สมรภูมิเลือกตั้ง 2562 เปิดอาวุธลับไซเบอร์ เช็กบิล “ขั้ว” ตรงข้าม?

ดีเดย์วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคมนี้ กำหนดหย่อนบัตรวัดเสียงประชาธิปไตย เป็นบรรยากาศที่ห่างหายไปนานมากกว่า 8 ปี

บรรยากาศทั่วไปมีวิวาทะของนักการเมือง ประกาศฝ่ายหนึ่งขั้ว “ประชาธิปไตย” และให้อีกฝ่ายเป็นขั้ว “เผด็จการ”

อีกด้านหนึ่งข่าวคราวการ “ไล่เช็กบิล” ฝั่งการเมืองตรงข้าม ถูกนำเสนอบนหน้าจอสื่ออย่างหนาตา งานนี้มีทั้งนักการเมืองที่เป็นเจ้าทุกข์ และตกเป็นผู้ต้องหา

พินิจกันดูจากรายชื่อของสมาชิกพรรคการเมืองที่ตกเป็นผู้ต้องหา ล้วนแต่เป็น “ฝ่ายตรงข้าม” ที่ไม่ประกาศจับขั้วของผู้มีอำนาจอยู่ขณะนี้

ไม่ว่าจะ “พรรคอนาคตใหม่ (อนค.)” ที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ขวัญใจคนเจเนอเรชั่นใหม่ ถูกแจ้งความดำเนินคดีร่วมกันกับนายทะเบียนและกรรมการบริหารพรรค โดยคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของ คสช. เป็นผู้ยื่นเรื่องฟ้องต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) กรณีจัดรายการไลฟ์สดบนเฟซบุ๊กในรายการ “คืนวันศุกร์ให้กับประเทศไทย” เผยแพร่วันที่ 29 มิถุนายน ปี 2561

เนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์พรรคการเมืองร่างทรงของทหาร ก่อนนายธนาธรจะถูกผู้ยื่นคำร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองอีกครั้ง หลังพบว่าข้อมูลส่วนตัวของนายธนาธรบนเว็บไซต์ของพรรคระบุ เคยดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่ตรงกับความจริง

คดีเก่ายังไม่ทันจะเสร็จสิ้น รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พล.ท.พงศกร รอดชมภู กลับตกเป็นผู้ต้องหาอีกราย หลังเสียท่าให้กับการเผลอตัวแชร์ข่าวปลอมที่หาว่า “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดื่มกาแฟแก้วละ 12,000 บาท

ถ้าไปดูก่อนหน้านี้ยังพบว่า คู่ปรับของขั้วอำนาจอีกพรรค คือเพื่อไทย ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง หรือ “หมวดเจี๊ยบ” รองโฆษกและผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค เคยประสบชะตากรรมเดียวกันมาก่อนหน้านี้แล้ว

ฟากของ “ไทยรักษาชาติ (ทษช.)” ก็สาหัสไม่แพ้กัน นอกจากประเด็นการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแล้ว นายพิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานเศรษฐกิจของพรรคก็ตกเป็นผู้ต้องหาอีกราย หลังโพสต์ภาพหน้าปกนิตยสารไทม์ ฉบับที่มีหน้าของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมระบุข้อความว่าถูกสั่งห้ามขายในประเทศ

ส่วนรายนี้มาแรง ถึงขั้น “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ฉุนขาดสั่งทีมงานเข้าแจ้งความเป็นการส่วนตัว พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) กรณีพลทหารที่มาเฝ้าติดตามระหว่างลงหาเสียงที่ จ.ปราจีนบุรี

ทั้งหมดต่างถูกแจ้งความดำเนินคดีในฐานความผิดหลัก “นำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการอันน่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือสร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชนฯ” ตามมาตรา 14(2) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรืออาจต่างกันไปตามความผิดที่ก่อ แต่ล้วนแล้วเกิดจากการวิจารณ์รัฐบาลไม่ทางตรงก็ทางอ้อมทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี นักการเมืองที่กลายเป็นผู้ร้องทุกข์ก็มีไม่น้อย ไม่ว่าจะ นายสดใส รุ่งโพธิ์ทอง พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) พ.ต.อ.สามารถ ม่วงศิริ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กลุ่มนี้ต่างมีผู้ไม่หวังดี มุ่งดิสเครดิตผ่านโลกโซเชียล แต่เรื่องราวทางคดีก็ยังคงอยู่ในชั้นสอบสวน

สำหรับกลุ่มนักการเมืองที่ตกเป็นผู้ต้องหา แม้ว่าทางผู้บังคับใช้กฎหมายจะออกมายืนยันนั่งยันกันหลายครั้งว่านี่ไม่ใช่การกลั่นแกล้ง แต่ภาพจำขณะนี้ทำให้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ถูกมองเป็นเครื่องมือที่ใช้ตัดตอนศัตรูทางการเมืองหรือไม่

มิหนำซ้ำเหนือความเซอร์ไพรส์ ก็ยังมีขั้นกว่าจนต้องเอามือทาบอก คือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่ สนช.มีมติ 133 และงดออกเสียง 16 ที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ได้ทวิตเตอร์ความว่า เป็นการผ่านร่างกฎหมายที่ไม่มีการแก้ไขในเนื้อหาข้อกังวลในส่วนประชาชน

จนข้าราชการตุลาการศาลและฝ่ายวิชาการได้เปรียบกฎหมายฉบับนี้เป็น “กฎอัยการศึกบนอินเตอร์เน็ต”

ข้อมูลจากตำรวจนายหนึ่ง เทียบชั้นความแตกต่างระหว่าง “พ.ร.บ.คอมพ์” และ “พ.ร.บ.ไซเบอร์” อย่างเข้าใจง่ายๆ คือ อย่างแรกเป็นกฎหมายที่ใช้ในงานอาชญากรรมบนโลกออนไลน์ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการหลอกลวงโดยประสงค์ต่อทรัพย์, แฮ็กเอาข้อมูล, สวมเป็นบุคคลอื่น, แชร์ข้อมูลเท็จที่ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด หรือนำเข้าสื่อลามก

ขณะที่อย่างต่อมานั้นซีเรียสกว่า เพราะมีภาพรวมมุ่งเน้นไปที่ความมั่นคงประเทศชาติและความสงบสุขของประชาชน หมายถึง เป็นกฎหมายสำหรับรับมือการโจมตีทางไซเบอร์ในระดับวิกฤตร้ายแรงที่มุ่งไปยังระบบคอมพิวเตอร์เป็นหลัก เป็นต้นว่า การควบคุมสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำประปา

แต่ประเด็นที่ผู้คนเป็นห่วงและเข้าใจกันว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะสามารถสอดส่องการท่องโลกอินเตอร์เน็ตของเราได้นั้น จะทำได้ต่อเมื่อมีการโจมตีทางระบบจนล่ม ซึ่งต้องมีการขออำนาจจากศาลในการเข้ายึดตรวจค้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือกระทำผิดเท่านั้น

เหล่านี้แทนที่ประเทศจะเข้าสู่ประชาธิปไตยโดยผ่านการเลือกตั้ง แทนที่ประชาชนจะเห็นความหวังเดินไปข้างหน้าเหมือนอารยประเทศ กลับกลายเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพ ทำให้ถอยหลัง ถูกจัดอันดับแย่ลงไปอีกหรือไม่