ดร. ผู้สะสม และหลงรัก แผ่นเพลงพระราชนิพนธ์

ช่วงที่ผ่านมา เราคงได้มีโอกาสรับทราบหลากหลายเรื่องราวความประทับใจและความรู้สึกระลึกถึงของประชาชนชาวไทยที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9

บางคนตามสะสมธนบัตร เหรียญที่ระลึก แสตมป์ที่ผลิตออกมาในวาระพิเศษ บางคนตามหาและสะสมพระบรมฉายาลักษณ์ นิตยสาร สื่อสิ่งพิมพ์ที่ผลิตออกมามากมาย

อีกสิ่งหนึ่งที่อยู่ในใจคนไทยตลอดมา ก็คือ “เพลงพระราชนิพนธ์” ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้ได้มีการสร้างสรรค์ออกมาในหลายเวอร์ชั่น

เราอาจไม่ค่อยเห็นผู้ที่สะสมแผ่นเพลงพระราชนิพนธ์มากนัก

ทั้งที่จริงแล้วเพลงพระราชนิพนธ์ได้ถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก ในหลายโอกาสพิเศษ

 

“ดร.พุฒวิทย์ บุนนาค” อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นคนหนึ่งที่ตามสะสมแผ่นเสียง ซีดี วีซีดี และดีวีดี ที่เกี่ยวข้องกับเพลงพระราชนิพนธ์ รวมเกือบร้อยแผ่น และเป็นนักฟังเพลงที่ชื่นชอบในบทเพลงพระราชนิพนธ์อย่างมาก

ดร.พุฒวิทย์ เล่าถึงที่มาของความชอบและการสะสมให้ฟังว่า ในสมัยตอนเด็กได้ยินเพลงพระราชนิพนธ์ จากวิทยุที่เปิด ซึ่งส่วนใหญ่จะได้ยินทุกเทศกาลปีใหม่ อาทิ เพลงพรปีใหม่ ยามเย็น ใกล้รุ่ง และคิดว่าเป็นเพลงที่ไพเราะ แต่ไม่ใช่เพลงที่เราจะเอามาร้องเล่นหรือฟังเพื่อความบันเทิง

เมื่อโตขึ้นมา เริ่มมีแนวทางการฟังเพลงที่ชัดขึ้น และให้ความสนใจมาฟังแจ๊ซอย่างจริงจังในช่วงเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัย

ในขณะนั้นบังเอิญไปเจอแผ่นเพลงบรรเลงพระราชนิพนธ์โดยวงดนตรีแจ๊ซเฉพาะกิจของคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งในชุดนั้นมี “อ.เด่น อยู่ประเสริฐ” เล่นเปียโน จึงหาเอามาฟังที่บ้าน

ทำให้รู้สึกประทับใจมากๆ แล้วก็คิดว่าจริงๆ แล้ว เพลงพระราชนิพนธ์เป็นเพลงที่มีท่วงทำนองเข้ากันได้อย่างดีเลยกับดนตรีแจ๊ซ

จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เริ่มสนใจในเพลงพระราชนิพนธ์แบบจริงๆ จังๆ และฟังเพื่อการพินิจพิเคราะห์

นำไปสู่การตามเก็บแผ่นเพลงพระราชนิพนธ์มาเรื่อยๆ ถ้าแผ่นไหนยังไม่มี เมื่อเจอที่ไหนก็จะหาซื้อเก็บไว้ นี่คือจุดเริ่มต้น

: แผ่นที่หายากที่สุด แผ่นที่มีราคาสูงที่สุด?

มาถึงวันนี้เกือบทุกแผ่นที่มีอยู่ในมือ ถือว่าหาซื้อได้ยากมากๆ แล้ว เพราะจะผลิตครั้งเดียว เฉพาะในโอกาสพิเศษปีนั้นๆ เช่น การครองราชย์ครบ 50 ปี 60 ปี

สำหรับแผ่นที่หายากที่สุดสำหรับผมคือแผ่นที่ “ณัฐ ยนตรลักษณ์” เล่นเปียโน เมื่อเวลาผ่านพ้นไป จะหาไม่ได้แล้ว

แต่ในตลาดนักสะสมตอนนี้มีคนตามหาแผ่นที่ “อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี” เป่าขลุ่ยชุด “ความฝันอันสูงสุด” ซึ่งถูกผลิตในช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปที่ทุ่งมะขามหย่อง และอาจารย์ได้เป่าขลุ่ยเพลงความฝันอันสูงสุดไว้ มีคนต้องการหาซื้อชุดนี้กันมาก

