บทวิเคราะห์/ ไปให้สุด แล้วหยุด ที่ ลุงตู่

ในประเทศ

ไปให้สุด

แล้วหยุด

ที่ ลุงตู่

“ไปให้สุด แล้วหยุดที่ลุงตู่”

เจ้าของแคปชั่นที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กนี้

คือ “นก-สินจัย เปล่งพานิช” ดาราที่เป็นติ่งสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างเปิดเผยต่อเนื่องยาวนาน

โดยเมื่อเธอไปรับหน้าที่พิธีกรในรายการศาสตร์พระราชา ที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2562

ได้ถือโอกาสโพสต์ภาพที่ถ่ายเซลฟี่ร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ ผ่าน IG ชื่อ noksinjai โดยระบุพิกัดที่โรงเรียนกำเนิดวิทย์ และสถาบันวิทยสิรินเมธี ปตท. จังหวัดระยอง

พร้อมแคปชั่นว่า “ไปให้สุด แล้วหยุดที่ลุงตู่ รายการศาสตร์พระราชา ศุกร์นี้”

แสดงความเหนียวแน่นในการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์อย่างเต็มที่

แต่หลังจากนั้น อาจมีใครขัดต้องขัดใจบ้าง

เพราะการปลุกไปให้สุด และหยุดที่ลุงตู่นั้น

เกิดอาการสะดุด เมื่อมีกระแส “หยุดลุงตู่” เกิดขึ้นมาสอดแทรกแทน

และดูจะอึกทึกครึกโครมไม่น้อย

 

เพราะผู้ที่จุดพลุ กระแส “หยุดลุงตู่” ขึ้นมา คือหัวหน้าพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

โดยถือเป็น “ไพ่ตาย” ที่ทิ้งออกมาในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง เพื่อเรียกเสียงสนับสนุนจากแฟนพันธุ์แท้ ด้วยการยืนหยัดบนเส้นทางประชาธิปไตย

ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์

ขณะเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ไม่พอใจกับวาทะ “เลอะเทอะ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อกล่าวถึงนโยบายเปิดเสรีกัญชา นโยบายเด่นของพรรคภูมิใจไทย

“ทำได้หรือไม่ได้ เป็นเรื่องของท่าน แต่ภูมิใจไทยจะทำแบบนี้และทำให้ได้ สำหรับพรรคที่อยากได้เราเข้าไปร่วมรัฐบาล ต้องช่วยผลักดันนโยบายของพรรคภูมิใจไทย ถ้าทุกคนสนับสนุนนโยบายกันและกัน ประชาชนได้ประโยชน์ ดังนั้น อย่าไปคาดการณ์ว่าพรรคจะไปร่วมกับใคร ให้รอดูผลก่อน เราอาจจะเป็นฝ่ายค้านก็ได้”

พร้อมกับแนะนำ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า “พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต้องวางตัวเป็นกลาง ภูมิใจไทยเป็นพรรคการเมือง ต้องหาเสียงเลือกตั้ง เราต้องยึดหลักการประชาธิปไตย ใครจะเป็นนายกฯ ก็ได้ ขอให้เป็นการเลือกโดย ส.ส. ไม่ใช่เอาคนที่ไม่ได้มาจากประชาชนมาเลือก หลักของพรรคภูมิใจไทยคือ เคารพกติกา และอย่าเอาเปรียบกัน” นายอนุทินกล่าว

แม้จะรุนแรงเด็ดขาด ไม่เท่า “ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์” อย่างนายอภิสิทธิ์

แต่ท่าทีของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งถูกมองว่า “ผูกปิ่นโต” จะเข้าร่วมรัฐบาลในทุกเงื่อนไข อาจจะไม่จริงเสียแล้ว

 

ท่าทีของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ต้องถือว่า “แปลก”

แปลก เพราะก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ถูกมองว่า แข็งแกร่ง และมากด้วยเงื่อนไข การสนับสนุนให้สืบทอดอำนาจต่อไป

โดยเฉพาะท่าทีจากกองทัพ ที่แทบจะกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน

ท่าทีที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แสดงออก โดยเฉพาะการแสดงความไม่พอใจพรรคการเมืองที่บังอาจมาแตะต้องกองทัพ

ล้วนส่งผลดีต่อ พล.อ.ประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐ

เพราะพรรคการเมืองที่กองทัพไม่พอใจถึงขนาดไล่ให้ไปฟังเพลง “หนักแผ่นดิน”

