วิรัตน์ แสงทองคำ : เกี่ยวเนื่องเรื่องควบรวมธนาคาร บทเรียนจาก “ทหารไทย-ธนชาต”

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจใหญ่ ทรงอิทธิพล ต้องปรับตัวให้ทันสมัยอยู่เสมอ

กรณีใหญ่ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก เพิ่งจะเริ่มต้นกระบวนการ

“เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (Non-binding Memorandum of Understanding) ระหว่างธนาคารทหารไทย, ธนาคารธนชาต, ING Groep N.V., บริษัททุนธนชาต และ The Bank of Nova Scotia เพื่อกำหนดกรอบความเข้าใจและหลักการสำหรับการเจรจาร่วมกันต่อไปเกี่ยวกับการเข้าทำธุรกรรมต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต”

สาระสำคัญ สรุปความมาจากถ้อยแถลงต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ของทั้งธนาคารทหารไทยและทุนธนชาต

สื่อและผู้คนมักมองข้ามช็อตไปแล้ว การเกิดขึ้นของธนาคารใหญ่ใหม่

“จะมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท ฐานลูกค้ากว่า 10 ล้านคน และมีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่หกในอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ไทย” ข้อมูลซึ่งนำเสนอมาด้วย (โปรดพิจารณาข้อมูลประกอบ “ธนาคารพาณิชย์ไทย ขนาดใหญ่”) ให้ภาพยืนยันชัดเจนเช่นนั้น

ภาพเคลื่อนไหวข้างต้น ในมิติสำคัญสะท้อนความเป็นไป ในทำนองเดียวกันกับธนาคารระดับโลก โดยเฉพาะกรณีสหรัฐอเมริกา

“จำนวนธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกาได้ลดลง จาก 25,000 แห่งในทศวรรษ 1920 เหลือ 14,00 แห่งในทศวรรษ ขณะปัจจุบันเหลือน้อยกว่า 6,000 แห่ง โดยธนาคารใหญ่ 10 อันดับแรก มีสินทรัพย์รวมกันมากกว่า 50% ของทั้งระบบ” (อ้างอิงจากบทความ Does Size Matter? Bailouts with Large and Small Banks โดย Eduardo D?vila, Ansgar Walther, December 2017)

จากข้อมูลที่อ้างแล้ว (ธนาคารพาณิชย์ไทย ขนาดใหญ่) ปัจจุบันระบบธนาคารพาณิชย์ไทย มีธนาคารใหญ่เพียง 3 แห่ง (กรุงเทพ ไทยพาณิชย์ และกสิกรไทย) ซึ่งมีสินทรัพย์รวมกันราวๆ 50% ของทั้งระบบ (ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ณ ธันวาคม 2561 มีสินทรัพย์รวม 19,996,823 ล้านบาท)

หากกรณีข้างต้นดำเนินไปตามแผน จะก่อให้เกิดโครงสร้างใหม่ แบ่งแยกธนาคารใหญ่ออกจากธนาคารขนาดเล็กอย่างชัดแจ้ง ด้วยช่องว่างขนาดสินทรัพย์กว้างขึ้นอีกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยธนาคารใหญ่ 6 แห่ง จะมีสินทรัพย์รวมกันมากกว่า 3 ใน 4 ของธนาคารไทยทั้งระบบ

 

ภาพใหญ่ว่าด้วยพัฒนาการระบบธนาคารพาณิชย์ไทย มีการปรับตัวมาตลอดในช่วงครึ่งศตวรรษ โดยเฉพาะกรณีเผชิญปัญหาครั้งร้ายแรง ก่อให้เกิดกระบวนการปรับตัว ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ อันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งผ่านมาแล้ว 2 ทศวรรษ

ทั้งธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต ล้วนมีเหตุและปัจจัย ว่าด้วย ก่อเกิดและเปลี่ยนแปลง อันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ครั้งนั้น

ธนาคารทหารไทย ชื่อสามารถบอกที่มา ก่อตั้งเพื่อเป็นธนาคารของทหารในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ปี 2499) ด้วยบริบทและสถานการณ์ที่เป็นไป ท่ามกลางสังคมไทย กับอิทธิพลกองทัพค่อนข้างมาก และการบริหารธนาคารจำต้องใช้มืออาชีพ ธนาคารแห่งนี้จึงดำเนินอย่างราบรื่นพอสมควร จนกลายเป็นจุดตั้งต้น การปรับโครงสร้างธนาคารไทยครั้งใหญ่ผ่านมาแล้ว 2 ครั้ง ล้วนเป็นผลพวงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 ทั้งสิ้น

