พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู : อันตรายของการใช้เงินไม่ถูกวิธี

พลโท ดร. พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ช่วงนี้สถานการณ์ตึงเครียดทั้งเรื่องธรรมกายและ พรบ.คอมพิวเตอร์ แต่ขอมาเรื่องสำคัญที่มองข้ามและเงียบกันมากดีกว่า นักเศรษฐศาสตร์คงทราบดีกว่า ในวงเงินที่จำกัดด้วยทรัพยากรที่หายากนั้น ทุกบาทที่ใช้ลงไปนั้นมีความหมายต่อภาวะเศรษฐกิจทั้งสิ้น ส่วนช่องทางที่จะได้เงินมาใช้นั้นเราทราบว่ามาจาก การสร้างเงินจากการบริโภคในประเทศ การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ และผลต่างของดุลการค้า

ในเวลานี้ โพลล์ต่างๆได้สำรวจออกมาวันเว้นวันว่าทุกคนมีความสุข เศรษฐกิจดี นั่นก็เป็นกำลังใจได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามมีสิ่งที่เป็นร่องรอยผิดปกติจากข้อมูลของทางการ ไม่ใช่โพลล์ทั้งหลายหรือความเห็นของทางเจ้าหน้าที่รัฐบาลก็คือ การส่งออกติดลบยังคงต่อเนื่องซึ่งหมายถึงการขาดดุลการค้า การมีข่าวว่าภาคเอกชนไม่ยอมลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้มงวดในการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน การที่ภาคเกษตรถูกทำให้ลดการผลิตลง โรงงานลดกำลังการผลิตหรือย้ายการผลิต โดยเฉพาะภาคเอกชนไทยบางส่วนได้ย้ายไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านและที่อื่นรายงานข่าวถึงปลายปี ๕๘ ประมาณ ๒๕.๕๖ ล้านล้านบาท และหากนับถึงเวลานี้ก่อนรายงานรอบต่อไปน่าจะไหลออกต่อเนื่อง การใช้จ่ายภาครัฐซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนน้อยมากเทียบกับภาคเอกชนก็ได้ใช้มาตรการต่างๆไปจนหมดสิ้นแล้วแต่ยังไม่มีผลสะท้อนกลับมา ส่งผลให้เก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมายติดต่อกันหลายปี เงินคงคลังลดจำนวนลงในระดับหนึ่ง รัฐบาลขอกู้จากกองทุนต่างๆไปแล้วจำนวนหนึ่ง สรุปได้ว่าเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทุกตัวกำลังมีปัญหา

คนภายนอกคงไม่ทราบว่าเกิดปัญหาอะไรกับการใช้จ่ายภาครัฐและภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงเพราะไม่มีการตรวจสอบกันจริงจัง แต่ข่าวที่ปรากฏคือได้มีการทาบทามขอกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศและภาครัฐเองบอกว่า ไอเอ็มเอฟบอกให้หาทางกู้จากภายในประเทศเอง รัฐบาลก็รับมาปฏิบัติโดยจะกู้ประชาชนด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาลอีกหลายระลอก

ในทางธุรกิจ ทุกคนทราบดีว่าการมีเครดิตที่ดีมีความสำคัญ หากมีเครดิตผู้ให้กู้ก็จะตรวจสอบกับหน้าตาของผู้กู้ว่าเชื่อถือได้หรือไม่ มีหลักประกันอะไรที่จะคืนเงินกู้นี้ได้ ในระหว่างประเทศการให้กู้เงินคือการดูว่าประชาชนจะมีศักยภาพในการจ่ายภาษีในอนาคตเพื่อให้เอามาชำระคืนได้หรือไม่ ในสมัยฟองสบู่ไทยแตก นักธุรกิจล้มบนฟูก รัฐบาลเอาเงินไปอุ้มจำนวนมาก แต่ภาคการเกษตรยังรองรับความเสียหายได้ คนงานกลับไปทำนาได้ แต่มายุคนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป กลับเป็นว่าภาคการเกษตรถูกทำลายก่อน จากนั้นจึงลามมาที่ภาคการผลิตอื่น เมื่อเกิดภาวะคนไม่ใช้เงิน คนตกงาน ความไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจของสถาบันการเงินรุนแรงมากจนถึงขนาดรักษาธุรกิจของตนไว้ดีกว่าขยายธุรกิจ การหมุนเงินจึงหยุดชะงัก รัฐบาลจึงจัดเก็บภาษีไม่ได้ต้องกู้เงินดังที่เห็น

มาถึงจุดนี้ อาจกล่าวได้ว่าการที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นอาจสายเกินไป เพราะโครงสร้างพื้นฐานต้องอาศัยเวลา ประการสำคัญคือหากเป็นการลงทุนของต่างประเทศที่รับเหมาเอาคนงานของตนมาด้วย หรือเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศก็ตาม เงินที่ได้นั้นจะตกกับบริษัทขนาดใหญ่นั้นโดยมีการกระจายเงินให้เกิดการหมุนเวียนน้อยกว่าการหดตัวของภาวะเศรษฐกิจ และถึงสร้างเสร็จก็อาจไม่มีใครใช้เช่นกรณีรถไฟฟ้าสายสีม่วงเพราะคนประหยัดการใช้จ่าย

การสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปนี้จึงต้องมีการวางแผนอย่างละเอียดและระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะแต่ละบาทที่ลงทุนไปจะมีผลรุนแรงกว่าภาวะเศรษฐกิจปกติ สิ่งที่พอเป็นแนวทางได้ก็คือ ต้องสร้างงานคนเป็นจำนวนมากในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมพื้นฐานขนาดกลางที่กำลังหมดกำลังลงในตอนนี้เพื่อให้กลับฟื้นมามีชีวิตใหม่

คงไม่อาจแนะนำอะไรได้มากกว่าคำว่าเงินต้องหมุนไปหลายๆรอบผ่านระบบการผลิตที่จะมีการเชื่อมโยงไปสู่การผลิตทั้งต้นทางและปลายทางหลายๆกิจกรรม ไม่ใช่การเอาเงินไปแจกคนง่ายๆ เพราะคนจะใช้จ่ายรอบเดียวแล้วเงินจะไหลเข้าไปสู่ธุรกิจผูกขาดไม่กี่บริษัทที่จะเก็บเป็นกำไรส่วนเกินของตัวเองหมด

ที่สำคัญยิ่งไปกว่าการวางแผนใช้เงินก็คือ ผู้ใดเป็นคนใช้เงิน การที่ไอเอ็มเอฟไม่ยอมให้กู้ ก็แปลว่ามีความไม่มั่นใจในการจัดเก็บรายได้ในระยะต่อไป การที่จะมีเงินเข้าประเทศได้ต้องรู้จักการระดมเงินจากนักลงทุนตรงต่างประเทศเป็นหลักเพื่อให้มีเม็ดเงินใหม่เข้ามาในประเทศเพราะเงินหมุนเวียนเดิมมีจำนวนน้อย ไม่เพียงพอสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ (แต่แปลกที่ยังยืนยันว่าจะมีเศรษฐกิจเติบโตถึงร้อยละ ๓) รอจนกว่ามีการเลือกตั้งที่มีความเป็นประชาธิปไตยพอดูได้ก่อนแล้วนักลงทุนที่เคยย้ายฐานการผลิตออกไปคงกลับมาบ้างบางส่วนหากมีการเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศอื่นได้

ส่วนการออกพันธบัตรของรัฐบาลเพื่อกู้ประชาชนนั้นจะมีผลกระทบต่อการผลิตและจ้างงานโดยตรง เพราะเมื่อออกพันธบัตร ผู้ที่พอมีเงินเช่นนักลงทุนในตลาดทุนจะย้ายเงินทุนมายังพันธบัตรซึ่งรัฐบาลให้หลักประกันว่าจะคืนเงินให้ด้วยดอกเบี้ยราคาดี นักเศรษฐศาสตร์ทราบดีว่านี่เป็นการย้ายการลงทุนจากภาคเอกชนมาสู่ภาครัฐโดยตรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดทุน หุ้นในประเทศไทยจะหดตัวตามสัดส่วนนี้โดยตรง และนิยามหนึ่งทางเศรษฐศาสตร์ก็คือ การลงทุนภาครัฐมักจะไร้ประสิทธิภาพและให้ใช้มาตรการทางการคลังให้น้อยที่สุด เพราะในขณะที่เงินทุกบาทนักธุรกิจจะคิดถึงกำไร ขาดทุน แต่ภาครัฐจะคิดแต่ได้ใช้เงินเท่านั้น และหากแม้แต่บาทเดียวลงทุนไปในเรื่องค่าตอบแทนข้าราชการหรือโฆษณาโครงการ ก็เท่ากับมีผลิตภาพด้อยกว่าภาคเอกชนแล้ว

