การศึกษา : มหา’ลัยไทยตกอันดับโลก เพราะ ‘ไม่พัฒนา หรือถูกโจมตี’??

การศึกษา

มหา’ลัยไทยตกอันดับโลก

เพราะ ‘ไม่พัฒนา หรือถูกโจมตี’??

 

กลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์กันพอหอมปากหอมคอ เกี่ยวกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ประจำปี 2019 โดย QS World University Rankings

ซึ่งมหาวิทยาลัยที่ครองอันดับ 1 ของโลกในปีนี้ ยังคงเป็น MASSACHUSETTS INSTITUTE OF TECHNOLOGY (MIT) สหรัฐอเมริกา

อันดับ 2 STANFORD UNIVERSITY สหรัฐ

อันดับ 3 HARVARD UNIVERSITY สหรัฐ

อันดับ 4 CALIFORNIA INSTITUTE OF TECHNOLOGY (CALTECH) สหรัฐ

อันดับ 5 UNIVERSITY OF OXFORD อังกฤษ

อันดับ 6 UNIVERSITY OF CAMBRIDGE สหรัฐ

อันดับ 7 ETH ZURICH (SWISS FEDERAL INSTITUTE OF TECHNOLOGY) สวิตเซอร์แลนด์

อันดับ 8 IMPERIAL COLLEGE LONDON

อันดับ 9 UNIVERSITY OF CHICAGO สหรัฐ

และอันดับ 10 UNIVERSITY COLLEGE LONDON (UCL) อังกฤษ

 

ส่วนมหาวิทยาลัยไทยที่ติดอยู่ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของ QS World University Rankings ในปีนี้ มีจำนวน 8 แห่ง เรียงตามลำดับ ดังนี้

อันดับ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับที่ 271 ของโลก

อันดับ 2 มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) อันดับที่ 380 ของโลก

อันดับ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) อันดับที่ 624 ของโลก

อันดับ 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) อันดับที่ 656 ของโลก

อันดับ 5 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) อันดับที่ 848 ของโลก

อันดับ 6 มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) อันดับที่ 850 ของโลก

อันดับ 7 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อันดับที่ 852 ของโลก

และอันดับ 8 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) อันดับที่ 876 ของโลก

โดย QS World University Rankings ได้ใช้ตัวชี้วัด 5 ปัจจัย และน้ำหนักที่แตกต่างกันไป ได้แก่

  1. ความน่าเชื่อถือทางด้านวิชาการ (Academic reputation) 40%
  2. ทัศนคติของนายจ้าง (Employer reputation) 10%
  3. สัดส่วนจำนวนนักศึกษาต่ออาจารย์ (Student-to-faculty ratio) 20%
  4. สัดส่วนจำนวนผลงานวิจัยที่ถูกนำไปใช้อ้างอิง (Citations per faculty) 20%

และ 5. สัดส่วนจำนวนอาจารย์ต่างชาติ (International faculty ratio) 5% และสัดส่วนจำนวนนักศึกษาต่างชาติ (International student ratio) 5%

ซึ่งผลการจัดอันดับในปีนี้ มหาวิทยาลัยไทยแทบทุกแห่งมีอันดับ “ลดลง” จากปีที่ผ่านมา

ประเด็นนี้ ดร.เพทาย เย็นจิตโสมนัส ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงพัฒนาการของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ว่า

“ในขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วโลกเขาพัฒนาเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว มหาวิทยาลัยของไทยก็พัฒนาเหมือนกัน แต่พัฒนา หรือเจริญขึ้นอย่างช้าๆ แต่เขาพัฒนา หรือเจริญขึ้นตามอัตราปกติ แต่มหาวิทยาลัยไทยไม่พัฒนา อันดับของเราก็จะตกลงทุกๆ ปี อย่างที่เป็นติดต่อกันหลายปีมาแล้ว เรื่องนี้ถ้าประเทศไทยอยากจะรู้อย่างแน่ชัด และพร้อมทั้งมีหลักฐาน รัฐบาลก็สามารถจะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เก็บข้อมูลที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดอันดับมาวิเคราะห์ สามารถจะดูแนวโน้ม และทำนายล่วงหน้าก่อนได้”

เรียกว่าวิจารณ์ได้ “ตรงใจ” ใครหลายๆ คนเลยทีเดียว!!

 

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปดูผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ของ QS World University Rankings ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะพบว่าอันดับของมหาวิทยาลัยไทย ขยับขึ้นๆ ลงๆ ไม่กี่อันดับ เพียงแต่ปีล่าสุด มหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งมีอันดับที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

โดยการจัดอันดับในปี 2017-2018 จุฬาฯ อยู่อันดับ 245 ของโลก มม.อันดับ 334 ของโลก มช.อันดับ 551-600 ของโลก มธ.อันดับ 601-650 ของโลก มก.อันดับ 751-800 ของโลก และ มจธ., มข., ม.อ.อันดับ 801-1,000 ของโลก ตามลำดับ

ปี 2516-2517 จุฬาฯ อยู่อันดับ 252 มม.อันดับ 283 มช.อันดับ 551-600 มธ.อันดับ 601-650 มก.อันดับ 601-650 และ มข., มจธ., ม.อ.อันดับ 701+

ส่วนปี 2015-2016 จุฬาฯ อันดับ 253 มม.อันดับ 295 มช.อันดับ 551-600 มธ.อันดับ 601-650 มก.อันดับ 651-700 และ มข., มจธ., ม.อ.อันดับ 701+

