รายงานพิเศษ : คุยกับทูต ฆิลเบร์โต โมวร่า หม้อที่หลอมรวมความหลากหลาย… มหัศจรรย์บราซิล (2)

บราซิลเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศที่มีความหลากหลายมากที่สุด

เพราะเป็น “หม้อที่หลอมรวม” (melting pot) ความหลากหลายของเชื้อชาติที่มีประชากรกว่า 206 ล้านคนอย่างกลมกลืน

แต่ละมุมประเทศมีลักษณะวัฒนธรรมแตกต่างกันสิ้นเชิง

เรียกว่าเป็น “กล่องใหญ่ที่ใส่ของขวัญไว้สารพัน”

เพราะส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปและแอฟริกัน รวมทั้งชนพื้นเมืองและชนชาติอื่น เป็นผลมาจากศตวรรษแห่งการปกครองโดยชาวโปรตุเกส ซึ่งนำแรงงานแอฟริกันข้ามพรมแดนเข้ามาตั้งรกรากเพื่อเป็นทาสในการสร้างอาณานิคมในบราซิล ดินแดนที่มีบริเวณอันกว้างใหญ่ไพศาล

เกิดการขยายเผ่าพันธุ์ข้ามเชื้อชาติ

ทำให้ชาวบราซิลส่วนใหญ่มีเลือดผสม

ดังนั้น วัฒนธรรมบราซิลจึงมีรากเหง้าแอฟริกันอย่างเต็มเปี่ยมอันเป็นส่วนหนึ่งของทุกชีวิตในบราซิลไปแล้ว

 

เอกอัครราชทูตบราซิลประจำประเทศไทย นายฆิลเบร์โต โมวร่า เล่าต่อจากครั้งก่อนว่า

“ผมถูกส่งไปประจำยังต่างประเทศครั้งแรกขณะเป็นหนุ่มอายุเพียง 23 ปี เมื่อปี ค.ศ.1976 ณ กรุงเบอร์ลิน เยอรมนีตะวันออก ช่วงกลางของสงครามเย็น โดยพักอาศัยอยู่ไม่ห่างไกลจากกำแพงเบอร์ลิน อยู่ที่นี่เป็นเวลาสี่ปีทำให้สามารถพูดภาษาเยอรมันได้เพราะมีเพื่อนหลายคน”

“หลังจากนั้น ได้ย้ายไปประจำที่กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา อีกสามปีพร้อมกับศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยในแคนาดาด้วย แล้วมาประจำที่กรุงลาปาซ (La Paz) เมืองหลวงของโบลิเวีย ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับบราซิล”

“จากโบลิเวีย ได้ย้ายไปฝรั่งเศส โปแลนด์ และกลับไปฝรั่งเศสอีกครั้งในตำแหน่งผู้แทน ประจำองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) และรับตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษา (Minister-Counsellor) ประจำกรุงเบอร์ลินอีกวาระหนึ่ง”

“ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศสโลวีเนีย และประเทศไทยตามลำดับ”

 

“บราซิลกับไทยไม่ได้มีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์กันโดยตรง” ท่านทูตโมวร่า ขยายความ

“แต่ด้วยเหตุที่บราซิลเป็นส่วนหนึ่งของโปรตุเกสในยุคอาณานิคม คนบราซิลจึงพูดภาษาโปรตุเกส และโปรตุเกสมาตั้งรัฐบาลที่บราซิล”

โปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เดินทางเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยา เมื่อ ค.ศ.1511 ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เมื่อโปรตุเกสซึ่งรวมถึงบราซิลด้วยเข้ามาที่อยุธยา สินค้าที่นำมาขาย คือ ปืนใหญ่และปืนคาบศิลา รวมทั้งเทคนิควิธีการใช้ปืนตะวันตก ซึ่งจะนำมาสู่สถานะตำแหน่งทางราชการ คือ กรมทหารแม่นปืน

ต่อมา สามารถพัฒนาสถานภาพกลายเป็นทหารรักษาพระองค์ในประวัติศาสตร์สำคัญๆ ของอาณาจักรอยุธยา เช่น สงครามขับไล่อิทธิพลจากหงสาวดีในปี ค.ศ.1548

“ปัจจุบัน ยังมีรูปภาพของ พระราชินีแห่งบราซิล (Queen of Brazil) ประดับอยู่ที่สถานทูตโปรตุเกสแห่งประเทศไทย เพราะบราซิลเคยมีการปกครองโดยพระมหากษัตริย์ (Monarchy) ในช่วง ค.ศ.1815-1889 ครั้งแรกในฐานะสหราชอาณาจักรโปรตุเกส บราซิล และแอลการ์ฟ (United Kingdom of Portugal, Brazil and the Algarves)”

“เป็นราชาธิปไตยแบบพหุทวีป (pluricontinental) ได้สถาปนาขึ้นโดยการยกระดับอาณานิคมของโปรตุเกสคือ รัฐบราซิล ให้เป็นราชอาณาจักรและโดยสหภาพร่วมกันของราชอาณาจักรบราซิล ราชอาณาจักรโปรตุเกสและราชอาณาจักรแอลการ์ฟเป็นการสถาปนารัฐเดี่ยวที่รวมสามราชอาณาจักรเข้าด้วยกัน

สหราชอาณาจักรโปรตุเกส บราซิล และแอลการ์ฟ ได้มีการสถาปนาขึ้นในปี ค.ศ.1815 จากการย้ายราชสำนักโปรตุเกสไปที่บราซิลและยังคงมีอยู่ประมาณหนึ่งปีหลังจากการเสด็จกลับของราชสำนักไปยังยุโรป ได้ถูกยุบโดยพฤตินัยในปี ค.ศ.1822 เมื่อบราซิลประกาศอิสรภาพ

การยุบสหราชอาณาจักรได้รับการยอมรับจากโปรตุเกสและโดยนิตินัยอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1825 เมื่อโปรตุเกสยอมรับเอกราชของจักรวรรดิบราซิล

“ภาษาโปรตุเกสได้เข้ามาปะปนใช้กันในหมู่คนไทย เช่น ศาลา (Sala) สบู่ (Sab?o) ขนมปัง (P?o) ปิ่นโต (Pinto) กัมประโด (Kamprado) กระจับปิ้ง (Krahabpigg) เลหลัง (reduzido) เป็นต้น”

“รวมไปถึงขนมของชาวโปรตุเกสที่มีส่วนผสมของแป้ง น้ำตาล และไข่ ได้มีการถ่ายทอด ดัดแปลงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงปัจจุบันจนกลายเป็นขนมที่มีเอกลักษณ์แบบไทย เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เป็นต้น”

“ผมเป็นลูกครึ่งโปรตุเกส เพราะมารดาเป็นชาวโปรตุเกส ดังนั้น ผมจึงมีสัญชาติโปรตุเกสด้วย ทั้งนี้เพราะกฎหมายของบราซิล ในรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า หากบุคคลมีสายเลือดของชาติอื่น บุคคลนั้นสามารถมีสองสัญชาติ เราเรียกว่า สิทธิความเป็นพลเมืองโดยสายโลหิต (Right of Blood) ซึ่งหมายถึงการเป็นพลเมืองตามบิดามารดา”

รายงานจากศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในบราซิล กล่าวว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมระหว่างไทย-บราซิลยังมีให้เห็นไม่มากนัก เพราะยังมีความแตกต่างค่อนข้างสูง ทั้งในแง่วัฒนธรรม ศาสนา นโยบายเชิงเศรษฐกิจและการเมือง

แม้ว่าทั้งสองประเทศจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันทั้งสภาพภูมิอากาศ ประชากรที่มีความเป็นมิตรและเปิดใจกว้างต้อนรับชาวต่างชาติ การตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เอื้อประโยชน์ในแง่ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะชายฝั่งทะเลที่สวยงาม

เนื่องด้วยการปฏิสัมพันธ์ที่มีไม่มากระหว่างประชากรของทั้งสองประเทศ ทำให้เกิดทัศนคติเชิงเหมารวมได้มากและต่างฝ่ายต่างไม่มีความรู้ความเข้าใจกับอีกฝ่ายมากนัก

แม้จะมีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยผ่านรายการท่องเที่ยวและรายการข่าวหลายรายการทางโทรทัศน์ของบราซิลอยู่บ้าง

แต่ยังไม่มีการกล่าวถึงประเทศไทยในละครยอดนิยมของบราซิลแต่อย่างใด

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่าการปรากฏตัวและอ้างอิงถึงประเทศไทยในรายการโทรทัศน์จะช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวชาวบราซิลเดินทางมาเยือนประเทศไทยมากขึ้น

หรืออาจร่วมทำธุรกิจในประเทศได้อีกด้วย

ดังเช่นตัวอย่างการอ้างถึง 2 ประเทศใน 2 กรณีคือการกล่าวถึงตุรกีในละครเรื่อง “Salve Jorge” และการกล่าวถึงอินเดียในละครเรื่อง “Caminho das Indias” และในละครเรื่องใหม่ “Rio Babilnia” ที่กำลังจะออกฉายได้มีการถ่ายทำในดู
ไบ

 

หากจะถามถึงความโดดเด่นของอุตสาหกรรมที่น่าลงทุนของบราซิลจากมุมมองของนักลงทุนและผู้ประกอบการแล้วนั้น ความโดดเด่นคงอยู่ที่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมสิ่งทอ เคมีภัณฑ์ ซีเมนต์ ไม้แปรรูป แร่เหล็ก ดีบุก เหล็ก มอเตอร์และชิ้นส่วนยานพาหนะ เครื่องจักรและอุปกรณ์อื่นๆ

แต่นอกจากเรื่องอุตสาหกรรมต่างๆ ที่กล่าวมานี้แล้ว ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งของบราซิล คืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สามารถสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศบราซิลอย่างมหาศาลในแต่ละปี

โดยเฉพาะจากการแข่งขันฟุตบอล หรือเทศกาลประจำปีอย่างงานคาร์นิวัลเป็นแม่เหล็กดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกตัดสินใจจัดกระเป๋าบินลัดฟ้ามายังประเทศบราซิลในแต่ละปี