พิศณุ นิลกลัด : นักฟุตบอลกับสื่อยุคใหม่

พิศณุ นิลกลัด

เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา มาริโอ บาโลเตลลี่ กองหน้าคนดังของโอลิมปิก มาร์กเซย โชว์การฉลองประตูที่แปลกแหวกแนวตามประสาคนยุคโซเชียลด้วยการไลฟ์สดผ่าน Instagram ระหว่างเกมแข่งขันลีกสูงสุดของฝรั่งเศส ซึ่งบาโลเตลลี่ช่วยให้ทีมชนะแซงต์-เอเตียน 2-0

บาโลเตลลี่ได้นัดแนะวางแผนกับนักข่าวประจำทีมโอลิมปิก มาร์กเซย ที่เขาฝากโทรศัพท์มือถือเอาไว้และบอกให้ยืนอยู่หลังประตู เตรียมโทรศัพท์มือถือให้พร้อมหากเขาทำประตู

บาโลเตลลี่มียอดผู้ติดตามทาง Instagram กว่า 8.5 ล้านคน ซึ่งเขาได้โพสต์คลิปไลฟ์สดลง Instagram อีกรอบ และมียอดวิวกว่า 3 ล้านวิว

 

สมัยนี้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือที่สำคัญของนักฟุตบอลในการเพิ่มฐานแฟนและสร้างปฏิสัมพันธ์กับแฟนฟุตบอลทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการบอกเล่าชีวิตส่วนตัว หรือใช้เป็นพื้นที่โฆษณาให้กับสปอนเซอร์ผ่าน Instagram และ Facebook ซึ่งแต่ละเว็บก็มีลูกเล่นและจุดเด่นที่แตกต่างกันไป

เมื่อปีที่แล้ว จากการศึกษาของ Pitchside ซึ่งเป็นเอเยนซี่ด้านการตลาดออนไลน์ พบว่านักฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก ชอบเล่น Instagram มากกว่า Facebook

จากการสำรวจนักฟุตบอลพรีเมียร์ลีก จำนวน 400 คน มี 91% ที่ใช้งาน Instagram เป็นประจำ และมียอดผู้ติดตามโดยเฉลี่ยจำนวน 900,000 คน

ส่วนใน Facebook มีนักฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเพียงแค่ 59% เท่านั้นที่มีเพจทางการของตัวเอง

 

ปอล ป็อกบา กองกลางของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มียอดผู้ติดตามใน Instagram มากที่สุดในพรีเมียร์ลีก จำนวน 33.5 ล้านคน ซึ่งยอดผู้ติดตามป็อกบาใน Instagram มากกว่ายอดผู้ติดตามสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้นสังกัดของเขาซะอีก (จำนวน 26.8 ล้านคน)

เมื่อนักฟุตบอลกลายเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงด้วยตัวของเขาเอง การมีผู้เล่นชื่อดังในทีมก็ช่วยสร้างประโยชน์ได้มากมายมหาศาล ดึงดูดสปอนเซอร์รายใหญ่ให้มาสนับสนุนทีม

ในเวลาเดียวกัน การที่นักเตะมีฐานแฟนขนาดใหญ่คอยติดตามไม่ว่าเขาจะย้ายไปอยู่ทีมไหน ทำให้นักเตะมีอิทธิพลเหนือสโมสรต้นสังกัดเวลาเจรจาต่อรองค่าเหนื่อยเพื่อรั้งตัวให้เขาอยู่กับทีมนานๆ

แต่ในกรณีของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดกับป็อกบา แม้ค่าตัวและค่าเหนื่อยจะแพงมาก ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะชื่อของป็อกบาสามารถดึงดูดรายได้เข้าสโมสรได้มากกว่าแค่การขายเสื้อทีมหมายเลข 6 ที่เขาสวมลงสนามเพียงอย่างเดียว

 

ทว่าการมีจำนวนผู้ติดตามในโซเชียลมีเดียมากมายก็ไม่ได้ช่วยให้ทีมคว้าแชมป์ เพราะทีมแชมป์พรีเมียร์ลีกฤดูกาลที่ผ่านมาอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ มีเซร์คิโอ อเกวโร กองหน้าอาร์เจนตินา เป็นดาวซัลโวของทีม มีผู้ติดตามใน Instagram 11 ล้านคน น้อยกว่าป็อกบาถึง 22 ล้านคน

เช่นเดียวกับในฤดูกาล 2015-2016 ที่เลสเตอร์ ซิตี้ คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกแบบโลกตะลึง กองหน้าดาวซัลโวของทีมคือ เจมี่ วาร์ดี้ ตอนนั้นมีผู้ติดตามใน Instagram เพียงแค่ 895,000 คน แต่เขายิงไป 24 ประตู พาเลสเตอร์คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกเป็นหนแรกในประวัติศาสตร์ ปัจจุบันยังมีผู้ติดตามไม่ถึง 1 ล้านคน

ชื่อเสียงของนักเตะดังๆ อาจมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ในสื่อโซเชียลมีเดียนอกสนาม และทำให้สโมสรได้รับประโยชน์รายได้มากมาย

แต่สุดท้ายแล้วคุณค่าของสโมสรจริงๆ อยู่ที่จำนวนถ้วยแชมป์ที่ประดับในตู้โชว์ ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันเป็นทีมของนักเตะ

ดังนั้น ทีมจึงยังมีความสำคัญมากกว่านักเตะคนใดคนหนึ่ง ไม่ว่านักเตะคนนั้นจะมีชื่อเสียงและมีผู้ติดตามในโซเชียลมากมายเพียงใด