เทศมองไทย : “เลือกตั้งไทย” ในสายตา นักวิเคราะห์การลงทุน

เคยยกหูถามเพื่อนพ้องในแวดวงข่าวด้วยกันว่า มองเลือกตั้งไทยครั้งนี้อย่างไรกันบ้าง?

คำตอบที่ได้รับกลับมาคล้ายๆ กัน แปลความแบบลูกทุ่งๆ ตามแบบฉบับของผู้เขียนเองได้ในทำนองว่า “อีนุงตุงนังดีพิลึก” ชนิดที่ “คาดการณ์อะไรเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้เลย” คือไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าหลังเลือกตั้งแล้วจะมีอะไรเกิดตามมาอีกบ้างหรือเปล่า

อันที่จริงไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวในย่านนี้ที่กำหนดมีเลือกตั้งในปีนี้ เพราะนอกจากไทยในเดือนมีนาคมแล้ว ยังมีเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียไล่หลังมาติดๆ ในวันที่ 17 เมษายน หลังเทศกาลสงกรานต์ แล้วต่อด้วยเลือกตั้งกลางวาระดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในฟิลิปปินส์ ในวันที่ 13 พฤษภาคม

เลือกตั้งในฟิลิปปินส์ผิดแผกแตกต่างจากของไทยและอินโดนีเซีย ตรงที่ไม่ได้กระทบถึงตำแหน่งประธานาธิบดีของโรดริโก ดูแตร์เต ที่มีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปีแต่อย่างใด กระนั้น การเลือกตั้ง ส.ส.บางส่วนของฟิลิปปินส์หนนี้ก็มีนัยสำคัญไม่น้อย ถึงขนาดนักวิเคราะห์บางคนขนานนามว่า เป็นการทำ “ประชามติ” ต่อนโยบายในช่วงที่ผ่านมาของประธานาธิบดีดูแตร์เตเลยทีเดียว

ซึ่งถ้าหากเป็นไปตามโพลการเมืองของที่นั่น บรรดาพันธมิตรทั้งหลายของผู้นำฟิลิปปินส์น่าจะยังคงรักษาเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้ได้ต่อไป สะท้อนให้เห็นได้จากระดับของการยอมรับการปฏิบัติหน้าที่ผู้นำประเทศของดูแตร์เตในช่วงที่ผ่านมา ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ไม่ว่าจะถูกถล่มจากบรรดานักเคลื่อนไหวด้านสิทธิและสื่อต่างชาติมากแค่ไหนก็ตาม

 

เว็บไซต์ข่าวซีเอ็นบีซีเขียนถึงการเลือกตั้งในทั้ง 3 ประเทศเอาไว้เมื่อ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนคือ อี เยนนี ที่หยิบยกเอาทัศนะของนักวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อการลงทุนมานำเสนอเอาไว้ ไม่ได้เป็นการมองเหตุการณ์เหมือนกับนักวิเคราะห์การเมืองทั่วไป แต่ก็สะท้อนภาพรวมทางการเมืองของแต่ละประเทศเอาไว้ไม่น้อย เพื่อเป็นแนวทางสำหรับนักลงทุนที่จะเลือกลงทุนในหลักทรัพย์หรือตลาดหลักทรัพย์ของแต่ละประเทศเอาตามใจชอบ

ข้อสังเกตแรกสุดในแง่ของการลงทุนสำหรับการเลือกตั้งทั้งในไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ก็คือ การเลือกตั้งอาจส่งผลกระทบให้หุ้นในแต่ละประเทศ “ฟื้นตัว” จากภาวะถูกเทขายเมื่อปีที่ผ่านมาได้

ปีที่แล้วตลาดหลักทรัพย์ในประเทศทั้งสาม ปิดตลาดปลายปีลดต่ำลงด้วยหลายเหตุปัจจัย แต่ที่สำคัญก็คือ บรรดานักลงทุนระหว่างประเทศเหล่านี้พากันทิ้งตลาดประเทศเศรษฐกิจใหม่ หรืออีเมิร์จจิง มาร์เก็ต เทขายหุ้นทิ้งกันไม่น้อย เพื่อนำเงินกลับไปลงทุนในสหรัฐอเมริกา ที่ผลตอบแทนดีกว่าเพราะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนั้นก็เกิดความกังวลว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนจะส่งผลสะเทือนตลาดเหล่านี้สูง โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เริ่มต้นปีใหม่ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นในทั้ง 3 ประเทศกระเตื้องขึ้น แต่นักวิเคราะห์การลงทุนให้ความเห็นตรงกันว่า การเลือกตั้งที่จะเริ่มประเดิม เปิดหัวด้วยการเลือกตั้งทั่วไปในไทยในวันที่ 24 มีนาคมนี้ จะหนุนส่งให้หุ้นดีดตัวสูงขึ้นไปอีก จากความคาดหวังโดยธรรมชาติที่ว่า รัฐบาลใหม่จะเพิ่มการใช้จ่ายงบประมาณและเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในแต่ละประเทศกลับมา จนเริ่มจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น

 

ในทัศนะของนักวิเคราะห์จากเมย์แบงก์ กิมเอ็ง ผู้ให้บริการทางการเงินจากมาเลเซีย แนวโน้มที่ว่านั้นมีความแน่นอนน้อยที่สุดในกรณีของประเทศไทย

“สำหรับไทย ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นต่อเนื่องนานหลายปี ทำให้ความเชื่อมโยงระหว่างการเลือกตั้งกับภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นขาดหายไปนาน ทำให้ยากที่จะแน่ใจได้ว่าจะเกิดแนวโน้มการใช้จ่ายมากขึ้นตามมาในช่วงก่อนหน้าการเลือกตั้ง”

เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ยังระบุไว้ในรายงานเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองในไทยยังส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเบาบางลง รัฐบาลเปลี่ยนถี่ยิบในช่วง 15 ปีหลังมานี้ทั้งด้วยเหตุจากการชุมนุมประท้วงและการรัฐประหาร

ที่น่าสนใจก็คือ ในรายงานชิ้นนี้ระบุเอาไว้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน “ได้รับการคาดหมายว่าจะยังคงดำรงตำแหน่งเดิมของตนต่อไปหลังการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม” ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเห็นว่า “เป็นผลในทางบวกเพราะทำให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต่อเนื่องในระยะยาวเป็นไปได้”

แต่บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุน แคปปิตอล อีโคโนมิกส์ ยังไม่ลืมย้ำว่า ความไม่สงบทางการเมืองอาจปะทุขึ้นมาอีกครั้ง ถ้าหาก “ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งรู้สึกว่าไม่ได้รับโอกาสให้เลือกตั้งได้อย่างเสรี”

ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยแน่นอน