ครั้งแรก (ปี 2547) ควบกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีตำนานมาก่อน (ธนาคารไทยทนุ) กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (ไอเอฟซีที)

ธนาคารบุคลิกพิเศษ เชื่อมโยงกับตระกูลผู้ดีเก่ากับราชนิกุล มีพัฒนาการอย่างเรียบๆ เงียบๆ ไม่หวือหวา เรื่องราวตื่นเต้นเกิดขึ้น เมื่อครอบครัวทนายประจำตระกูลผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายธนาคารค่อยๆ แอบซื้อหุ้นอย่างเงียบๆ กลายมาเป็นถือหุ้นใหญ่อย่างไม่มีใครคาดคิด กลายเป็นตำนานโด่งดัง นักกฎหมายอยากเป็นนายธนาคาร สามารถเข้าบริหารธนาคารอย่างเต็มตัวได้ช่วงหนึ่ง (2536-2540) ครั้นเมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ ดูจะสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ในปี 2541 ธนาคารไทยทนุได้ขายหุ้นข้างมากให้ DBS ธนาคารอันดับหนึ่งแห่งสิงคโปร์และอาเซียน เปลี่ยนชื่อเป็นดีบีเอสไทยทนุ

บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมหรือไอเอฟซีพี ก่อตั้งในยุคอิทธิพลธุรกิจญี่ปุ่น ยุคสมหมาย ฮุนตระกูล ผู้กุมนโยบายเศรษฐกิจไทย ถือว่าเป็น Japan connection ไอเอฟซีพีเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย ในยุคที่บ้างก็ว่ามีเครือข่ายธุรกิจใหญ่บางแห่งกำลังเติบโตและก้าวออกจากธุรกิจผูกขาด

การควบรวมครั้งนั้น เกิดขึ้นพร้อมๆ กระทรวงการคลังเข้ามามีอิทธิพลแทนกองทัพ มีการเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเป็น TMB (ปี 2548) ทว่าภาษาไทยก็ยังคงเป็น “ทหารไทย”

 

ครั้งที่สอง (ปี 2550) แรงกระเพื่อมธนาคารไทยยังคงต่อเนื่อง

ธนาคารทหารไทยจำต้องเพิ่มทุนหลายครั้ง เป็นภาระกระทรวงการคลังค่อนข้างมาก จึงมีความพยายามเจรจาให้ธนาคารต่างชาติเข้าถือหุ้นในจำนวนมีนัยยะ จาก DBSBank แห่งสิงคโปร์ผู้ถือหุ้นข้างน้อย ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ จนมาลงตัวที่ ING Bank N V ธนาคารแห่งเนเธอร์แลนด์ เข้ามาถือหุ้นประมาณ 30% โดยมีทีมงานเข้ามาอยู่ในทีมบริหารธนาคาร ตั้งแต่ระดับกรรมการ กรรมการบริหาร และทีมจัดการ

ส่วนธนาคารธนชาต เป็นธนาคารเกิดใหม่ (ปี 2547) มาจากโอกาสเปิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ตามแผนการปรับโครงสร้างระบบธนาคารไทย ท่ามกลางการล่มสลายและหลอมรวมจากวิกฤตการณ์ปี 2540 ธนาคารแห่งนี้มีความเชื่อมโยงกับผู้ก่อตั้งคนสำคัญ มืออาชีพผู้มีความเชี่ยวชาญทางการเงินในการเข้ามากอบกู้กิจการเงินเล็กๆ จนแข็งแรงและพัฒนาไป และถือว่าในรุ่นเดียวกับบุคคลสำคัญๆ ในแวดวงทั้งผู้กำหนดนโยบายทางการเงิน และผู้กว้างขวางในสังคมการเงินไทยในช่วงที่ผ่านๆ มา รวมทั้งมีความสัมพันธ์กับธนาคารระดับโลก

The Bank of Nova Scotia ธนาคารชั้นนำของแคนาดา เข้าถือหุ้นธนาคารธนชาต (ปี 2550) ถึง 49% เป็นช่วงเดียวกันกับ The Bank of Nova Scotia มีความเคลื่อนไหวอย่างจริงจังในย่านเอเชีย

