จรัญ พงษ์จีน : ผลสะเทือน “ไทยรักษาชาติ” ถูกเขี่ยออกจากสนามเลือกตั้ง

ไม่ได้เหนือความคาดหมายใดๆ กรณีที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีมติเอกฉันท์ “ยุบพรรคไทยรักษาชาติ” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ตามมาตรา 92

และมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมืองแก่กรรมการบริหารพรรค 10 ปี ห้ามจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นเวลา 10 ปี และใช้ชื่อย่อเกี่ยวกับ “ไทยรักษาชาติ” เป็นเวลา 10 ปี

สับคัตเอาต์ เช็กบิลแค่ “ทษช.” ลำพังแค่พรรคเดียวก็บุญถมเถไปแล้ว สำหรับบ้านเมืองยุคสมาร์ตโฟน

เพราะดังที่ทราบ การแจ้งเกิดของพรรค “ทษช.” ดำเนินการอันชาญฉลาด ตามยุทธศาสตร์ “แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย” แยกกันเดิน ร่วมกันเก็บแต้ม ระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” กับ “ทษช.”

สอยดาวกันคนละดวง “เขตเลือกตั้ง” กับ “บัญชีรายชื่อ” ซึ่งก็ไม่มีอะไรผิด เป็นไปตามกรอบ อันเป็นกฎข้อบังคับรัฐธรรมนูญ สมองใสเพื่อหลีกเลี่ยง “มาตรา 91”

ที่กำหนดว่า “การคำนวณหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค” ให้คำนวณตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1. นำคะแนนที่ประชาชนใช้สิทธิไปหารด้วยจำนวนเต็มของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

2. นำผลลัพธ์จากข้อที่ 1 ไปหารด้วยจำนวนรวมที่แต่ละพรรคได้

3. นำผลลัพธ์ที่ 2 คือ “ส.ส.จำนวนที่แต่ละพรรคพึงมี”

4. นำจำนวน ส.ส.แต่ละพรรคที่พึงมีด้วยจำนวน ส.ส.เขตของแต่ละพรรคนั้น

5. “ถ้าพรรคใดมี ส.ส.เขตเท่ากับหรือมากกว่าจำนวน ส.ส.ของพรรคที่พึงมี พรรคนั้นจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ”

6. “ถ้าพรรคใดมีจำนวน ส.ส.ที่พึงมีมากกว่า ส.ส.เขต พรรคนั้นจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อตามอัตราส่วน”

“พรรคเพื่อไทย” โดนเสยด้วยมาตรา 91 ย่อมกระอักโลหิตเป็นลิ่มๆ

เมื่อยกยอดศึกเลือกตั้งปี พ.ศ.2554 มาคูณคำนวณในการตอบโจทย์ ถอดรหัสตามลายแทง แห่งมาตรา 91

ซึ่งปรากฏว่าในการเลือกตั้งดังกล่าว มีประชาชนออกมาใช้สิทธิจำนวน 35 ล้านเสียง

ดำเนินตามกฎข้อบังคับที่ 1 ยกยอด 35,000,000 เสียงของผู้ออกมาใช้สิทธิ หารด้วยจำนวน ส.ส.ปีนั้น 500 เสียง จำนวนที่แต่ละพรรคจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 70,000 เสียง

การเลือกตั้งในปี พ.ศ.2554 กาบัตร 2 ใบ “พรรคเพื่อไทย” ได้รับเลือกมาท่วมท้น 15.7 ล้านเสียง คะแนน “พึงมี” ของพรรคจึงหยุดอยู่ที่ 223 ที่นั่ง

เท่ากับว่า “เพื่อไทย” ได้ ส.ส.เขตเลือกตั้งมา 204 ที่นั่งแล้ว จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มแค่ 19 ที่นั่ง เพราะมีคะแนน “เต็มตุ่ม” อยู่แค่ 223 ที่นั่ง จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ไม่ถึง 61 เหมือนเก่า 2 ระบบจะไม่ถล่มทลาย 265 เสียงอีกเด็ดขาด

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว “พรรคเพื่อไทย” ดีดลูกคิดด้วยความรอบคอบแล้ว การเลือกตั้งรอบใหม่ตามกรอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ใช้บัตรใบเดียว จะเกิดสภาพเสียเปรียบรอบตัว

โอกาสที่จะชนะแบบเทกระจาด 15.7 ล้านเสียงย่อมเกิดขึ้นยาก เพราะใช้บัตรใบเดียว

ด้วยประการดังกล่าว “เพื่อไทย” จึงเปิดยุทธการ “แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย”

ศึกเลือกตั้งแห่งประเทศไทยถูกแช่แข็งใน “ช่องฟรีซ” มาเป็นเวลาเนิ่นนาน นับครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2554 ก็ 8 ปีเต็ม ทำให้ประชาชนพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งขยายเพดาน มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นกว่า 51 ล้านคน

จากการสำรวจพบว่าชาวบ้านมีความอัดอั้นอยากจะเลือกตั้ง จึงประมาณการว่า น่าจะมีผู้คนแห่ไปใช้สิทธิกันชนิดมืดฟ้ามัวดิน ร้อยละ 70-80 ยอดเฉลี่ยน่าจะถึง 40 ล้านเสียง

