เศรษฐกิจ/รัฐรับมือภัยแล้ง ’62 หนักสุด 30 ปี เศรษฐกิจพัง 1.53 หมื่นล้าน มั่นใจ ‘เอาอยู่’ น้ำพอใช้ถึงหน้าฝน?

เศรษฐกิจ

รัฐรับมือภัยแล้ง ’62 หนักสุด 30 ปี

เศรษฐกิจพัง 1.53 หมื่นล้าน

มั่นใจ ‘เอาอยู่’ น้ำพอใช้ถึงหน้าฝน?

 

จากความผันผวนของสภาพอากาศภายในประเทศ ทำให้ในหลายพื้นที่ต้องประสบปัญหาภัยแล้งที่มาเยือนเร็วกว่าปกติ

จากอุณหภูมิที่ร้อนทำให้เกิดการระเหยของน้ำที่บางแห่งมีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% แล้ว จนเริ่มรู้สึกกันว่าแหล่งน้ำจะมีน้ำพอใช้จนถึงสิ้นฤดูแล้งหรือไม่

ลองมาดูสถานการณ์น้ำในแม่น้ำทุกภาคล่าสุด พบว่ามีปริมาณน้ำน้อยและปกติ ดังนี้

แม่น้ำเจ้าพระยา อ.เมือง จ.นครสวรรค์ อัตราการไหลผ่าน 293 ลูกบาศก์เมตร/วินาที อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อัตราการไหลผ่าน 70 ลูกบาศก์เมตร/วินาที

แม่น้ำชี อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ อัตราการไหลผ่าน 0.00 ลูกบาศก์เมตร/วินาที อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร อัตราการไหลผ่าน 3.40 ลูกบาศก์เมตร/วินาที

แม่น้ำมูล อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา อัตราการไหลผ่าน 0.84 ลูกบาศก์เมตร/วินาที

แม่น้ำแม่กลอง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี อัตราการไหลผ่าน 96 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แนวโน้มลดลง

ส่วนแม่น้ำโขงตั้งแต่บริเวณ จ.เชียงราย จ.นครพนม ถึง จ.อุบลราชธานี ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 9.03 เมตร หรือลดลง 0.02 เมตร, 9.18 หรือลดลง 0.11 เมตร และ 11.19 เมตร หรือลดลง 0.12 ตามลำดับ

 

ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำ 46,606 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 66% ปริมาณน้ำใช้การ 23,063 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 49% อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีจำนวน 419 แห่ง มีปริมาณน้ำ 2,856 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 51% ปริมาณน้ำใช้การ 2,431 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 47%

อ่างที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% ของความจุ ได้แก่ ขนาดใหญ่ ภาคเหนือ 1 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง ขนาดกลาง 44 แห่ง อ่างที่มีน้ำระหว่าง 50-80% ของความจุ ขนาดใหญ่มี 16 แห่ง ขนาดกลาง 158 แห่ง

อ่างที่มีปริมาณน้ำระหว่าง 30-50% ของปริมาณน้ำใช้การ ได้แก่ ขนาดใหญ่ 14 แห่ง คือเขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แม่กวงอุดมธารา แควน้อยบำรุงแดน ป่าสักชลสิทธิ์ น้ำอูน จุฬาภรณ์ ลำปาว ลำพระเพลิง มูลบน ลำแซะ ขุนด่านปราการชล คลองสียัด บางพระ และขนาดกลาง 115 แห่ง

ส่วนอ่างที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ ประกอบด้วย ขนาดใหญ่ ภาคเหนือ 1 แห่ง ได้แก่ แม่มอก เหลือน้ำ 26 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 28% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 แห่ง ได้แก่ อุบลรัตน์ 84 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 5% สิรินธร 113 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 10% ลำนางรอง 34 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 29% ห้วยหลวง 35 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 27% ภาคกลาง 2 แห่ง ได้แก่ ทับเสลา 23 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 16% และกระเสียว 26 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 10% ส่วนขนาดกลาง มีจำนวน 95 แห่ง ประกอบด้วย ภาคเหนือ 5 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 75 แห่ง ภาคกลาง 13 แห่ง ภาคใต้ 2 แห่ง เพิ่มขึ้นจากวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562 จำนวน 3 แห่ง

ถ้าจะถามถึงหน่วยงานรัฐที่มีส่วนในการดูแลและพัฒนาแหล่งน้ำอย่างกรมชลประทาน ยังคงเสียงดังฟังชัดว่าฤดูแล้งนี้น้ำมีใช้เพียงพอสำหรับอุปโภค บริโภค, เพื่อรักษาระบบนิเวศ, เพื่อการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม จนถึงสิ้นฤดูแล้งในวันที่ 30 เมษายนนี้แน่นอน

และหลังจากนั้น หากในบางพื้นที่มีความต้องการใช้น้ำ กรมชลฯ จะนำน้ำที่สำรองไว้ในเขตชลประทานกว่า 20,000 ล้านลูกบาศก์เมตร มาช่วยเหลือประชาชนต่อไป โดยคาดว่าในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน

 

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษากรมชลประทาน ได้กล่าวถึงการดูแลในส่วนของพื้นที่นอกเขตชลประทานว่า มาตรการช่วยเหลือในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ได้มีคำสั่งจากนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้นำเครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ ไปประจำอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ที่คาดว่าจะประสบปัญหาภัยแล้ง พร้อมสั่งการให้ชลประทานจังหวัด เกษตรจังหวัด และกรมพัฒนาที่ดิน ลงพื้นที่ไปสำรวจความต้องการใช้น้ำ พร้อมตรวจสอบว่ามีพื้นที่ไหนเข้าข่ายวิกฤตแล้วบ้าง เพื่อที่จะนำเครื่องมือ พร้อมเจ้าหน้าที่ไปช่วยเหลือทันที

แม้กรมชลฯ ออกมายืนยันหนักแน่นว่าพร้อมรับมือ แต่ยังมีหลายฝ่ายกังวลอยู่ไม่น้อยด้วยเพราะสถิติปีนี้พบว่าประเทศไทยจะเจอภาวะแล้งหนักสุดในรอบ 30 ปี ด้วยอิทธิของเอลนิโญ!

อย่างไรก็ตาม หลังภาครัฐตรวจสอบและพิเคราะห์แล้วพบว่าฤดูแล้งปีนี้ยังไม่รุนแรงเท่าปี 2557 จากปัจจัยในส่วนของปริมาณน้ำฝนสะสมทั้งประเทศในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561-28 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ปรากฏการณ์เอลนิโญกำลังอ่อนจะยังคงต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายนนี้ และเข้าสู่สภาวะเป็นกลางช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2562

ส่งผลให้เดือนเมษายนนี้จะมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติ 10-20% และคาดว่าปริมาณฝนจะกลับมามีค่าใกล้เคียงปกติในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม

ซึ่งกรมอุตุฯ คาดการณ์ว่าจะสามารถเริ่มฤดูเพาะปลูกของปีนี้ได้หลังจากพ้นช่วงเวลาดังกล่าว

 

ฟากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ทั้งการอุปโภค บริโภค, การเกษตร และอุตสาหกรรม ล่าสุด 17 จังหวัดกระจายอยู่ทุกภาคของประเทศ ยกเว้นภาคใต้ โดยมี 9 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงที่อยู่ภายใต้การให้บริการของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จึงมอบหมายให้ กปภ.จัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบแหล่งน้ำ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำต้นทุนใน 17 จังหวัดเสี่ยงดังกล่าว จึงวางมาตรการรองรับในแต่ละหน่วยสาขาบริการไว้แล้ว รวมถึงให้ กปภ.ตรวจสอบพื้นที่เพิ่มเติมไปยังแหล่งท่องเที่ยวตามเกาะต่างๆ ของประเทศด้วยว่ามีปัญหาหรือไม่ เพื่อให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไป

จากการคาดการณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มองว่าฤดูแล้งในปีนี้อาจไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนมากนัก เนื่องจากภาครัฐเตรียมแผนรับมือไว้แล้วอย่างที่เอ่ยมาข้างต้น

 

แต่กระนั้นก็ดี ประชาชนในหลายพื้นที่ยังไม่มั่นใจเพราะ ณ ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากภัยแล้งแล้ว ปัญหาหนึ่งเกิดจากเกษตรกรบางส่วนทำผิดข้อตกลง ยังคงปลูกข้าวทั้งที่ภาครัฐประชาสัมพันธ์เป็นระยะๆ ขอความร่วมมืองดทำนาในช่วงหน้าแล้ง ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือหรือชดเชยกรณีพืชไร่เสียหาย เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่พอใช้ได้ในระยะยาวเพียงพอกับช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ฤดูฝน

และที่สำคัญได้ส่งผลถึงเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย โดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินเบื้องต้นต่อผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้อาจทำให้เกิดมูลค่าความสูญเสียด้านเศรษฐกิจราว 15,300 บาท หรือคิดเป็น 0.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี เนื่องจากพืชสำคัญอย่างข้าว และอ้อยได้รับความเสียหาย ผลผลิตออกน้อยกว่าที่คาดไว้ แต่ไม่ได้ทำให้ราคาดีขึ้นแต่อย่างไร

หลังจากนี้คงต้องติดตามกันต่อว่าการประคองสถานการณ์ของภาครัฐในครั้งนี้จะประสบผลหรือไม่ เพราะเคยมีบทเรียนเมื่อปี 2554 ขนาดผู้นำของประเทศยืนยันหนักแน่น “เอาอยู่” ที่สุดก็ต้านทานความรุนแรงของมหาอุทกภัยครั้งนั้นไม่ได้

แต่ครั้งนี้เพียงลำพังภัยทางธรรมชาติก็ว่าหนักหน่วงแล้ว แต่ภัยที่เกิดจากน้ำมือของคนในประเทศ กักตุนน้ำไว้ใช้เพื่อประโยชน์ของตนโดยไม่สนใจว่าส่วนรวมจะเจอปัญหาอะไรบ้าง

ต่อให้วางมาตรการดีแค่ไหน ก็คงเหนื่อยเพิ่มเป็นเท่าตัว และความเสียหายทางเศรษฐกิจก็คงไม่หยุดแค่ 15,300 ล้านบาท เป็นแน่!!