จากนั้นไม่นานธนาคารธนชาตก้าวอีกขั้น ได้เข้าซื้อธนาคารนครหลวงไทย (ก่อตั้งปี 2484) ธนาคารไทยอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นตำนานธนาคารผ่านจากยุคธุรกิจครอบครัวอันซับซ้อน สู่ธนาคารซึ่งรัฐต้องโอบอุ้มด้วยเผชิญปัญหามาเป็นระยะๆ

“ปี 2553 ถือเป็นปีที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการเติบโตของกลุ่มธนชาต เนื่องจากเป็นปีที่ธนาคารธนชาตประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการธนาคารนครหลวงไทยจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และจากการเข้าทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือทั้งหมดของธนาคารนครหลวงไทยจากผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อยอื่น (Tender offer) ทำให้ธนาคารธนชาตเป็นผู้ถือหุ้นของธนาคารนครหลวงไทยรวมทั้งสิ้นเป็นร้อยละ 99.95”

ข้อมูลของธนาคารธนชาตให้รายละเอียดซึ่งควรนำเสนอไว้ เป็นจังหวะสำคัญธนาคารเกิดใหม่ สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว กลายเป็นธนาคารขนาดกลางของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย

 

ดีลธนาคารทหารไทย-ธนาคารธนชาต ซึ่งกำลังดำเนินไป มองกว้างๆ เป็นเหตุและปัจจัยสำคัญ มาจากมุมมองเชิงบวกว่าด้วยขนาดธนาคาร (Size Matter) เชื่อมโยงกับบริบทสังคมธุรกิจไทย

“การรวมกิจการจะทำให้มูลค่าของกิจการเพิ่มขึ้นจากการมีงบดุลที่เหมาะสม (Balance Sheet Optimization)…ได้ประโยชน์จากขนาดกิจการที่ใหญ่ขึ้น (Scale) เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการตลาด …ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ช่วยเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้…”

ดังข้อความบางตอนที่สำคัญในหัวข้อ “หลักการและเหตุผล” (เอกสารแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)

แต่ที่ผมสนใจเป็นพิเศษ ดีลสำคัญเกี่ยวข้องกับธนาคารระดับโลก 2 แห่งคือ ING Groep N.V. แห่งเนเธอร์แลนด์ กับ The Bank of Nova Scotia แห่งแคนาดา ซึ่งมีความเป็นไปไม่ได้เลย ธนาคารทั้งสองแห่งจะยังคงอยู่ด้วยกันในฐานะผู้ถือหุ้นในธนาคารซึ่งดูเหมือนจะใหญ่ขึ้นในสังคมไทย แต่มีขนาดเล็กเหลือเกินเมื่อเทียบกับเครือข่ายทั่วโลกของธนาคารทั้งสองแห่งนั้น

ที่สำคัญคือ ทั้งสองธนาคารมีมุมมองทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องที่แตกต่างกัน

ING ซึ่งเพิ่งแต่งตั้งผู้บริหารคนสำคัญเป็นคนไทย (ธเนศ ภู่ตระกูล เป็นCFO and Member Management Board Banking) ขณะกรณีข้างต้นตั้งใจแถลงไว้ (www.ing.com/newsroom) มีข้อความสำคัญที่น่าสนใจ ในฐานะ “ธนาคารที่ถือหุ้นใหญ่ใน TMB ด้วยสัดส่วน 30%” ทั้งย้ำว่าเมื่อดีลจบแล้ว “คาดว่าจะถือหุ้นมากกว่า 20% และคงเป็นผู้ถือหุ้นต่อไป (committed shareholder)” ในภาพกว้าง ING มองเครือข่ายธุรกิจย่านเอเชียเป็น “ตลาดที่เติบโต” (Growth Markets)

ขณะ Scotiabank กล่าวถึงดีลในเมืองไทยด้วยเช่นกันว่า “จะลดการลงทุนในประเทศไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ” และที่สำคัญ หวังว่า “จะได้ผลตอบแทนที่ดีในการขายหุ้น” ส่วนมุมมองในภาพใหญ่นั้นแตกต่างออกไป (อ้างจาก Investor Presentation First Quarter 2019) Scotiabank มุ่งขยายธุรกิจในแคนาดาและอเมริกาใต้เป็นสำคัญ ขณะลดความเสี่ยง ถอนตัวทางธุรกิจมาแล้วมากกว่า 20 ประเทศ (ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา) โดยเฉพาะในเอเชีย “ได้ลดขนาดลงทุนลง 21% (Reduced asset exposure in Asia by 21%)”

ดีลทหารไทย-ธนชาต จึงไม่ธรรมดาสามัญอย่างที่คิด