โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญเจ้าสัววัดนางนอง พระพุทธมหาจักรพรรดิ เพื่อบูรณะเจดีย์ประธาน

.พระพุทธมหาจักรพรรดิ

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญเจ้าสัววัดนางนอง

พระพุทธมหาจักรพรรดิ

เพื่อบูรณะเจดีย์ประธาน

 

“วัดนางนองวรวิหาร” ตั้งอยู่ถนนวุฒากาศ แขวงบางอ้อ เขตจอมทอง กรุงเทพฯ เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในเส้นทางคมนาคมทางน้ำโบราณ คือ คลองด่าน หรือคลองสนามชัย อยู่ริมคลองฝั่งใต้ตรงข้ามวัดหนัง

สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ประมาณสมัยสมเด็จพระศรีสรรเพ็ชญ์ที่ 8 (ขุนหลวงสรศักดิ์) ราวปี พ.ศ.2245-2252

ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ.2375 ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ทำเป็นงานใหญ่ รื้อของเก่า และปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอาราม ดังปรากฏงานศิลปกรรมแบบพระราชนิยมในพระองค์ที่พระอุโบสถและพระวิหารคู่

การทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดนางนองนั้น สืบเนื่องจากแขวงบางนางนอง เดิมเป็นนิวาสสถานของสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระนามเดิมคือ เจ้าจอมมารดาเรียม พระราชชนนี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ต่อมา ตระกูลของสมเด็จพระศรีสุลาลัย ย้ายข้ามฟากไปอยู่บริเวณวัดหนัง ดังนั้น วัดหนังและวัดนางนอง จึงเป็นวัดที่เนื่องในสมเด็จพระราชมารดา

ที่ว่าศิลปะแบบพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ศิลปกรรมที่เลียนแบบศิลปะจีนจะปรากฏในงานสถาปัตยกรรมเป็นหลัก จากรูปแบบการวางแผนผังพระอารามในรัชสมัยและงานสถาปัตยกรรมไทยที่สร้างสรรค์ผสมผสานศิลปะจีน

การบูรณปฏิสังขรณ์ใช้เวลาหลายปีจึงแล้วเสร็จ ได้สถาปนาเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อพุทธศักราช 2384

เหรียญพระพุทธมหาจักรพรรดิ (หน้า)

 

ทั้งนี้ พระพุทธรูปประธาน ประดิษฐานประจำพระอุโบสถวัดนางนองวรวิหาร มีพระนามว่า พระพุทธมหาจักรพรรดิ

เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางมารวิชัย พระพักตร์พุทธศิลป์สมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง 2 เมตร 25 เซนติเมตร หรือประมาณ 4 ศอกครึ่ง เครื่องทรง เครื่องประดับตกแต่งทุกชิ้น แยกออกจากองค์พระสวมทับลงไว้

ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ปั้นลายปิดทองประดับกระจก ถือเป็นงานประติมากรรมชิ้นเอก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีความงามอย่างวิจิตรอลังการ ให้ความเลื่อมใสศรัทธาแก่ผู้เข้ามาสักการะมีความอิ่มเอิบ สงบ เยือกเย็น

 

 

มีเรื่องเล่าขานถึงมงกุฎทรงของพระพุทธมหาจักรพรรดิ เฉพาะเครื่องศิราภรณ์ คือ มงกุฎของพระพุทธมหาจักรพรรดิว่า องค์ที่สวมอยู่นี้ เป็นองค์ที่ 2 องค์แรกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนยอดนภศูลพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เมื่อครั้งทรงปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดให้สูงขึ้นจากเดิม

พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม สร้างขึ้นด้วยพระราชศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระราชดำริเห็นว่าพระปรางค์เดิมสูง 8 วานั้น ยังย่อมอยู่ กรุงรัตนโกสินทร์ได้ตั้งขึ้นเป็นราชธานี ยังไม่มีพระมหาธาตุ ควรเสริมสร้างให้ใหญ่เป็นพระมหาธาตุสำหรับพระนคร

