ทำไม ‘ประเทศไทย’ มีข่าวร้ายซ้ำซากเป็นประจำทุกปี… นักโทษล้นคุก!

ภาระจากอาชญากรรม

พบข่าวร้ายซ้ำซากเป็นประจำทุกปี…ประเทศไทย นักโทษล้นคุก!

จากการสำรวจครั้งล่าสุด คุกไทยแน่นเป็นอันดับ 6 ของโลก

เมื่อ 3 ปีก่อนสถาบันวิจัยของอังกฤษเขาสำรวจแล้วประกาศว่าไทยครองอันดับ 10 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย ผมถึงแก่ช็อกไปเพราะว่าอันดับ 3 นี้รองจากจีนและอินเดียซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจ มีประชากรกว่า 1,400 และ 1,300 ล้านคน ตามลำดับ

ถ้าดูตัวเลขของปี พ.ศ.2559 เราแพ้อินเดียแค่เฉียดฉิว ถ้าคิดเป็นอัตราส่วนจากจำนวนประชากรทั้งหมดของอินเดียกับไทย (1,300 ล้าน กับ 80 ล้าน) มันน่าวิตกขนาดไหน

ดังนั้น การถูกเลื่อนจากอันดับ 10 ขึ้นเป็นอันดับ 6 ของโลกในปีนี้ มันเป็นเรื่องยิ่งกว่าช็อกครับ เพราะมันเท่ากับชี้ให้เห็นว่าเรากำลังจะกลายเป็น “ประเทศกลียุค” เพราะอาชญากรรม!

ในเวลาใกล้ๆ กับที่ได้รับข่าว “นักโทษล้นคุก” ผมได้อ่านเรื่องเล่าจากการดูงานตำรวจคุนหมิง ของ พ.ต.อ.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ กงสุล (ฝ่ายตำรวจ) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน

แม้ผมจะเคยไปเที่ยวและพักที่คุนหมิงแค่ 3 หรือ 4 วันเมื่อ 10 ปีมาแล้ว แต่ผมก็มีจินตนาการนึกภาพและบรรยากาศ “สันติสุข” ของนครแห่งนี้ได้ค่อนข้างแจ่มชัด

อาจารย์ศิริพลเล่าผ่านเฟซบุ๊กว่า ไปดูงานที่สถานีย่อยซินชุน ที่เขตอู่ฮัว คุนหมิง เนื้อที่รับผิดชอบเพียง 1 ตารางกิโลเมตร เป็นเขตเศรษฐกิจของเมือง ทำให้หวนนึกถึง สน.บุปผาราม มีเนื้อที่ประมาณ 3 ตารางกิโลเมตร (เป็น สน.เนื้อที่เล็กสุดแต่เหนื่อยสุดที่ผมเคยอยู่) เป็นเขตของวัดวาอารามที่อยู่ไม่ไกลจากเขตอบายมุขและอาชญากรรม

นี่มิใช่โวหาร… ครั้งหนึ่งเราเคยพบเด็กหนุ่มโก้งโค้งคว่ำหน้าตายกับคอห่านของส้วมในวัดดัง โดยมือหนึ่งกำยาเสพติดผงขาว

สถานีซินซุนมีตำรวจ 30 นาย จ้างพลเรือนมาเป็นผู้ช่วยตำรวจอีกราว 60 คน เทียบกับโรงพักเมืองไทยมีตำรวจเฉลี่ยโรงพักละกว่า 200 นาย

งานสถานีตำรวจของคุนหมิง แบ่งเป็น 4 สายหลัก คือ งานบริหาร (อำนวยการ) งานทะเบียนราษฎร งานสายตรวจและป้องกันปราบปราม และงานสืบสวนสอบสวนคดีอาญา ส่วนงานจราจรเป็นหน้าที่ของกองบังคับการจราจรเป็นการเฉพาะ

งานจราจรของไทย อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการปฏิรูปฯ เคยให้สัมภาษณ์ว่า จะโอนไปให้ท้องถิ่น ทำนองเดียวกับงานหาบเร่แผงลอยที่โอนไปให้เทศกิจรับผิดชอบ

ตำรวจไทยกับตำรวจคุนหมิงตรงกันข้ามกันในงานทะเบียนราษฎร เพราะคุนหมิงเขาไม่มีระบบนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขต ตำรวจต้องทำหน้าที่นี้ตามลำพัง

ระบบกฎหมายของจีนยังให้อำนาจตำรวจค่อนข้างมาก ถ้าเป็นคดีประเภทที่ไม่ถือเป็น Crime เป็นเพียงละเมิดความสงบเรียบร้อยหรือ Misconduct หรือเป็นความผิดเล็กน้อย เช่น ทะเลาะวิวาท ไม่ถึงบาดเจ็บ เล่นการพนัน ค้าประเวณี ฯลฯ เหล่านี้ ตำรวจก็อาจส่งขังยังสถานที่กักกันได้ 20 วันโดยไม่ต้องส่งฟ้องศาลให้รกศาล

