ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : เมืองอู่ทอง ไม่ได้เกี่ยวกันกับพระเจ้าอู่ทอง และศิลปะอู่ทอง

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เมือง “อู่ทอง” เป็นชื่อตั้งใหม่ เพราะเมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จเมือง “ท้าวอู่ทอง” เมื่อ พ.ศ.2446 ทรงมีพระราชนิพนธ์ในหนังสือนิทานโบราณคดี เรื่องเมืองอู่ทอง ถึงความสำคัญของเมืองนี้ และเหตุที่ทิ้งร้างไปว่า พระเจ้าอู่ทองเสวยราชย์ที่เมืองท้าวอู่ทองนั้นก่อน อยู่มาห่าลงกินเมือง พระเจ้าอู่ทองจึงพาผู้คนหนีห่า ย้ายไปสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแทน

แล้วทรงมีพระวินิจฉัยต่อไปอีกว่า “อู่ทอง” เป็นชื่อเมือง ตรงกับชื่อเมือง “สุพรรณภูมิ” ซึ่งแปลว่า “แผ่นดินทอง” จึงได้ชื่อเรียกกันว่าเมืองอู่ทอง นับแต่ทรงมีพระวินิจฉัย

เมืองอู่ทองที่กรมดำรงฯ กล่าวถึงเน้นถึงขอบเขตเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบเอาไว้เป็นหลัก

แต่หลักฐานทางโบราณคดีที่พบเพิ่มเติมในปัจจุบันช่วยให้ทราบได้ว่า อาณาบริเวณของเมืองอู่ทองไม่ได้ครอบคลุมอยู่เฉพาะพื้นที่ที่ถูกคูน้ำคันดินล้อมกรอบอยู่ แต่ยังมีปริมณฑลโดยรอบทั้งในเขตที่ราบ และภูเขาต่างๆ ในบริเวณรอบข้างด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางการได้เปลี่ยนชื่อ อ.จรเข้สามพัน (ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เมืองโบราณอู่ทองอยู่) เป็น อ.อู่ทอง เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2482

 

ในพระราชหัตถเลขาเรื่อง ท้าวอู่ทอง เมืองอู่ทอง ในรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีคราวเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า เมื่อ พ.ศ.2451 มีความที่น่าสนใจบางตอนกล่าวถึงเมืองอู่ทองว่า

“ได้ถามเรื่องเมืองอู่ทองคือเมืองเก่า เจ้าอธิการแสง ตามที่ได้ไปเห็นและตามที่ได้ฟังเล่าว่าอู่ทองนั้นอยู่เมืองเก่า หนีห่าได้หนีขึ้นไปข้ามที่ตะพานหินวัดกร่าง ข้ามมาเดินทางฝั่งตะวันออก แล้วจึงลงไปตั้งเมืองกำแพงแสนและเมืองอื่นๆ ห่าก็ยังตามอยู่เสมอ เพราะห่านั้นเดินทีละย่างนกเขาเท่านั้น อู่ทองจึงได้มีเวลาสร้างบ้านสร้างเมืองได้ แต่ครั้งเมื่อเมืองสำเร็จแล้วห่าก็ตามไปถึง จึงต้องย้ายต่อไป ลงปลายนั้นว่าหนีออกทะเล ห่าก็ตามไปเอาจนได้

ได้ถามว่าห่านั้นเป็นอย่างไร บอกว่าตามที่พูดนั้นเหมือนเป็นคน แต่เธอเข้าใจเองว่าเหมือนอหิวาตกโรค

เมืองสุพรรณเดี๋ยวนี้ไม่ทราบว่าผู้ใดสร้าง แต่ไม่ใช่อู่ทองสร้าง อู่ทองที่หนีห่าไม่ใช่อู่ทองที่ไปเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่กรุงเก่า เป็นอู่ทององค์อื่น อู่ทองมีหลายองค์เป็นตำแหน่งเจ้า

ผู้ซึ่งสร้างวัดอู่ทองในลำน้ำสุพรรณก็เป็นอู่ทององค์หนึ่งต่างหากเหมือนกัน แต่จะมีลำดับและกำหนดเรียกเปลี่ยนกันอย่างไร สมัยเทียบกับครั้งใดคราวใดไม่ทราบไม่ได้มีใครเล่า”

พระราชวินิจฉัยในรัชกาลที่ 5 สอดคล้องกับข้อมูลการค้นคว้าวิจัย และหลักฐานทางโบราณคดี “ปัจจุบันจำนวนมากที่สรุปความออกมาสอดคล้องกันว่า กรุงศรีอยุธยามีขึ้นจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเมือง ของรัฐละโว้ (ลพบุรี) และรัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ไม่เกี่ยวกับท้าวอู่ทอง เมืองอู่ทอง ที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เลย

ที่สำคัญก็คือเมืองอู่ทองไม่เคยร้าง หลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบใหม่จำนวนมากชี้ให้เห็นว่าเมืองอู่ทองและปริมณฑลยังถูกใช้งานต่อเนื่องมาจนถึงยุคอยุธยา และรัตนโกสินทร์ เพียงแต่ลดบทบาทความสำคัญลง และกลายไปเป็นปริมณฑลของเมืองสุพรรณแทน

