‘ธุรกิจค้าความฝัน’ กับการสำรวจ การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพเมืองหลวงประเทศกำลังพัฒนา

DREAM PROPERTY ธุรกิจค้าความฝันกับการสำรวจ การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ของเมืองหลวงในประเทศกำลังพัฒนา ผ่านภาพถ่าย

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะภาพถ่ายของศิลปินไทยผู้หนึ่งในแกลเลอรี่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ มา

ซึ่งนิทรรศการที่ว่านั้นไม่ใช่นิทรรศการที่สักแต่ว่าเอาภาพถ่ายมาแขวนบนผนังให้จบๆ ไปแบบนิทรรศการภาพถ่ายดาษดื่นทั่วไปที่เราๆ ท่านๆ เคยชมกันมา

แต่นิทรรศการนี้มีวิธีการนำเสนอที่แปลกใหม่และมีมุมมองที่น่าสนใจจนต้องเก็บเอามาเขียนถึงกัน

นิทรรศการครั้งนี้มีชื่อว่า “DREAM PROPERTY” โดย มิติ เรืองกฤตยา ศิลปินช่างภาพรุ่นใหม่ผู้สนใจในการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เมืองอย่างต่อเนื่อง

ภายหลังสำเร็จการศึกษาในต่างประเทศและกลับมาอาศัยอยู่ที่เมืองไทย เขาเริ่มสนใจบันทึกภาพการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอย่างรวดเร็วของกรุงเทพฯ อันเป็นผลจากปัจจัยต่างๆ ทั้งปัจจัยทางธรรมชาติ และปัจจัยความเคลื่อนไหวทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ

ดังจะเห็นได้ในผลงานชุดก่อนหน้าที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขาในฐานะช่างภาพรุ่นใหม่ เช่น ผลงานชุด Imagining Flood (2555) และ Thai Politics (2549-2557) ในช่วงต้นปี 2557

เขามุ่งสำรวจภาพความสัมพันธ์ของการเติบโตแบบพุ่งทะยานของอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ ที่ดำเนินควบคู่ไปกับการขยายตัวของระบบขนส่งมวลชน อาทิ รถไฟฟ้าบีทีเอส

การก่อสร้างถนนสายหลักหลากสายและระบบขนส่งมวลชนผ่านคลอง

ซึ่งผลกระทบและผลลัพธ์จากการขยายตัวดังกล่าวคือจุดโฟกัสของผลงานแต่ละชิ้นที่ประกอบขึ้นเป็นนิทรรศการครั้งนี้นี่เอง

นิทรรศการ DREAM PROPERTY ประกอบด้วยผลงานแยกย่อยหลากหลายชิ้น โดยในห้องแสดงงานหลักมีผลงานแสดงอยู่สามชิ้นคือ

“EMPTY LOT”

ภาพถ่ายต้นไม้ร่มรื่นดูเขียวชอุ่มชุ่มชื่นที่แขวนอย่างโดดเด่นบนผนังตรงกลางด้านในสุดของห้องแสดงงานจำนวนสามภาพ ซึ่งดูไปก็คล้ายภาพทิวทัศน์ของป่าที่ไหนสักแห่ง แต่ความจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น

“มันเป็นภาพของถนนตัดใหม่ในกรุงเทพฯ ถ่ายราวๆ ปี 2014 แต่ตอนนี้ที่ตรงนี้เป็นตึกไปหมดแล้ว ซึ่งผมคิดว่ามันน่าสนใจ ผมเลยถ่ายให้เห็นฟุตปาธติดมาตรงขอบด้านล่างของภาพนิดนึง ถ้าเราดูผ่านๆ ก็เหมือนเป็นรูปป่าที่สวยดี แต่ความจริงมันอยู่ในเมือง อยู่ในกรุงเทพฯ เลย ผมอยากแสดงให้เห็นว่า แม้แต่ในภาพทิวทัศน์ธรรมชาติมันก็อาจมีสิ่งต่างๆ ที่เป็นตัวบอกใบ้ถึงการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเมือง และมันก็พร้อมที่จะเกิดสิ่งก่อสร้างขึ้นมาได้ทุกเมื่อ”

“ภาพเซ็ตนี้ผมใช้กระดาษอาวากามิของญี่ปุ่นที่มีส่วนผสมของเยื่อไผ่ในการพิมพ์ ซึ่งมีความเป็นธรรมชาติพอสมควร โดยใช้ตัวที่บางที่สุดแค่ 70 แกรม และแขวนบนผนังโดยตอกตะปูตรึงแค่มุมด้านบนของภาพ เพื่อให้กระดาษมันพลิ้วไหวเวลาโดนลมแอร์กระทบ ซึ่งเป็นการสื่อถึงพื้นที่ที่ไม่คงอยู่แน่นอน ที่อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลง”

ผลงานชิ้นนี้เป็นภาพสะท้อนความไม่จีรังของธรรมชาติในบริบทภูมิทัศน์กรุงเทพฯ ที่ขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง

%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87-4
ภาพ BANGKOK CITYCITY GALLERY

ชิ้นถัดมาคือ “EXCERPTS TAKEN FROM BANGKOK REAL ESTATE ADVERTISING” มิติใช้ข้อความภาษาอังกฤษที่ดึงมาจากโปสเตอร์ แค็ตตาล็อก และโฆษณาคอนโดมิเนียมต่างๆ เอามาใส่กรอบติดเรียงเป็นแถวยาวบนผนังฝั่งด้านซ้ายของห้องแสดงงาน

ซึ่งเป็นการฉายภาพความหวังของชาวกรุงผ่านคำโฆษณาสวยงามหวือหวาในภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่ต่างกับการขายความฝัน

ข้อความเหล่านี้ถูกเอามารวมเล่มเป็นหนังสือคล้ายกับหนังสือคำกลอนอีกด้วย

ภาพ http://invisiblephotographer.asia/2016/10/30/mitiruangkritya-dreamproperty/
ภาพ http://invisiblephotographer.asia/2016/10/30/mitiruangkritya-dreamproperty/

และ “ROOM” ซึ่งเป็นภาพถ่ายภายในห้องของคอนโดมิเนียมโครงการต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ที่มีทั้งโครงการที่มีราคาย่อมเยาไปจนถึงโครงการที่แพงมหาศาลปะบนกันไป ทั้งหมดถูกใส่กรอบติดเรียงรายเป็นแถวยาวบนผนังด้านขวาของห้องแสดงงานเช่นเดียวกัน

“เบื้องหลังของงานตัวนี้คือเราเข้าไปตามพวกเอเย่นต์ขายคอนโดฯ ทำทีเหมือนเราอยากจะเช่าหรือซื้อห้อง ห้องพวกนี้มันก็จะมาจากหลากหลายคอนโดฯ ที่อยู่ในช่วงที่กำลังจะปล่อยสู่ตลาด เหตุผลที่ถ่ายภาพจากข้างในห้อง ก็เพราะเราอยากให้คนดูรู้สึกถึงอารมณ์ของสิ่งที่กำลังจะออกไปสู่ตลาด”

%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87-1
ภาพ BANGKOK CITYCITY GALLERY

“ศิลปินภาพถ่ายหลายคนที่ดังๆ อย่าง ไมเคิล วูล์ฟ (Michael Wolf) เขามักจะถ่ายตึกจากด้านนอกของอาคาร”

“แต่ผมรู้สึกว่าการถ่ายข้างในมันแสดงถึงอีกมุมนึงที่คนไม่ค่อยได้สนใจที่จะถ่ายกัน และที่ผมพิมพ์ภาพขนาดที่เล็กแบบนี้ เพราะถ้าภาพใหญ่ไปมันจะไม่ได้ความซ้ำ ซึ่งความซ้ำของรูปพวกนี้มันจะให้ความรู้สึกเหมือนของสำเร็จรูปที่ถูกผลิตออกมาเรื่อยๆ”

“และการแขวนภาพต่อกันเป็นเส้นตรงยาวแบบนี้ ผมอยากให้คนดูรู้สึกถึงสายการผลิตสินค้าในโรงงานอุตสาหกรรม และกระดาษที่ใช้พิมพ์ภาพห้องคอนโดฯ เหล่านี้เราก็ใช้กระดาษพิมพ์ที่มันให้สีสันฉูดฉาดแบบงานโฆษณา กรอบที่ใช้ก็ทำเป็นสี่เหลี่ยมเท่าๆ กัน ให้อารมณ์ของความแข็งกระด้างเป็นบล็อกๆๆ เหมือนสินค้าสำเร็จรูปจากโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้มันสร้างความรู้สึกที่ตรงกันข้ามกับภาพทิวทัศน์ที่คล้ายป่าอีกด้วย”

ผลงานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นปลายยอดของการขยายตัวแบบหยุดไม่อยู่ โดยสำรวจการพลิกโฉมของภูมิทัศน์เมืองในปัจจุบันผ่านการตกแต่งพื้นที่ภายในห้องที่สร้างเสร็จใหม่และรอการเข้าพัก ซึ่งภาพเหล่านี้ล้วนแต่กระตุ้นให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความหวัง ความเป็นจริง และอนาคตของกรุงเทพฯ ด้วยกันทั้งสิ้น

%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87-7
ภาพ BANGKOK CITYCITY GALLERY

นอกจากผลงานทั้งสามชิ้นแล้ว ด้านหน้าของห้องแสดงงานยังมีงานประติมากรรมขนาดเขื่องที่มีชื่อของนิทรรศการสลักอยู่ ดูๆ ไปมันก็คล้ายกับป้ายชื่อของโครงการคอนโดมิเนียมยังไงยังงั้นเลย

“ที่เลือกเรื่องคอนโดฯ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่เกาะเกี่ยวกับหลายระดับชั้นของสังคม และเรารู้สึกว่างานชุดนี้มันเหมาะมากๆ กับพื้นที่ตรงนี้ เพราะถ้าเรามองในแง่ของนักลงทุน พื้นที่ของหอศิลป์ตรงนี้มันเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่ปกติมันต้องเป็นคอนโดฯ แน่นอน ตั้งอยู่บนถนนสาทร ติดรถไฟฟ้า พื้นที่แบบนี้มันไม่เหลือแล้วในกรุงเทพฯ คือไม่ต้องคิดอะไรมากอยากได้เงิน คุณสร้างคอนโดฯ เลย”

นอกจากในห้องแสดงงานหลักแล้ว ยังมีผลงานอีกสามชิ้นแสดงอยู่ในห้องแสดงงานเล็ก โดยผลงานทั้งสามประกอบด้วย

“SKY VIEW” ภาพถ่ายท้องฟ้าจากวิวระเบียงห้องชุดชั้นที่ 30 ของเดอะสุโข เรสซิเด้นซ์ คอนโดมิเนียมย่านธุรกิจใจกลางสาทร ซึ่งเป็นหนึ่งในคอนโดมิเนียมที่แพงที่สุดในกรุงเทพฯ ภาพนี้ถูกแขวนตรงกับหน้าต่างกระจกบานใหญ่ที่เปิดโอกาสให้คนเดินผ่านไปผ่านมามองเห็นจากด้านนอกหอศิลป์ได้ด้วย

“หน้าต่างบานนี้ก่อนที่นิทรรศการนี้จะเปิด ช่วงแรกมันจะถูกปิดเป็นสีขาวหมด และมีตัวหนังสือเขียนว่า “Welcome to the new era”

อาทิตย์ถัดมาก็เปลี่ยนตัวหนังสือเป็น “Don’t go far away your answer is here”

พอเปิดงานนิทรรศการก็เปิดให้เห็นภาพท้องฟ้าเปลี่ยนตัวหนังสือเป็น “It”s time to discover THE REAL YOU”

พอใกล้ๆ จะปิดงานก็จะเปลี่ยนเป็น “Sold out” ซึ่งทั้งหมดมันก็คือภาพของการขายความฝันน่ะ”

ชิ้นถัดมาคือ “1 SQUARE METRE OF SOIL” ซึ่งเป็นกระบะใส่ดินขนาด 1 ตารางเมตร ที่มิติขุดมาจากพื้นที่ว่างที่กำลังจะสร้างคอนโดมิเนียมสูงในย่านราชประสงค์

“ที่ดินตรงนั้นมันเคยเป็นโรงเรียนอนุบาลของผมสมัยเด็กๆ ซึ่งต่อมากลายเป็นพื้นที่ว่างเปล่ากึ่งรกร้าง มีต้นไม้ขึ้นรกเรื้อ แต่มันเป็นที่ดินที่มีมูลค่าแพงมากๆ (300,000-380,000 บาทต่อตารางเมตร) เพราะมันเหมือนเป็นพื้นที่สุดท้ายในแหล่งความเจริญที่ยังไม่มีการสร้างอะไรขึ้นมา ผมก็เล็งอยู่นานแล้วว่ามันน่าจะทำอะไรสักอย่าง แต่ถ้าเราไปถ่ายรูปมันก็อาจจะไม่มีความแตกต่างกับงานชิ้นอื่นๆ เท่าไหร่”

“พอเราคิดถึงราคาคอนโดฯ ในย่านนั้น หนึ่งตารางเมตรมันมีมูลค่าสามสี่แสนบาท เราอยากรู้ว่าถ้าเกิดไปขุดดินในพื้นที่ที่เท่ากันมาแสดงมันจะเป็นยังไง”

?????????????
ภาพ BANGKOK CITYCITY GALLERY

และชิ้นสุดท้าย “TOWER SKETCH” ซึ่งเป็นภาพถ่ายจากภาพลายเส้นต้นฉบับของ เดอะ สาทร ยูนีค ทาวเวอร์ อาคารคอนโดมิเนียมหรู 47 ชั้นริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ผลงานการออกแบบของ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ที่โดดเด่นด้วยการใช้องค์ประกอบสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิคอันเป็นเอกลักษณ์ที่คุ้นตา หากแต่กลับต้องระงับการก่อสร้างไปกลางคันก่อนที่จะแล้วเสร็จด้วยผลกระทบจากวิกฤตการเงินในปี 2540 และถูกทิ้งร้าง จนถูกเรียกกันติดปากว่า “ตึกร้าง” ในเวลาต่อมา

“ภาพนี้ถ่ายจากออฟฟิศของคุณรังสรรค์ ซึ่งเป็นสถาปนิกรุ่นแรกที่สร้างกระแสนิยมของคอนโดมิเนียมขึ้นมา เขาเป็นคนที่ทำให้คอนโดฯ และสถาปัตยกรรมในสไตล์นี้เป็นอะไรที่ฮิตมาก และเป็นคนสร้างเอกลักษณ์ให้กรุงเทพฯ ยุคนั้นที่ยังหลงเหลือมาถึงยุคนี้ จนกลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่ง ที่สำคัญมันเป็นโครงการที่สร้างไม่เสร็จ มันอาจจะเป็นอนุสรณ์ของความเฟื่องฟูในยุคนั้น เหมือนโครงกระดูก ฟอสซิล เป็นซากอารยธรรมเหมือนจักรวรรดิโรมันที่ล่มสลาย ผมไปถ่ายคร็อปจากภาพลายเส้นจริง แล้วเอามาขยายใหญ่เพื่อจะได้เห็นร่องรอยของภาพที่โดนเวลากัดกร่อนไป”

ภาพลายเส้นของอาคารหลังนี้ รวมถึงอาคารร้างอื่นๆ ที่สร้างในยุคเดียวกันนั้น เปรียบเสมือนเครื่องย้ำเตือนถึงธรรมชาติที่ไม่แน่นอนทั้งของระบบเศรษฐกิจและของตัวมันเอง

“งานแสดงในห้องหลักเราจะนำเสนอเรื่องในปัจจุบัน ส่วนในห้องเล็กเราอยากให้มันเป็นเหมือนสิ่งที่ทำให้คนฉุกคิดนิดนึง เพราะตอนนี้ถ้าเรามองในแง่ของการพัฒนา มันเหมือนโตโดยไม่มีการหยุดยั้ง อย่างบางทีเราไปคอนโดฯ เพื่อนเรา มันไม่มีใครอยู่เลย โล่งๆ เหมือนส่วนใหญ่คนซื้อเอาไว้เพื่อลงทุน เก็งกำไร แต่ถ้ามีอุปทานเยอะๆ แบบนี้ ที่สุดแล้วฟองสบู่มันจะแตกอีกครั้งหรือเปล่า?”

 

กว่าที่บทความนี้จะตีพิมพ์ นิทรรศการนี้คงจบไปเรียบร้อยโรงเรียนกรุงเทพฯ แล้ว

แต่ทางแกลเลอรี่และตัวศิลปินก็ได้มีการจัดทำหนังสือ DREAM PROPERTY ที่รวบรวมเอาผลงานของศิลปินทั้งที่อยู่ในนิทรรศการและที่เพิ่มเติมเข้ามา รวมถึงผลงานจากบุคคลหลากหลายสาขา

อาทิ สถาปนิก นักวางผังเมือง ผู้กำกับภาพยนตร์ และนักเขียน ในรูปแบบเรื่องสั้น บทความ ภาพถ่าย และสเก๊ตซ์ โดยคัดสรรเนื้อหาโดยตัวศิลปินเอง

เพื่อเปิดมุมมองและขยายขอบเขตของผลงานชุดนี้ให้กว้างขวางและหลากหลายยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมี DREAM PROPERTY Limited Edition Portfolio Box ซึ่งเป็นกล่องรวบรวมผลงานภาพพิมพ์งานซิลก์สกรีนของผลงาน EXCEPTS OF BANGKOK REAL ESTATE ADVERTISING จำนวน 5 ภาพ และภาพถ่ายจากซีรี่ส์ EMPTY LOT และ ROOM อย่างละภาพ (งานทุกชิ้นใช้วัสดุและเทคนิคการพิมพ์เดียวกันกับที่จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการ) โดยจะจำหน่ายเพียง 11 ชุดเท่านั้น

มิตรรักนักสะสมงานศิลปะท่านใดสนใจก็ลองติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 08-3087-2725 หรือ อี-เมล : [email protected], www.bangkokcitycity.com, www.facebook.com/bangkokcitycity

นิทรรศการ DREAM PROPERTY จัดแสดงที่ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม – วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน 2559

ขอบคุณภาพจาก บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่