ทั้งหมดนี้เพราะสภาพอาชญากรรมของกรุงเทพฯ กับคุนหมิงแตกต่างกันมาก

อันดับ “คนล้นคุก” นั้น ผู้วิจัยเพียงแต่ประเมินเอาจากตัวเลขของคนติดคุก มาจัดเป็นอัตราส่วนกับจำนวนประชากรทั้งหมดแล้วเปรียบเทียบกัน เป็นเรื่องไม่ซับซ้อน ผมเองก็อาจวางตัวเป็นนักวิจัยได้

แต่ถ้าเราจะพิจารณากันจาก “ขนาดของความเสียหาย” จากอาชญากรรม ที่ประเทศไทยหรือคนไทยทั้งประเทศจะต้องร่วมรับผิดชอบเป็นเรื่องซับซ้อน สับสนและยุ่งยากกว่ามาก ไม่ว่าจะเป็นคดีธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ (บีบีซี) ปล่อยกู้ คดีทุจริตธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทุจริตจำนำข้าว หรือการค้าข้าวแบบ G to G รวมทั้งคดีทุจริตคอร์รัปชั่นอันครึกโครมต่างๆ เช่น การซื้อเครื่องบินพาณิชย์ราคาแพงเกินจริงแล้วไม่ได้ใช้ คดีโกงวัด โกงเด็กนักเรียน โกงคนยากไร้ ฯลฯ เป็นต้น

เงินที่เสียหายจากการถูกโกงจำนวนมหึมามหาศาลเหล่านั้น ล้วนเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินจากภาษีของประชาชนทั้งสิ้น แต่เอาเข้าจริงๆ เราไม่รู้ว่าเสียหายเท่าใรแน่ อายัด ยึดหรือเรียกคืนได้หรือยัง เป็นเงินเท่าไร

และในกรณีที่เราต้องกู้เงินจากธนาคารโลกหรือจากต่างประเทศมาเพื่อชำระหนี้นั้น เราเอาเงินจากที่ไหนไปชำระ

และที่ร่ำลือกันหนาหูว่าลูกหลานของเราต้องเป็นหนี้โลกถึง 16 ปี เป็นเงินหลายล้านล้านนั้น จริงหรือไม่?

และมันเป็นธรรมหรือไม่ที่ประชาชนคนดีต้องมารับภาะแทนอาชญากรทั้งหลาย

ถ้าต้องวิจัยโดยเอาข้อมูลหรือข้อเท็จจริงส่วนนี้มาเป็นปัจจัย ก็จะกลายเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน เสมือนผู้เกี่ยวข้องและเจ้าหน้าที่ไม่แน่ใจว่า “ผู้ใหญ่” จะตัดสินใจอย่างไรแน่?

ครั้งที่เกิดกระแส “ปฏิรูปตำรวจ” หลังรัฐประหารของ คสช. เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ผมก็พลอยตื่นเต้นเป็นใจไปกับเขาด้วย โดยเฉพาะในหัวข้อว่า “ทำตำรวจให้เล็กลง” เพื่อให้ตำรวจได้มีโอกาสต่อสู้กับอาชญากรรมโดยตรงเท่านั้น แต่เมื่อได้ตระหนักถึง “อันดับโลก” ของคนคุกที่คืบหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้งเข่นนี้…ก็เห็นทีจะต้องคิดใหม่

การยับยั้งหรือปราบปราม (suppression) อาชญากรรม ไทยเราต้อง “ลงทุน” มากกว่าที่ผ่านมา นอกจากรัฐจะต้องเร่งแก้ไขกฎหมายและวางระบบให้เข้มแข็งศักดิ์สิทธิ์ขึ้น รัฐต้องเพิ่มมาตรการและวิธีการในลงทัณฑ์ เช่น โบยหรือเฆี่ยน ใส่กำไลข้อเท้า ส่งตัวไปทำงาน เป็นต้น

ที่สำคัญจะต้องเพิ่มกำลังตำรวจ เพิ่มพนักงานอัยการ เพิ่มผู้พิพากษาตุลาการ และเพิ่มเจ้าหน้าที่ราชฑัณท์ รวมทั้งสร้างคุกไว้ให้ทั่วประเทศ เพียงพอที่จะขังอาชญากรที่ร่ำรวยได้อย่างรวดเร็วทันการณ์

ทั้งนี้เพื่อความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ไม่ได้เป็นโจรแล้วต้องมารับภาระที่อาชญากรก่อขึ้น