วิเคราะห์-อ่านจังหวะ “อภิสิทธิ์” พระเอกลิเก หนีตาย ประกาศไม่เอา “บิ๊กตู่” แต่พร้อมจับมือ พปชร.

“วันนี้พรรคประชาธิปัตย์พยายามเรียกคะแนนจากประชาชนในช่วงโค้งสุดท้าย เพราะรู้แล้วว่าคนส่วนใหญ่ไม่อยากให้มีการต่อท่ออำนาจ จึงพยายามออกมาบอกว่าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่ไม่เคยบอกว่าไม่เอาพรรคพลังประชารัฐอย่างชัดเจน จึงเชื่อว่าวาทกรรมทั้งหมดเป็นเพียงการหวังคะแนนก่อนการเลือกตั้ง แต่ท้ายที่สุดเชื่อว่าหลังการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์จะหาเหตุผลใหม่”

คือบทสรุปจากคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคเพื่อไทย

ต่อกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศจุดยืนทางการเมืองในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง 24 มีนาคม ว่า

จะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้ง

“ชัดๆ เลยนะครับ ผมไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อแน่นอน เพราะการสืบทอดอำนาจสร้างความขัดแย้ง และขัดกับอุดมการณ์ของประชาธิปัตย์ที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่ 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจย่ำแย่ ประเทศเสียหายมามากพอแล้ว”

ในการเลือกตั้งซึ่งกำลังจะมีขึ้น พรรคการเมืองถูกแบ่งตามจุดยืนและอุดมการณ์ออกเป็น 2 ฝ่ายหลักๆ คือ ฝ่ายประชาธิปไตย กับฝ่ายสืบทอดอำนาจ คสช.

พรรคฝ่ายประชาธิปไตย อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ เป็นต้น ขณะที่พรรคฝ่ายสืบทอดอำนาจ คสช. นำโดยพรรคพลังประชารัฐ

ส่วนพรรคซึ่งไม่แสดงจุดยืนการเมืองชัดเจน หรือที่เรียกว่า “พรรคแทงกั๊ก” พรรคเหล่านี้พร้อมเข้าร่วมกับฝ่ายใดก็ได้ใน 2 ฝ่ายหลักที่ชนะการเลือกตั้ง

แรกเริ่มเดิมที พรรคประชาธิปัตย์ถูกสังคมจัดให้อยู่ในหมวดหมู่พรรคแทงกั๊กเช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคพยายามนำพาพรรคประชาธิปัตย์สลัดหลุดออกจากคำว่า “พรรคแทงกั๊ก” ด้วยการเสนอคำว่า การเมือง “สามก๊ก” ขึ้นมาแทน

พร้อมผลักดันพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นผู้นำ “ก๊กที่ 3” เป็นทางเลือกใหม่นอกเหนือจากทางเลือกฝ่ายประชาธิปไตย และฝ่ายสืบทอดอำนาจ

แต่แล้วในขณะที่วันเลือกตั้งใกล้เข้ามาถึงช่วงโค้งสุดท้าย

หลายอย่างบ่งชัด การเสนอตัวเป็นพรรคทางเลือกที่ 3 นั้น “ไม่เวิร์ก” กล่าวคือ ไม่มีผลต่อการฉุดกระชากคะแนนเสียงได้เท่าที่ควร

ด้วยเหตุที่ประชาชนส่วนใหญ่มีความเชื่อหนักแน่นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการต่อสู้ชี้ชะตาระหว่างพรรคฝ่ายประชาธิปไตย กับพรรคฝ่ายสืบทอดอำนาจเท่านั้น

ไม่เหลือพื้นที่สอดแทรกให้พรรคฝ่ายที่ 3 ไม่ว่าพยายามแสดงจุดยืนแตกต่างอย่างไร สุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังถูกมองว่าอิงแอบอยู่กับฝ่ายสืบทอดอำนาจอยู่นั่นเอง

ประกอบกับพรรคสืบทอดอำนาจ คสช. กระแสความนิยมเริ่มแผ่วปลาย

การชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลายแง่มุม ไม่เป็นไปอย่างที่คิด

สถานการณ์พรรคฝ่ายสืบทอดอำนาจ สวนทางกับพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอย่างเห็นได้ชัด

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ พบว่า

พรรคที่ชาวภาคใต้อยากเลือกมากที่สุดได้แก่ อนาคตใหม่ ร้อยละ 26.98 ประชาธิปัตย์ ร้อยละ 24.19 เพื่อไทย ร้อยละ 19.30 พลังประชารัฐ ร้อยละ 11.86 ประชาชาติ ร้อยละ 7.67 ภูมิใจไทย ร้อยละ 3.72 และรวมพลังประชาชาติไทย ร้อยละ 2.56

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์นั้น ยุคหนึ่งเคยมีการกล่าวว่า ในพื้นที่ภาคใต้ต่อให้ส่งเสาไฟฟ้าลงก็ยังได้รับเลือกตั้ง ผลโพล มอ.หาดใหญ่ จึงสร้างความหวั่นไหวให้พรรคประชาธิปัตย์มากพอสมควร

สิ่งต่างๆ เหล่านี้กลายเป็นเครื่องบีบรัดให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องประกาศจุดยืนไม่เอาประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไป แบบ “ชัดๆ” และ “ไม่เกรงใจใคร”

พลิกตัวกระโดดเกาะกระแสฝ่ายประชาธิปไตยแบบเก้ๆ กังๆ เพราะไม่คุ้นชิน

จุดยืนหนีตายของนายอภิสิทธิ์ ทำให้ “ลุงกำนัน” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ปราศรัยทวงบุญคุณ ขึ้นมึงขึ้นกู ว่าเป็นคนทำให้นายอภิสิทธิ์ได้เป็นนายกฯ ถ้าไม่ใช่เพราะตนเอง ไม่รู้ว่าชาติหน้าจะได้เป็นหรือไม่

“วันนี้มาประกาศจุดยืนแล้วว่า เลือกตั้งคราวนี้ เขาไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์แน่นอน ผมก็ข้องใจ อยากจะถามว่าตกลงอภิสิทธิ์ยืนข้างเดียวกับทักษิณเต็มตัวแล้วใช่มั้ย นี่แสดงว่าถ้าฝ่ายทักษิณเทคะแนนให้เป็นนายกฯ เอาทันทีใช่มั้ย

นี่แสดงว่ามึงอยากจะเป็นนายกฯ จนลืมหัวกูแล้วใช่มั้ย”

ด้วยความที่สังคมต้องการความชัดเจนมากกว่าการระบุเพียงว่าจะไม่สนับบสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ แต่ไม่พูดถึงว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่

เป็นเหตุให้นายอภิสิทธิ์ต้องเปิดแถลงขยายความจุดยืนของตนเองอีกครั้ง สรุปใจความได้ว่า

ในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ตั้งเป้าแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ส่วนพรรคอื่นที่จะดึงมาร่วมรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ยืนยันชัด ไม่มีพรรคเพื่อไทยแน่นอน

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ มีความเป็นไปได้

แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่มีการสืบทอดอำนาจตัวบุคคลคือ พล.อ.ประยุทธ์ และมรดกประกาศคำสั่งต่างๆ ของ คสช.

“ความขัดแย้งในอนาคตจะเกิดขึ้นได้ คือถ้ามีการสืบทอดอำนาจ และ พล.อ.ประยุทธ์ถือเป็นศูนย์กลางของเงื่อนไขความขัดแย้งที่ง่ายที่สุดหลังการเลือกตั้ง” นายอภิสิทธิ์ระบุ

ภายใต้การประกาศจุดยืนทางการเมือง

ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เอาพรรคเพื่อไทย แต่พร้อมจับมือกับพรรคพลังประชารัฐแบบมีเงื่อนไข

แม้แต่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็ยังมองออกแบบเห็นแจ้งแทงทะลุ “เชื่อว่ามีบางพรรคที่ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ แต่จะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อชูตัวเองขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี”

พรรคอนาคตใหม่มองว่า การสืบทอดอำนาจที่แท้จริงไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะตัว พล.อ.ประยุทธ์ แต่ยังรวมถึงพรรคพลังประชารัฐที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจรัฐบาล คสช.โดยตรง

เป็นการมองในมุมเดียวกับพรรคเพื่อไทย ว่าการประกาศจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ ถ้าไม่ใช่เพราะความสับสน ก็อาจจะกำลังเล่นลิเกทางการเมือง

เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐตั้งขึ้นเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้สืบทอดอำนาจ หากนายอภิสิทธิ์ยึดมั่นกับ “ภาคประชาธิปไตยสุจริต” ก็ไม่มีเหตุผลที่จะร่วมสังฆกรรมกับพรรคพลังประชารัฐในทุกรูปแบบ

“ทางเลือกสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ มีอยู่เพียงจะสืบทอดอำนาจหรือไม่สืบทอดอำนาจเท่านั้น พรรคการเมืองต้องแสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะเอาคนที่สืบทอดอำนาจหรือไม่สืบทอดอำนาจ

ขณะนี้มีบางพรรคหวังเพียงว่าเอาอะไรก็ได้ เพื่อให้ได้คะแนนเสียงจากประชาชนก่อนเลือกตั้ง จากนั้นหลังเลือกตั้งก็ออกมาชี้แจงเหตุผลใหม่” คุณหญิงสุดารัตน์ระบุ

ด้านนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พรรคไม่สนใจการออกมาแสดงจุดยืนของบางพรรคที่ประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ

“แต่ขอให้จำไว้ว่าพูดอะไร”

เช่นเดียวกับนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค ที่ให้ความเห็นว่า การประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ โดยอ้างเรื่องการสืบทอดอำนาจ เป็นเพียงวาทกรรมทางการเมืองในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อหวังคะแนนจากประชาชน

“เป็นคำพูดที่ใจแคบ”

กรณีนายอภิสิทธิ์จึงนำมาสู่ข้อสรุปอย่างหนึ่ง

ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคอนาคตใหม่ ต่างรู้เท่าทันนายอภิสิทธิ์ และด้วยความรู้เท่าทันนี้เอง ที่ผลักดันให้พรรคประชาธิปัตย์กลับไปอยู่ในหมวดหมู่พรรคแทงกั๊ก

พรรคที่ไร้ซึ่งจุดยืนทางการเมืองชัดเจนดังเดิม