ธงทอง จันทรางศุ | เลือกตั้งวันวาน

ธงทอง จันทรางศุ

มานั่งนึกย้อนหลังทบทวนกลับไปในประวัติของตัวเองว่าผมรู้จักการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อไหร่

คำตอบคือการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2512 ครับ

การเลือกตั้งครั้งนั้นผมอายุราว 14 ปี ยังไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งแน่นอน แต่ก็ตื่นเต้นครับ เพราะไม่เคยเห็นการเลือกตั้งทั่วไปแบบนั้นมาก่อน

และทำให้ผมจำวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ติดสมองมาจนถึงทุกวันนี้

จริงอยู่ว่าผมเกิดเมื่อพุทธศักราช 2498 และเคยมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อพุทธศักราช 2500 เวลานั้นจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

ส่วนผมอายุสองขวบสามขวบจะไปรู้อะไรเล่า

ว่ากันว่าการเลือกตั้งหนนั้นเป็น “การเลือกตั้งสกปรก” และหลังจากนั้นไม่นานก็มีการปฏิวัติเกิดขึ้น หัวหน้าคณะปฏิวัติคือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

เมื่อผมเริ่มจำความได้ “จอมพลผ้าขาวม้าแดง” ซึ่งเป็นฉายาประจำตัวของท่านเพราะท่านชอบนุ่งผ้าขาวม้าสีแดงก็เป็นนายกรัฐมนตรีเสียแล้ว

จอมพลสฤษดิ์ท่านตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น ร่างกันช้านานหลายปีก็ร่างไม่เสร็จเสียที ระหว่างนั้นก็ใช้ธรรมนูญการปกครองชั่วคราวกันไปพลาง จนจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม ในปลายปีพุทธศักราช 2506 และจอมพลถนอม กิตติขจร ท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อมาอีกห้าปีจึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับในฝันเสร็จสิ้น

ช่วงเวลานั้นผมเป็นวัยรุ่นแล้ว มีพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวในวันที่ 20 มิถุนายน พุทธศักราช 2511

เดือนเดียวกันนั้นผมอายุครบ 13 ปีบริบูรณ์ ยังจำได้เลยครับว่าผมนั่งดูการถ่ายทอดพระราชพิธีดังกล่าวจากโทรทัศน์ขาวดำ โทรทัศน์สียังไม่เข้ามาบ้านเราครับ

หลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในเดือนมิถุนายนแล้ว การเลือกตั้งทั่วไปก็มีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์

ดังที่ผมกล่าวมาแล้วข้างต้น จอมพลถนอมผู้เป็นนายกรัฐมนตรี สนใจจะทำงานการเมืองต่อ ท่านจึงตั้งพรรคการเมืองขึ้น ใช้ชื่อว่าพรรคสหประชาไทย

พรรคการเมืองทั้งหลายก็ลงแข่งขันกันมากมายคล้ายกับที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้

และผลก็ปรากฏว่าไม่มีพรรคใดได้คะแนนเสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมี

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องตั้งรัฐบาลผสม พรรคสหประชาไทยรวมกับพรรคโน้นพรรคนี้ ได้คะแนนเสียงข้างมากตั้งรัฐบาลที่มีจอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรี

มีเกร็ดขอเล่าแถมไว้นิดหนึ่งครับว่า เนื่องจากสมาชิกของพรรคสหประชาไทยนั้นแท้ที่จริงแล้วก็มาจากนักการเมืองที่มีฤทธิ์มีเดชมาแต่ก่อนจากหลายพรรคมารวมกลุ่มกันเข้า ในช่วงเวลาที่เริ่มก่อตั้งพรรค

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนนิทานลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐที่ท่านเป็นเจ้าของ เล่าความตามท้องเรื่องว่า เฒ่าหนอม พระเอกของเรื่องได้นำแร้งและตัวเงินตัวทองมาเลี้ยงรวมกัน สัตว์สองตัวนั้นเกิดผสมพันธุ์กันขึ้นแล้วมีลูก ลูกที่เกิดใหม่นั้น ชาวบ้านเรียกกันว่า ตัวสหัปมงคล นิทานเรื่องนี้ฮือฮากันมากในสมัยนั้น

