พญากง พญาพาน (จ.นครปฐม) อีดิปัส ตำนานกรีกโบราณ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

พญากง พญาพาน ตำนานพระปฐมเจดีย์ เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่ามีโครงเรื่องหลักเกี่ยวกับลูกชายฆ่าพ่อ แล้วจะเอาแม่ทำเมีย

ไมเคิล ไรท์ “นักปราชญ์ฝรั่งคลั่งสยาม” บอกผมนานหลายปีมาแล้วว่าท่านมหาเถรศรีศรัทธา “หลานพ่อขุนผาเมือง” รัฐสุโขทัย เป็นผู้เล่าเรื่องพญากง พญาพาน คราวเสด็จปฏิสังขรณ์มหาธาตุหลวง (แบบทวารวดี) ที่ปรักหักพัง เป็นยอดปรางค์ (ปัจจุบันคือ พระปฐมเจดีย์ นครปฐม) โดยดัดแปลงจากนิทานภาษาสันสกฤต ซึ่งรับอีกทอดหนึ่งจากตำนานกรีกเรื่องอีดิปัส

ตามอ่านมานานมาก แต่ไม่ค่อยเข้าใจ เพราะพื้นฐานมีไม่มากพอ ผมอ่านเพิ่งเข้าใจบ้างในเนื้อหาอีดิปัส ตำนานกรีกโบราณ จากหนังสือ วรรณกรรม ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ แปลโดย สุรเดช โชติอุดมพันธ์ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2561) จะคัดแบ่งปันไว้ให้รู้ทั่วกันว่ามีวรรณกรรมโลกจากสำนวนแปลเข้าใจไม่ยาก ดังนี้

พระประโทณเจดีย์
พระปฐมเจดีย์

อีดิปัส ตำนานกรีกโบราณ

เรื่องราวของอีดิปัสถูกทำนายทายทักโดยเทพพยากรณ์แห่งเดลฟีซึ่งโด่งดังเนื่องจากมีพลังทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันก็เป็นที่เลื่องลือด้วยลักษณะคำทำนายอันคลุมเครือเป็นปริศนา

คำทำนายกล่าวว่าโอรสที่เกิดจากไลอัสและโจคาสตา พระราชาและพระราชินีแห่งเมืองทีปส์ จะฆ่าผู้เป็นบิดาและสมรสกับมารดาของเขาเอง โชคชะตาลิขิตให้ทารกคนดังกล่าวกลายเป็นปีศาจร้าย เมืองทีปส์จะรุ่งเรืองหากปราศจากเขา แม้ว่าเขาจะเป็นบุตรคนเดียวของทั้งสอง และการตายของเขาจะทำให้เกิดปัญหาว่าใครจะสืบทอดตำแหน่งรัชทายาท

ทารกอีดิปัสถูกทิ้งไว้บนภูเขาเพื่อรอคอยความตาย ทว่าทารกกลับไม่ตาย คนเลี้ยงแกะช่วยเขาไว้ และด้วยเหตุผลบังเอิญหลายครั้งทำให้ไม่มีใครรู้ที่มาที่ไปของเขา ในที่สุดพระราชาและพระราชินีของเมืองโครินธ์ก็รับเขาเป็นบุตรบุญธรรม เทพเจ้าต่างสนใจในตัวเขา

เมื่อเติบใหญ่ อีดิปัสได้ไปปรึกษาเทพพยากรณ์อีกครั้ง ด้วยความวิตกที่ผู้คนต่างกล่าวว่าเขาไม่ใช่ลูกที่แท้จริงของพระราชา เทพพยากรณ์เตือนว่าเขาถูกลิขิตให้ฆ่าบิดาและแต่งงานกับมารดาตนเอง มีความสัมพันธ์กับคนร่วมสายเลือด

อีดิปัสอนุมานว่าเทพพยากรณ์หมายถึงพ่อแม่บุญธรรมของตน จึงหนีออกจากเมืองโครินธ์ไปยังเมืองทีปส์ เขาพบรถศึกแล่นสวนมาตรงทางแยก คนขับรถคันนั้นผลักเขาออกจากถนน อีดิปัสตอบโต้กลับไป คนขับจึงสวนกลับโดยตีศีรษะอีดิปัสอย่างรุนแรงตามมาด้วยการต่อสู้อันดุเดือด อีดิปัสโกรธมากจึงฆ่าคนอื่นๆ โดยไม่รู้เลยว่าผู้ที่โดยสารรถศึกมาคือกษัตริย์ไลอัสซึ่งเป็นบิดาของตน การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงความฉุนเฉียวบนถนนซึ่งเกิดจาก “อารมณ์ชั่ววูบ”

