ศัลยา ประชาชาติ : ประเด็นร้อน “กัญชาเสรี” พืชเศรษฐกิจ-ยามหัศจรรย์ นโยบายเด็ดชิงคะแนนเสียง

หลังจากเกิดกระแสเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ยาเสพติด เพื่อให้ “กัญชา” ถูกนำมาใช้เพื่อการแพทย์และการรักษาพยาบาล

มีทั้งหน่วยงาน องค์กรอิสระต่างๆ รวมทั้งกลุ่มคนที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขข้อกฎหมายยาเสพติด พร้อมผลักดันให้มีการศึกษาวิจัย “กัญชา” เพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์อย่างเป็นรูปธรรม

รวมถึงข้อเสนอที่ก้าวไกลไปถึงการใช้ “กัญชา” เพื่อการสันทนาการ และส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ

กระทั่งกลายเป็นนโยบายของพรรคการเมืองหลายพรรคที่กำลังทำการหาเสียงอยู่ในเวลานี้

 

18 กุมภาพันธ์ 2562 ราชกิจจานุเบกษา ก็ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 ที่มีการปรับปรุงแก้ไขจากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เพื่อเปิดโอกาสให้มีการอนุญาตให้ประชาชนใช้กัญชาและพืชกระท่อมเพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคและประโยชน์ในทางการแพทย์ได้

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ 2562 ที่มีการปรับแก้คือ

มาตรา 26/2 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้ ให้รวมถึงการเกษตรกรรม พาณิชยกรรม วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ด้วย ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

(2) ในกรณีเป็นกัญชง ให้กระทำได้เมื่อได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

(3) ในกรณีเป็นการนำติดตัวเข้ามาในหรือนอกราชอาณาจักรไม่เกินปริมาณที่จำเป็น สำหรับใช้รักษาโรคเฉพาะตัว โดยมีใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นผู้ให้การรักษา ให้กระทำได้เมื่อได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

 

จากจุดเปลี่ยนดังกล่าวนำไปสู่แนวทางดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม โดยองค์การเภสัชกรรม กลายเป็นหัวหอกในการวิจัย เพาะปลูก และนำมาสกัดใช้ “กัญชา” เพื่อการแพทย์

โดยคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ ได้อนุญาตให้องค์การเภสัชกรรมทำการปลูกกัญชาทางการแพทย์ พร้อมทั้งได้ลงนามในหนังสืออนุญาตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้องค์การได้ดำเนินการปลูกกัญชาทางการแพทย์ สำหรับเป็นวัตถุดิบนำมาสกัดเป็นสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ โดยเป็นผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาชนิดน้ำมันหยดใต้ลิ้น (Sublingual Drop) สำหรับนำไปใช้ในการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยที่ร่วมโครงการวิจัย

องค์การเภสัชกรรมซึ่งเตรียมความพร้อมรออยู่ก่อนแล้วจึงเดินหน้าทันทีโดยกำหนดแผนงานระยะที่ 1 จะเป็นการปลูกกัญชาทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามกฎหมายต้นแรกในอาเซียน

ซึ่งเมล็ดพันธุ์กัญชาที่ใช้ปลูกครั้งนี้เป็นเมล็ดจากสายพันธุ์ลูกผสม ที่มีคุณภาพเมล็ดพันธุ์สูง ปลูกในอาคาร (Indoor) ด้วยเทคโนโลยีระบบรากลอย (Aeroponics) บนพื้นที่ 100 ตารางเมตร ขององค์การเภสัชกรรม อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี

แผนงานระยะที่ 2 ปลูกกัญชาทางการแพทย์ในระดับกึ่งอุตสาหกรรม (Pilot Phase) ใช้งบประมาณ 164.04 ล้านบาท ที่ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี บนพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร

มีทั้งปลูกในอาคาร indoor และโรงเรือนปลูกพืช (greenhouse) เพื่อวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ ที่ให้สารสำคัญสูง และทนต่อโรคต่างๆ

และระยะที่ 3 ผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ในระดับอุตสาหกรรม (Industrial Phase) โดยเริ่มการปลูกและผลิตสารสกัดระดับอุตสาหกรรมแบบครบวงจรภายในเดือนมกราคม 2564 ที่พื้นที่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี

 

แผนงานระยะที่ 1 เริ่มคิกออฟเมื่อ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ที่องค์การเภสัชกรรม อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม ระยะที่ 1” ที่องค์การเภสัชกรรม ธัญบุรี ด้วยตัวเอง

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้องค์การได้นำกัญชาของกลางมาทำการสกัดเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาในเบื้องต้น แต่เมื่อตรวจคุณภาพกัญชาของกลางพบว่ามีปริมาณสารปนเปื้อนสูงกว่ามาตรฐาน ทำให้ไม่สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบได้ องค์การจึงมีความจำเป็นต้องเร่งปลูกกัญชาสายพันธุ์ลูกผสม บนพื้นที่แห่งนี้

