี่ แทนที่จะเขียนการ์ตูนอย่างเดียวก็เพราะคำสอนนี้ในแผ่นซีดีแนะแนวของด๊อกเตอร์เอกภพนี้เอง

“แล้วนายอยากเป็นเพียงคนเลี้ยงชีพหรือต้องการเป็นเทพแห่งการ์ตูนล่ะ” ด๊อกเตอร์เอกภพชี้แนะแบบไม่คิดตังค์ ก่อนจะลงจากแท็กซี่ไป “ไม่เอาค่ารถแน่นะ”

%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%8c%e0%b8%95%e0%b8%b9%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%81-4

พงษ์เทพไปคืนรถเถ้าแก่ ซื้ออุปกรณ์เขียนการ์ตูนใหม่ นึกดูหมิ่นไอ้น้องหน้าร้านเครื่องเขียนที่กำลังเขียนการ์ตูนไปด้วยเฝ้าร้านขายของไปด้วย “ไอ้หนูเอ๊ย การ์ตูนไม่ใช่ของเล่นๆ ทำแบบนั้นเสียเวลาเปล่า” แล้วหงุดหงิดกับพวกนักเขียนสมัครเล่นที่กำลังสมัครเรียนติวอาร์ทเพื่อวาดการ์ตูน “มักง่าย! ไม่ว่าเงินเท่าไรก็ซื้อทักษะสำเร็จรูปไม่ได้หรอก”

จากนั้นพงษ์เทพซื้อบะหมี่สำเร็จรูปเก็บตัวสูบบุหรี่ไม่ปล่อยมัวเขียนการ์ตูนสามเดือนจนหนวดเคราขึ้น

ประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายเทพคนที่ห้าสามคน พงษ์เทพ พุ่งทะยาน เป็นหนึ่งในนั้น

ภัคเล่าเรื่องการตัดสินรอบสุดท้ายอย่างน่าอ่าน จนกระทั่งถึงนาทีประกาศผล

“ฉันจะบอกให้ที่นายแพ้ก็เพราะงานของนายมันซ้ำซากแห้งแล้งและจำเจไงล่ะ” กรรมการเครางามสั่งสอนพงษ์เทพ “รู้มั้ย อะไรที่สำคัญที่สุดของการเป็นนักเล่าเรื่อง ประสบการณ์ไงล่ะ ทุกคนเป็นนักเขียนการ์ตูนวาดรูปได้กันหมด แต่ตัวตนข้างในจริงๆของนายต่างหากที่ฉันสนใจ”

คำอธิบายต่อไปขำหนัก แต่ชัดเจนดี อธิบายให้เข้าใจง่ายๆด้วยการ์ตูนโจโจ้ล่าข้ามศตวรรษ ต้องมีร่างต้นและสแตนด์ ทุกคนที่มาประกวดมีสแตนด์เป็นนักเขียนการ์ตูน แต่ร่างต้นต่างหากที่แตกต่าง เป็นพริทตี้ เป็นวินมอเตอร์ไซค์ ขายไก่ปิ้งกะดึก พนักงานออฟฟิศ ขายขนมโตเกียว แล้วร่างต้นของพงษ์เทพล่ะ คืออะไร?

“ไฟแดงหน้า ผมขอตัดเส้นได้มั้ยครับ” พงษ์เทพกลับไปขับแท็กซี่อีกครั้งหนึ่ง

%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%8c%e0%b8%95%e0%b8%b9%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%81-3

ชีวิตของพงษ์เทพ พุ่งทะยานคือชีวิตของคนทั่วไป ใครๆก็พบปัญหานี้ทั้งนั้นในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนนักศึกษาที่ไม่มั่นใจว่าตนเองอยากเรียนอะไร อยากทำอะไร โตขึ้นอยากเป็นอะไร ความใฝ่ฝันที่แท้ของเราอยู่ตรงไหน

ไม่เพียงนักศึกษา คนหนุ่มสาวแรกเริ่มทำงานจำนวนมากไม่แน่ใจในงานที่ทำ ด้วยไม่รู้ชัดเจนว่าตัวเองชอบอะไร หลงใหลอะไร มี passion กับอะไร จุดนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของการศึกษา หลายคนรู้แล้วว่าตนเองอยากทำอะไร แต่ไม่แน่ใจว่าควรทุ่มเทมากเท่าไรเหมือนที่พงษ์เทพเผชิญ

