เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์/ เจาะใจ รู้เท่าทันสื่อ

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

เจาะใจ รู้เท่าทันสื่อ

สําหรับรายการ “เจาะใจ” ที่ออกอากาศวันเสาร์ที่ 16 มีนาคมนี้ และอีก 3 สัปดาห์ต่อไปจะเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่อง “การรู้เท่าทันสื่อ” ครับ ในหัวข้อแคมเปญว่า “เสพสื่ออย่างไรให้เท่าทัน”

ทำไมเจาะใจถึงได้สนใจในประเด็นนี้จนต้องลุกขึ้นมาทำรายการถึง 4 ตอน

ต้องยอมรับว่า “สื่อ” เป็นสิ่งที่อยู่คู่วิถีชีวิตของคนในปัจจุบันไปแล้วอย่างแยกกันไม่ออก ยิ่งในยุคที่โซเชียลมีเดียมีบทบาทต่อพฤติกรรมของคนอย่างสูง สื่อจึงเข้าถึงทุกคนตั้งแต่ลืมตาตื่นนอนจนถึงปิดไฟนอนนั่นเลย

หลายคนพอลืมตาตื่น สิ่งแรกที่ผลักออกไปคือสามีหรือภรรยา แล้วหันไปคว้าโทรศัพท์มือถือขึ้นมาแทน เปิดอัพเดตข่าวสารและแชตต่างๆ ในทันที ล้างหน้าล้างตายังมาทีหลัง

และหลายคนนอนไม่หลับถ้าไม่ได้แชตได้ไลน์เมาธ์มอยก่อนนอน

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราในฐานะผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารหรือเนื้อหาที่มาในรูปแบบต่างๆ ทั้งข่าว ละคร รายการ คลิป โฆษณา และข้อมูลทางโซเชียลมีเดีย หากไม่ระวังอาจตกเป็น “เหยื่อ” ของผู้ใช้สื่อในจุดประสงค์ใดจุดประสงค์หนึ่งก็เป็นได้

เช่น อยากแอบขายของ ก็มีคนมาหลงซื้อ

อยากสร้างกระแสอะไรบางอย่าง ก็มีคนมาสนใจ แชต แชร์ต่อ

อยากใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างภาพ หรือทำลายภาพใครๆ ก็มีคนหลงเชื่อ คล้อยตาม

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงเหมือนตกอยู่ในสมรภูมิข้อมูลข่าวสาร ที่ไม่รู้ว่าเนื้อหาชิ้นไหนจะเป็นระเบิดทำร้ายเราเข้าเมื่อไหร่ก็ได้

 

รายการเจาะใจ 4 ตอนที่ว่านี้ ได้รับมอบหมายจากสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ให้เผยแพร่เรื่องนี้ เริ่มจากตอนแรก รายการได้เชิญปรมาจารย์ด้านข่าวของเมืองไทย คุณสุทธิชัย หยุ่น มาเป็นแขกรับเชิญ สำหรับคุณสุทธิชัย พวกคอข่าวต้องรู้จักเป็นอย่างดี นักข่าว ผู้ประกาศข่าว ที่ทำมาหากินอยู่ในช่องต่างๆ ตอนนี้ หลายคนก็ผ่านมือการปั้น สร้าง ให้เวที ให้โอกาสจากคุณสุทธิชัยมาแล้ว

ในวันบันทึกเทป ได้เกิดปรากฏการณ์อย่างหนึ่งขึ้น คือผู้ชาย 2 คนได้มาพบเจอกันเป็นครั้งแรก

ครับ ผมหมายถึง คุณสุทธิชัย หยุ่น และ คุณดู๋-สัญญา คุณากร

ไม่น่าเชื่อนะครับว่า 2 คนนี้ไม่เคยเจอกัน ทั้งที่โลดแล่นอยู่ในวงการสื่อมาหลายสิบปี ครั้งนี้เป็นการพบเจอซึ่งๆ หน้าและพูดคุยกันเป็นครั้งแรก

รายการวันนั้น คุณสุทธิชัย หยุ่น นำประสบการณ์ด้านการทำข่าวมากว่า 50 ปีพร้อมมุมมองต่อสื่อในปัจจุบันมาพูดคุยอย่างสนุกสนาน ความสามารถของคุณสุทธิชัยคือ สามารถเล่าเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดเจน

คุณสุทธิชัยเล่าว่า แต่ก่อนกระบวนการทำข่าวเป็นเรื่องใหญ่ ยิ่งเป็นการถ่ายทอดสดแล้วจะมีกระบวนการทำงานที่ซับซ้อน ใหญ่โต ต้องมีดาวเทียม มีรถรับ-ส่งสัญญาณ และ จนท.สนับสนุนหลายตำแหน่ง แต่ในโลกยุคใหม่ แค่คนหนึ่งคนกับมือถือเครื่องเดียวก็สามารถถ่ายทอดสดได้อย่างง่ายดาย

เมื่อใครก็ผลิตข่าวสารได้ ใครก็ส่งต่อเนื้อหานั้นได้ จึงไม่มีใครควบคุมได้ว่า “สาร” ที่ผู้รับได้รับมีความเหมาะสม ถูกต้องแค่ไหน

การทำงานสมัยก่อน จะมีบรรณาธิการข่าวคอยควบคุม กลั่นกรอง เพิ่มเติมแก้ไข เพื่อให้ข่าวที่ออกไปนั้นมีความถูกต้อง แม่นยำ เป็นกลาง และมี “จรรยาบรรณ”

เรื่องหลังนี่สำคัญมาก หากคนทำสื่อขาดซึ่งจรรยาบรรณแล้ว สังคมจะวุ่นวายมาก

คุณสุทธิชัยบอกว่า แต่ก่อนมีคนเฝ้าประตู เฝ้าไม่ให้เรื่องไม่ดีผ่านเข้ามาหาประชาชนได้ง่ายๆ แต่ตอนนี้ที่เทคโนโลยีการสื่อสารไปไกลมาก คนเฝ้าประตูไม่มี ความเสี่ยงจึงเกิดขึ้นกับผู้รับ “สื่อ” นั่นเสียเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ แล้วคนดูทีวี คนเสพข่าวจากสื่อต่างๆ ควรต้องทำอย่างไร

รายการในตอนนี้มีข้อชี้แนะครับ โปรดติดตาม

 

ส่วนรายการตอนที่ 2 แขกรับเชิญจะเป็น “หมอแล็บแพนด้า” หรือชื่อจริงว่า ภาคภูมิ เดชหัสดิน อาชีพจริงๆ คือ “นักเทคนิคการแพทย์” หน้าที่ของคนอาชีพนี้คือ ผู้ทำหน้าที่สนับสนุนข้อมูลเพื่อให้แพทย์ใช้ในการวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องแม่นยำ เช่น การตรวจหาค่าเลือด หรือส่วนต่างๆ ที่ส่งมา

แล้วทำไมถึงได้ชื่อว่า “หมอแล็บแพนด้า” เพราะหมอแล็บทำหน้าที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องทางการแพทย์ผ่านทางโลกโซเชียลมีเดีย พร้อมสร้างเอกลักษณ์ของตนเองให้คนจดจำคือ “ทาขอบตาดำ” สื่อถึงการทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำเพื่อข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับสุขภาพคนไทย เมื่อบวกกับลีลาการพรีเซนต์ของเขาแล้ว จึงเป็นเพจที่ได้รับความนิยมมากคือได้สาระปนฮาประมาณนั้น

ในรายการจะให้วิธีในการเสพสื่อ โดยเฉพาะข้อมูลทางโลกออนไลน์ ซึ่งต้องยอมรับว่าสายสุขภาพ สายความงามนั้นมาแรง และในความนิยมที่มีมากนั้นมีข้อมูลผิดเพี้ยน เป็นเท็จ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้รับข้อมูลอย่างมาก

น่าสนใจใช่ไหมครับ เพราะคุณอาจเป็นคนหนึ่งที่หลงเชื่อข้อมูลทำนองนี้มาแล้ว

 

ส่วนรายการตอนที่ 3 น่าจะถูกใจผู้ชมคอละคร เพราะมีผู้กำกับฯ ชื่อดังทางช่อง One มาพูดคุยถึงประสบการณ์การทำงานละคร ซึ่งเป็นสื่อประเภทที่ได้รับความนิยมอย่างสูง เขาชื่อ “สันต์ ศรีแก้วหล่อ” ที่ฝากผลงานการกำกับละคร “พิษสวาท” และ “เมีย 2018” ที่ฮือฮามาแล้ว

