วิกฤติศตวรรษที่21 “ลัทธิทรัมป์” กับ นโยบายพลังงาน

AFP PHOTO / JOHN GURZINSKI

ระหว่างหาเสียงทรัมป์ได้สรุปนโยบายพลังงาน ขณะปราศรัยในการประชุมเรื่องน้ำมันและก๊าซที่เมืองบิสมาร์ก รัฐดาโกตาเหนือ แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเรื่องพลังงาน เรียกว่า “แผนพลังงานแบบอเมริกามาก่อน” (ต่อมาเขายังได้เดินทางไปปราศรัยใจความทำนองเดี่ยวกันที่รัฐเพนซิลเวเนียที่ผลิตน้ำมันใหญ่อีกแห่งด้วย)

ความสำคัญในแผนพลังงานของเขาก็คือ ถ้าหากได้รับเลือกตั้งเขาจะ

(1) ยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับการผลิต (น้ำมันและก๊าซ) ด้วยเทคนิคแฟรกกิ้ง การขุดเจาะนอกชายฝั่ง และการผลิตน้ำมันและก๊าซบนแผ่นดินของอเมริกา ซึ่งจะช่วยการสร้างงานที่มีรายได้ดีนับล้านตำแหน่ง และสงวนเงินไว้ในประเทศ

(2) ตัดเงินอุดหนุนของสหรัฐในโครงการภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ และยกเลิกความตกลงกรุงปารีส ที่ประธานาธิบดีโอบามาได้ลงนามไว้แล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหาย “คิดเป็นตำแหน่งงานนับล้านและเงินหลายล้านล้านดอลลาร์” ที่จะถูกทำลายจากนโยบายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของพรรคเดโมแครต อนึ่ง ในปี 2012 เขาทวีตว่า

“แนวคิดเรื่องโลกร้อนนั้น สร้างขึ้นโดยและเพื่อจีนที่ต้องการทำให้อุตสาหกรรมของสหรัฐไม่สามารถแข่งขันได้”

(3) การฟื้นฟูอุตสาหกรรมถ่านหินให้รุ่งเรืองเหมือนครั้งในอดีต อ้างว่าสหรัฐมีถ่านหินสามารถนำมาใช้ได้เป็นพันปี และมีเทคโนโลยี “ถ่านหินสะอาด”

(4) “การทำให้สหรัฐเป็นอิสระทางพลังงานอย่างสมบูรณ์ ไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าพลังงานจากกลุ่มโอเปคหรือชาติเป็นอริกับผลประโยชน์ของเรา”

ทรัมป์มีความโน้มเอียงที่จะสนับสนุนการวางท่อส่งน้ำมันคีย์สโตน เอ็กซ์แอล ความยาวเกือบ 1,900 ก.ม. จากแหล่งทรายน้ำมันอัลเบอร์ตา ในแคนานา มายังชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกที่โอบามาปฏิเสธ เพื่อเพิ่มการนำเข้าน้ำมันจากแคนาดาที่เป็นมิตรสนิท และลดการน้ำเข้าจากกลุ่มโอเปค

(ดูบทความของ Richard Martin ชื่อ Donald Trump”s “America-First Energy Plan” Shows He Know Virtually Nothing About the Issue ใน MIT Technology Review 26.05.2016 และบทความของ Joseph Dutton ชื่อ What Trump”s “energy independent” US would mean for the rest of the world ใน theconversation.com 23.11.2016)

แผนพลังงานแบบอเมริกาก่อนอื่นของทรัมป์ดังกล่าว โดยพื้นฐานก็อยู่ในรอยของนโยบายเดิมที่เคยปฏิบัติมาแล้ว ในส่วนที่ดูเหมือนฉีกออกจากของโอบามา ได้แก่ การปฏิเสธการลงนามในข้อตกลงปารีสให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประธานาธิบดีบุชผู้ลูกก็ปฏิบัติมาแล้วในเดือนมีนาคม 2001 หลังเข้ารับตำแหน่งไม่นาน