ขณะที่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในปีล่าสุดของอีกหน่วยงาน คือ Times Higher Education World University Rankings 2019 ของ Times Higher Education มีมหาวิทยาลัยไทยติดอันดับเพิ่มขึ้น จากเดิม 10 แห่ง เพิ่มเป็น 14 แห่ง ได้แก่ มม.อันดับ 601-800 มช., จุฬาฯ, มจธ., มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) อันดับ 801-1,000 และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.), มก., มข., มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.), มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.), มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว), ม.อ., มธ.อันดับ 1,001+

หากย้อนกลับไปปี 2018 มม.อันดับ 501-600 จุฬาฯ, มจธ., มทส.อันดับ 601-800 มช., มก., มข., สจล., ม.อ.อันดับ 801-1,000 มจพ.อันดับ 1,001+

ปี 2016-2017 มม.อันดับ 501-600 มช., จุฬาฯ, มจธ., มทส.อันดับ 601-800 และ มก., มข., สจล.อันดับ 801+

และปี 2015-2016 มม.อันดับ 501-600 มช., จุฬาฯ, มจธ., มทส., มข.อันดับ 601-800

จะเห็นว่า มม.จากเดิมที่อยู่ในอันดับ 501-600 ลดลงไปอยู่ในอันดับ 601-800 ขณะที่จุฬาฯ, มจธ., มทส.ที่เคยอยู่อันดับ 601-800 ก็ลดลงไปอยู่อันดับ 801-1,001 เช่นกัน ส่วน มก., มข., สจล., ม.อ.จากอันดับ 801-1,001 ลดลงไปอยู่อันดับ 1,001+

ซึ่งผลการจัดอันดับของทั้ง 2 หน่วยงาน ได้ข้อมูลที่เป็นไปในแนวทางที่สอดคล้องกัน คือมหาวิทยาลัยไทยหลายๆ แห่ง มีอันดับลดลงอย่างต่อเนื่อง!!

 

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุว่า เท่าที่ดูการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของหลายองค์กร มหาวิทยาลัยไทยก็ไม่ได้แย่ แต่วิธีประเมินอาจจะไม่สอดคล้อง ทั้งงานวิจัย การนำไปใช้ และการเรียนการสอน ที่ไปสอบถามจากผู้ใช้บัณฑิต อีกทั้งไทยมีการโจมตีเรื่องการศึกษาตลอดเวลา

ดังนั้น เมื่อมีการสอบถาม ก็เป็นไปได้ที่จะต่อว่าระบบการศึกษาของตัวเอง ขณะที่ในต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย ที่อันดับโลกกระโดดขึ้นเร็ว นั่นเป็นเพราะมาเลเซียเร่งพัฒนามหาวิทยาลัยให้ตรงกับหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานจัดอันดับกำหนด

ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติมองว่า ต่างประเทศเดิมเกมค่อนข้างดี ขณะที่มหาวิทยาลัยไทยมีหลายอย่างที่พัฒนาให้ทันสมัยขึ้น อย่างจุฬาฯ หรือ มม.ที่ต่างประเทศรู้ว่ามีศักยภาพ แต่ในการประเมินบางจุด กลับต่ำลง ซึ่งต้องไปแก้ไข

ด้านนายศักรินทร์ ภูมิรัตน อดีตอธิการบดี มจธ.กล่าวว่า ที่มหาวิทยาลัยอันดับลดลง เกิดจากหลายสาเหตุ แต่โดยภาพรวมมหาวิทยาลัยไทยดีขึ้น แต่อาจดีขึ้นช้ากว่าคนอื่น เพราะตัวชี้วัดส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการผลิตผลงานวิจัยที่ได้รับการจดสิทธิบัตร หรือตีพิมพ์ในระดับสากล ซึ่งต้องยอมรับว่าไทยเติบโตช้า ไม่ทันมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในโลก ขณะที่มหาวิทยาลัยในหลายประเทศ เตรียมพร้อม และปรับตัวเพื่อเข้ารับการประเมินในการจัดอันดับโลก มีการลงทุนกับตัวชี้วัดที่ใช้ในการประเมิน และไม่ใช่เฉพาะเรื่องงานวิจัย หรือผลงานทางวิชาการที่ตีพิมพ์เท่านั้น แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย

โดยประเทศที่อันดับโลกแซงหน้าไทยอย่างเห็นได้ชัด คือ จีน และมาเลเซีย

ขณะที่ น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีฝ่ายบริหารคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มก.กล่าวว่า เกณฑ์บางอย่างในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของ QS World University Rankings ไม่เหมาะสมกับไทย โดยเฉพาะผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในระดับสากล หรือจำนวนนักศึกษานานาชาติ

เพราะไทยไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน รวมถึงมีปัจจัยอื่นๆ อีก ที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนามหาวิทยาลัย รวมถึงงบฯ ที่ใช้พัฒนาในส่วนนี้ อาจจะยังไม่เพียงพอ

 

ปิดท้ายที่ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.มองว่า มหาวิทยาลัยไทยมีผลงานค่อนข้างดีพอสมควร แต่อาจจะยังไม่ตอบโจทย์เกณฑ์ประเมินที่ส่วนใหญ่จะกำหนดในเรื่องของผลงานทางวิชาการ หรืองานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ ซึ่งยอมรับว่ามหาวิทยาลัยไทยตีพิมพ์งานวิจัยในระดับสากลค่อนข้างน้อย และเป็นเรื่องที่ต้องเร่งพัฒนา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ

รอดูกันว่า การจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในครั้งต่อๆ ไป

มหาวิทยาลัยไทยจะเร่งสปีดเพื่อเพิ่มอันดับโลกได้หรือไม่!!