นอกจากนั้น ยังมีบริษัทค่ายดนตรีใหญ่ๆ ผลิตออกมา อย่างค่ายดังๆ ในอดีต เช่น นิธิทัศน์ผลิตออกมา 4 แผ่น หรือแกรมมี่ที่ผลิตออกมาหลายช่วงหลายแผ่นและนำศิลปินที่มากความสามารถมาถ่ายทอดไว้ ซึ่งในแต่ละแผ่นจะมีเนื้อหา รายละเอียด ประวัติ เกี่ยวกับเพลงพระราชนิพนธ์ออกมามากมาย

หรือบางแผ่นเคยมีคนมาเสนอขายหลักหมื่น ซึ่งถือว่าราคาสูงมาก (เมื่อกว่าสิบปีก่อน) คือแผ่นที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงร่วมแสดงกับวงดนตรี “อ.ส. วันศุกร์” และบันทึกเสียงไว้ครบทั้ง 48 เพลง แต่คิดว่าในวันนี้หมื่นบาทก็ถือว่าถูกมากๆ เพราะตอนนี้ราคาพุ่งขึ้นไปสูงกว่านั้นแล้ว

หลายคนอาจสงสัยว่าหากจะฟัง หาฟังจากยูทูบหรือโซเชียลมีเดียก็ได้ แต่ขอบอกว่าจะไม่ได้อรรถรสเลย เนื่องจากแผ่นแท้ๆ จะมีการบันทึกเสียงไว้อย่างดีมาก

 

: ทำไมเราจึงไม่ค่อยเห็นคนสะสมแผ่นเพลงพระราชนิพนธ์ในวงกว้าง?

ต้องบอกว่าสมัยก่อน ตลาดแจ๊ซในบ้านเราถือว่ายังเป็นเฉพาะกลุ่มและฟังยาก คนไทยจะคุ้นเคยกับเพลงแนวอื่นๆ มากกว่า

ครั้งหนึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงตั้งวงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ขึ้นมา และบรรเลงเพลงแจ๊ซออกอากาศทางวิทยุทุกวันศุกร์ ในสมัยนั้นเปิดโอกาสให้ผู้ฟังโทรศัพท์ไปขอเพลงได้ในพระราชวังเลย

และเราจะมีโอกาสได้เห็นพระองค์ท่านมีวาระไปทรงดนตรีตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตร มศว 1 ปีพระองค์ท่านจะเสด็จฯ 1 ครั้ง

เมื่อเวลาผ่านไปในยุคหลังๆ ที่มีทั้งสื่อทีวี สื่อโซเชียลมีเดียเพิ่มมากขึ้น คนก็หันมารู้จักและสนใจแจ๊ซมากขึ้น มีนักเรียนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ศึกษาทางด้านดนตรีโดยเฉพาะ ก็มีแหล่งข้อมูลให้ค้นคว้ามากขึ้น หลายคนจึงได้รับรู้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยมีสถานะเป็นนักดนตรีผู้มีประสิทธิภาพ

แต่น่าเสียดายที่หลายคนจะได้รับรู้ในช่วงที่พระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจมากขึ้น จึงไม่สามารถทรงดนตรีได้บ่อยครั้งเหมือนแต่ก่อน

ทั้งนี้ มีพจนานุกรมแจ๊ซของต่างชาติฉบับที่เป็นทางการที่สุดได้มีการนำพระนามของในหลวงรัชกาลที่ 9 ใส่ไว้ พร้อมคำอธิบายยกย่องในฐานะนักดนตรีแจ๊ซที่ทรงคุณค่าท่านหนึ่ง

: สำหรับคนที่ชอบเพลงพระราชนิพนธ์จริงๆ แค่เลือกซื้อบางแผ่นก็ได้ แต่ทำไมจำเป็นจะต้องสะสม?

เพราะเพลงพระราชนิพนธ์ได้ถูกเรียบเรียงเสียงประสานวางแนวทางของดนตรีในแต่ละแผ่นไม่เหมือนกันเลยสักแผ่น สักเวอร์ชั่น

เพราะด้วยความเป็นดนตรีแจ๊ซ สิ่งที่มีคือโครง ตัวคอร์ด แต่รายละเอียดต่างๆ มันเป็นความสร้างสรรค์ของผู้เล่น ผู้ผลิต ในแต่ละวาระโอกาสแห่งการบรรเลง

นี่คือเสน่ห์ของดนตรีพระราชนิพนธ์ ที่มีหัวใจเป็นแจ๊ซ ที่เกิดความสร้างสรรค์ตลอดเวลา

มันจึงเป็นความอิ่มเอิบ เป็นประสบการณ์ใหม่ที่เราต้องการหาฟังไปอย่างไม่รู้จบ คือ ฟังเพลงที่มีเมโลดี้เดิม แต่บรรเลงใหม่ ให้ความรู้สึกใหม่ได้

มันเป็นความรู้สึกที่คุ้มค่า

 