โดยบุชได้สั่งให้กระทรวงต่างประเทศหาทางถอนการลงนามในสนธิสัญญาเกียวโตที่รองประธานาธิบดีได้ลงนามในสหรัฐไปแล้ว (1997) เพราะเห็นว่าข้อตกลงนี้ผูกมัดสหรัฐมากเกินไป โดยต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนลงร้อยละ 7 ต่ำกว่าปี 1990 ภายในปี 2012 ซึ่งจะทำอันตรายต่อเศรษฐกิจของสหรัฐ และว่า เขาจะไม่ตั้งขีดจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้ว่าในช่วงหาเสียงเขาจะกล่าวเช่นนั้น (ดูบทความของ Julian Borger ชื่อ Bush kills global warming treaty ใน theguardina.com 29.03.2001)

รวมความได้ว่า ทรัมป์หันไปใช้นโยบายพลังงานพรรครีพับลิกันตั้งแต่สมัยบุช ซึ่งปฏิบัติยากกว่าที่พูด เพราะว่าสหรัฐไม่ได้มีแหล่งสำรองเชื้อเพลิงฟอสซิลมากมายจนถึงขั้นไปควบคุมตลาดนี้ได้

ในแง่การลงทุน จีนก็พร้อมที่จะไปลงทุนในแหล่งน้ำมันทั่วโลกรวมทั้งในแคนาดา แม้กระทั่งในอาณาเขตของสหรัฐเอง นอกจากนี้ พลังงานยังใช้ทดแทนกัน เช่น หากมีการผลิตก๊าซได้มาก ก็จะนำก๊าซเหล่านี้มาใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

แทนที่จะใช้ถ่านหินที่ก่อมลพิษมาก และเทคนิคถ่านหินสะอาดก็มีค่าใช้จ่ายสูง


สมรภูมิพลังงานและสิ่งแวดล้อมในสหรัฐ

สหรัฐเป็นชาติที่มีขบวนการสิ่งแวดล้อมเข้มแข็ง และเป็นศูนย์กลางของการเคลื่อนไหวด้านนี้ในระดับโลกด้วย

แผนพลังงานของทรัมป์ที่ไม่ให้ความสนใจแก่ปัญหาโลกร้อน แหล่งน้ำและมลพิษจากอุตสาหกรรมน้ำมันเท่าที่ควร ย่อมเป็นเชื้อให้มีการประท้วงขนาดใหญ่ขึ้น

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีสมรภูมิแห่งหนึ่งได้เกิดขึ้นแล้ว ได้แก่ กรณีประท้วงของชาวเผ่าซูแห่งสแตนดิงร็อก ต่อต้านการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันดาโกตา ผ่านสี่รัฐจากดาโกตาเหนือ ผ่านมายังดาโกตาใต้ ไอโอวาจนถึงอิลลินอยส์

ถ้าโครงการเสร็จจะสามารถส่งน้ำมันดิบมาที่อิลลินอยส์ได้ถึงวันละ 470,000 บาร์เรล และจากอิลลินอยส์สามารถกระจายน้ำมันไปสู่ตลาดและโรงกลั่นที่ตะวันตกตอนกลาง ชายฝั่งตะวันออกและชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อท่อลำเลียงนี้ผ่านไปใกล้กับเขตสงวนของเผ่าซูที่สแตนดิงร็อก ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก ราว 9,251 ตร.ก.ม. ตั้งอยู่ระหว่างรัฐดาโกตาเหนือและดาโกตาใต้

การประท้วงจากเผ่าซูเริ่มมาตั้งแต่ปี 2014 และลุกลามจนถึงขั้นหัวหน้าเผ่าได้ร้องทุกข์ศาลท้องถิ่นให้หยุดการก่อสร้างโดยข้ออ้างว่า “การก่อสร้างและการใช้งานท่อนี้จะทำลายและคุกคามต่อพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรมของเผ่า”

ชี้ว่าเส้นทางท่อลำเลียงดังกล่าวจะผ่านแม่น้ำ ลำธาร และที่ชุ่มน้ำหลายร้อยกระทั่งหลายพันแห่ง ซึ่งการก่อตะกอนทับถมในแหล่งน้ำดังกล่าวจะผิดกฎหมายน้ำสะอาด กฎหมายแม่น้ำและท่าเรือและกฎหมายอนุรักษ์มรดกประวัติศาสตร์แห่งชาติ ข้อต่อมาการสร้างท่อลำเลียงนี้จะลอดผ่านทะเลสาบโอเอฮี (Lake Oahe) ซึ่งอยู่ขึ้นไปทางเหนือแหล่งน้ำของเผ่าเพียงราวครึ่งไมล์เท่านั้น

(ดูคำร้องทุกข์แสดงสิทธิและระงับการปฏิบัติ Complaint for Declaratory and Injunctive Relief ใน i2.cdn.turner 27.07.2016)

การประท้วงของชาวเผ่าซูครั้งนี้ถือได้ว่าจุดติด สามารถรวมพลังของชนพื้นเมืองเดิมได้ทั่วสหรัฐ กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและแหล่งน้ำเข้ามาสมทบ ดาราฮอลลีวู้ดทั้งรุ่นใหม่และลายครามเข้าสนับสนุน ท้ายนี้มีข่าวว่ากลุ่มทหารผ่านศึก เช่น หน่วยนาวิกโยธินก็จะเข้าร่วม เนื่องจากผู้ประท้วงถูกสลายด้วยความรุนแรงและมีการใช้แก๊สน้ำตา จนบาดเจ็บหลายราย

มีที่ควรเพิ่มเติมได้แก่ พรรคกรีนของสหรัฐ นำหน้าเรียกร้องให้นับคะแนนการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ใน 3 รัฐคือ วิสคอนซิน มิชิแกน และเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นรัฐที่คลินตันแพ้อย่างฉิวเฉียด

สามรัฐมีคะแนนเสียงตัวแทนเลือกตั้ง 46 เสียง ซึ่งทำให้คลินตันพลิกกลับมาเป็นประธานาธิบดีได้พรรคกรีนสามารถระดมเงินได้ประมาณ 5 ล้านดอลลาร์ในเวลาอันสั้นจนเป็นที่วิจารณ์กันว่าเงินมาจากไหน

พรรคกรีนในสหรัฐเพิ่งก่อตั้งปี 2001 (แต่มีประวัติการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 1985) เป็นพรรคที่มีสมาชิกมากที่สุดใหญ่เป็นอันดับสี่ มีหลักการสำคัญ 4 ประการได้แก่ ปัญญาเชิงนิเวศ ความเป็นธรรมทางสังคม ประชาธิปไตยรากหญ้า และสันติวิธี

ซึ่งเห็นได้ว่าขัดแย้งกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของทรัมป์อย่างมาก

 

ลัทธิทรัมป์

อเมริกาก่อนอื่น

และการทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง

ลัทธิทรัมป์สามารถอธิบายได้ว่า มีแนวทางใหญ่คือ “อเมริกาก่อนอื่น” เพื่อบรรลุจุดหมาย “การทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง” ประกอบขึ้นเป็นชุดนโยบาย ทั้งเศรษฐกิจ การทหารและการเมือง ในทางการเมืองได้แก่ “การระบายน้ำจากบึง” ถ่ายตัวบุคคลที่ฉ้อฉลชักใยระบบ และกระทำความผิดพลาดทางนโยบายต่อเนื่องยาวนาน และนำกลุ่มบุคคลใหม่เข้ามาแทน ได้แก่ ผู้ที่เชื่อหรือเป็นพันธมิตรกับลัทธิทรัมป์ แต่ว่าเมื่อเป็นบึงเดิม บุคคลใหม่ในระบบเก่า โครงสร้างเก่าย่อมไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้มากนัก หลังจากทรัมป์บรรจุคนลงในตำแหน่งการบริหารและการเมืองต่างๆ แล้ว ในที่สุดอาจกลายเป็น “เหล้าเก่าในขวดเก่า”