เป็นฝ่ายพรรคตระกูล “เพื่อ” ที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ทั้งสิ้น

 

และยิ่งกว่านั้น เมื่อมีคนของกองทัพที่ถูกส่งไปติดตามความเคลื่อนไหวของนักการเมือง เกิดปัญหากระทบกระทั่งกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ก็โชว์ “เล่นใหญ่”

ด้วยการนำผู้บังคับหน่วยระดับกองพัน ผู้บังคับการกรม ผู้บัญชาการกองพล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบก ทั่วประเทศ กว่า 700 นายกล่าวคำปฏิญาณตน และถวายบังคมต่อหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 ณ หน้าหอประชุมกิตติขจร กองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 7 มีนาคม

โดยอ้างเหตุผล เพื่อแสดงออกถึงการทำหน้าที่ทหารในการรักษากองบัญชาการกองทัพบก

ภาพ ผบ.ทบ.ได้คุกเข่า พร้อมนำกล่าวคำปฏิญาณตน ด้วยน้ำเสียงดังฟังชัดกึกก้องไปทั่วบริเวณ ด้วยตนเองว่า “ข้าพระพุทธเจ้า จักรักษามรดกของพระองค์ท่านไว้ด้วยชีวิต” 3 ครั้ง

จากนั้น พล.อ.อภิรัชต์ให้กำลังพลกล่าวคำปฏิญาณตนตามที่ได้เตรียมไว้ว่า “ข้าพเจ้าจะรักษาไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้า เกียรติยศและศักดิ์ศรีของทหาร ข้าพเจ้าในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะสนับสนุนรัฐบาลที่ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความจงรักภักดี และมีธรรมาภิบาล ข้าพเจ้าจะดูแลช่วยเหลือ เป็นที่พึ่งของประชาชนในทุกโอกาส และจะปกครองดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาและครอบครัว ด้วยความเมตตาและเป็นธรรม” ด้วย

ยิ่งตอกย้ำชัดว่า กองทัพยืนอยู่เคียงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่พยายามโชว์ความเป็นรัฐบาลที่ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความจงรักภักดี และมีธรรมาภิบาลมาโดยตลอด

 

การมีกองทัพเป็นหลังพิงให้

ส่วนรัฐธรรมนูญ ที่ว่ากันว่า “เขาดีไซน์ไว้ให้เรา” ก็ไม่ต้องอธิบายอีกแล้วว่า เป็นผลดีกับใคร

และทำให้พรรคพลังประชารัฐ ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเสริมความชอบธรรมในการเดินต่อไปบนเส้นทางแห่งอำนาจ คึกคักขนาดไหน

ก็เป็นที่ทราบดีอยู่แล้ว

ภาวะที่แข็งแกร่งและเพียบพร้อมเช่นนี้ ไม่น่าจะมีอะไรมาทำให้ พล.อ.ประยุทธ์สะดุดอีกแล้ว

แต่ก็น่าสังเกตว่า ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งเท่าใด

ภาวะแข็งแกร่งและเพียบพร้อมดังกล่าว กลับไม่ได้ “ช่วย” อะไรมากนัก

มิหนำซ้ำผลการสำรวจของโพลหลายสำนัก แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นผู้นำอันโดดเด่น

แต่พรรคการเมืองที่ยังคงเหนียวแน่นอยู่ในความรู้สึกของชาวบ้าน กลับเป็นพรรคในตระกูล “เพื่อ” ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

และที่น่ากังวล พรรคการเมืองเหล่านี้ รวมถึงพรรคการเมืองใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่ กลับมีคะแนนดีวันดีคืน

ส่งสัญญาณว่าอาจจะตัดหนทางการสืบทอดอำนาจของ คสช.ผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ลำบากมากยิ่งขึ้น

ความแข็งแกร่ง ไม่ใช่สิ่งชี้ขาดเพียงประการเดียวว่าจะทำให้ “ชนะ” ได้

 

นี่เองที่ทำให้เราเห็น พล.อ.ประยุทธ์ปรับตัวในระยะโค้งสุดท้าย

ด้วยการลดภาพความแข็งกร้าว ดุ อารมณ์เสียบ่อยลง

มีการเผยแพร่ภาพที่แสดงออกถึงอิริยาบถผ่อนคลาย ออกมาผ่านโชเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง

มีการตอกย้ำว่า ลุงตู่ มากกว่า พล.อ.ประยุทธ์

และเมื่อปรากฏตัวต่อสาธารณะก็พยายามแสดงอารมณ์ดี ไม่หงุดหงิดง่าย

พล.อ.ประยุทธ์อธิบายที่ต้องทำเช่นนี้ว่า

“การเป็นนายกฯ ของประเทศนี้ ต้องไร้ความรู้สึก โมโหใครไม่ได้ วันนี้จึงลดบทบาทความเป็นทหารให้มากที่สุด ไม่ใช่เพื่อการเมือง แต่ผมก็ต้องห่วงสุขภาพตัวเอง ถ้าเครียดมากเดี๋ยวเป็นอะไรไปอีกก็จะลำบาก ครอบครัวก็จะลำบากไปด้วย”

ส่วนการปรับลุคตัวเองผ่านสังคมโซเชียลมีเดียนั้น นายกรัฐมนตรีบอกว่า

“หลายคนถ้ารู้จักผม จะรู้ว่าเวลาทำงานจะเป็นคนเอาจริงเอาจัง อาจไม่มีรอยยิ้มบ้าง แต่เวลาที่อิสระ อยู่กับเพื่อนฝูง โดยเฉพาะกับครอบครัว ผมเป็นคนตลก หลายคนก็พยายามทำว่านายกฯ เป็นคนตลก สามารถพูดตลกได้ และซีเรียสก็ได้ แต่ด้วยภาระหน้าที่ บางครั้งก็เปลี่ยนไม่ทัน ขอความเห็นใจบ้าง”

“ผมเป็นคนอารมณ์ดี หัวเราะ ยิ้มง่าย เว้นแต่สื่อจะสร้างภาพลักษณ์ของผมอย่างไร เวลาผมหน้ายิ้ม สื่อไม่ชอบนำเสนอ ชอบเวลาที่ผมหงุดหงิดชี้ไม้ชี้มือ คนก็มองว่ากลายเป็นเผด็จการ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวย้ำ

ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ พยายามสวนกระแสโดยชี้ว่า ขณะนี้พรรคพลังประชารัฐมีความนิยมสูงขึ้น เนื่องจากนโยบายที่ใหม่ ถูกใจประชาชนและทำได้จริง

ส่วนภาพของ พล.อ.ประยุทธ์นั้น นายสมศักดิ์ยอมรับว่า “ในช่วงแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามา เป็นช่วงที่ประเทศวุ่นวาย จึงต้องสร้างความสงบเรียบร้อยก่อน แต่หลังเลือกตั้ง ตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ เราจะเอา พล.อ.ประยุทธ์ คสช.และมาตรา 44 กลับไป แต่จะเอาลุงตู่กลับมา เอาความแข็งแกร่งของท่านมาดูแลเรื่องความมั่นคง ส่วนการบริหารด้านอื่นๆ จะเป็นนักการเมืองมืออาชีพที่ช่วยกัน”

 

ชัดแจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ปรับตัวด้วยการพยายามลดภาพความเป็นเผด็จการลง

แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าสายไปหรือไม่

และสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์แสดงออกถึงความเป็นผู้ชายธรรมดาๆ ก็ถูกมองว่า ไม่เป็นธรรมชาติ ดูไม่ใช่ตัวตนของ พล.อ.ประยุทธ์

แทนที่จะเป็นผลดี กลับเป็นภาพที่ดูไม่จริงใจมากกว่า

ยิ่งกว่านั้น เมื่อนายอภิสิทธิ์และนายอนุทินมาทิ้งไพ่ใบสุดท้าย “ไม่เอาลุงตู่”

ก็ยิ่งตอกย้ำว่าอาจจะสายไปจริงๆ

ที่คาดหมายว่าจะชิลๆ เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสบายๆ นั้น อาจจะไม่เป็นจริงเสียแล้ว

การชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กลายเป็นเรื่องของพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคอนาคตใหม่ ที่เสนอเข้ามาช่วงชิงกับ พล.อ.ประยุทธ์ ได้อย่างมีน้ำหนักขึ้น

ความฝันสวย-สวย แบบ “ไปให้สุด แล้วหยุดที่ลุงตู่”

อาจจะไม่ใช่เช่นนั้นแล้ว

เพราะกระแส “หยุดลุงตู่” ก่อตัวขึ้นมารุนแรง 2 สัปดาห์ก่อนเลือกตั้ง อย่างน่าจับตา