น่าสังเกตว่าหลังจากการตั้งรัฐบาลขึ้นในช่วงต้นปีพุทธศักราช 2512 แล้ว ถัดอีกเพียงสองปีครึ่ง กลางเดือนพฤศจิกายนพุทธศักราช 2514 การปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็เกิดขึ้นอีก คราวนี้จอมพลถนอมคนที่เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติยึดอำนาจจากจอมพลถนอมคนที่เป็นนายกรัฐมนตรี

เก๋ดีจะตายไป

สาเหตุสำคัญของการยึดอำนาจครั้งนั้น ถ้าให้ผมอธิบายก็อยากจะบอกว่า รัฐบาลผสมชุดนั้นเองไม่มีประสิทธิภาพ เพราะลำพังพรรคสหประชาไทยเองก็ไม่ใช่พรรคการเมืองในความหมายทางรัฐศาสตร์แบบเต็มรูป เพราะไม่ได้เกิดจากอุดมการณ์ทางการเมืองที่ตรงกัน

หากแต่เป็นพรรคเฉพาะกิจที่เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนจอมพลถนอมให้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นข้อสำคัญ แถมพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล ก็ล้วนแต่เป็นเสือสิงห์กระทิงแรดทั้งสิ้น

ทุกคนมาพร้อมด้วยข้อเรียกร้องข้อต่อรองแบบที่จอมพลถนอมท่านไม่คุ้นเคยมาแต่ก่อน

ท่านเป็นทหารนี่ครับ สั่งอะไรใครก็ต้องเชื่อ มาเจอเข้าอย่างนี้ท่านก็งงเป็นธรรมดา ตามปกติแล้วกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีต้องตราเป็นพระราชบัญญัติเพื่อประกาศใช้ให้ทันวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี แต่เหตุการณ์ในปีพุทธศักราช 2514 ปรากฏว่าจนถึงกลางเดือนพฤศจิกายนแล้วกฎหมายงบประมาณยังไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรเลย ซึ่งทำให้น่าจะแปลได้ว่า รัฐบาลที่นึกว่าตัวเองมีเสียงข้างมากอยู่ในสภานั้น ขาดเสถียรภาพเสียแล้ว ท่านจอมพลถนอมจึงตัดสินใจทำปฏิวัติตัวเองเสียเลย

การปฏิวัติที่เกิดขึ้นในวันที่ 17 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2514 จึงเป็นการปฏิวัติแบบไทยๆ ครั้งแรกที่ผมได้เห็นเมื่อจำความได้แล้ว และได้เห็นต่อมาอีกหลายครั้ง จนแทบจะสับสนไปหมดแล้วเพราะไม่รู้ว่าครั้งไหนเป็นครั้งไหน เรื่องมันเยอะครับ

พอยึดอำนาจเสร็จสรรพแล้ว จอมพลถนอมผู้เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ได้ใช้อำนาจหัวหน้าคณะปฏิวัติอยู่หนึ่งปีเต็ม จนปลายปีต่อมาจึงประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองชั่วคราวพุทธศักราช 2515 ที่มีบทบัญญัติกำหนดให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

และเป็นสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ “14 ตุลาคม 2516” ขึ้นในเวลาต่อมา

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ไม่ใช่นิทานแต่เป็นเรื่องจริง และถ้าเป็นนิทานอีสปลงท้ายก็ต้องบอกว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…” แต่ผมไม่กล้าสอนใครหรอกครับ ตัวเองยังสอนตัวเองไม่ค่อยรอดเลย ต่างคนต่างอ่านแล้วต่างคิดก้อแล้วกัน

ผมเพียงแต่อยากจะขออนุญาตปรารภว่า เมื่อเรามีอายุอยู่มายาวนาน ได้พบเห็นอะไรมามาก เอาเข้าจริงแล้ว จะประจักษ์ว่าเมืองไทยเรานี้ไม่มีอะไรใหม่มากนัก

ของที่เกิดขึ้นใหม่หลายเรื่องซ้ำรอยเดิมอยู่อย่างนั้น ใครที่ไม่เชื่อว่าประวัติศาสตร์มักซ้ำรอยอยู่เสมอ ต้องลองใช้ชีวิตไปนานๆ อย่างผม แล้วจะได้ดวงตาเห็นธรรม

นัดไปบวชพร้อมๆ กันดีไหมครับ