ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : “ศาสน” หรือ “ศาสตร” ในจารึกฐานพระอิศวรสำริด จากกำแพงเพชร?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

จารึกฐานพระอิศวรสำริด พบที่เมืองกำแพงเพชร (แต่เป็นงานช่างอยุธยา และเป็นจารึกในวัฒนธรรมอยุธยา ไม่ใช่ของในวัฒนธรรมสุโขทัย) ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร มีศักราชระบุตรงกับ พ.ศ. 2053 มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

“และช่วยเลิกพระศาสนาพุทธศาสตร์และไสยศาสตร์และพระเทพกรรมมิให้หม่นให้หมอง ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”

ความตอนนี้กล่าวถึงการ “เลิก” ซึ่งไม่ได้หมายถึง “ยกเลิก” แต่แปลว่า “ยก” คือการ “ทำนุบำรุง” พระศาสนาทั้งสาม คือ

1) พุทธศาสนา

2) พระไสยศาสตร์ คือศาสนาพราหมณ์ (ซึ่งยังไม่มีคำอธิบายที่ดีพอว่า ทำไมคนโบราณจึงเรียกศาสนาพราหมณ์ว่า ไสยศาสตร์?)

และสุดท้ายคือ 3) ศาสนาพระเทพกรรม ซึ่งแยกออกจากศาสนาพราหมณ์ต่างหาก เพราะเป็นความเชื่อพื้นเมืองดั้งเดิมของสุวรรณภูมิ

ลองสังเกตดูนะครับ ข้อความตอนที่ผมยกมานี้ใช้คำว่า “ศาสตร” ไม่ใช่ “ศาสน” ในการพูดถึงศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพื้นเมืองของศาสนาที่มีพระเทพกรรมเป็นใหญ่ ราวกับว่าความสำคัญของพุทธ ของพราหมณ์ ของเทพกรรมพื้นเมือง คือเรื่องของ ศาสตร์ คือความรู้ ไม่ใช่ในฐานะของศาสนา

แต่ข้อความตอนนี้เป็นคำอ่าน ที่ผมยกมาจาก ฐานข้อมูลจารึก ของเว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ซึ่งผมเข้าใจว่าตรงกันกับคำแปลของกรมศิลปากร ดังนั้นตัวอักษรที่ใช้อยู่ในจารึกจริงๆจึงอาจไม่ได้เขียนอย่างนั้นก็ได้

rgegwefgw

ฐานข้อมูลจารึก ของเว็บไซต์แห่งเดียวกันนั้นเอง มีคำจารึกที่ถอดเป็นตัวอักษรไทยปัจจุบันออกมาให้เทียบอยู่ข้างๆ มีข้อความว่า

“แลชวยเลอก // สาษณาพุท สาษนแลไสยสาษนแลพระเทพกรรม มิใหหมนใหหมองให”

เป็นคำว่า “สาษณา” ชะรอยจะใกล้เคียงกับ “ศาสนา” ที่เรายืมมาจากภาษาสันสกฤต หรือ “สาสนา” ในภาษาบาลี มากกว่าจะเป็น “ศาสตร”?

ผมไม่ใช่นักอ่านจารึก และไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณ จึงไม่ทราบว่าทำไมเมื่ออ่านออกมาแล้วเขียนด้วยอักขระวิธีแบบปัจจุบันแล้ว “สาษณา” จึงเปลี่ยนเป็น “ศาสตร์”? (หรือเพราะเอาความหมายของคำว่า “ไสยศาสตร์” ตามความหมายอย่างปัจจุบันเป็นที่ตั้ง แล้วเปลี่ยนตัวสะกดในสาษณาอื่นๆ ตาม?)

แต่หากจะมองในมุมของนักโบราณคดี หรือผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์แล้ว สองคำนี้ต่างกัน และส่งผลต่อการทำความเข้าใจว่า คนสมัยอยุธยามีมุมมองต่อศาสนาอย่างไร? ที่แตกต่างกันอย่างไม่ต้องสงสัย

เพราะหากชาวอยุธยามองว่า ศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ และศาสนาของพระเทพกรรม เป็น “ศาสตร์” คือ “ความรู้” แขนงหนึ่ง สถานะภาพของศาสนาต่างๆ เหล่านี้จะเกี่ยวพันอยู่กับเรื่องพิธีกรรม ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างหลักทางสังคมมากนัก เช่นเดียวกับบทบาทที่ ไสยศาสตร์ (ในความหมายอย่างปัจจุบัน) มีต่อสังคมไทย

และจะต่างกันแน่กับ บทบาทของ “ศาสนา” ต่างๆ ที่ทำให้เกิด ศาสนสถาน พิธีกรรมความเชื่อ ศาสนิก ฯลฯ

โดยเฉพาะกับ ศาสนาพุทธ ที่เป็นศาสนาหลักของคนอยุธยาในช่วงสมัยที่สร้างพระอิศวรสำริดองค์นี้นี่แหละ

 

ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ บทบาทของศาสนาพราหมณ์ในอยุธยา ที่จำกัดอยู่เฉพาะกับเรื่องของพิธีกรรม โดยเฉพาะพิธีกรรมในราชสำนักเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ศาสนาพราหมณ์ หรือที่คนอยุธยาเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ศาสนาพระไสย ถูกเข้าใจคลาดเคลื่อนไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะเมื่อชุดความรู้แบบสมัยใหม่ (modernity) จากโลกตะวันตกเข้ามา ทำให้เสื้อผ้าหน้าผมของนิยามความเป็นศาสนาเปลี่ยนไป และเราหันไปเรียกศาสนาพราหมณ์ ตามอย่างฝรั่งว่า ศาสนาฮินดูไปในที่สุด

ความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่ว่าทำให้ “ไสย” กลายเป็น “ศาสตร์” ไม่ใช่ “ศาสนา” อีกต่อไป (ซึ่งก็คงมีเงื่อนไข และปัจจัยอื่นๆ ประกอบอยู่ด้วย แต่คงไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นจะต้องนำมาอภิปรายกันให้ยาวเหยียดในที่นี้)

พร้อมๆ กับคำว่า “ไสยศาสตร์” ในปัจจุบัน ก็มีความหมายต่างกับ “ศาสนาพราหมณ์” ราวกับเป็นคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักหน้าค่าตากันมาก่อน จนทำให้ผู้ที่ไม่ทราบว่า คนโบราณเรียกศาสนาพราหมณ์ว่า ศาสนาพระไสย อ่านเอกสารโบราณแล้วเข้าใจไปผิดเพี้ยน

 

ปราชญ์อย่าง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเสนอไว้เมื่อนานมาแล้วว่า ที่จริงแล้วคำว่า “ไสยศาสตร์” ควรจะเขียนว่า “ไสยศาสน์” จึงจะถูกต้องตามความหมายดั้งเดิม เพราะคนโบราณท่านถือว่าเป็น “ศาสนา” ไม่ใช่ “ศาสตร์” คือความรู้ เสียหน่อย

แต่หากว่าคำ “สาษณา” ในจารึกฐานพระอิศวร จากกำแพงเพชรคือ “ศาสตร์” ไม่ใช่ “ศาสนา”

อย่างที่นักประวัติศาสตร์เคยเข้าใจกันมา

เราก็คงต้องสังคายนา บทบาทของพระพุทธศาสนาในวัฒนธรรมอยุธยากันใหม่แบบยกเครื่องแล้วแหละครับ