ท้าวอู่ทองจึงไม่ได้หนีโรคห่าที่ทำให้เมืองร้างเหมือนในนิทานพื้นบ้าน เรื่องเล่าในนิทานเป็นเพียงเรื่องเล่าอธิบายเหตุในชั้นหลัง เพื่ออธิบายว่าเหตุใดเมืองที่เคยรุ่งเรืองใหญ่โตจึงซบเซาและลดความสำคัญลงเท่านั้น (ส่วนโรคห่านั้นจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็ดี โรคห่าที่ว่านี้ก็ไม่เคยทำให้อู่ทองร้างไปได้แน่ๆ)

เคราะห์ดีนะครับ ที่ยังไม่มีใครไปสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าอู่ทองไว้ที่เมืองอู่ทอง

 

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องเมืองอู่ทองอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่อง ศิลปะอู่ทอง ที่มักจะถูกนำมาโยงเข้ากับชื่อเมืองอู่ทอง กันอย่างผิดๆ ถูกๆ

เพราะโดยทั่วไปแล้ว นักประวัติศาสตร์ศิลปะมักจะกำหนดอายุศิลปะอู่ทองว่า มีอายุอยู่ในช่วงก่อนพระเจ้าอู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.1893) ราว 100 ปี ลงมาจนถึงช่วงต้นของอยุธยาที่ยังสร้างงานตามแบบขอม ผสมกับแบบทวารวดี ดังนั้นจึงตกอยู่ในช่วงระหว่าง พ.ศ.1800-2000 ซึ่งเมืองอู่ทองได้ลดความสำคัญลงไปแล้วนั่นเอง

แถมคำว่าศิลปะอู่ทองนั้นเป็นคำที่ค่อนข้างมีปัญหาอยู่มาก เพราะคำว่า “ศิลปะอู่ทอง” ปรากฏขึ้นครั้งแรกในหนังสือโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ที่เขียนขึ้นโดยนักอ่านจารึกระดับเซียนอย่าง ศ.ยอร์ช เซเดส์ และตีพิมพ์ออกมาเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2472 โดยที่เซเดส์อธิบายถึงการเรียกชื่อศิลปะรูปแบบนี้ว่า “อู่ทอง” เอาไว้ว่า

“พระพุทธรูปแบบนี้จะเริ่มทำตั้งแต่ก่อนพระเจ้าอู่ทองได้สร้างกรุงศรีอยุธยา (เมื่อ พ.ศ.1893) หรือภายหลัง ข้อนี้ที่ยังสงสัยอยู่ พิพิธภัณฑสถานฯ จึงได้ตั้งชื่อพระพุทธรูปเหล่านี้ว่า สมัยอู่ทอง แปลว่าสมัยพระเจ้าอู่ทอง จะเปนก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยาหรือหลังก็ตาม” (เน้นความตามต้นฉบับ)

คำอธิบายข้างต้นที่ว่าของเซเดส์ ได้ถูกนักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวไทยในรุ่นถัดลงมาอย่าง รศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ตั้งข้อสังเกตอย่างคมคายเอาไว้ในหนังสือที่ชื่อ ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแบบศิลปในประเทศไทย คัดเลือกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติส่วนภูมิภาค ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2520 เอาไว้ว่า

“ขณะที่สกุลช่างอู่ทองได้ตั้งขึ้นมาลอยๆ จากชื่ออาณาจักร แต่สกุลช่างอยุธยาได้ตั้งขึ้นมาตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ดังนั้น ประติมากรรมแบบอู่ทองที่พบที่อยุธยา และศิลปะแบบต่างๆ ที่รวมตัวกันอยู่ในอยุธยาจึงน่าจะเป็นเครื่องสำแดงการเริ่มก่อตัวหรือเริ่มแรกของอาณาจักรอยุธยา”

 

แน่นอนครับว่า อ.พิริยะเองก็เข้าใจผิดว่า ชื่อศิลปะอู่ทองได้มาจากชื่ออาณาจักร (ทั้งที่ไม่เคยมีหลักฐานของอาณาจักรที่ชื่ออู่ทองเลย?) เพราะเซเดส์ได้เขียนไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้วว่า ชื่อศิลปะนี้ได้มาจากพระนามของปฐมกษัตริย์อยุธยาคือ พระเจ้าอู่ทอง แต่ก็ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความสับสนอลหม่านของคำว่า “อู่ทอง” ในช่วงเวลาดังกล่าว

และไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ก็คงที่จะปฏิเสธไม่ได้ว่า อ.พิริยะนี่แหละที่เป็นนักวิชาการท่านแรกที่ชี้ให้เห็นว่าการเรียกงานช่างกลุ่มนี้รวมๆ กันด้วยชื่อ ศิลปะอู่ทอง นั้นมีปัญหา และมีประเด็นข้อขัดแย้งชวนให้ขบคิดอยู่มาก เพราะอันที่จริงแล้ว ชื่อเรียกของกลุ่มงานช่างอื่นที่ถูกจัดจำแนกออกเป็นหมวดหมู่ ล้วนแต่ถูกกำหนดขึ้นบนพื้นฐานของชื่อรัฐและอาณาจักร ที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีรองรับอย่างมั่นคงทั้งสิ้น

เอาเข้าจริงแล้ว ทั้งศิลปะอู่ทอง, พระเจ้าอู่ทอง และเมืองอู่ทอง จึงไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย เป็นเพราะความเข้าใจที่สับสนเกี่ยวกับตำนานพระเจ้าอู่ทองเท่านั้นแหละครับ ที่ผูกโยงอะไรต่างๆ เหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน