วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์ /ฮาริ เซลดอน : นักเศรษฐศาสตร์ (2)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

ฮาริ เซลดอน : นักเศรษฐศาสตร์ (2)

 

ในยุคของบิ๊กดาต้า การทำนายอนาคตสำคัญมากขึ้น ไม่ว่าดาต้านั้นอยู่ในรูปของตาราง กราฟ สมการ หรือมีแพลตฟอร์มเป็นเฟซบุ๊ก, กูเกิล, อินสตาแกรม ล้วนทำขึ้นเพื่อพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นวันหน้าหรืออีกหลายร้อยปีนับจากนี้

ในวงวิชาการ การศึกษาอดีตมีจุดมุ่งหมายเดียวคือเพื่อเข้าใจอนาคต วิชาต่างๆ เช่น รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา รวมทั้งประวัติศาสตร์ ล้วนเอาเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วมาใช้ทำนายสิ่งที่จะเกิดในวันพรุ่งนี้

ถ้าถามว่าวิชาอะไรที่มีส่วนผสมของวิทยาศาสตร์ ซึ่งหมายถึงตัวเลขสมการ โมเดล และถูกใช้ทำนายอนาคตมากที่สุด?

คำตอบก็คือเศรษฐศาสตร์

เซลดอนไม่ได้เป็นเพียงนักวิทยาศาสตร์ และไซโคฮิสทรีไม่ได้เป็นเพียงคณิตศาสตร์อย่างเดียว เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่คาดการณ์ได้ไกลกว่าล้านปี

และเมื่อประกบกับคํานําของพอล ครุกแมน เซลดอนก็ยิ่งมีบทบาทคล้ายผู้เขียนมากขึ้น

ครุกแมนเปรียบนิยายชุดนี้กับลอร์ดออฟเดอะริง ของเจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ซึ่งเกี่ยวกับ “พ่อมด” ซึ่งนอกจากจะเป็นคำที่ใช้เรียกหมอดูหรือศาสดาพยากรณ์แล้ว ยังใช้เรียกนักเศรษฐศาสตร์หลายคน ซึ่งรวมถึงครุกแมนด้วย

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ยุคที่เดอะฟาวน์เดชั่น ทริโลจีได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เศรษฐศาสตร์ซึ่งเหมือนยารักษาโรคทางสังคมการเมืองได้สารพัดมีบทบาทมาก

นักเศรษฐศาสตร์กลายเป็นผู้ที่สามารถเอาคณิตศาสตร์กับสังคมศาสตร์มาใช้ร่วมกัน

และด้วยการช่วยกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ เขาสามารถกระตุ้นหรือนำพาสังคมมนุษย์ไปทางใดก็ได้

นิยายชุดนี้บอกว่าไซโคฮิสทรีเหมือนกับเศรษฐศาสตร์

และผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นพลพรรคของเซลดอนได้ช่วยกำหนดอนาคตของกาแล็กซี่

ในปัจจุบัน นิยายชุดนี้ถูกมองว่าเป็นที่ชื่นชอบของคนที่เน้นด้านที่เป็นวิทยาศาสตร์ของเศรษฐศาสตร์และมองประวัติศาสตร์เป็นเส้นตรง จอร์จ คูเปอร์ ผู้เขียนบทความชื่อ Adam Smith, Karl Marx and Charles Darwin : A New Economic Paradigm (ซึ่งเสนอว่าเซลดอนน่าจะหมายถึงโทมัส คุน ผู้เขียน The Structure of Scientific Revolutions) บอกไว้ว่าสิ่งที่นักวิชาการชอบคือการทำนายอนาคต

และเมื่อการทำนายเป็นเป้าหมาย วิชานี้จะสร้างกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของตัวเองขึ้นมา เศรษฐศาสตร์เริ่มละทิ้งแบบแผนการบรรยายและหันมาใช้สมการและโมเดล หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น

สิ่งนี้กลายเป็นสูตรการทำนายอนาคตของระบบทุนนิยม ตั้งแต่ของธนาคารโลกไปจนถึงนโยบายเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั้งที่พัฒนาและด้อยพัฒนา

 

ไซโคฮิสทรีทำให้นึกถึงนักคิดฝ่ายซ้ายที่โด่งดังคือ คาร์ล มาร์กซ์ และฟริดริช เองเกลส์ ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ ในอินเตอร์เน็ต ถึงกับมีบางคนโพสต์ว่า มาร์กซ์คือเซลดอน สตาลินคือเดอะมิวล์ และเดอะเซคคันด์ฟาวน์เดชั่นคือแฟรงก์เฟิร์ตสคูล

ในนิยาย ตรรกะของประวัติศาสตร์เหมือนของวิทยาศาสตร์ เบต้า

ตัวละครตัวหนึ่งซึ่งต่อมาเป็นผู้พิชิตเดอะมิวล์ บอกว่า “กฎเกณฑ์ทางประวัติศาสตร์ก็เหมือนกับกฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์ และมีความเป็นไปได้สูงกว่าเพราะมีองค์ประกอบไม่มากเหมือนอะตอมในวิชาฟิสิกส์” และดิเอนไซโคลพีเดียกาแล็กติก้าบอกด้วยว่าแผนการของเซลดอนเป็น “ผลของการคำนวณ n-variables กับ n-dimensional geometry”

เบต้าพูดคล้ายเลนิน วิชานี้มีความเป็นวิทยาศาสตร์เพราะเน้นมวลชนหรือ the masses และไม่ให้ความสำคัญกับปัจเจกชน

ด้วยเหตุนี้ โดนัลด์ วอลไฮม์ ผู้เขียน The Universe Makers จึงเชื่อว่าเซลดอนคือมาร์กซ์และเองเกลส์ และไซโคฮิสทรีคือวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ ในการนี้เขาอ้างเองเกลส์ซึ่งเคยกล่าวว่า “คล้ายกับดาร์วินซึ่งค้นพบกฎวิวัฒนาการในธรรมชาติ มาร์กซ์ค้นพบกฎแห่งวิวัฒนาการในสังคม…และกฎที่กำหนดการผลิตและระบบทุนนิยม”

การใช้วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ยังช่วยสร้างดราม่า นั่นคือความขัดแย้งระหว่างเจตจำนงเสรีกับบทบาทของประวัติศาสตร์ ในแง่นี้ นิยายจึงน่าตื่นเต้นทั้งสำหรับผู้อ่านนิยายและผู้ที่ศึกษามาร์กซิสต์

อย่างไรก็ตาม นอกจากเน้นมวลชนมากกว่าปัจเจกชนแล้ว คนเหล่านี้โง่เง่าและทำตามแผนการของเซลดอนโดยไม่รู้ตัว

ผู้อ่านรู้กันว่าทั้งหมดนี้เพื่อเน้นความลับของเดอะแพลน มวลชนจะถูกบรรยายว่าเป็นม็อบที่โง่ ดื้อ และไม่ลงรอยหรือสามัคคีกันง่ายๆ ที่สำคัญคือ ปกครองตัวเองไม่ได้ แต่ต้องถูกปกครองโดยชนชั้นนำ ในนิยาย อีลิตหรือนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าใจกฎธรรมชาติ อันได้แก่ เดอะเฟิร์สต์สปีกเกอร์และผู้พิทักษ์ทั้งสิบสองคน รวมทั้งเดอะมิวล์เท่านั้นที่ควบคุมประวัติศาสตร์และมวลชนไว้ได้

มาร์กซ์คงไม่เห็นด้วย แต่ในยุคของโซเวียตรัสเซียซึ่งเริ่มขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มาร์กซิสต์เป็นแบบกลไกมากขึ้น วอลไฮม์ชี้ว่าอาซิมอฟต้องรู้เรื่องนี้ดีเพราะอพยพมาจากรัสเซียหลังจากปฏิวัติสังคมนิยมเพียงหกปี และเริ่มเขียนนิยายชุดนี้ในขณะที่โซเวียตทำสัญญากับนาซี นอกจากนั้น ผู้เขียนนิยายยังได้เห็นผลของสงครามเย็น อันได้แก่ โครงการนิวดีลและความขัดแย้งระหว่างฝ่ายซ้ายกับขวาที่ตามมา

ในบทความของชาร์ลส์ เอลคิน ชื่อ Asimov’s Foundation Novels : Historical Materialism Distorted into Cyclical Psychohistory เห็นด้วยกับวอลไฮม์ว่าการยกให้หลักของวิชาการอยู่เหนือมนุษย์ทำให้นิยายกลายเป็นคัลท์และเกิดแฟนขึ้นมามากมาย

แต่เอลคินบอกว่านั่นเป็นความล้มเหลวทางปัญญาครั้งใหญ่ การเชื่อว่าประวัติศาสตร์นั้นทำนายได้เหมือนฟิสิกส์เป็นทัศนะที่ตื้นเขิน แต่มาร์กซิสต์แบบสุดซอยนี่แหละที่ทำให้นิยายได้รับความนิยม

และบอกว่า สิ่งที่มาร์กซ์ไม่สามารถทำให้สําเร็จ เซลดอนทำได้

 

ในยามที่โลกกำลังปั่นป่วนวุ่นวายเช่นปัจจุบัน ดูเหมือนว่าเราต้องการนักเศรษฐศาสตร์ที่สามารถพยากรณ์อนาคตมากขึ้น แม้บางครั้งจะเป็นแค่เทคโนแครตที่เล่นบทรับใช้เผด็จการและบางครั้งทำให้เศรษฐกิจแย่ลง

ครุกแมนบอกว่า เซลดอนไม่ได้ทำแบบนั้น เขาไม่ได้เป็นที่ปรึกษาของหัวหน้าคณะรัฐประหาร นายกรัฐมนตรี หรือประธานาธิบดี แต่ต้องซ่อนแผนการไว้และรอถึงพันปี

และเท่าที่เขารู้ ไม่มีนักเศรษฐศาสตร์คนใดที่พยากรณ์อนาคตได้ยาวไกลเท่าเซลดอน