: ให้แนะนำเพลงและแผ่นที่เป็นที่สุด

เพลง “มหาจุฬาลงกรณ์” ในแทร็ก 1 ของอัลบั้ม Jazz Legends Salute King Bhumibol แต่เดิมเราจะคุ้นเพลงนี้ในแบบสง่างาม

แต่หากได้ฟังในอัลบั้มนี้จะถูกบรรเลงใหม่โดยเมโลดี้เดิมคงไว้ แต่จะเพิ่มลีลาจังหวะให้ตื่นเต้นเร้าใจยิ่งขึ้น

อีกเพลงคือ “อาทิตย์อับแสง” โดยปกติก็จะหม่นหมอง บรรยากาศสงบ แต่ถ้าเป็นชุดนี้จะได้ฟังอาทิตย์อับแสงที่เต็มไปด้วยอารมณ์

นี่คือความอิ่มเอิบของการสัมผัสกับดนตรีแจ๊ซที่มีชีวิตอยู่ได้ไม่รู้จบ

: ถ้าให้พูดถึงคุณค่าของเพลงพระราชนิพนธ์

11 ปีที่แล้ว มีเทศกาลภาพยนตร์ที่งานจุฬาฯ วิชาการ ผมมีโอกาสได้วิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพยนตร์การ์ตูนญี่ปุ่นชื่อ “เมโทรโพลิส” ที่เป็นเรื่องราวของหุ่นยนต์ที่ต้องต่อสู้กับระบบอำนาจความไม่ชอบธรรมต่างๆ ที่เคร่งครัดมาก แต่ต้องฝ่าฟันให้ได้

โดยผู้สร้างใช้ดนตรีแจ๊ซเป็นสัญลักษณ์แทนการต่อสู้ ที่หลุดออกจากกรอบจากระบบที่ตายตัว และเป็นหัวใจของเรื่อง

ดนตรีแจ๊ซในเรื่องนี้ก็เป็นยุค “นิวออร์ลีนส์แจ๊ซ” ซึ่งเป็นยุคเดียวกับพื้นฐานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ต้องบรรเลงสดผ่านความทรงจำ มีการสนทนาโต้ตอบกันในหมู่นักดนตรี และบรรเลงไปพร้อมๆ กัน ในแต่ละครั้งจะปล่อยจิตใจให้เป็นอิสระเสรี

ถ้าเราเข้าใจดนตรีแจ๊ซ จะรู้ว่าธรรมชาติของมันคือ “อิสรภาพ” ดนตรีแจ๊ซจะไม่ลงจังหวะตามปกติ จะเน้นจังหวะที่ไม่ถูกเน้น นั่นก็คือการหลุดออกจากกรอบที่ตายตัว ทำให้เกิดคุณสมบัติใหม่คือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมา

จากแผ่นเพลงที่สะสมอยู่ มีแผ่นหนึ่งได้นำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานสัมภาษณ์สถานีวิทยุในอเมริกาเป็นภาษาอังกฤษ มีใจความสำคัญว่า

สำหรับดนตรีแจ๊ซ พระองค์ท่านทรงชอบมากกว่าดนตรีคลาสสิค เพราะดนตรีคลาสสิคพระองค์ท่านต้องเครียดกับมัน ต้องอยู่กับมัน เล่นผิดพลาดอะไรไม่ได้เลย ทำให้การเล่นไม่มีความสุข ส่วนดนตรีแจ๊ซพระองค์ท่านมีอิสระกว่า ถ้าท่านเล่นโน้ตผิด ก็ถือว่าเป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมา ถือเป็นความก้าวหน้าของดนตรีแนวแจ๊ซ

ถ้าหากมีเสียงอะไรดังขึ้นมาเมื่อพระองค์ท่านทรงเล่น พระองค์ท่านถือว่ามาร่วมเล่นกับพระองค์ท่าน เพราะฉะนั้น หัวใจของแจ๊ซจริงๆ ก็คืออิสรภาพ การไม่อยู่ในกรอบที่ตายตัว

มุมมองตรงนี้ทำให้ผมคิดได้ว่าความสามารถของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ท่านทรงเล่นดนตรีได้เกือบทุกชิ้น และพระองค์ท่านทรงชอบดนตรีแจ๊ซ ก็สอดคล้องกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีหลักการสำคัญอันหนึ่งคือ “ความยืดหยุ่น”

ในพื้นที่แปลงเกษตร มีหลายๆ อย่างอยู่ด้วยกัน ไม่ทำอย่างเดียว แต่ทำหลายๆ อย่าง จากง่ายๆ มันจะนำไปสู่ความยั่งยืน ความรอบคอบ มันคือเรื่องเดียวกัน

ดนตรีแจ๊ซคือชีวิตที่ไม่ตายตัว ดังนั้น ดนตรีแจ๊ซของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ยังคงอยู่ไปอีกตราบนานเท่านาน