อีดิปัสเดินทางต่อไปยังเมืองทีปส์โดยไม่รู้ว่ามีสิ่งใดรออยู่เบื้องหน้า สิ่งแรกที่รอคอยอยู่คือสฟิงซ์ ซึ่งเป็นสัตว์ประหลาดที่อาศัยอยู่บนภูเขาและคอยข่มขวัญคุกคามเมืองนี้

สฟิงซ์จะยกปริศนามาถามนักเดินทางทุกรายที่มาเยือนเมืองทีปส์ ถ้าพวกเขาไม่สามารถตอบได้ถูกต้องจะโดนปลิดชีวิต ปริศนาดังกล่าวคือ “สิ่งใดที่เดินสี่ขาในตอนเช้า สองขาในตอนกลางวัน และสามขาตอนกลางคืน”

อีดิปัสตอบคำถามได้ถูกต้อง และนับเป็นคนแรกที่ทำสำเร็จ คำตอบคือ “มนุษย์” ทารกคลานสี่ขา ผู้ใหญ่เดินสองขา และคนชราใช้ไม้เท้าช่วยพยุง ด้วยเหตุนี้สฟิงซ์จึงปลิดชีวิตตนเอง

เมืองทีปส์สำนึกในบุญคุณของอีดิปัสและแต่งตั้งให้เขาเป็นผู้ปกครอง หลังจากที่ขึ้นครองบัลลังก์แล้ว อีดิปัสเสริมสร้างอำนาจของตนโดยอภิเษกสมรสกับราชินีโจคาสตาซึ่งตกพุ่มหม้ายอย่างเป็นปริศนา ทั้งคู่ต่างไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับไลอัส และไม่ตระหนักถึงสิ่งเลวร้ายที่ทั้งสองกำลังกระทำอยู่

อีดิปัสเป็นกษัตริย์ที่ดี เป็นสามีที่ดี และเป็นบิดาที่ดีต่อลูกๆ ของเขากับโจคาสตา

แต่หลายปีต่อมา ทีปส์ประสบภัยโรคระบาดลึกลับร้ายแรง มีคนตายนับพัน พืชพันธุ์ธัญญาหารก็ปลูกไม่ขึ้น ผู้หญิงไม่สามารถให้กำเนิดลูก

บทละครของโซโฟคลีสเริ่มขึ้น ณ จุดนี้ ชัดเจนว่าเมืองนี้ต้องคำสาปอีกครา เพราะเหตุใดเล่า โหรตาบอดเทรีซิอัสได้เปิดเผยความจริงอันแสนโหดร้ายว่าเหล่าเทพเจ้ากำลังลงโทษเมืองทีปส์ เนื่องจากอาชญากรรมแห่งปิตุฆาต (ฆ่าพ่อ) ของอีดิปัส และการสมสู่ในครอบครัว (แต่งงานกับแม่ตนเอง) รายละเอียดอันเลวร้ายจึงเปิดเผยในที่สุด

โจคาสตาผูกคอตาย ส่วนอีดิปัสแทงตาตัวเองให้บอดด้วยเข็มกลัดของโจคาสตา เขาใช้ชีวิตที่เหลืออยู่เยี่ยงขอทาน ซึ่งนับเป็นสถานะที่ต่ำที่สุดในเมืองทีปส์ โดยมีแอนทิโกนี ลูกสาวผู้ภักดีคอยดูแลตัวเขาที่ตกต่ำจนน่าสมเพช

[แปลโดย สุรเดช โชติอุดมพันธ์ ในหนังสือ วรรณกรรม ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2561 หน้า 44-46]

ยายหอมอุ้มลูกเลี้ยงชื่อพญาพาน ซึ่งเป็นโอรสพญากง รูปปั้นในศาลยายหอม เจดีย์พระประโทณ จ.นครปฐม

 

ลูกฆ่าพ่อ

ลูกฆ่าแม่เป็นวรรณกรรมท้องถิ่น แต่ลูกฆ่าพ่อเป็นวรรณกรรมนำเข้า ยังพบอีกในตำนานพระนอนจักรสีห์ วัดพระนอนจักรสีห์ จ.สิงห์บุรี

