การ์ตูนที่รัก : Gulliver’s Travels เมืองคนดี

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

GulliverstravelsposterGulliver”s Travels เป็นหนังการ์ตูนเก่าแก่ความยาว 76 นาที ออกฉายเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ปี 1939 สามวันก่อนคริสต์มาส สามเดือนหลังฮิตเลอร์บุกโปแลนด์

คือผลงานสร้างชื่อของ Fleischer Studios คู่แข่งสำคัญของดิสนีย์เวลานั้น อำนวยการสร้างโดย Max Fleischer กำกับฯ โดย Dave Fleischer สองพี่น้องเชื้อชาติยิวโปแลนด์ จากบทประพันธ์ Gulliver”s Travel หรือ การผจญภัยของกัลลิเวอร์ ของ Jonathan Swift

การผจญภัยของกัลลิเวอร์เป็นหนังสือที่เขียนมาตั้งแต่ปี 1726 โดยนักเขียนชาวไอริช โจนาธาน สวีฟต์ และได้รับความนิยมตั้งแต่แรก เล่าเรื่องศัลยแพทย์ Lemuel Gulliver ที่กลายเป็นกัปตันเรือเดินทางไปถึงดินแดนแปลกประหลาดห่างไกล 4 แห่ง

หนังสือมีอายุยืนยาวมาเกือบ 300 ปีย่อมมีเหตุผล เหตุผลหนึ่งคือนี่เป็นเรื่องราวสากล อันที่จริงมีผู้ทำนายไว้ตั้งแต่หนังสือออกใหม่แล้วว่าเรื่องนี้เป็นสากล ชาติไหนอ่านก็รับได้ ตรงกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตัวเอง บ้านตัวเอง บ้านเมืองตัวเอง ไม่ข้อใดข้อหนึ่งก็ทั้งหมด

เหมาะสำหรับอ่านยามบ้านเมืองยากลำบาก ทำอะไรไม่ได้ หนีไปโลกอื่นกันดีกว่า

การ์ตูนเล่าเรื่องเฉพาะภาคหนึ่ง คือ A Voyage to Lilliput ผจญภัยไปในลิลลีพุต ซึ่ง โจนาธาน สวีฟต์ ได้กำหนดไว้ว่าคือช่วงเวลาระหว่างวันที่ 4 พฤษภาคม 1699 ถึง 13 เมษายน 1702 หนังการ์ตูนจบลงเมื่อกัลลิเวอร์ตัวคนเดียวรวบสายสมอเรือรบทั้งกองของฝ่ายศัตรูพาดบ่าเดินออกไปกลางทะเลลึก เพื่อยับยั้งมิให้สองฝ่ายเข่นฆ่ากัน จากนั้นก็ออกเดินทางต่อไป

หนังการ์ตูนไม่เหมือนในหนังสือ แต่ดูสนุก

แม้ว่าจะรู้ตอนจบอยู่ก่อนแล้ว ตอนจบก็ยังน่าตื่นตาตื่นใจแม้ว่าจะสร้างมาตั้งแต่เกือบ 80 ปีแล้วก็ตาม

หนังออกฉายและประสบความสำเร็จทั้งคำชมและรายได้ เหมือน Snow White and Seven Dwarves ของดิสนีย์ที่ออกฉายไปก่อนเมื่อปี 1937

gullivertravel3

อย่างไรก็ตาม ไฟลเชอร์สตูดิโอพบมรสุมเศรษฐกิจและถูกพาราเมาท์ซื้อกิจการไปในปี 1941 ซึ่งเป็นปีที่ Bambi ของดิสนีย์ออกฉายและกวาดคำชมไปอีกรอบ

การ์ตูนเรื่องยาว สโนว์ไวต์ และ แบมบี ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมและสิ่งมหัศจรรย์แห่งยุคสมัย งานสร้างภาพที่ไหวพลิ้วและเสมือนจริงในหนังการ์ตูนสองเรื่องนี้ใช้สองมือและพู่กันบนแผ่นเซลล้วนๆ ไม่มีคอมพิวเตอร์ช่วยเลย

กัลลิเวอร์ของไฟลเชอร์นี้จะว่าไปก็เหมือนสโนว์ไวต์อยู่กลายๆ คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับสโนว์ไวต์มากกว่า มาดูกัลลิเวอร์ทีหลังก็จะรู้สึกว่าสู้ไม่ได้

ฉากในป่า สิงสาราสัตว์น่ารัก เจ้าชายเจ้าหญิงครวญเพลงรักหากันในอุทยาน ภาพเจ้าหญิงบนปราสาท ภาพเจ้าชายชะเง้อมองจากด้านล่าง แม้งานสร้างภาพจะไม่สวยสดงดงามเท่าสโนว์ไวต์ แต่ถือว่าดี

