เกมเลือกตั้ง : 2562 สิ้นสุดทางเพื่อน บุกไปชนะ-บุกไปแพ้-บุกล้มกระดาน สูตรรัฐบาลล็อกโหวตพรรค+พวกและงูเห่า

แม้ว่าการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 จะมีพรรคการเมืองให้เลือกถึง 81 พรรค จากจำนวน ส.ส. 13,991 คน

เลือกด้วยบัตร 1 ใบ มีผลถึง 3 เด้ง ทั้งเลือก ส.ส.ระบบเขต, ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และมีผลต่อการเลือกนายกรัฐมนตรี

แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดการได้มาซึ่ง ส.ส. และจำนวน ส.ส.พึงมี ที่ไม่เปิดโอกาสให้พรรคไหนได้เสียงเด็ดขาด

ยุทธศาสตร์การหาเสียงที่แท้ จึงเน้นการบุก 3 แบบ

แบบแรก “บุกไปชนะ” เป็นยุทธวิธีของอดีต ส.ส.เก่า ที่เคยชนะเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2554 ที่มีทั้งสิ้น 500 คน แบบแบ่งเขต 375 เขต และบัญชีรายชื่อ 125 คน

ซึ่งมีทั้งยืนยันอยู่กับพรรคเดิม และแยกย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ และพรรคตั้งใหม่ อาทิ พลังประชารัฐ ได้ดูด ส.ส.จากเพื่อไทย 34 คน จากภูมิใจไทย 22 คน จากประชาธิปัตย์ 20 คน ชาติพัฒนา 14 คน และพรรคอื่นๆ อีก 25 คน และได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ร่วมด้วยบริการเสริมจากอดีต 4 รัฐมนตรี และอดีต ส.ว. รวมถึงอดีตผู้นำองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น

นักสถิติการเมืองจาก 3 ค่าย ทั้งสถาบันพระปกเกล้า, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และธรรมศาสตร์ จึงคาดการณ์ไว้ว่า พรรคพลังประชารัฐน่าจะได้ ส.ส. ต่ำสุดที่ 70 สูงสุดที่ 130 คน จากการส่งผู้สมัคร 460 คน (https://www.prachachat.net/politics/news-281864)

เช่นเดียวกับยุทธศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยืนหยัดปักหมุดเทใจในเขตพื้นที่ ส.ส.เก่าทุกเขต จากที่เคยชนะในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด 107 เขต กับระบบบัญชีรายชื่อ พื้นที่ปลอดภัยจนถึงหมายเลข 38 รวมที่นั่งเก่า 145 คน

แบบที่สอง “บุกไปแพ้” เป็นยุทธวิธีแตกแบงก์พัน ตามคำนิยามของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ของค่ายทักษิณ ที่ตั้งธงให้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรค ส.ส.ระดับเขต ส่วนพรรคไทยรักษาชาติ เป็นพรรคบัญชีรายชื่อ เน้นรักษาฐานที่มั่นที่เป็น ส.ส.เขตเก่า ที่เคยชนะ 204 เขต แต่การนับคะแนนแบบใหม่ หาก ส.ส.เพื่อไทยยึดพื้นที่เก่าไว้ได้ ชนะทุกเขตเท่าเดิม จะได้ ส.ส.แบบเขตเต็มที่สูงสุด 192 เสียง (คำนวณจากคะแนนเฉลี่ย ชนะเขตละ 50,000 คะแนน คูณด้วย 204 เขต จะได้ 10.2 ล้านเสียง บวกกับ “คะแนนบุกไปแพ้” จะได้ประมาณ 13.5 ล้านเสียง หารด้วย 70,000 เสียง)

ในยุทธวิธี “บุกไปแพ้” จะมีพรรคบริวาร ทั้งไทยรักษาชาติ พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ ร่วมขบวน นับแต้มเก็บ “คะแนนตกน้ำ” หรือเสียงบุกไปแพ้ทั่วประเทศ ทุกเขต จะได้ ส.ส.จำนวนหนึ่งร่วมเป็น “ฝ่ายเดียวกัน” หลังเลือกตั้ง

เกมการหาเสียงจึงเน้นคีย์เวิร์ด “เลือกพรรค+พวกทักษิณ” ในตะกร้า 4 พรรค

ยุทธวิธีนี้ พรรคใหญ่ พรรคใหม่ และพรรคขนาดกลาง ต่างปักหมุดทั่วทั้ง 350 เขต และเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ ที่พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครไม่ครบ 350 เขต แต่เว้นที่ไว้ให้พรรคไทยรักษาชาติถึง 99 เขต

ปรากฏการณ์ “ซื้อบัตรประชาชน” และการเช็กโปรไฟล์ผู้สมัคร ส.ส.บางพรรค ต้องมี 2 หมื่นชื่ออยู่ในมือ สำนักงานใหญ่พรรคที่กรุงเทพฯ จึงจะอนุมัติให้ลงรับสมัครระดับเขต

