ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 มีนาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | ชกคาดเชือก |
เผยแพร่ |
เหตุการณ์อันน่าตื่นตะลึง ที่แก๊งวัยรุ่นจากงานบวชบุกเข้าไปอาละวาดในโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ ไล่ทำร้าย รปภ. ครู-อาจารย์ จนถึงลวนลามเด็กนักเรียนหญิง เพราะไม่พอใจที่ถูกควบคุมเครื่องเสียงไม่ให้เปิดดัง ได้กลายเป็นเหตุการณ์ที่ติดหูติดตาผู้คนไปทั้งสังคมไทย
เอ่ยคำว่าแก๊งงานบวช แก๊งอันธพาลวัดสิงห์ รู้จักกันไปทั้งบ้านทั้งเมือง
ทั้งเมื่อตำรวจติดตามจับกุมได้ยกแก๊ง ถูกดำเนินคดีอย่างหนักหลายข้อหา ต้องติดคุกติดตะรางกันถ้วนหน้า
กลายเป็นคดีที่เป็นบทเรียนครั้งใหญ่ ทุกคนหวังว่าจะเป็นคดีตัวอย่างที่ให้หลาบจำ
“รวมทั้งผู้คนในสังคมรู้สึกอบอุ่นใจ เมื่อกฎหมายแสดงความศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเตือนสติวัยรุ่นหัวร้อนทั้งหลาย”
แต่จากนั้นไม่นาน เมื่อเกิดเหตุการณ์คล้ายคลึงกันอีก จนเรียกว่าวัดสิงห์ 2 โดยเป็นเหตุการณ์รื่นเริงเครื่องเสียงเปิดดังจากงานบวชในชุมชน ใกล้กับหอพักนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
จนเกิดการปะทะกันทางโซเชียลอย่างดุเดือด
ยังดีที่ไม่ถึงขั้นยกพวกบุกไปทำร้ายร่างกายกันอย่างวัดสิงห์ 1
“แต่การแสดงออกในโซเชียลจากเหตุการณ์นี้ ทำให้หลายคนต้องฉุกคิดว่า เรื่องแบบนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาวัยรุ่นอันธพาลเมาเหล้าเมายาแล้วอาละวาดเท่านั้น!?”
กระแสการตอบโต้กันผ่านโลกออนไลน์ ระหว่าง 2 ฝ่าย กลายเป็นสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกแตกต่างกันระหว่างสังคมคนละส่วน
ระหว่างชุมชนชาวบ้าน ที่มีงานประเพณีเช่นนี้มายาวนาน กับฝ่ายนักศึกษาปัญญาชนระดับมหาวิทยาลัย
“ระหว่างเสียงดังในงานบวชเพื่อทดแทนคุณพ่อแม่ กับสมาธิในการอ่านหนังสือตำรับตำราของผู้ที่กำลังจะเรียนจบไปมีอนาคตที่ดี”
ทั้งสองฝ่ายก็ล้วนมีเหตุผลในมุมของแต่ละฝ่าย
แต่การถกเถียงกัน กลับแสดงอารมณ์ความรู้สึกแตกต่างทางชนชั้นออกมาชัดแจ้ง
“ฝ่ายหนึ่งถูกประณามว่าเป็นพวกเด็กแว้น พวกตลาดล่าง อีกฝ่ายก็โต้ว่า พวกเรียนหนังสือมากจนสับสนทางเพศ ไม่รู้จักประเพณีของลูกผู้ชายที่ต้องทดแทนคุณพ่อ-แม่”
แน่นอนว่าการข่มขู่คุกคามนั้น ไม่ควรกระทำและมีความผิดตามกฎหมาย
หรือย้อนกลับไปมองกรณีวัดสิงห์ 1 ซึ่งมีการลงมือทำร้าย ก็ต้องถูกจับกุมดำเนินคดีไปตามกฎหมาย
เพียงแต่ควรมองความเป็นมาของเหตุการณ์ให้ละเอียดลึกซึ้งกว่านั้น
