เพ็ญสุภา สุขคตะ : พระเจ้าตนหลวง องค์แทนพระกกุสันโธ จากศรัทธาสู่พุทธพาณิชย์

เพ็ญสุภา สุขคตะ

สรีระพระพุทธปฏิมาขนาดใหญ่
คือองค์แทนอดีตพุทธเจ้า

การสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่แบบ Gigantic Scale เวลาเรานั่งรถผ่านสามารถมองเห็นองค์พระพุทธปฏิมาไม่ว่านั่งหรือยืนบนยอดเขาอยู่ในลักษณะตากแดดตากลม โดยไม่มีวิหารปกคลุม ได้รับความนิยมมาแล้วตั้งแต่อดีตจนยุคปัจจุบัน

เพียงแต่คตินิยมในการสร้างนั้นมีความต่าง

เมื่อเราลองถามผู้สร้างยุคปัจจุบันว่าตั้งใจจะสื่อถึงพระอดีตพุทธเจ้าพระองค์ใดเป็นพิเศษไหม ฤๅภูเขาลูกนั้นมีตำนานที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าองค์ไหนหรือเปล่า มักได้รับคำตอบว่า

“ไม่เลย ก็ตั้งใจทำพระพุทธรูปธรรมดาๆ นี่แหละ แต่ที่ทำขนาดใหญ่มหึมานั้น ก็เพราะต้องการบอกบุญใบฎีกาเรียกศรัทธามหาชนให้บริจาคเงินได้จำนวนมากกว่าการหล่อพระพุทธรูปขนาดเล็กๆ ไง”

ถ้าเช่นนั้นก็ผิดไปจากคอนเซ็ปต์การสร้างพระพุทธปฏิมาขนาดโอฬาริกในอดีตน่ะสิ ที่ต้องมีที่มาที่ไป ไม่ได้สักแต่ว่าแข่งขันกันทำสรีระใหญ่โตเท่านั้น ดังเช่นกรณีศึกษาของ “พระเจ้าตนหลวง”

 

พระเจ้าตนหลวง องค์แทนพระกกุสันโธ

“พระเจ้าตนหลวง” เป็นชื่อที่ชาวล้านนาใช้เรียกพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่โตมากเป็นพิเศษ ซึ่งตรงกับภาษาภาคกลางว่า “พระเจ้าโต”

แต่สิ่งที่พระเจ้าตนหลวง เมืองพะเยา “มี” หรือ “เป็น” มากกว่าพระเจ้าโตทั่วๆ ไป ก็คือแนวคิดในการสร้าง ที่ตั้งใจให้เป็นองค์แทนของพระอดีตพุทธเจ้าพระองค์แรกในภัทรกัป ผู้ทรงมีพระนามว่า “พระกกุสันธะ” หรือ “กกุสันโธ” ซึ่งเอกสารทุกฉบับระบุตรงกันว่ามีพระวรกายใหญ่ที่สุดในบรรดาพระพุทธเจ้าองค์อื่นๆ ที่ร่วมกัปเดียวกัน

การเปรียบเทียบว่า “พระเจ้าตนหลวง” คือองค์แทนของพระพุทธเจ้ากกุสันโธ ปรากฏอยู่ใน “ตำนานพระเจ้าตนหลวงทุ่งเอี้ยงเมืองพะเยาปางเดิม” แต่งในปี 2465 ช่วงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยมาเป็นประธานในการบูรณะพระวิหารวัดพระเจ้าตนหลวง (ต่อมาเรียกว่าวัดศรีโคมคำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา)

ตำนานเรื่องนี้ไม่ทราบนามผู้แต่ง ต่อมาท้าวอุตตมะธานีได้นำมาเรียบเรียงใหม่ และพระครูใบฎีกามนตรี ธมฺมเมธี ปริวรรตเป็นภาษาไทยกลางว่า

“พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งพญาอินทร์และพญานาค ว่าต่อไป ถ้าผู้ทานพลูมาเกิดเมื่อใด ให้พญานาคไปเอาทองคำที่เมืองนาคมาฝากไว้ที่สระหนอง ให้นาคเป็นชายผู้บอกทางนำผู้ทานพลู ไปชี้ทองคำกลางหนอง ออกมาเป็นส่วนบริจาคให้ก่อสร้างพุทธปฏิมา ให้นาคเนรมิตให้เป็นพุทธปฏิมาขนาดใหญ่เทียมเท่าพระกกุสันโธ โกนาคมน์ กัสสปะ