แบบที่ 3 “บุกไปโหวตโน” หรือกากบาทช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน “ล้มกระดานเลือกตั้ง” สถานการณ์นี้มี ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “เกมหนึ่งของทักษิณ ชินวัตร คืออาจให้ทุกพรรคทั้งเพื่อไทย เพื่อชาติ ถูกยุบ เป็นการล้มกระดาน และระดมโหวตโน สมมติบางเขตไม่มีผู้สมัครคนไหนชนะเลือกตั้ง ได้คะแนนเกินโหวตโน นั่นหมายความว่าเขตนั้นต้องจัดเลือกตั้งใหม่…หากทักษิณเล่นเกมนี้สัก 25 เขต จะไม่มี ส.ส.เพียงพอต่อการประกาศผลการเลือกตั้ง ไม่รู้ว่าเกมนี้จะออกมาเป็นอย่างไร ส่วนกรณีพรรคไทยรักษาชาติ เชื่อว่าจะมีการยุบพรรคก่อนการเลือกตั้ง”

หากฝ่ายทักษิณเล่นเกมนี้จริงจัง จะทำให้เกิดการ “เดดล็อก” คือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้ง 95% หรือจำนวน ส.ส. 475 คน ทั้งระบบบัญชีรายชื่อและระบบเขต ภายใน 9 พฤษภาคม 2562 อาจทำให้ผลการเลือกตั้ง “โมฆะ”

วิเคราะห์จากฐานตัวเลข 3 พรรคใหญ่ หลังจากเหตุการณ์ 3 บุกไปโหวต จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 แล้ว คาดการณ์จำนวน ส.ส.ใน 3 ลำดับ น่าจะไม่หนีไปจากเพื่อไทยยังครองลำดับที่ 1 ประชาธิปัตย์ครองลำดับที่ 2 และพลังประชารัฐครองลำดับที่ 3

ดังนั้น เมื่อเปิดสภาผู้แทนราษฎร จะเกิดการ “โหวต 2 ก๊อก”

ก๊อกแรก-โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของ 2 สภารวมกัน (ส.ส. 500 + ส.ว. 250 คน) คือ 376 เสียง ในขั้นนี้ เสียงของ ส.ว.อาจเป็นส่วนผสมที่สำคัญและจำเป็น เพื่อดันให้ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” พรรคที่ไม่ได้ลำดับ 1 และ 2 ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ก๊อกที่สอง-โหวตเสียงจัดตั้งรัฐบาล ในขั้นนี้จำนวนเสียงของสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาล่าง มีความสำคัญและจำเป็น ต้องมีไม่น้อยกว่า 251 เสียง หรือเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร

เขตพื้นที่ปลอดภัยทางการเมืองของ “พรรคร่วมรัฐบาล” จึงควรเพิ่มเสียงที่มากกว่าปริ่มน้ำ ไม่น้อยกว่า 275 คน

แน่นอนว่าหากพรรคพลังประชารัฐชนะเป็นอันดับที่ 1 เกมในสภาผู้แทนราษฎรคงไม่ยาก แต่หากได้อันดับ 2 หรือ 3 ต้องใช้สูตร “พรรค+พวก+งูเห่า” ถึงจะได้จำนวนมือที่ต้องการ

ไม่ควรลืมว่า ส.ส.ที่ลงรับสมัครเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ เกือบ 30 ชีวิต มีเชื้อ-แถวอยู่ในสายเครือข่าย “กปปส.และทีมสุเทพ”

เหนือสิ่งอื่นใด รัฐธรรมนูญเปิดทางไว้แล้ว หากมีการโหวตสวนกับมติพรรค แม้ถูกขับออกจากพรรคแล้ว สามารถหาสังกัดพรรคใหม่ได้ภายใน 30 วัน ซึ่งหลังโหวตนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังมีพื้นที่ปลอดภัยให้ “พวกงูเห่า”

“สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เลขาธิการพรรค 1 ในเกมผู้จัดการรัฐบาล ทำนายไว้ล่วงหน้าว่า การจะเป็นรัฐบาลต้องมีเสียงจากสภาล่างเกิน 250 เสียงแน่นอน ประเด็นคือ ต้องแยกแยะระหว่างเสียงของสภาในการจัดตั้งรัฐบาล กับเสียง ส.ว.สรรหา 250 คน ในการโหวตเลือกนายกฯ

ตัวเลขในการจัดตั้งรัฐบาล ก็อยู่ที่ว่าใครรวบรวมได้ 251 เสียงก่อน ตัวเลขเป็นเพียงหนึ่งในมิติ แต่น้ำหนักของตัวเลขว่าจะออกไปอยู่ด้านไหน หรือพรรคไหนเป็นหัวใจสำคัญ และก่อให้เกิดการรวมตัวเป็นอีกหนึ่งมิติ

คีย์ซัคเซสของการโหวตทั้ง 2 ก๊อก คือ ผู้จัดการรัฐบาล ที่ต้องมีมือดีลไม่น้อยกว่า 2 คน

1 ใน 2 คนนั้น น่าจะมีชื่อ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” รวมอยู่ด้วย