ในด้านการทหาร มีการเพิ่มงบฯ ทางทหาร เพื่อรักษาความเกรียงไกรของกองทัพสหรัฐ แต่ในทางปฏิบัตินั้น คงเป็นการชะลอความเสื่อมถอยในแสนยานุภาพ มากกว่าการที่จะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

แต่ในด้านเศรษฐกิจนั้นดูจะโดดเด่น การสำรวจประชามติล่าสุดของสำนักแกลลัพชี้ว่า “ชาวอเมริกันส่วนใหญ่มีความหวังสูงในว่าที่ประธานาธิบดี… โดยเสียงส่วนใหญ่ (มากกว่าร้อยละ 60) เชื่อรัฐบาลของทรัมป์จะสามารถบำรุงเศรษฐกิจให้ดีขึ้นและสร้างงานได้ และกว่าครึ่งเล็กน้อย (ร้อยละ 52) เชื่อว่าทรัมป์จะสามารถปรับปรุงระบบบริการสุขภาพได้”

มีนักเขียนนักวิจารณ์บางคนวิเคราะห์ว่า แผนเศรษฐกิจของทรัมป์แบ่งได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่ การลดภาษี การแก้ไขกฎระเบียบ และการกระตุ้นทางการเงิน ซึ่งแต่ละส่วนมีรายละเอีอดของมัน แต่ก็มีแนวโน้มที่จะไม่สำเร็จ เช่น แผนการลดภาษีซึ่งมีหลายแบบด้วยกัน ที่พูดกันมากได้แก่การลดภาษีบรรษัทจากร้อยละ 35 ลงเหลือร้อยละ 15

ศูนย์นโยบายภาษีแห่งสถาบันบรูกิ้งส์ สำนักคิดใหญ่ในสหรัฐ คำนวณว่าแผนลดภาษีของทรัมป์จะทำให้รายได้ของรัฐบาลลดลงกว่า 9 ล้านล้านบาท (เกือบร้อยละ 4 ของจีดีพี) ในรอบ 10 ปีข้างหน้า และจะทำให้รัฐบาลขาดดุลทันทีในปีแรก 800 พันล้านดอลลาร์ และเพิ่มทุกปีหลังจากนั้น

(ดูบทความของ Mike Whitney ชื่อ Trump”s Economic Plan : This isn”t Going to Work ใน unz.com 25.11.2016)


ลัทธิทรัมป์กับความเรรวนทางนโยบายของสหรัฐ

ในช่วงหลายสิบปีมานี้ สหรัฐได้สร้างนโยบายยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ-การเมืองใหญ่และนำไปบังคับให้ทั้งโลกปฏิบัติตามอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ ลัทธิโลกาภิวัตน์ (ตั้งแต่ทศวรรษ 1980) ชี้นำโดยความคิดเสรีนิยมใหม่ มีอเมริกา-อังกฤษ หรือเรแกน-แธตเชอร์เป็นแกน

และลัทธิจัดระเบียบโลกใหม่ (ตั้งแต่ทศวรรษ 1990) ที่ชี้นำโดยแนวคิดขวาใหม่ หรือขวาจัด ที่เป็นแบบลัทธิทหารและการโจมตีก่อน กล่าวได้ว่าเป็นขวาจัดเชิงโลกาภิวัตน์

ลัทธิทั้งสองประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ทำให้สหรัฐสามารถรักษาฐานะความเป็นอภิมหาอำนาจโลกต่อมาได้ แม้ว่าอยู่ในภาวะเสื่อมถอย

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2014 สถานการณ์ได้พลิกผัน สหรัฐสูญเสียอำนาจควบคุมทั้งด้านโลกาภิวัตน์และการจัดระเบียบบโลกอย่างเห็นได้ชัด