บริเวณพระนอนจักรสีห์ย่านนี้เกี่ยวข้องกับพระมหาเถรศรีศรัทธา มีหลักฐานในจารึกวัดศรีชุม (สุโขทัย) กับจารึกเขากบ (นครสวรรค์) และปรางค์วัดหน้าพระธาตุ (ใกล้วัดพระนอนจักรสีห์) ผมเคยเขียนบอกไว้ในศิลปวัฒนธรรม [ปีที่ 12 ฉบับที่ 2 (ธันวาคม 2533)] แล้วพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือเรื่องพระปฐมเจดีย์ฯ (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2545)

ท่องเที่ยวทางเลือกเส้นทางลูกฆ่าพ่อในไทย ตั้งแต่นครปฐมถึงสิงห์บุรี น่าจะสนุก

รสคำ รสความ

วรรณกรรมในโลกมีทั้งรสคำและรสความ ซึ่งทุกคนมีเสรีภาพเลือกเสพตามรสนิยมของตน

เมื่อวัยรุ่น ผมเสพรสคำอย่างเดียวจากวรรณกรรมทั้งหลายตามรสนิยมขณะนั้นที่มีประสบการณ์จำกัด

ครั้นหลังวัยรุ่น เสพทั้งรสคำและรสความ เนื่องจากรสความมีอยู่มากล้วนเป็น หลักฐานประวัติศาสตร์สังคม (กิน ขี้ ปี้ นอน) ที่ประวัติศาสตร์ไทยไม่ให้ความสำคัญ เพราะหลงทางสร้างประวัติศาสตร์สงคราม หนุนความรุนแรงแต่งสังคมไทยสืบจนทุกวันนี้

 

โครงเรื่องนิทาน
พญากง พญาพาน

พญากงได้ครองเมืองกาญจนบุรี (บางสำนวนว่าเป็นเมืองนครชัยศรี) โหรทำนายว่าพระมเหสีของพระองค์จะให้ประสูติพระราชโอรสผู้มีบุญ ได้เป็นใหญ่ในภายหน้า แต่จะเป็นผู้ฆ่าพระราชบิดา เมื่อพระมเหสีให้ประสูติพระกุมาร ขณะที่ข้าราชบริพารได้เอาพานไปรองรับ ทำให้หน้าผากมีรอยแผล พญากงได้สั่งให้นำพระกุมารไปทิ้งตามยถากรรม ยายหอมได้นำไปเลี้ยงโดยตั้งชื่อว่า “พาน”

เมื่อเติบใหญ่ได้ฝากไปเรียนที่วัด สมภารวัดผู้เป็นอาจารย์มีความเอ็นดู สอนวิชาจนหมด และได้นำพานไปเข้ารับราชการกับเจ้าเมืองราชบุรี จนเป็นที่โปรดปรานของเจ้าเมืองถึงกับรับเป็นโอรสบุญธรรม ตอนนั้นเมืองราชบุรีซึ่งขึ้นกับเมืองกาญจนบุรี (บางสำนวนว่าเมืองนครชัยศรี) พญาพานเป็นผู้มีฝีมือในการรบชักชวนให้เจ้าเมืองราชบุรีแข็งเมืองยกกองทัพไปรบกับพญากง จนทำยุทธหัตถี พญากงก็ถูกฟันด้วยของ้าวคอขาดตายในที่รบ

พญาพานเข้ายึดเมืองกาญจนบุรี (บางสำนวนว่าเมืองนครชัยศรี) และเอามเหสีพญากงมาเป็นมเหสีตน ในขณะที่เข้าไปหาพระมเหสีของพญากง เทวดาได้แปลงกายเป็นแมวแม่ลูกอ่อนให้ลูกกินนมขวางประตูไว้ แล้วร้องทักเสียก่อน พญาพานจึงได้อธิษฐานว่า ถ้าพระมเหสีเป็นแม่ของตนจริงก็ขอให้มีน้ำนมไหลซึมออกมา ก็มีน้ำนมไหลออกมา จึงได้รู้ความจริงว่าเป็นแม่ลูกกัน

พญาพานสำนึกได้ว่าได้ฆ่าพระราชบิดา และโกรธที่ยายหอมปิดบังความจริง จึงได้สั่งให้ฆ่ายายหอม แต่ต่อมาได้สำนึกผิดที่ได้ ฆ่าพระราชบิดาและยายหอมผู้มีพระคุณ จึงได้สร้างพระเจดีย์ขนาดใหญ่ สูงชั่วนกเขาเหินตามคำแนะนำของพระอรหันต์ คือ พระปฐมเจดีย์ เพื่อเป็นการล้างบาปที่ฆ่าพระราชบิดา และได้สร้างพระประโทณเจดีย์ เพื่อล้างบาปที่ฆ่ายายหอม