“เป็นการปลูกเพื่อนำไปใช้ในการศึกษาวิจัย พัฒนาด้านต่างๆ ทั้งด้านการศึกษาวิจัยการปลูก พัฒนาสายพันธุ์ ด้านเทคโนโลยีการสกัดเป็นสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ ด้านการนำไปใช้ในการวิจัยทดลองทางคลินิกของคณะแพทย์ผู้วิจัยในสาขาโรคต่างๆ ซึ่งการปลูกในครั้งนี้องค์การจะใช้ระยะเวลาในการปลูกประมาณ 3-4 เดือน โดยประมาณเดือนกรฎาคม 2562 จะสามารถนำมาสกัดเป็นสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ และผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาชนิดน้ำมันหยดใต้ลิ้น (Sublingual Drop) ได้ประมาณ 2,500 ขวด ขวดละ 5 มิลลิลิตร หรือประมาณ 10,000 ขวดต่อปี”

 

อย่างไรก็ตาม แม้การเดินหน้านำร่องขององค์การเภสัชกรรมจะเป็นรูปธรรมที่ปรากฏชัดเจน แต่ในทางปฏับัติสำหรับการครอบครอง ปลูก หรือการใช้เพื่อการแพทย์และสันทนาการตามที่หลายๆ ฝ่ายคาดหวังก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อธิบายแนวปฏิบัติว่า หลังจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เห็นชอบร่างประกาศนิรโทษและครอบครองกัญชาทั้ง 3 ซึ่งจะครอบคลุมบุคคล 3 กลุ่ม คือ

1. ผู้มีคุณสมบัติ ตามกฎหมายใหม่

2. ผู้ป่วยที่มีใบรับรองจากแพทย์ว่ามีอาการเจ็บป่วยจะอนุญาตให้ใช้ในปริมาณที่เพียงพอต่อการรักษาโรคเท่านั้น

และ 3. บุคคลอื่นๆ

ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้ จะต้องมาแจ้งการครอบครองภายใน 90 วัน หลังจากที่ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มีผลใช้บังคับ

นอกจากนี้ อย.ยังได้เปิดสายด่วน อย. 1556 กด 3 สอบถามข้อสงสัยเกี่ยวกับกัญชาได้ตลอดเวลาในวันและเวลาราชการ (08.30-16.30 น.) ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป ซึ่งจะมีการให้รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ถือครองกัญชาว่ามีกี่กลุ่ม โดยผู้มีคุณสมบัติตามกฎหมายใหม่ ได้แก่

หน่วยงานของรัฐ, ผู้ประกอบวิชาชีพ, สถาบันอุดมศึกษาเอกชน (ทางแพทย์/เภสัชศาสตร์), ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน, ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ, ผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศ เป็นต้น

 

ขณะเดียวกันเมื่อมีการ “ปลดล็อก” กัญชาในการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แล้ว นั่นยิ่งเป็นโอกาสทองของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ที่ต่างก็ให้ความสนใจ แสดงท่าทีสนับสนุนให้ประเทศไทยใช้-ผลิต-ส่งเสริมการปลูกกัญชา ทั้งในเชิงการแพทย์ สันทนาการ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ไปจนถึงการผลักดันให้เกษตรกรสามารถปลูกกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ทดแทนปัญหาราคาพืชเกษตรตกต่ำอีกด้วย

โดยพรรคประชาธิปัตย์นั้นมีท่าทีใกล้เคียงกับพรรคเพื่อไทย สนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์

ขณะที่พรรคอนาคตใหม่นำเสนอนโยบายที่จะส่งเสริมการใช้กัญชาทั้งในด้านการแพทย์ สันทนาการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

และที่โดดเด่นชัดเจนที่สุดก็คือ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งนำเสนอประเด็น “กัญชาเสรี” เป็น 1 ใน 12 นโยบายหลัก พร้อมทั้งทำการสื่อสารอย่างเป็นระบบด้วยว่า จะแก้กฎหมายให้ประชาชน-เกษตรกร สามารถปลูกกัญชาเพื่อครัวเรือนละ 6 ต้น ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้มากถึง 70,000-100,000 บาท/กิโลกรัม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงนโยบายพรรคภูมิใจไทยในการใช้หาเสียงเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยเฉพาะนโยบายส่งเสริมการปลูกกัญชา ภายใต้คอนเซ็ปต์ “พืชแก้จน พืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ กัญชาเสรี” ว่า พรรคภูมิใจไทยนำเสนอนโยบายกัญชา เพราะมองเห็นว่าสามารถสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศได้อย่างมาก เป็นการพลิกชีวิตให้คนไทยทั้งหมด สิ่งที่พรรคทำ ได้ทำการศึกษาและวิจัยจริงๆ ไม่ใช่แค่คิดเท่านั้น เพราะฉะนั้น เราจึงกล้าที่จะร่างพระราชบัญญัติที่นำเสนอข้อกฎหมายเพื่อให้เรื่องเหล่านี้นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ขาดเพียงแค่พี่น้องประชาชนเห็นด้วยกับพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ ถ้าเห็นด้วยเลือกผู้สมัครของพรรคภูมิใจไทย เพื่อที่จะสามารถทำเรื่องนี้ได้ทันที

ถึงที่สุดแล้ว “กัญชา” ในประเทศไทยจะก้าวไปไกลในระดับพืชเพื่อการแพทย์ หรือจะไปไกลในระดับพืชเศรษฐกิจความหวังใหม่ตามที่พรรคการเมืองหลายๆ พรรคเริ่มปักธงหรือไม่

เชื่อว่าหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 และเมื่อเห็นหน้าตาของรัฐบาลชุดใหม่ชัดเจน

อนาคตของกัญชาก็จะปรากฏภาพชัดเจนขึ้นแน่นอน