ขณะที่ยอดผู้มีสิทธิและผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเพิ่มปริมาณ

แต่จำนวน ส.ส.ยังเท่าเดิมคือ 500 ที่นั่ง แยกเป็นเขตเลือกตั้ง 350 คน และบัญชีรายชื่อ 150 คน

ส.ส.แบ่งเขตแห่งประเทศไทยประกอบด้วย ภาคเหนือ 33 คน ภาคอีสาน 116 คน ภาคตะวันออก 19 คน ภาคใต้ 50 คน ภาคตะวันตก 26 คน ภาคกลาง รวม กทม. 106 คน

ผลสืบเนื่องมาจากวิธีคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อตามมาตราดังกล่าว จะทำให้ “พรรคใหญ่” เสียเปรียบทุกประตู

โดยเฉพาะ “พรรคเพื่อไทย” นอกจากยอดรวมจะไม่ถึง 15.7 ล้านเพราะบัตรใบเดียวแล้ว

จำนวนรวมที่แต่ละพรรคจะได้ จากบัญชีรายชื่อ ยอดต่อคน/หัวจะสูงขึ้น และนำไปหักลบตามสูตรคณิตศาสตร์แล้ว ยิ่งเสียรังวัด

ยกตัวอย่างคือ นำตัวเลขผู้ออกมาใช้สิทธิมาเป็นตัวตั้ง 40 ล้านเสียง หารด้วยจำนวน ส.ส. 500 ที่นั่ง เท่ากับ 80,000 เสียงได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน

กรณีที่พรรคเพื่อไทย หากยังได้สัดส่วนมากที่สุดเหมือนเดิม ที่ 15 ล้านเสียง ได้ ส.ส.เต็มตุ่ม 187 ที่นั่ง แต่จากเงื่อนไขสารพัดข้างต้น ให้เครดิตแชมป์ด้วยคะแนนรวมมากที่สุดแล้ว 10 ล้านเสียง จะมีฐานคะแนน “พึงมี” เต็มตุ่มแค่ 125 ที่นั่งทั้ง 2 ระบบ

“เพื่อไทย” จึงฮั้วพื้นที่กับ “ไทยรักษาชาติ” ส่ง ส.ส.เขต 250 เขต บัญชีรายชื่อ 97 คน

ขณะที่ “ทษช.” ที่จะเก็บแต้มบัญชีรายชื่อ ส่ง ส.ส.เขต 174 เขต บัญชีรายชื่อ 108 คน หลายเขตเลือกตั้งไม่มีผู้สมัคร 2 พรรคทับซ้อน โดยมุ่งหวังว่า เพื่อไทยได้ ส.ส.เขต ไทยรักษาชาติโกยที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์ไม่ใช่น้อยๆ

อย่างไรก็ตาม “กฎเหล็ก” แห่งมาตรา 91 “พรรคอื่น” ก็โดนสกัดจุดกันถ้วนหน้า

ไม่ละเว้นแม้ “พรรคประชาธิปัตย์” ที่ศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ได้เสียงสนับสนุนมา 11.4 ล้านเสียง

รอบใหม่ ไม่น่าจะรักษาฟอร์มเดิมเอาไว้ได้ สมมุติว่าได้มา 8 ล้านเสียง ปชป.จะได้คะแนนพึงมีไม่เกิน 100 ที่นั่ง

“พรรคพลังประชารัฐ” ก็หนักไม่น้อย วัดจากผลโพล หากได้ ส.ส.ระนาบใกล้เคียงกับ ปชป. คือไม่เกิน 100 ที่นั่ง และยิ่งได้ ส.ส.เขตเลือกตั้งมามากเท่าไหร่ บัญชีรายชื่อยิ่งน้อยลงอัตโนมัติ

ไปๆ มาๆ พรรคที่จะได้รับอานิสงส์จากรัฐธรรมนูญมาตรานี้มากที่สุด กลายเป็นพรรค “ขนาดกลาง” และ “ขนาดเล็ก”

ที่แน่ๆ สบช่องมากที่สุดคือ “พรรคอนาคตใหม่” กระแสร้อนแรงทุกภาค เกิดได้ ส.ส.เขตเลือกตั้งมา 2-3 ที่นั่ง และคาดว่าเสียงโดยรวมน่าจะวิ่งฉิว 3 ล้านเสียงขึ้น เท่ากับว่า ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรสูงถึง 30 กว่าเสียง

เช่นเดียวกับพรรคชาติไทยพัฒนาและชาติพัฒนา ที่ถูกลบหลู่ว่าเป็นพรรคขนาดเล็ก ไม้ประดับ แต่ทั้งสองพรรคที่พื้นที่เป้าหมายแน่นอน ได้ ส.ส.เขตเลือกตั้งมาพรรคละ 3-4 เสียง ได้แต้มรวม 1 ล้านก็ได้ที่นั่งไม่น้อยกว่าพรรคละ 12-15 ที่นั่ง

สบายกว่ากันเยอะเลย