ในหนังการ์ตูน กัลลิเวอร์มีตัวเอกคือ แก๊บบี้ (Gabby) เป็นคนเดินเรื่อง แก๊บบี้เป็นชาวเมืองลิลลีพุตจอมพูดมาก เขาเป็นคนไปพบยักษ์นอนหมดสติที่ชายหาด จึงวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดป่าวประกาศไปตลอดทางผ่านยามเฝ้าพระราชวังเข้าไปถึงที่ประทับพระราชาเพื่อแจ้งข่าว

gulliverstravel

ข่าวการพบยักษ์นอนหมดสติที่ชายหาดนี้มาพร้อมกับข่าวมงคลงานพิธีสมรสระหว่างเจ้าหญิงกลอรีแห่งลิลลีพุตและเจ้าชายเดวิดแห่งเบลฟัสคู (blefuscu) พอดี แต่เคราะห์ร้าย พระราชาคิงบอมโบบิดาของเจ้าชายขัดแย้งกับพระราชาคิงลิตเติลแห่งลิลลีพุตเรื่องเพลงที่จะใช้ในวันแต่งงานถึงขั้นไม่เผาผี และเตรียมทำสงคราม

กัลลิเวอร์มานอนหมดสติถูกจังหวะแท้ๆ

เมื่อแก๊บบี้ตามชาวบ้านชาวเมืองมาดูกัลลิเวอร์ ฉากถัดมาน่าดูมาก แสดงให้เห็นวิศวกรรมและเครื่องไม้เครื่องมือในการขึงเชือกตรึงร่างกัลลิเวอร์ติดพื้นอย่างละเอียด เราเคยเห็นแต่ภาพนิ่งกัลลิเวอร์นอนหงายผมสยายถูกตอกติดพื้น และมีเชือกหลายสิบเส้นพาดผ่านลำตัว การ์ตูนเรื่องนี้ชวนให้หายสงสัยว่าชาวเมืองลิลลีพุตสูงไม่เกินหกนิ้วเหล่านี้ทำได้อย่างไร

gullivertravel4

กัลลิเวอร์เป็นสิ่งแปลกปลอมขนาดใหญ่ที่บุกรุกเข้ามาในบ้านเมืองสงบสุขของคนตัวเล็ก อะไรที่น่ากลัวเหล่านี้ต้องถูกกำจัดในทีแรกเสมอ ลำพังประเด็นนี้ประเด็นเดียวก็ถูกตีความซ้ำๆ จนกระทั่งนวนิยายมีอายุยืนยาวมานับร้อยปี

อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องคนตัวเล็กแห่งลิลลีพุต ด้วยขนาดสรีระที่เล็กทำให้พวกเขามองไปไม่ได้ไกลเท่าคนตัวใหญ่ยักษ์อย่างกัลลิเวอร์ พูดง่ายๆ ว่าวิสัยทัศน์สั้น

นอกจากแก๊บบี้แล้ว ยังมีตัวการ์ตูนสนุกๆ อีก 3 ตัวคือ สนี้ก สนู้ป และ สนิตช์ (Sneak, Snoop & Snitch) ซึ่งพระราชาคิงแบมโบส่งมาเป็นสายลับ สามสายลับขโมยปืนของกัลลิเวอร์ไปได้ คือปืนยักษ์และกระสุนยักษ์ เตรียมการยิงยักษ์กัลลิเวอร์ให้ตาย

ถึงจุดไคลแมกซ์ของหนังในตอนท้าย

ไฟลเชอร์สตูดิโอคือเจ้าของ Popeye และ Betty Boop ตั้งใจจะสร้างการ์ตูนเรื่องยาวแต่พาราเมาท์ไม่อนุมัติจนกระทั่งดิสนีย์ฉายสโนว์ไวต์ก่อนคริสต์มาสปี 1937 จึงได้รับไฟเขียว แต่ก็ด้วยระยะเวลาทำงานเพียง 1 ใน 3 ของสโนว์ไวต์เพื่อให้ออกฉายทันคริสต์มาสปี 1939

มองในแง่นี้ ลิลลีพุตวิสัยทัศน์สั้นกว่าจริง นอกจากมองถนนไม่ไกลแล้วยังมองอนาคตไม่เห็นอีกด้วย

บ้านเรามีฉบับแปลไทยโดย อาษา ขอจิตต์เมตต์

“แต่ธรรมชาติปรับนัยน์ตาของชาวลิลลีพุตให้เห็นสิ่งที่เหมาะสมทุกอย่างชัดเจน หากไม่สามารถมองได้ไกล”

และอีกตอนหนึ่ง

“ในการเลือกคนเข้าทำราชการทุกชนิด เขาเหล่านี้ถือว่าผู้มีศีลธรรมดีมีความสำคัญกว่าความสามารถแม้จะมากมายสักเพียงใด”

นี่คือ ลิลลีพุต บ้านเมืองที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรเลยแม้กระทั่งวิธีตอกไข่และพร้อมทำสงครามเพื่ออนุรักษ์วิธีการตอกไข่

ไม่น่าแปลกใจที่หนังสือเล่มนี้อายุเกือบสามร้อยปีแล้วยังอ่านได้