คนอย่างด๊อกเตอร์เอกภพ จบทุกทางช่วยอะไรไม่ได้มากนัก เพราะเขาพูดอะไรก็ถูกหมด วันหนึ่งพูดอย่าง อีกวันพูดอย่าง แต่ถูกทั้งสองอย่างแม้ว่าเนื้อหาจะขัดกัน นักพูดแนะแนวส่วนมากเป็นเช่นนี้

“ชี้ไปทุกทิศ ก็เหมือนไม่ชี้อะไรเลย” เคยมีการ์ตูนสั้นฉายทางโทรทัศน์เมื่อครั้งโทรทัศน์ยังเป็นขาวดำบอกผู้เขียนเช่นนี้ จำได้มาตลอดชีวิต

 

สมัยก่อนคือการศึกษาในศตวรรษที่ 20 เรื่องไม่ซับซ้อนนัก เรียนหนังสือ ท่องตำรา เข้าห้องสอบ สอบได้รับปริญญา จบไปทำงานตามที่เรียนมา ชีวิตไปข้างหน้าทีละขั้นเหมือนสายพานในโรงงานอุตสาหกรรม เราผลิตนักเรียน นักศึกษา และบัณฑิตด้วยวิธีนี้มาอย่างน้อยก็ครึ่งศตวรรษ และวันนี้ก็ยังทำอยู่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

แต่โลกเปลี่ยนไปแล้ว ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เมื่อคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะปรากฏตามบ้าน ตามด้วยมือถือรุ่นแรก โน้ตบุ๊ค จนกระทั่งมีแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนหลังช่วงผ่านสหัสวรรษไม่นาน

ที่พัฒนาควบคู่กันมาตลอดทางคืออินเทอร์เน็ทเอ๊กซ์พลอเรอร์มาจนถึงกูเกิลโครมดังที่บรรณาธิการ บก.ซัน เขียนคำนำเอาไว้ อำผู้อ่านด้วยมุขบารัค โอบามาเป็นนายกรัฐมนตรีหน้าเฉย

ความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วภายในเวลาเพียงสิบปี คือประมาณปี 1995-2005 นี้เองที่ทำให้สมองของนักเรียนนักศึกษาและคนหนุ่มสาวที่เติบโตเปลี่ยนผ่านวัยกันเวลานี้กลายเป็นคนอีกรุ่นหนึ่งที่เติบใหญ่มาพร้อมความรู้สึกที่ว่า “ความรู้ที่แท้มิได้มีเพียงกบในห้องเรียนกะลา” แต่ “ความสามารถและประสบการณ์ที่แท้อยู่ในโลกกว้างใหญ่” หากรักษาไฟฝันไว้ได้ ด้วยสมาร์ทโฟนและกูเกิลโครม เราจะเป็นอะไรก็ได้ทั้งนั้น

ปัญหาคือบางคนตระหนักในความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยใจจริงๆ และมีความเชื่อมั่นโดยไร้ข้อกังขา

แต่หลายคนกล้าๆ กลัวๆ จึงจำยอมต้องเรียน ท่อง สอบ เอาเกรด แล้วจบมาอย่างไร้จิตวิญญาณ และอาจจะไร้สมองอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม บ้านเมืองของเราไม่เปิดโอกาสให้นักฝันไส้แห้งอยู่ได้นานนัก คำสอนประเภทหาอะไรทำยาไส้ไปก่อนจึงมีส่วนถูกอยู่มากในบ้านเรา มีเงินใช้มีไฟฝันยังเป็นคำแนะนำที่ใช้ได้ สำคัญคือคิดนอกกรอบให้ได้เท่านั้น

นักเขียนการ์ตูนเก่งๆ เช่น สะอาด หรือ ภัค หลุดกรอบทั้งสองคน

ตอนต่อไป พงษ์เทพจะประสบความสำเร็จหรือไม่?