รวมทั้งต้องเข้าใจด้วยว่า หลายเรื่องก็เป็นปัญหาซับซ้อน จะใช้การจับกุมดำเนินคดีอย่างเดียว ไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างถึงต้นตอ
ในหลายประเทศที่มีปัญหาความต่างทางชนชั้น เหลื่อมล้ำกันมาก หรือมีเรื่องต่างสีผิว มีปมเหยียดเชื้อชาติรุนแรง นำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างผู้คนในสังคมจนมีคดีทำร้ายกันรุนแรงบ่อยๆ เพราะฝ่ายหนึ่งเกิดความคับแค้นที่ถูกผลักไสให้กลายเป็นคนต้อยต่ำ
จนกลายเป็นอารมณ์เกลียดชังและเคียดแค้นสังคม
“ไม่ว่าจะแก้ปัญหาด้วยการใช้มาตรการจับกุมดำเนินคดีเฉียบขาดเช่นไร แต่สถานการณ์ก็ไม่ได้ทุเลาลง เพราะยิ่งสั่งสมความชิงชังของอีกฝ่ายเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ”
ในบ้านเรา ดูจากสถานการณ์ไฟใต้ก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี ทุ่มทหารลงไปปราบปรามมากเท่าไร ไฟใต้ก็ยิ่งลุกโชนมากเท่านั้น
“ยังดีที่สังคมไทยเราโดยรวม นอกจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้แล้ว ในพื้นที่อื่นๆ ยังไม่ได้มีความขัดแย้งแตกต่างมากจนนำมาสู่สถานการณ์รุนแรงขนาดนั้น”
แต่ในเหตุการณ์แก๊งงานบวช ซึ่งเกิดใจกลางเมืองหลวง น่าจะเป็นกรณีศึกษาในแง่มุมอื่น โดยเฉพาะปัญหาโครงสร้างทางสังคม
เมื่อวัยรุ่นในชุมชนต้องการรื่นเริงกันสุดเหวี่ยงในงานบวช แต่กลับถูกห้ามปรามควบคุม เพื่อไม่ให้กระทบต่อนักเรียนที่กำลังสอบกันอยู่
แน่นอนว่าการเมาเหล้ายาภายในเขตวัดซึ่งถือว่าผิดอย่างมาก อาจมีส่วนทำให้ไร้สติขาดการควบคุมตัวเอง
“แต่ต้องมีปมด้านความรู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างคน 2 ส่วนในสังคมเข้ามาประกอบด้วย จึงนำมาสู่การใช้กำลังบุกไปอาละวาด ซึ่งก็เลยยิ่งผิดกฎหมายเข้าไปใหญ่ และไม่พ้นต้องโดนดำเนินคดีตามกฎหมาย”
เช่นเดียวกับเหตุการณ์วัดสิงห์ 2 ระหว่างชุมชนชาวบ้านกับหอพักนักศึกษา
การโต้ตอบกันทางโซเชียล สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกที่ต่างกันทางสังคมอย่างชัดแจ้ง
สมาธิของนักศึกษาที่ใกล้สอบ ต้องอ่านตำรับตำรา ถือว่าน่าเห็นใจ ทั้งควรได้รับการปกป้อง
แต่งานประพณีของคนในชุมชน ถ้าถูกปิดกั้นหรือถูกป่าวประณาม โดยไม่เห็นคุณค่าของคนส่วนนี้
“ย่อมเกิดปัญหาได้ กลายเป็นการระเบิดทางอารมณ์”
ทั้งหมดนี้จึงเป็นเรื่องต้องศึกษาในรายละเอียด เพื่อขบคิดแก้ไขให้ถูกจุด
ไม่ให้สังคมไทยเกิดเรื่องขัดแย้งบาดหมางบานปลาย
ไม่ให้เกิดกลุ่มคนที่คับแค้นชิงชังสังคม แล้วใช้ความรุนแรงตอบโต้ฝ่ายอื่น โดยไม่เคารพกฎหมายใดๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น!