นาคได้เนรมิตเป็นพุทธปฏิมาองค์ใหญ่ เทียบได้กับพระกกุสันโธ การก่อสร้างพุทธปฏิมาได้สำเร็จในปีจุลศักราช 1031 เดือน 8 จึงได้นํากุศลส่วนที่สร้างพุทธปฏิมาไปถวายพระเมืองแก้ว เจ้าครองนครเชียงใหม่”

อนึ่ง ศักราชจากตำนานนี้น่าจะคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เพราะเมื่อคำนวณจุลศักราช 1031 แล้ว พบว่าตรงกับช่วงที่ล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าคือพุทธศักราช 2212 ซึ่งเป็นยุคที่ไม่ตรงกับสมัยพระเมืองแก้ว (พ.ศ.2038-2068) กษัตริย์ลำดับที่ 11 แห่งราชวงศ์มังราย

อย่างไรก็ดี นัยจากตำนานเรื่องนี้ทำให้ทราบว่า การจะสร้างพระปฏิมาของพระอดีตพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายในยุคสมัยของพวกเรา เพราะต่างก็ไม่เคยมีใครเห็นพระอดีตพุทธเจ้าองค์จริงมาก่อน จำเป็นต้องขอร้อง “นาค” ช่วยเนรมิตกายให้ปฏิมากรหรือช่างปั้นพิจารณาดูขนาดสัดส่วนให้ถูกต้องแน่นอนก่อนลงมือปั้น เพราะเชื่อกันว่านาคเป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวที่อายุยืนยาว เกิดทันและเคยเห็นพระอดีตพุทธเจ้ามาแล้วทุกพระองค์

นอกจากนี้ ตำนานยังให้ข้อมูลว่า พระกกุสันโธมีความสูงถึง 32 ศอก แต่ตัวเลขดังกล่าวนี้ขัดแย้งกับข้อความใน “พระไตรปิฎกขุททกนิกาย พุทธวงศ์” ซึ่งระบุพระสรีระความสูงของพระพุทธเจ้าไว้ใน ปมาณเวมัตตะ (หมวดที่ว่าด้วยความแตกต่างกันแห่งประมาณของพระสรีระความสูง ของพระพุทธเจ้าพระองค์ต่างๆ) ด้วยตัวเลขของพระกกุสันโธที่ไม่ตรงกันกับตำนานเมืองพะเยา ความว่า

“…พระพุทธเจ้าบางพระองค์สูง บางพระองค์ตํ่า จริงอย่างนั้นพระพุทธเจ้าคือ พระทีปังกร พระเรวัต พระปิยทัสสี พระอัตถทัสสี พระธัมมทัสสี พระวิปัสสี มีพระสรีระสูง 80 ศอก พระพุทธกกุสันธะ พระโกนาคมนะ และพระกัสสปะ พระวรกายสูง 40 ศอก 30 ศอก 20 ศอกตามลําดับส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราสูง 18 ศอก…นี้ชื่อว่าปมาณเวมัตตะ ของพระพุทธเจ้า 25 พระองค์”

เห็นได้ว่าสรีระพระอดีตพุทธเจ้าที่ยิ่งมีอายุเก่ามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความสูงใหญ่มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งในเรื่อง “ปมาณเวมัตตะ” ระบุว่า พระกกุสันโธสูงถึง 40 ศอก

ไม่ว่าความสูงของพระกกุสันโธที่ถูกต้องนั้นจะ 32 ศอก หรือ 40 ศอก ก็ตาม แต่อย่างน้อยที่สุดทำให้เราทราบผ่านการสร้างพระกกุสันโธผ่านพระเจ้าตนหลวงว่า ในสมัยล้านนาได้มีการนําคติเรื่องสัดส่วนความสูงของพระอดีตพุทธ นํามาสร้างเป็นพุทธปฏิมาขนาดใหญ่

 