จึงโปรดเกล้าฯ ให้ลงมือขุดราก แต่การได้ค้างอยู่เพียงนั้นก็สิ้นรัชกาล

พ.ศ.2367 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชวราราม

ต่อมา ทรงมีพระราชดำริออกแบบพระปรางค์เสริมให้สูงขึ้น เสด็จพระราชดำเนินไปก่อพระฤกษ์ในปีที่ทรงผูกพัทธสีมาวัดนางนอง คือ พ.ศ.2385 ครั้นพระปรางค์สำเร็จเป็นพระมหาเจดีย์ โปรดยกยอดพระปรางค์ซึ่งเดิมเป็นยอดนภศูล ตามพระปรางค์แบบโบราณ และเสด็จพระราชดำเนินทรงเททองหล่อยอดนภศูลพระปรางค์เมื่อเดือนสิบสอง พ.ศ.2390

มีหมายรับสั่งกำหนดวันยกยอดพระปรางค์ในเดือนอ้ายปีเดียวกัน ครั้นใกล้วันพระฤกษ์ โปรดให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่จะเป็นพระประธานในวัดนางนองมาสวมต่อบนยอดนภศูล

เหรียญพระพุทธมหาจักรพรรดิ (หลัง)

 

พระพุทธมหาจักรพรรดิ เดิมไม่มีพระนาม แต่ถวายพระนามในภายหลัง ด้วยพิจารณาว่า พุทธลักษณะแสดงถึงพระพุทธมหาจักรพรรดิทางธรรม

ในโอกาสนี้ วัดนางนองจัดสร้างเหรียญเจ้าสัว “พระพุทธมหาจักรพรรดิ วัดนางนอง” เพื่อสมทบทุนบูรณะพระเจดีย์ประธานวัดนางนอง สถาปัตยกรรมยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ประกอบพิธีพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2562 เวลา 17.09 น. โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปัญโญ) วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นประธานจุดเทียนชัย, พระพรหมมังคลาจารย์ (เจ้าคุณธงชัย) วัดไตรมิตรวิทยาราม ประธานดับเทียนชัย

พระสิรินันทมุนี เจ้าอาวาสวัดนางนอง ประธานดำเนินการสร้าง และนายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานเครือมติชน-ข่าวสด เป็นประธานอุปถัมภ์

ลักษณะเหรียญเจ้าสัวพระพุทธมหาจักรพรรดิ มีหูเชื่อม

ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธมหาจักรพรรดิ

ด้านหลัง เป็นอักขระยันต์ ใต้ยันต์ เขียนคำว่า “พระพุทธมหาจักรพรรดิ วัดนางนอง ๒๕๖๒”

ส่วนรายการเหรียญที่เปิดให้จอง 1.เหรียญทองคำ (น้ำหนัก 4.6 กรัม) สร้างจำนวน 20 เหรียญ 2.เหรียญทองคำลงยาสีแดง สร้างจำนวน 20 เหรียญ 3.เหรียญทองคำลงยาสีเขียว สร้างจำนวน 20 เหรียญ 4.เหรียญทองคำลงยาสีน้ำเงิน สร้างจำนวน 20 เหรียญ 5.เหรียญเงิน สร้างจำนวน 200 เหรียญ

6.เหรียญเงินลงยาสีแดง สร้างจำนวน 200 เหรียญ 7.เหรียญเงินลงยาสีเขียว สร้างจำนวน 200 เหรียญ 8.เหรียญเงินลงยาสีน้ำเงิน สร้างจำนวน 200 เหรียญ 9.เหรียญทองมันปู สร้างจำนวน 15,000 เหรียญ 10.เหรียญทองแดง สร้างจำนวน 15,000 เหรียญ

ติดต่อสอบถามได้ที่พระครูประกาศศาสนวงศ์ โทร. 08-6607-9261