สภาพเศรษฐกิจปากท้องชาวบ้านในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อันเนื่องจากปัญหาทางการเมืองที่ไม่ปกติ เป็นเรื่องที่รับรู้กันโดยทั่วไป ไม่เพียงเท่านั้น ยังเกิดกรณีกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่มที่ได้ประโยชน์และร่ำรวยทางเศรษฐกิจอยู่แค่ไม่กี่เจ้า
ตัวเลขกำไรที่ปรากฏในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือจากการรวบรวมของนิตยสารระดับโลก
ยิ่งเห็นได้ว่า ช่วง 4-5 ปีมานี้ ธุรกิจของคนรวยกลุ่มหนึ่งก็ยิ่งรวยทะลุฟ้า ขณะที่ธุรกิจส่วนใหญ่ กลับอยู่ในสภาพขาดทุนไปตามๆ กัน
“ดังที่เรียกว่า คนรวยยิ่งรวยกระจุก คนจนยิ่งจนกระจาย”
ในระหว่างการหาเสียงเตรียมเลือกตั้งของนักการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะพบปะกับชาวบ้านย่านไหน หรือในจังหวัดไหน
คำถามจากประชาชนตรงกันอยู่เรื่องเดียวคือ จะช่วยแก้เศรษฐกิจการค้าได้หรือไม่
เป็นข้อเท็จจริงจากรายงานข่าวการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่การบิดเบือนเพื่อโจมตีรัฐบาลปัจจุบันอย่างแน่นอน
“เพราะแม้แต่รัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ก็ยังหลุดคำพูดที่ว่า “คนจนจะตายกันอยู่แล้ว” หลังจากที่ถูกวิจารณ์เรื่องการเพิ่มเงินให้กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ!?!”
ความหวังของสังคมไทยต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ คือต้องการให้รัฐบาลหน้าได้ผู้มีฝีมือมาฟื้นเศรษฐกิจให้ได้โดยเร็ว ช่วยให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้เสียที
เมื่อไม่นานมานี้มีการถกเถียงโต้ตอบกันอลหม่าน ถึงตัวเลขที่สถาบันต่างชาติรายงานว่า ประเทศไทยมีภาวะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงติดอันดับโลก
“ทั้งที่ข้อเท็จจริงในช่วง 4-5 ปีมานี้ บอกชัดอยู่แล้วว่า ไม่ว่าจะติดอันดับที่เท่าไรในโลกก็ตาม แต่กำลังเหลื่อมล้ำกันหนักจริงๆ”
ดังนั้น การเมืองหลังเลือกตั้ง ถ้าหากได้รัฐบาลที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงได้ เร่งฟื้นเศรษฐกิจได้ไว และสำคัญสุดคือการกระจายรายได้ที่ต้องทำอย่างจริงจัง
ต้องไม่ปล่อยให้ความเจริญอยู่ที่เมืองหลวงที่เดียว แต่ต้องกระจายไปสู่หัวเมือง เพื่อไม่ต้องเกิดสภาพแห่กันเข้ามาขายแรงงานใน กทม.เท่านั้น
ถ้ารายได้ของชาวบ้านฟื้น และมีการขยายความเจริญจนผู้คนไม่ต้องทิ้งบ้าน ทิ้งลูกหลานมาทำงานใน กทม.ที่เดียว
“จะช่วยแก้ปัญหาสถาบันครอบครัว นำความเข้มแข็งของชุมชนกลับคืนมา ซึ่งจะส่งผลต่อการลดอาชญากรรมและการเสพยาเสพติดในวัยรุ่นได้อย่างจริงจัง”
การจับกุมโจรผู้ร้าย การค้ายาเสพติดของตำรวจ ควรทำอย่างเข้มแข็ง แต่ต้องรู้ว่าเป็นการแก้ปลายเหตุ
ต้องแก้เศรษฐกิจ แก้เรื่องความเข้มแข็งครอบครัว นั่นคือการแก้ถึงต้นตอ
สังคมที่เข้ารูปเข้ารอย ไม่มีความต่างระหว่างคนในสังคมแต่ละส่วนมากมายเกินไป
จะไม่เกิดความขัดแย้งด้วยอารมณ์คับแค้นทางสังคม ดังที่กำลังส่อเค้าว่าจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในขณะนี้!