สอดรับกับพระพุทธบาทสี่รอย

ความเชื่อของชาวล้านนาต่อเรื่องพระสรีระอันใหญ่โตไม่เท่ากันของอดีตพุทธเจ้าในภัทรกัปนี้ มีหลักฐานสอดรับกับเแผ่นหิน “พระพุทธบาทสี่รอย” (พระบาทรังรุ้ง – ฮังฮุ้ง แปลว่ารังเหยี่ยว) บนยอดเขาเวภารบรรพต ที่ตำบลสะลวง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกำหนดให้รอยพระบาทใหญ่ที่อยู่รอบนอกสุดเป็นของพระกกุสันโธ จากนั้นรอยที่เล็กลดหลั่นกันลงมา ก็เป็นของพระโกนาคมน์ พระกัสสปะ และพระโคตมะ ตามลำดับ

ตำนานพระบาทฮังฮุ้ง กล่าวว่า รอยพระบาทของพระกกุสันโธ ซึ่งประทับบนแผ่นหินเป็นรอยแรก มีขนาดใหญ่ยาว 12 ศอก รอยพระบาทของพระโกนาคมน์คือรอยที่ 2 มีขนาดใหญ่ยาว 9 ศอก รอยพระบาทของพระกัสสปะ คือรอยที่ 3 มีขนาดใหญ่ยาว 7 ศอก และรอยพระบาทของพระโคตมะ คือรอยที่ 4 เป็นรอยที่เล็กที่สุดมีขนาดใหญ่ยาว 4 ศอก

ความเชื่อในเรื่องที่ว่า พระสรีระขององค์ปฐมอดีตพุทธในภัทรกัปคือพระกกุสันโธ มีขนาดใหญ่โตมากกว่าพระพุทธเจ้าองค์อื่นๆ ในกัปเดียวกันนั้น ส่งผลให้เป็นที่เข้าใจกันในหมู่ชาวล้านนา เวลาเห็นรอยพระพุทธบาทซ้อนกันหลายรอย จะเชื่อว่าเป็นการประทับรอยพระบาทของอดีตพุทธในภัทรกัป

หรือหากเป็นรอยพระบาทแยกเดี่ยวๆ หากมีขนาดใหญ่มาก ก็เชื่อเช่นกันว่าคือรอยพระบาทของพระกกุสันโธ

 

พระพุทธรูปขนาดใหญ่ในสุโขทัย-อยุธยา

สมัยสุโขทัยก็มีความนิยมในการสร้างพระพุทธปฏิมาขนาด Big Size อยู่หลายองค์ แถมยังมีชื่อเรียกกำกับพระพุทธรูปแต่ละองค์อีกด้วย อาทิ พระอัฏฐารส (สูง 18 ศอก) ดังที่ปรากฏหลักฐานการระบุชื่อไว้ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า

“ในกลางอรัญญิก มีพิหารอันหนึ่ง มนใหญ่สูงงามแก่กม มีพระอัฏฐารสอันหนึ่ง ลุกยืน”

หรืออย่างกรณีของพระนั่ง เช่น พระอัจนะวัดศรีชุมก็ดี พระศรีศากยมุนี (เดิมอยู่วิหารหลวงวัดมหาธาตุ สุโขทัย) ก็ดี ต่อมาองค์หลังนี้ รัชกาลที่ 1 ทรงชะลอมาไว้ที่กรุงรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานอยู่ในวัดสุทัศนเทพวราราม ถือเป็นพระพุทธรูปสำริดที่มีขนาดใหญ่ลำดับต้นๆ ของสุโขทัย หน้าตักกว้าง 6.25 เมตร สูง 8 เมตร

ส่วนการมาเรียกชื่อว่า “พระศรีศากยมุนี” อันหมายถึงพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนั้น น่าจะเป็นการเฉลิมพระนามให้ภายหลัง เพราะจารึกวัดป่ามะม่วง ของพระญาลิไท พ.ศ.1904 เขียนพรรณนาพระพุทธปฏิมาองค์นี้ไว้แต่เพียงว่า

“เมื่อออกพรรษาจึงกระทำมหาทาน ฉลองพระสัมฤทธิ์อันหล… ตนพระพุทธเจ้าเราอันประดิษฐานกลางเมืองสุโขทัย ซึ่งลวงตะวันออกพระศรีมหาธาตุนั้น ฉลองสดับธรรมทุกวันถ้วนร้อยวัน”

การระบุเพียงแค่ “ตนพระพุทธเจ้าเรา” อาจทำให้ตีความได้ว่า หมายถึงพระพุทธเจ้าองค์ที่อยู่ในยุคของเรา นั่นก็คือ พระศรีศากยมุนี นั่นเอง