ในทางเศรษฐกิจ (ปี 2014) ขนาดเศรษฐกิจของจีนคิดตามค่าเสมอภาคอำนาจการซื้อ ได้แซงหน้าสหรัฐขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของโลกด้วยมูลค่า 17.6 ล้านล้านดอลลาร์ (ตกร้อยละ 16.32 ของโลก) สหรัฐอยู่ที่ 17.4 ล้านล้านดอลลาร์ (ร้อยละ 16.14) และมีแนวโน้มนำหน้าขึ้นไปอีก

ในทางการเมือง-การทหาร แผนปิดล้อมทำให้รัสเซียโดดเดี่ยวล้มทั้งยืนล้มเหลวแม้จะประสบความสำเร็จในการก่อรัฐประหารที่ยูเครนในช่วงต้นปี 2014

แต่รัสเซียก็เอาคืนอย่างรวดเร็วด้วยการผนวกคาบสมุทรไครเมีย จุดยุทธศาสตร์สำคัญในทะเลดำ และสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลยูเครนในทางภาคตะวันออกที่มีชาวรัสเซียอาศัยอยู่มาก และเป็นแหล่งอุตสาหกรรมของประเทศ

ในเดือนกันยายน 2015 รัสเซียได้เข้าแทรกแซงในสงครามกลางเมืองซีเรีย ฟื้นฐานะที่ร่อแร่ของประธานาธิบดีอัดซาดของซีเรียขึ้นมาได้ ทำลายแผนทั้งหมดของการเข้าครองความเป็นใหญ่ในตะวันออกกลางของสหรัฐและพันธมิตร

จนสหรัฐต้องยอมรับว่ารัสเซียเป็นมหาอำนาจทางการทหารของโลก

 

การพลิกผันเช่นนี้ก่อให้เกิดความรวนเรในหมู่ชนชั้นนำสหรัฐ ซึ่งได้แสดงออกตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโอบามาแล้ว อาการรวนเรเกิดขึ้นเนื่องจากไม่สามารถรุกไปข้างหน้าได้

เช่น การรุกทางลัทธิโลกาภิวัตน์ ดูจะยิ่งเปิดช่องให้แก่จีน

การรุกทางการทหาร มีแต่จะติดหลุมสงครามและถูกตีโต้จากรัสเซีย การจะถอยก็ไม่ได้เพราะจะทำให้แกนจีน-รัสเซีย-อิหร่านฉวยโอกาส รุกคืบเข้ามาครองอิทธิพลทั่วยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง กระทั่งในละตินอเมริกา ครั้นจะตรึงกำลังอยู่ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินความคุ้มค่า อีกทั้งมีภาระในการรักษามาตรฐานการครองชีพของชาวอเมริกันไม่ให้ทรุดตัวเร็วเกินไป จนเกิดความแตกแยกการจลาจลขึ้นได้

ลัทธิทรัมป์ ซึ่งเป็นขวาทางเลือกหรือขวาจัดบวกลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจและเชื้อชาตินิยมจึงได้อุบัติขึ้น เพื่อแก้หรือชะลอปัญหาการรวนเรนี้ มีทั้งด้านการรุก การตรึงกำลัง และการถอยพร้อมกันไป แต่มีผลเสีย นั่นคือ ก่อความสับสนให้แก่ทั้งตนเองและพันธมิตร เช่น แคนาดาเกรงว่าทรัมป์อาจยกเลิกความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) (ดูบทความของ Antonia Zerbisias ชื่อ Canada at risk of sinking in Trump”s political tsunami ใน Aljazeera.com 25.11.2016)

นายอาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ร้อนใจจนถึงต้องบินไปสนทนากับทรัมป์ด้วยตนเอง เมื่อโครงสร้างของระบบรวนเร ย่อมส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนที่ประกอบขึ้นเป็นโครงสร้างนั้น

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงสถานการณ์และแนวโน้มตลาดน้ำมันโลกในท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวจากภาระหนี้และการเงินแบบแชร์ลูกโซ่