การกู้เงินด้วยการย้ายเงินทุนจากภาคเอกชนมาสู่ภาครัฐนี้ จึงเท่ากับการซ้ำเติมการหดตัวทางเศรษฐกิจในกรณีที่ภาครัฐเอาเงินกู้ที่ได้มาใช้ในทางที่ไม่ใช่การผลิต ภาคเอกชนรอเก็บดอกเบี้ยอย่างสบายใจ แต่เป็นภาระของประชาชนที่ต้องถูกเก็บภาษีมากขึ้น จนทำให้เกิดความเกรงกลัวในการใช้เงิน ยิ่งเก็บเงินไว้กับตัว ไม่ยอมใช้จ่าย ยิ่งเกิดเศรษฐกิจหดตัว ภาครัฐก็ยิ่งขึ้นภาษีเพื่อหาเงินมาให้ข้าราชการ จะเกิดวงจรอุบาทว์ซ้ำเติมจนเศรษฐกิจทรุดตัวลงไปจนไม่อาจกอบกู้ได้ไปอีกยาวนาน

สิ่งที่ภาครัฐควรทำในขณะนี้คือหาทางอื่นที่ไม่ใช่การออกพันธบัตรเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของทุนอย่างรุนแรงเช่นนี้ เพราะเป็นภาระของผู้เสียภาษีไปอีกยาวนานหลายสิบปี และทำให้รัฐบาลในชุดต่อๆไปไม่มีโอกาสริเริ่มโครงการใหม่ได้เลยนอกจากหาทางเพิ่มภาษีมาใช้หนี้ให้กับเงินกู้เท่านั้น

ดังนั้น การใช้เงินที่ถูกต้องนั้นคือ ส่งเสริมให้มีการลงทุนเอาเม็ดเงินใหม่ๆเข้ามาในประเทศ ลดภาระการกู้ยืมหรือยุติการกู้ยืมเงินใหม่ ลองนึกถึงครอบครัวที่พ่อบ้าน แม่บ้านไม่รู้จักหาเงินเข้าบ้าน มีแต่กู้เงินมาใช้หรือขายของเก่าถูกๆเพื่อหาเงินมาใช้ไปวันๆหนึ่งเท่านั้นว่าครอบครัวนี้ต่อไปลูก หลานจะมีความลำบากยากแค้นขนาดไหน

จริงอยู่ว่าการไม่ได้กู้ยืมเงินจากไอเอ็มเอฟจะทำให้มีอธิปไตยคือไม่ถูกควบคุมเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ แต่การกู้ยืมเงินมาใช้โดยไม่เกิดการผลิตอย่างต่อเนื่องหลายขั้นตอน จนรายได้กระจายไปอย่างทั่วถึงนั้นก็ไม่ทำให้เศรษฐกิจเกิดการเจริญเติบโตไปได้ ยิ่งกู้เงินจากประชาชนก็จะยิ่งทำให้ทุกคนรอคอยแต่ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลูกหนี้คือผู้เสียภาษีต้องแบกรับภาระ ทำให้ไม่เกิดการผลิต การจ้างงานใหม่ๆ ถ้าภาครัฐเห็นว่าเงินไม่พอใช้ สิ่งแรกที่ควรทำคือลดเงินเดือนข้าราชการลงทันทีโดยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มีสัดส่วนลดลงมากกว่าชั้นผู้น้อยและลดจำนวนลงตาม ข้าราชการการเมืองที่ว่าเสียสละควรสละเงินประจำตำแหน่งและเบี้ยประชุมทั้งหลาย งบฯโฆษณาจากภาครัฐยกเลิกทั้งหมด ยกเลิกโครงการที่ไม่เกิดการผลิตทั้งหมด ก็น่าจะมีเงินพอใช้ปิดงบประมาณได้อีกพอควรทีเดียว