สมัยอยุธยามี “หลวงพ่อโต” ทั้งที่วัดพนัญเชิง และวัดมงคลบพิตร หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิงสร้างมาตั้งแต่ก่อนจะสร้างกรุงศรีอยุธยา เรียกว่าศิลปะอู่ทองรุ่น 2 หน้าตักกว้างถึง 14 เมตร 10 นิ้ว สูง 18 เมตร 24 นิ้ว สมัยรัชกาลที่ 5 พระราชนามว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก” (ผู้เป็นใหญ่แห่งแก้วทั้งสาม) ตรงกับภาษาจีนว่า “ซำปอกง”

การสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ของสมัยสุโขทัยและอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานว่าตั้งใจจะให้เป็นองค์แทนของพระกกุสันโธหรือไม่ ผิดกับตำนานการสร้างพระเจ้าตนหลวงแห่งเมืองพะเยา ที่ระบุชัดเจนว่าต้องการให้เป็นสัญลักษณ์ขององค์ปฐมในภัทรกัป

 

อีกความหมายหนึ่งของพระเจ้าตนหลวง

อีกความหมายหนึ่งของ “พระเจ้าตนหลวง” ก็คือการเพรียกขานนามพระประธานวัดไหนก็แล้วแต่ที่มีขนาดใหญ่โตมากเป็นพิเศษ ชาวล้านนามักจะเรียกว่า “พระเจ้าตนหลวง” เหมือนกันหมด

ทั้งๆ ที่บางวัดเคยมีชื่อเรียกพระพุทธปฏิมาประธานเป็นการเฉพาะด้วยชื่อเดิมอยู่ก่อนแล้ว เช่นที่อำเภอบ้านโฮ่ง เคยมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่องค์หนึ่งชื่อ “พระเจ้าหลีกเคราะห์” ต่อมาก็ถูกเปลี่ยนใหม่ในยุคหลัง เรียกกันว่าพระเจ้าตนหลวง ตามรูปลักษณ์

หรือที่อำเภอฮอด มีพระเจ้าโท้ เป็นภาษาเฉพาะของชาวเชียงใหม่แถบลุ่มน้ำปิงตอนล่าง โท้=โต ต่อมาก็มีคนล้านนาจากถิ่นอื่นไปเรียกพระเจ้าโท้ว่าพระเจ้าตนหลวงด้วยเช่นกัน

ในความเข้าใจของปราชญ์ล้านนา การจะเรียกพระพุทธปฏิมาองค์ใดก็ตามว่า “พระเจ้าตนหลวง” พระพุทธรูปเหล่านั้นควรจะมีความหมายว่าเป็นองค์แทนของพระกกุสันโธด้วยเหมือนกันหมดทุกองค์ มากกว่าจะเป็นเพียงชื่อเรียกพระพุทธปฏิมาที่มีสัดส่วนใหญ่โตเป็นพิเศษเท่านั้น

ในกรณีของพระพุทธรูปขนาดใหญ่โตมโหฬารในดินแดนล้านนายุคปัจจุบัน ส่วนมากเกิดจากการระดมทุนต่างถิ่นแข่งขันกันสร้างให้โดดเด่นตามเนินเขา ไร้หลังคาปกคลุมนั้น น้อยองค์นักที่จักสามารถตอบโจทย์ได้ว่า มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องพระอดีตพุทธเจ้ากกุสันโธ ด้วยหรือไม่?

การสร้างพระพุทธรูปที่มีสรีระใหญ่โตในปัจจุบัน กลายเป็นเรื่องของการตลาด การหา Land Mark หมุดหมาย ที่ไม่มีความสัมพันธ์ด้านประวัติตำนานเชิงภูมินามสถาปัตย์ บางครั้งดูไม่เหมาะสม ซ้ำดีซ้ำร้ายยังอาจทำให้เกิดทัศนะอุจาด กดข่มธรรมชาติอันงดงามเสียอีก ความมุ่งหวังแต่จะให้เป็นจุดขายแข่งขันด้านสถิติความสูง ใหญ่ อลังการ แสวงหาผลประโยชน์ทั้งในด้านการท่องเที่ยวและเรียกศรัทธาจากการทำบุญไหว้พระรับบริจาค

ถือเป็นการลดทอนคุณค่าของ “พระโต” ที่ “โต” แต่ร่าง ทว่าไร้ความหมายทางจิตวิญญาณโดยสิ้นเชิง