สันต์เล่าให้รายการฟังถึงการทำงานที่ต้องบาลานซ์ระหว่างพาณิชยศิลป์และความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะละครที่ถูกใจผู้ชมมักจะสุ่มเสี่ยงต่อการนำเสนอที่เกินเลยความเหมาะสม หรือถึงขั้นสร้างทัศนคติที่ผิดให้กับสังคมได้

สันต์ให้คำแนะนำว่า สำหรับผู้ชมละครแล้วขอให้แยกให้ออกระหว่าง “ละคร” กับ “ชีวิตจริง” นั่นคือการชมอย่างมีสตินั่นเอง

 

ส่วนคนสุดท้ายคือ ผู้ประกาศข่าวมาแรงด้วยลีลา ความคิดเห็นที่ว่ากันตรงๆ คือ จั๊ด-ธีมะ กาญจนไพริน

จั๊ดมาเล่าให้ฟังถึงหน้าที่การเป็นผู้นำสาร โดยเฉพาะ “ข่าว” ออกไปสู่ผู้ชม ซึ่งเขาไม่ใช่แค่คนทำหน้าที่ไปรษณีย์เท่านั้น แต่ในประเด็นของข่าวที่น่าสนใจ เขาได้ลงลึกพร้อมชูประเด็นกระตุกให้สังคมคิดตามอยู่บ่อยๆ แน่นอนที่บางความคิดก็ถูกใจคนนั้น แต่ไม่ถูกใจคนนี้

เขาชี้แนะว่า ผู้เสพข่าวควรเปิดใจให้กว้าง และเรียนรู้ที่จะรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างด้วย นั่นจะทำให้เราเป็น “คนรู้ทัน” ไม่หลงกับอะไรง่ายๆ โดยเฉพาะพฤติกรรมของการใช้เฟซบุ๊ก หรือยูทูบ หากเราสนใจเรื่องอะไร โปรแกรมที่ถูกตั้งไว้แล้วก็จะนำเรื่องราวที่เราสนใจมาป้อนให้ถึงหน้าจอเสมอ  และสกัดกั้นเรื่องราวที่เราไม่สนใจออกไป

นั่นแหละคือการปิดกั้นโอกาสในการรับรู้ความต่างไปเลย และเราก็จะจมอยู่กับความเชื่อเดิมๆ เสมอ

แม้กระทั่งในการทำงานของเขา จั๊ดก็แนะนำว่า ฟังเขาแล้วอย่าเพิ่งเชื่อ ให้ไปฟังคนอื่นด้วย แล้วค่อยเรียบเรียง คิดตาม สรุปมาเป็นความเห็นของเรา

 

ซึ่งสิ่งที่แขกรับเชิญทั้ง 4 คนพูดตรงกันคือ เมื่อรับรู้อะไรมา เสพเนื้อหาอะไรมา อย่างแรกเลยอย่าเพิ่งเชื่อ ให้คิดตาม ให้หาข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ

คุณสุทธิชัยก็ยังได้ย้ำว่า อย่ารีบแชร์อะไรที่เราไม่รู้จริงออกไป

ซึ่งจะว่าไปแล้วในการทำงานของทั้ง 4 แขกรับเชิญ เป็นการทำงานที่มีหลักแหล่งแห่งที่ชัดเจน มีคนที่จะช่วยตรวจสอบ กำกับดูแลก่อนจะปล่อยสารใดๆ ออกไปอยู่แล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ คนผลิตสื่อทั่วๆ ไป คิดอยากจะสื่ออะไรก็ทำออกไปโดยขาดความรับผิดชอบ

ซึ่งสื่อทำนองนี้มีอยู่เต็มไปหมดในโลกของการรับรู้ของเรา

ที่น่ากลัวอีกอย่างคือ “ข่าวปลอม” โดยเฉพาะในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งนี้ เราจะได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผู้สมัคร เกี่ยวกับพรรค เกี่ยวกับองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ มากมาย ถ้าไม่ตั้งสติให้ดีเราอาจตกเป็นเหยื่อของความหลงเชื่อได้ง่าย

เราจึงต้องสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ให้กับเราเอง ให้กับคนในครอบครัวของเรา โดยการรู้เท่าทันสื่อให้มากขึ้น และต้องแสดงพลังออกมายามที่เห็นอะไรที่ไม่ชอบมาพากล

ที่เขียนมานี้เพราะอยากให้ติดตามชมจริงๆ ครับ เริ่มเสาร์ที่ 16 มีนาคมนี้เลย ทางช่อง 9 MCOT HD ช่อง 30 สวัสดีครับ